เครือข่ายลุ่มน้ำโขงต้านสร้างเขื่อนดอนสะโฮง

เครือข่ายลุ่มน้ำโขงต้านสร้างเขื่อนดอนสะโฮง

เครือข่ายลุ่มน้ำโขง ต้านสร้างเขื่อนดอนสะโฮงในสปป.ลาว หวั่นกระทบกับวิถีชีวิต จี้กรมน้ำยุติการรับฟังความเห็น

เครือข่ายลุ่มน้ำโขง แถลงการณ์ต้านสร้างเขื่อนดอนสะโฮงในสปป.ลาว หวั่นกระทบกับวิถีชีวิต ซ้ำรอยเขื่อนไซยะบุรี จี้กรมทรัพยากรน้ำ ยุติการดำเนินการทั้งหมด ทั้งการเดินทางรับฟังความคิดเห็น เพราะเป็นเพียงกระบวนการ แต่ไม่สามารถยุติการก่อสร้างได้

วันนี้ (12พ.ย.) ที่โรงแรมเพรสสิเดนต์ เทศบาลนครอุดรธานี กลุ่มเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง จำนวน 37 คน ประกอบด้วยตัวแทนจาก จ.เชียงราย , เลย ,หนองคาย ,บึงกาฬ , นครพนม , มุกดาหาร , อำนาจเจริญ และ อุบลราชธานี พร้อม น.ส.ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความ ได้ร่วมประชุมหารือแนวทางการเตรียมการต่อสู้คดีของเขื่อนไซยะบุรี โดยผู้ร่วมประชุมทั้ง 37 คน เป็นผู้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุด กรณีเขื่อนไซยะบุรี รวมถึงหารือแนวทางการคัดค้านโครงการก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮง สปป.ลาว โดยมีการประชุมตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกร่วมรับฟัง

หลังเสร็จการประชุม นายนิวัติ ร้อยแก้ว เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ตัวแทน จ.เชียงราย , นายอำนาจ ไตรจักร ตัวแทน จ.นครพนม และ น.ส.ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความ และกลุ่มเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ร่วมอ่านแถลงการณ์เครือข่ายฯ ถึงจุดยืนต่อกระบวนการปรึกษารือโครงการเขื่อนดอนสะโฮง ระบุว่า ตามที่รัฐบาล สปป.ลาว ได้ประกาศที่จะดำเนินการโครงการเขื่อนดอนสะโฮง แขวงจำปาสัก ทางตอนใต้ของ สปป.ลาว ซึ่งจะเป็นเขื่อนแห่งที่ 2 ในแม่น้ำโขงตอนล่าง และได้นำโครงการนี้เข้าสู่กระบวน PNPCA ซึ่งจะต้องมีการดำเนินกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (Prior Consultation) ในแต่ละประเทศ ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.2538 ซึ่งได้กำหนดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ซึ่งต่อมาคณะกรรมการร่วม 4 ประเทศ ได้ตกลงเริ่มกระบวนการฯในปลายเดือนกันยายน และจะสิ้นสุดระยะเวลา 6 เดือน ในเดือนมกราคม 2558

ขณะนี้กรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะสำนักงานเลขาธิการแม่น้ำโขงของประเทศไทย กำลังเดินหน้าจัดเวทีปรึกษาหารือล่วงหน้ากรณีเขื่อนดอนสะโฮง ในวันที่ 10 พฤศจิกายน ที่ จ.อุบลราชธานี และวันที่ 12 พฤศจิกายน ที่ จ.นครพนม และเหลืออีก 4 เวที ซึ่งยังไม่ระบุรายละเอียด

แม้ว่าเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง ได้เคยมีจดหมายไปยังกรมทรัพยากรน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแล้วมากกว่า 3 ครั้ง รวมไปถึงการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ ระหว่างรองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ และตัวแทนเครือข่ายฯ เมื่อวันที่ 27 กันยายน ที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ผลปรากฏว่า จนถึงปัจจุบันทางเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง ยังไม่เคยได้รับการตอบกลับใด ๆ ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ และไม่ได้รับเชิญใด ๆ ทั้งที่พวกเรา คือ ผู้ที่กำลังจะได้รับความเดือดร้อนโดยตรง จากโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักแห่งนี้และอีก 9 แห่ง

พวกเรามีความกังวลใจเป็นอย่างยิ่งกับกระบวนการและวิธีการที่กรมทรัพยากรน้ำ กำลังดำเนินการสำหรับกรณีเขื่อนดอนสะโฮง ที่กำลังจะซ้ำรอยและแย่ยิ่งกว่ากรณีเขื่อนไชยะบุรี เมื่อปี 2554 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนความหมายของคำว่า Prior Consultation ที่เป็นการให้ข้อมูล ไม่ใช่เป็นการปรึกษาหารือ เป็นการกีดกันเสียงของประชาชนผู้ที่จะได้รับผลกระทบ ทำให้ไม่มีความหมาย และไม่มีสิทธิอันใด ในฐานะประชาชนกลุ่มน้ำโขงเลย

ข้อเรียกร้องต่าง ๆ ที่ทางเครือข่ายฯ ได้เคยเสนอไป เช่น การจัดเวทีรับความความคิดเห็นของประชาชนริมน้ำโขงให้ครบทุกพื้นที่ การแปลเอกสารรายงานต่าง ๆ และเผยแพร่ให้ผู้เข้าร่วมได้อ่านก่อนล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน รวมไปถึงให้เจ้าของโครงการฯ ได้เข้าร่วมชี้แจงร่วมกับตัวแทนสำนักงานเลขาธิการแม่น้ำโขง และ กรมทรัพยากรน้ำ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับใด ๆ กระบวนการที่กำลังจะเกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ ถือว่าทำให้กระบวนการ PNPCA ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง ปี 2538 (Mekong Agreement 1995) มีมาตรฐานตกต่ำลงไปอีก

"พวกเราสิ้นหวังต่อกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะหน่วยงานรัฐ ตัวแทนรัฐบาลไทย ที่ไม่ได้ทำหน้าที่ในการที่จะปกป้องสิทธิของประชาชนชาวไทย ผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเชื่อนดอนสะโฮง และโดยเฉพาะการกีดกันประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงให้ไม่สามารถเข้าร่วม ไม่สามารถแม้แต่จะได้รับเชิญ สิ่งนี้เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และขัดต่อหลักกฏหมายสากล ดังนั้นพวกเราจึงขอให้กรมทรัพยากรน้ำ ยุติกระบวนการทั้งหมดของกระบวนการโครงการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง และร่วมกันวางแผนกระบวนการให้ถูกต้อง ครอบคลุม และมีมาตรการที่จะทำให้มั่นใจว่า ผู้ที่จะเดือดร้อนจะสามารถเข้าร่วมกระบวนการได้ และนำไปสู่การตัดสินใจที่รับผิดชอบต่อประชาชนในลุ่มแม่น้ำโขงอย่างแท้จริง"นายนิวัติ กล่าว

นายนิวัติ กล่าวในตอนท้ายว่า พวกเราขอฝากถึงผู้มีอำนาจ ทหาร อย่าได้คุกคามทีมทนายความที่ทำงานให้กับพวกเราพี่น้องลุ่มน้ำโขง ซึ่งการใช้กระบวนการยุติธรรมที่พวกเราประชาชนกำลังใช้อยู่ เป็นการลดความรุนแรงของชาวบ้านที่ออกมาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของพวกเขา เราจึงอยากให้ผู้มีอำนาจ และทหาร ได้เข้าใจตรงจุดนี้ให้ถี่ถ้วนด้วย

ด้านนายอิทธิพล สาสุข ตัวแทนจากจังหวัดหนองคาย เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้ ตัวแทนเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง นัดมาพูดคุยกัน และรับฟังสรุปการทำงานของทางทนายความ ที่แจ้งให้เครือข่ายฯ ทราบว่าศาลปกครองสูงสุด ได้รับฟ้องคดีกรณีที่เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด กรณีการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุลี ที่ดำเนินการไม่ครบขั้นตอน คือ ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างครบถ้วน และการดำเนินการไม่ได้เป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด

“นอกจากนี้พวกเรายังแลกเปลี่ยนสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงในปัจจุบัน ที่มีความเปลี่ยนแปลงไป โดยในช่วงที่ไหลผ่าน จ.หนองคาย ที่ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก และส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน รวมถึงธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เช่น การไหลของน้ำที่แต่ก่อนไม่เกิดน้ำขึ้น น้ำลง เพราะแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่จะไหลไปในทางเดียวไม่มีการไหลย้อน แต่เวลานี้มีการขึ้นลงของน้ำ และจากการสังเกตในปีนี้ น้ำในแม่น้ำโขงจะขึ้นสูงสุดในเดือนสิงหาคม กันยายน ของทุกปี ที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่ทำการเกษตรริมโขงเป็นอย่างมาก”นายอิทธิพล กล่าว

นายอิทธพล กล่าวอีกว่า อีกกรณีคือที่แม่น้ำโขงช่วงหน้าวัดจอมมณี จะมีชายหาดขนาดใหญ่ผุดขึ้นมาทุกปี ชาว จ.หนองคาย ใกล้เคียง แม้กระทั้งคนจาก สปป.ลาว จะเดินทางมาใช้เป็นสถานที่พักผ่อน เล่นน้ำ และจังหวัดได้ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ใช้เป็นสถานที่จัดงานมหาสงกรานต์ ซึ่งได้ถูกจัดเข้าไปอยู่ในปฏิทินการท่องเที่ยว สร้างรายได้และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของถาคอีสานตอนบน แต่ปัจจุบัน หาดได้หายไปบางส่วน ทำให้ชาวบ้านที่ค้าขายในบริเวณดังกล่าวเดือดร้อน รายได้ที่เคยมีในขช่วงฤดูท่องเที่ยวประมาณวันละ 1 ล้านบาท กลับลดน้อยลง ทั้งนี้จากอิทธิพลของการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง”