'8ผู้ผลิต'ยางรถยนต์จีนบุกไทยตั้งฐานผลิต

'8ผู้ผลิต'ยางรถยนต์จีนบุกไทยตั้งฐานผลิต

"8ผู้ผลิต" ยางรถยนต์จีนบุกไทยตั้งฐานผลิต ประธานตลาดหุ้น เตรียมเจรจานักธุรกิจจีนนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในไทย

ทัพนักธุรกิจจีน 50 รายบุกไทย 23-25 พ.ย.นี้ ศึกษาลู่ทางการลงทุน ขณะที่ผู้ผลิตยางรถยนต์ 8 ยักษ์ใหญ่จ่อใช้ไทยฐานผลิตยางรถยนต์ส่งออกทั่วโลก ขณะที่ประธานตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมเจรจานักธุรกิจจีนนำบริษัทเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ฯในไทย

การแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นอกเหนือจากการมีนโยบายที่จะจ่ายชดเชยแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ โดยกำหนดจ่ายให้เกษตรกรไร่ละ1,000 บาทแต่ไม่เกินรายละ 15 ไร่ เร็วๆนี้กระทรวงเกษตรฯ ยังได้เชิญนักธุรกิจชาวจีนในกลุ่มอุตสาหกรรมยาง มาศึกษาดูงานการผลิตยางในไทย นักลงทุนจีนในกลุ่มอุตสาหกรรมยางและกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรเข้ามาดูลู่ทางการลงทุนในไทยระหว่างวันที่ 23-25 พ.ย.นี้ เพื่อดูความพร้อมและศักยภาพการลงทุนในไทยมากกว่าการสั่งซื้อวัตถุดิบอย่างเดียว

นายพินิจ จารุสมบัติ ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ กล่าวว่าตนได้ผู้ประสานในการนำนักธุรกิจชาวจีนเข้ามาดูลู่ทางการลงทุนในไทยทั้งหมด 50 ราย ในจำนวนนี้จะมีกลุ่มธุรกิจผลิตยางรถยนต์ของจีน 8 รายใหญ่ ที่จะเดินทางเข้ามาดูลู่ทางการลงทุนด้วย

จากการสอบถามนักธุรกิจชาวจีนถึงเหตุผลที่เลือกมาลงทุนในไทย เหตุผลหลักคือไทยมีความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ไม่ว่าจะเป็นระบบถนน น้ำประปา ไฟฟ้า ระบบขนส่งต่างๆ มีสนามบินที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้

นายพินิจ กล่าวว่าไทยเป็นเป้าหมายของนักลงทุนจีน โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรแปรรูป ที่ผ่านมาได้เข้ามาตั้งโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง โรงงานผลิตผลไม้กระป๋อง และอาหารทะเล อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนักธุรกิจได้ขยายการลงทุนไปยังประเทศอื่นๆมากขึ้น ทั้งที่เข้าไปตั้งโรงงานและเทคโอเวอร์กิจการจำนวนมาก ทั้งในประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย

จีนดันเมืองชิงเต่าศูนย์กลางยาง

"วันนี้จีนมีการพัฒนาการผลิตสินค้าแบบก้าวกระโดด โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเมืองชิงเต่า ร่วมมือกับสมาคมอุตสาหกรรมยางพาราแห่งประเทศจีน เทศบาลเขต Si Fang เมืองชิงเต่า มณฑลซานตง และบริษัท Ruan Kong จำกัด ร่วมมือทางยุทธศาสตร์ในการสร้างเมืองชิงเต่าให้เป็นศูนย์กลางยางพาราจีน ปัจจุบันเมืองชิงเต่า มีโครงการตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนายางพาราประสิทธิภาพสูง จากบริษัท LANXESS ประเทศเยอรมัน และศูนย์วิจัยและพัฒนา Polyurethane จากกลุ่มบริษัท China North Industries Group Corporation(CNGC)"

8บริษัทผลิตยางรถยนจีนบุกไทย

นายพินิจ กล่าวว่าปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่มีการผลิตยางรถยนต์มากที่สุดในโลก เพื่อส่งออกทั่วโลกในราคาถูก ขณะที่สหรัฐไม่ยอมให้ยางรถยนต์จากจีนเข้าประเทศ ทำให้จีนต้องใช้ฐานการผลิตจากปรพะเทศอื่นเพื่อส่งออก จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โรงงานผลิตยางรถยนต์ของจีน ต้องย้ายฐานการผลิตไปลงทุนในประเทศอาเซียน โดยเฉพาะประเทศผู้ผลิตยางโดยเฉพาะไทย

"ตอนนี้มีกลุ่มธุรกิจผลิตยางรถยนต์ของจีน 8 ราย ได้ตัดสินใจที่จะเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานในไทยแล้ว ส่วนการลงทุนจะอยู่ที่โรงละ1 หมื่นล้านบาท หากมีการลงทุนตั้ง 8 ราย เชื่อว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า8-9 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันเข้ามาลงทุนผลิตยางรถยนต์ในไทยแล้ว 2 ราย "

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาลงทุนในไทย เพื่อต้องการให้เกษตรกรไทยได้ประโยชน์ ต้องการให้โรงงานมีการซื้อยางพาราตรงจากเกษตรกร ปัจจุบันโรงงานที่ผลิตยางรถยนต์ไม่สามารถซื้อตรงจากเกษตรกรได้ต้องซื้อยางพาราผ่านนายหน้า

"ผมพยายามให้กลุ่มเกษตรกร รัฐบาล ต้องออกแบบให้โรงงานที่เข้ามาต้องซื้อตรง อาจจะออกกฎข้อบังคับว่าเข้ามาลงทุนได้รับการส่งเสริมการลงทุนแล้ว ควรจะรับซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกร หรือซื้อในประเทศห้ามซื้อจากต่างประเทศ เรื่องนี้รัฐบาลต้องวางโรดแมพให้ชัดเจน เชื่อว่าหากเรามีแผนชัดเจนก็จะไม่มีปัญหาราคายางตกต่ำเหมือนที่ผ่านมา"

เล็งดึงบริษัทจีนเข้าตลาดหลักทรัพย์

นายพินิจ กล่าวว่ากลุ่มนักธุรกิจที่จะเดินทางเข้ามาไทย นอกจากจะเข้ามาดูลู่ทางการลงทุนในกลุ่มธุรกิจต่างๆแล้ว ทางกลุ่มนักธุรกิจจะเข้าไปเยี่ยมชมตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย "ประธานตลาดหลักทรัพย์ฯได้ขอให้ผมประสานที่จะให้บริษัทจีนที่เข้ามาลงทุนในไทย ขอให้นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดบ้านเราด้วย ดังนั้นวันที่ 25 พ.ย.นี้ ผมก็จะนำคณะนักธุรกิจไปเยี่ยมชมตลาดหลักทรัพย์ฯ และเชื่อว่าเมื่อนักธุรกิจจีนเข้ามาลงทุนในไทยแล้ว ก็น่าจะมีการระดมทุนในตลาดบ้านเราได้"

อย่างไรก็ตาม นักธุรกิจจีนต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปขายในตลาดทั่วโลก เป้าหมายที่นักธุรกิจอาจจะใช้เป็นฐานการผลิตนอกจากไทยแล้วยังมีอินโดนีเซีย ที่นักธุรกิจจีนจะใช้เป็นฐานการลงทุนด้วย

สำหรับบริษัทผลิตยางรถยนต์ของจีนที่จะเดินทางมาดูลู่ทางการลงทุนในไทยประกอบด้วย บริษัท ชิงเต่า ฟูลรัน ไทร์ คอร์ป,บริษัทชานตง เฟิ่งหยวน ไทร์ แมนูแฟคเจอริง ,บริษัทชานตง แวนด้า โบโท ไทร์,บริษัท

เทคคิง ไทร์ส จำกัด,บริษัทชานตง ซินหลุน ไทร์ ,บริษัท เมสแนค ,บริษัท ซินหยวน ไทร์ กรุ๊ป และบริษัทเต้อรุยโป ไทร์