ติดสปีดธุรกิจ "ไฟร์วิคเตอร์"

ติดสปีดธุรกิจ "ไฟร์วิคเตอร์"

บมจ.ไฟร์วิคเตอร์ ตีตั๋วเข้าตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ 13 พ.ย.นี้“วิรัฐ สุขชัย”เอ็มดีโชว์เป้ารายได้ปี59 "พันล้าน"

“2 ปีข้างหน้า (2558-2559) รายได้แตะ 1,000 ล้านบาท”

ประโยคคำมั่นสัญญาของ “วิรัฐ สุขชัย” กรรมการผู้จัดการ ในฐานะผู้ถือหุ้นสัดส่วน 24.63 เปอร์เซ็นต์ บมจ.ไฟร์วิคเตอร์ หรือ FIRE ผู้นำเข้าและผู้แทนจำหน่ายสินค้าคุณภาพจากสหรัฐและยุโรป เกี่ยวกับอุปกรณ์สำหรับดับเพลิงด้วยน้ำ น้ำยาโฟม ก๊าซและสารเคมี พร้อมทั้งอุปกรณ์สำหรับการตรวจสอบและเตือนภัย ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน รวมทั้งระบบสุขาภิบาลและระบบปรับอากาศครบวงจร

สำหรับผลิตภัณฑ์และบริการของ FIRE แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1.วาล์วและอุปกรณ์ระบบดับเพลิง 2.วาล์วและอุปกรณ์ระบบสุขาภิบาลและปรับอากาศ และ 3.งานโครงการติดตั้งระบบดับเพลิง ปัจจุบันบริษัทมีสินค้าหลากหลายมากกว่า 3,000 รายการ ภายใต้ตราสินค้าที่มีชื่อเสียงมากกว่า 25 ตราสินค้า ซึ่งในจำนวนนี้เป็ตราสินค้าที่บริษัทได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่าย 16 ตราสินค้า

บมจ.ไฟร์วิคเตอร์ ถือหุ้นใหญ่โดย “ตระกูลชาญณรงค์” และ “ตระกูลสุขชัย” สัดส่วนการลงทุน 29.43 และ 29.12 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ (ตัวเลขหลังการเสนอขายหุ้น IPO) โดยบริษัทจะจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ประชาชน 90 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ (พาร์) 0.50 บาท และเตรียมจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ (mai) ในวันที่ 13 พ.ย.นี้ สำหรับเงินระดมทุนบริษัทจะนำไปเปิดสำนักงานสาขาในต่างจังหวัด,ขยายการลงทุนไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียน,ลงทุนในอุปกรณ์ฮำร์ดแวร์ และโปรแกรม SAP ,ชำระคืนหนี้ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

“กรรมการผู้จัดการ” เล่าให้ “กรุงเทพธุรกิจ Biz Week” ฟังว่า ทันทีที่สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ สาขาการขายและการตลาด มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ก็ตรงดิ่งนั่งไปทำงานในตำแหน่งพนักงานขายประจำ บริษัท หาญเอ็นยิเนียริ่ง จำกัด แรกเริ่มของการทำงานต้องออกไปพบลูกค้าทุกวัน ด้วยการขี่มอเตอร์ไซด์ไปขายผลิตภัณฑ์วาล์ว ตามไซด์งานก่อสร้างต่างๆ ระหว่างทำงานก็ถือโอกาสเรียนต่อปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ (MBA) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ไปด้วย

ช่วงนั้นก็ไต่เต้าในหน้าที่การงานมาเรื่อยๆ จนกระทั่ง “หาญเอ็นยิเนียริ่ง” อยากให้บริษัทมีโครงสร้างการทำงานแบบมืออาชีพ จึงแยกธุรกิจออกมา ด้วยการตั้ง บมจ.ไฟร์วิคเตอร์ เมื่อปี 2544 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 1 ล้านบาท และยกตำแหน่งผู้บริหารและผู้ถือหุ้นบริษัทให้กับผม ด้วยความที่ชื่นชอบการขายอยู่แล้วจึงมองว่าเป็นเรื่องท้าทาย

“ทำอย่างไรลูกค้าจะซื้อสินค้าของเรา นั่นคือ หน้าที่ของผม ทุกครั้งที่ปิดการขายได้ชีวิตมักพบกับความสุขเสมอ (ยิ้ม) นั่งทำงานมาหลายสิบปี ทำให้อยากเห็นบริษัททำธุรกิจนานถึง 100 ปี เพราะฉะนั้นเราจึงต้องผลักดันบริษัทเข้าตลาดหุ้น”

เขา เล่าต่อว่า ยอดขายในปีแรก เริ่มต้นเพียง 10 ล้านบาท แต่ปัจจุบันมาไกลถึง 150 ล้านบาท ทีมบริหารเชื่อมั่นว่า หลังจากบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้วจะสามารถขยายงานได้อย่างรวดเร็ว ฉะนั้นทุกคนจะเห็นผลประกอบของบริษัทขยายตัวแบบ “ก้าวกระโดด” จากปกติที่เติบโตเฉลี่ยปีละ 15-20 เปอร์เซ็นต์

เงินระดมทุนในครั้งนี้จะสร้างประโยชน์ให้แก่บริษัท เนื่องจากเราจะนำเงินไปขยายช่องทางจำหน่ายสินค้า รวมทั้งการเปิดสาขาเพิ่มขึ้นในต่างจังหวัด และนำไปสร้างสำนักงานในประเทศกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซีย (AEC) และลงทุนในธุรกิจด้านวิศวกรรมอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิมของเรา

“เมื่อช่องทางการทำเงินมีมากขึ้น แน่นอนว่า กิจการของเราจะเติบโตอย่างรวดเร็ว”

เขา บอกว่า ธุรกิจของ FIRE จะเติบโตมาจากการขายสินค้าผ่าน “กลุ่มผู้รับเหมา” ในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง เพราะเป็นตลาดที่เราทำได้ดีมาก แต่ในความเป็นจริงยังคงมีตลาดอื่นๆ ที่ยังสามารถเข้าไปได้อีก อาทิ กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ถือเป็นเป้าหมายหลักที่จะทำให้เราสามารถขยายฐานลูกค้าได้จำนวนมาก ปัจจุบันลูกค้ากลุ่มปิโตรเคมี คิดเป็นสัดส่วนรายได้ไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ หลังออฟฟิศเราอยู่ในกรุงเทพ ทำให้มีความใกล้ชิดคู่ค้าน้อย แต่ถ้าเราเปิดสาขาในจังหวัดระยองได้ เชื่อว่าจะติดต่อกับลูกค้าได้ดีขึ้น ตั้งเป้าอยากเห็นสัดส่วนรายได้จากกลุ่มปิโตรเคมีประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์

เมื่อถามถึงทิศทางแผนธุรกิจในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า (2558-2560) “บอสใหญ่” บอกว่า นอกจากเป้าหมายตัวเลขรายได้ที่บอกไปแล้ว เรายังมีแผนจะเข้าไปในตลาดต่างประเทศ จากปัจจุบันที่มียอดส่งออกสินค้าบ้างเล็กน้อยไปในประเทศพม่า และประเทศกัมพูชา สัดส่วนรายได้ 1 เปอร์เซ็นต์ของยอดขาย โดยเข้าไปในลักษณะซื้อมาขายไป

แต่ในอนาคตเราจะเข้าไปตั้งสำนักงานขายในประเทศดังกล่าว เพราะต้องการใกล้ชิดลูกค้ามากขึ้น เขาย้ำ เมื่อเข้าไปในประเทศเหล่านั้นได้จะทำให้เราเห็นช่องทางการขายมากขึ้น นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาธุรกิจวิศวกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ตอนนี้กำลังดูๆอยู่ว่ามีโอกาสจะร่วมทุนกับกิจการอื่นๆหรือไม่ เช่น สินค้าที่เรายังไม่ได้จำหน่าย เป็นต้น

บมจ.ไฟร์วิคเตอร์ ระบุใน Filing เกี่ยวกับสภาพการแข่งขันในธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์วาล์วและอุปกรณ์ระบบสุขาภิบาลและปรับอากาศว่า ปัจจุบันการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง เพราะผู้ประกอบการรายใหญ่และรายเล็กในตลาดมีจำนวนมาก

ส่วนใหญ่ตราสินค้าเป็นที่ยอมรับ แต่เนื่องจากตลาดมีขนาดใหญ่ ทำให้ยังสามารถขายสินค้าให้กับลูกค้าได้อีกมาก FIRE มีจุดเด่นที่มีสินค้าหลากหลาย และสินค้ามีชื่อเสียงในตลาด ซึ่งสามารถจำหน่ายให้ได้ทั้งลูกค้าทั่วไปและลูกค้ากลุ่มผู้รับเหมา

ส่วนธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์วาล์วและอุปกรณ์ระบบดับเพลิง ถือว่ามีสภาพการแข่งขันระดับปานกลาง เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับความปลอดภัย จึงจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดี ผ่านการรับรองมาตรฐานสกล

คู่แข่งสำคัญของเราจะเป็นบริษัทที่เป็นกลุ่มตัวแทนจำหน่ายสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก เนื่องจากตราสินค้ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกมีจำนวนจำกัด ประกอบกับผู้ผลิตสินค้าส่วนใหญ่มีนโยบายจัดจำหน่ายผ่านตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว หรือมีการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายให้มีจำนวนน้อยราย

สำหรับธุรกิจการให้บริการงานโครงการเพื่อรับเหมาออกแบบ จัดหา ติดตั้ง ทดสอบระบบดับเพลิงถือว่ามีจำนวนคู่แข่งขันไม่มาก เนื่องจากงานโครงการติดตั้งระบบดับเพลิงต้องใช้ความสามารถทางด้านวิศวกรรมออกแบบ คู่แข่งหลักจะเป็นกลุ่มผู้จัดจำหน่ายและรับเหมางานวิศวกรรมระบบดับเพลิง โดยธุรกิจนี้ยังมีโอกาสเติบโตได้อีก เนื่องจากภาครัฐมีการออกกฎหมาย เพื่อป้องกันการเกิดอัคคีภัยให้มีความเข้มงวดมากขึ้น

“คู่แข่งขันทางตรงซึ่งดำเนินธุรกิจนำเข้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์วล์วและอุปกรณ์ดับเพลิงในตลาดอคารและโรงงานที่ใกล้เคียงกับบริษัทมีจำนวน 4 - 5 ราย”