คือผู้สืบทอด...

เพชร-บุญญาภาณิ์ เบญจรงคกุล บุตรสาวคนสวยของเจ้าสัวบุญชัย กำลังเป็นลูกไม้ใต้ต้นกับการดูแล MOCA Bangkok

เรื่อง เอื้อพันธุ์ ศรีสุนทร / ภาพ อนันต์ จันทรสูตร์

เพชร-บุญญาภาณิ์ เบญจรงคกุล บุตรสาวคนสวยของเจ้าสัวบุญชัย กำลังเป็นลูกไม้ใต้ต้น ดูแลงานศิลปะที่คุณพ่อสะสมไว้ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย หรือ Museum of Contemporary Art (MOCA Bangkok) ในตำแหน่งผู้อำนวยการของโมคา และกรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์ต ฟอเวิร์ด ฟอรั่ม แอสเสท จำกัด

“เริ่มมาทำงานที่นี่ได้ประมาณ 1 ปี ก่อนหน้านั้นเป็นผู้ช่วย ต่อมาพ่อก็ค่อยๆ เพิ่มหน้าที่เข้าไปให้ดูแลที่นี่เต็มตัว โมคาเปิดมาได้สองปีกว่าแล้ว วัตถุประสงค์คือจัดแสดงงานของศิลปินชาวไทยสู่สายตาคนภายนอก ทั้งในประเทศและต่อสายตาชาวโลก มุ่งไปที่นักท่องเที่ยวต่างชาติและเยาวชน เพราะอยากปลูกฝังความรักศิลปะให้กับเยาวชน กับชาวต่างชาติก็อยากเผยแพร่ศิลปะที่สวยงาม และทำอย่างไรที่จะเข้าถึงผู้มาชมหรือพานักท่องเที่ยวเข้ามาชม”

"หน้าที่ของเพชรคือ พยายามให้ทุกคนเข้าถึงงานศิลปะ ทุกครั้งที่พ่อหรือเพชรให้สัมภาษณ์ก็จะเอาตัวเราเองเป็นเหมือนเซ็นเตอร์ของสถานที่เลยกว่าได้ เผยแพร่งานของศิลปินไทยทุกอย่าง เช่น ในแง่ของการทำรายการต่างๆ การให้ข่าวสารอัพเดทในเฟซบุ๊คตลอดเวลา ให้ข้อมูลในทริปแอดไวเซอร์ ใครแสดงความเห็นมาก็จะตอบรับ ขอบคุณ และให้ข้อมูลเกี่ยวกับคำติชมที่ให้ไว้ เป็นการสื่อสารกับลูกค้า

ยกตัวอย่างงานประจำที่ทำทุกวันนะคะ ตอนเช้าตอบอีเมล์ พอเที่ยงกินข้าวค่ะ เพชรจะห่อข้าวจากบ้านมา บ่ายมีประชุม ถ้าไม่มีก็คุยกับลูกน้องว่ามีอะไรบ้าง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องจุกจิก เช่น ของหมดสั่งของเพิ่ม หรือประชุมเรื่องงานนิทรรศการต่าง ๆ สรุปเรื่องงบประมาณ การขนย้าย การจัดงาน

แต่เนื่องเราไม่ได้เป็นแกลเลอรี่ ไม่ได้ขายงานศิลปะ เราเป็นเหมือนเมอร์แชนไดเซอร์มากกว่า แต่เราก็ทำหนังสือ ภาพพิมพ์ โปสเตอร์ โปสการ์ด ประติมากรรมไซส์เล็ก ที่เป็นของศิลปินไทยที่จับต้องได้ง่ายขึ้น จำหน่ายในราคาย่อมเยา เราเน้นไปที่โปรดักท์ที่เมื่อจำหน่ายได้เราแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้ศิลปินด้วย”

เหมือนมิวเซียมในต่างประเทศ คนดูแลก็หวังให้โมคาเป็นเช่นนั้น เมื่อคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศขอไปชมมิวเซียมของเขา เราเป็นคนไทยก็คาดหวังให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาชมมิวเซียมของเราเช่นกัน ตอนนี้ทายาทเจ้าสัวบอกว่า หลังจากเรียนรู้งานในโมคา 1 ปี ตอนนี้งานของเธอเริ่มเข้าที่เข้าทาง มีทิศทางที่ชัดเจนขึ้น

“ก่อนหน้านี้ยอมรับค่ะว่าเราเพิ่งกลับมาจากต่างประเทศ เราไปเรียนไปฝึกงานทำงานที่นั่นก็จะคุ้นกับระบบของเขา มาใหม่ๆ ยังไม่ค่อยชินกับระบบการทำงาน เพราะโตที่เมืองนอกด้วยไงคะ แล้ววิธีการทำงานของเมืองไทยกับต่างประเทศก็ไม่ค่อยเหมือนกัน ต้องใช้เวลาปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมสังคมบ้านเรา ตอนนี้คิดว่าไปได้ถึง 80% แล้วค่ะ”

ผู้อำนวยการโมคา ยกตัวอย่างการเจรจางานของคนไทยกับชาวต่างชาติ

“เช่น เมื่อเจรจากับชาวสวิส วิธีแอพโพรชงานไม่เหมือนกัน เขาค่อนข้างจะสรุปตั้งแต่วันแรกเลยแต่บ้านเรามีการปูทาง มีวิธีเจรจาไม่เหมือนกัน ตอนนี้รู้แล้วค่ะว่าวิธีพูดกับผู้ใหญ่ทำอย่างไร อาจต้องมีพิธีการสักหน่อย”

ลูกสาวใต้ต้นของพ่อ

แต่ในแง่ของการเสพงานศิลปะ บอกได้เลยว่าคุณพ่อเลือกคนสืบทอดมาได้ถูกที่ถูกทาง เหมือนเป็นเรื่องบังเอิญหรือเปล่าที่บุญญาภาณิ์ ร่ำเรียนมาด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ จนทำให้เธอซึมซับงานศิลป์เข้าไปโดยไม่รู้ตัว

“ตอนเรียนไฮสคูลที่อังกฤษ ตามระบบของเขาต้องเหลือแค่ 4 วิชาตอนเรียนปีสุดท้าย ความจริงเราก็เร็วเกินไปที่เลือกไปในตอนนั้น วิชาที่เหลือคือภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ศิลปะ ประวัติศาสตร์ เราก็ตัดเหลือประวัติศาสตร์ก็สมัครเลยแล้วเราก็ได้มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในวิชานี้ เรียนตรีด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ แล้วต่อโทด้านการบริหาร เพชรคิดว่าสมัยนี้การเรียนปริญญาตรีเหมือนเป็นแบ็คกราวด์แล้วไปต่อโทด้านเมเนจเม้นท์ได้ เรียนวิชาที่เป็นสายศิลป์ก็ไม่เป็นไร”

แล้วพอมาทำงานที่โมคา เพชรบอกว่าเหมือนเริ่มรู้จักตัวเอง ซึ่งถ้าจะเริ่มบทบาทใหม่ในฐานะนักธุรกิจ ความสนใจจึงพุ่งไปที่งานที่เกี่ยวกับงานศิลปะ

“ความที่ได้มาทำงานตรงนี้ เราได้รู้จักกับคอลเลคเตอร์ (นักสะสม) คิวเรเตอร์ (ภัณฑารักษ์) ศิลปิน ผู้บริหาร ท่านทูตจากสถานทูตต่าง ๆ ถือเป็นโอกาสดีที่ได้พบปะคนเหล่านี้เลยคิดว่าถ้าจะทำธุรกิจน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องต่อยอดกับงานที่เราทำอยู่ตอนนี้”

ส่วนงานศิลปะ ถ้าลงมือทำ เธอบอกว่าแค่เริ่ม ๆ ...ลงฝีแปรงด้วยสีอะคริลิคกับสีชอล์ค ยังเร็วเกินไปที่สรุปว่าสไตล์ส่วนตัวเป็นอย่างไร กระทั่งความชอบในงานศิลป์ก็ต้องใช้เวลาพินิจพิจารณาจิตตัวเอง...

“อย่างคุณพ่อจะชอบงานเซอร์เรียลลิสต์ อย่างเช่นงานที่โมคาส่วนใหญ่เป็นเซอร์เรียลลิสต์ มีประมาณ 500 ชิ้น เป็นของที่คุณพ่อสะสม มีงานของต่างประเทศบ้าง ถ้าถามว่าประทับใจงานชิ้นไหนเป็นพิเศษ น่าจะเป็นห้องของ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ค่ะ ที่เราทำทั้งห้องอุทิศให้แก่ท่านเลย ผนังก็ทาสีแดงกับสีดำ

ส่วนตัวเพชรคิดว่าชอบงานที่ดูแล้วสบายตา ไม่แรงเกินไป หรืองานที่ค่อนข้างเรียบหน่อย ชอบงานศิลปะอย่างภาพเขียนที่นำไปตกแต่งที่บ้านได้ ความจริงเพชรชอบงานประติมากรรมนะคะ อย่างเช่นของ พไรวา (ไรวา) ที่ทำประติมากรรมรูปสัตว์ รูปเสือ ช้าง ฯ เรามีความรู้สึกว่าสามารถนำไปตกแต่งที่บ้านได้ งานของศิลปินรุ่นใหม่ ลำพู (กันเสนาะ) ก็ดีนะคะ

งานศิลปะบางงานอาจเหมาะกับการเป็นศิลปะที่วางในมิวเซียม เอาไปแขวนที่บ้านหรือวางที่บ้านอาจดูแรงเกินไป อีกอย่างเพชรชอบงานที่มีความหมายที่ดี คล้ายๆ ความเชื่อของคนจีนเหมือนเป็นฮวงจุ้ย เช่น เดอะ ฮีโร่ เป็นประติมากรรมม้า มีความหมายที่ดี หรือเสือ หมายถึงความแข็งแกร่ง ความยิ่งใหญ่ และปีนี้เป็นปีม้า แต่ถ้าให้เป็นคอลเลคเตอร์ยังไม่ถึงขั้นนั้นค่ะ มีชมและซื้องานบ้างแต่น้อยค่ะ

ตอนนี้ขอทำงานก่อน ค่อยๆ ดูว่าเราชอบงานศิลปะแบบไหนจริงๆ ค่อยๆ เก็บชิ้นเล็กหน่อย ถ้าเป็นคอลเลคเตอร์ควรมีมุมมองที่ชัดเจนกับคอลเลคชั่นของเรา เพื่อจะได้งานที่แตกต่าง ไม่ใช่ว่าซื้อไปเรื่อยๆ ตอนนี้เหมือนเรากำลังกำหนดทิศทางของตัวเองให้แน่ก่อน แล้วสะสมในสิ่งที่ชอบจริงๆ”

ในขณะที่งานศิลปะในครอบครองของเจ้าสัวบุญชัย ส่วนใหญ่เป็นงานชิ้นใหญ่ๆ จากศิลปินระดับพระกาฬ งานของศิลปินรุ่นเล็กก็เป็นหน้าที่ของโมคา ต้องช่วยกันส่งเสริม แต่ไม่ว่าจะเป็นงานศิลป์ระดับไหน ดูเหมือนคนไทยเองให้ความสนใจกับการเสพศิลป์ น้อยนัก

วางสมดุล 'ชีวิต กาย ใจ'

นอกเหนือจากนั้น เพชรบอกว่า เธอก็เหมือนหญิงสาวยุคใหม่ ถ้าไม่แวดล้อมด้วยงานศิลปะสวยๆ ก็อยู่กับเพื่อนๆ

“เพชรไม่ค่อยช็อปปิ้งนะคะ จะชอบดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือบ้างค่ะ ด้วยความที่ตอนเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะก็อ่านมาเยอะ และเข้าฟิตเนสออกกำลังกาย เสริมวิตามินบ้าง ดื่มน้ำเยอะๆ พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พอมีอายุมากขึ้นจะสังเกตเลยว่าน้ำหนักขึ้นง่าย ถ้าเพชรผอมลงจะไม่ใช่ผอมสวยจะผอมโซ เช่น พออดนอนน้ำหนักลดก็ต้องกลับไปดูแลตัวเองให้มากขึ้น

แต่เรื่องกิน คนที่บ้านทานเยอะกันทุกคน แต่ก่อนคนในครอบครัวเคยอ้วนทุกคนนะคะ เวลาทานข้าวนั่งโต๊ะกัน 5-6 คน แต่มีอาหารเยอะเต็มโต๊ะเหมือนทานสัก 12 คน เพชรชอบอาหารหลากหลายค่ะ ร้านที่ชอบไปบางทีเราจะเลือกที่มีครบ มีอาหารไทย จีน ฝรั่ง เผื่อคนที่ไปด้วยจะได้เลือกได้"

ส่วนเรื่องดูแลใจแม้จะยังไม่มีใครมาช่วยดูแลหัวใจ ยังสนุกกับไลฟ์สไตล์ของสาวยุคใหม่ ตอนนี้กำลังสนุกกับการใช้ชีวิต ผู้ปกครองก็ไม่เร่งเร้า เธอบอกอีกว่า ถ้าเจอคนที่ใช่ จะ 3 เดือนหรือ 6 เดือนก็คือใช่ แต่ตอนนี้มีแต่เพื่อน และกำลังมีโครงการใหม่ที่เธอจะร่วมเดินทางไปด้วยในงาน One Young World จะจัดสัมมนาที่กรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ จัดโดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร มีตัวแทนเป็นวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่จากหลาย ๆ ประเทศ ร่วมหารือและฟังผู้เชี่ยวชาญจากหลายประเทศ เช่น จะทำให้โลกเราดีขึ้นได้อย่างไร ลดปัญหาความรุนแรงในเด็กและสตรี ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ

เป็นงานใหม่ในบทบาทใหม่ที่ทำให้เวลา 24 ชั่วโมงใน 1 วัน ของเธอหมดไปอย่างรวดเร็ว

“เรื่องจิตใจก็ต้องดูแลค่ะ เราต้องจัดสมดุลให้ตัวเอง บางทีกายไม่เหนื่อยแต่ใจเราไม่พร้อมหรือท้อก็ทำให้ไม่มีแรงที่จะทำอะไรใช่มั้ยคะ เพราะฉะนั้น เราต้องบาลานซ์ทั้งสองอย่างเพื่อให้ใช้ชีวิตได้ดีที่สุด ออกกำลังกายช่วยได้ค่ะ หรือหาวิธีระบายอย่างอื่น เช่น ฟังธรรม นั่งสมาธิ ต้องดูความเหมาะสมด้วย อย่างเครียดเรื่องนี้แต่พรุ่งนี้ต้องไปประชุมแต่เช้า จะไปนั่งดริ๊งค์กับเพื่อนๆ ก็ไม่ได้แล้ว อาจต้องใช้วิธีดูหนังฟังเพลงที่บ้าน นั่งสมาธิเบาๆ แล้วแต่โอกาสค่ะ”

อากาศดีฟ้าใสที่โมคา ผู้บริหารพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย ชวนชมงานศิลปะที่จัดแสดงในอาคาร 5 ชั้น เดินวันเดียวอาจพินิจไม่ทั่วถึง ผู้สนใจมาชมได้ มาชื่นชมผลงานศิลปินไทย เสพให้ซึมลงไปลึกๆ ให้ซาบซึ้งถึงจิตวิญญาณ ให้คนไทยทุกคนมีงานศิลป์อยู่ในหัวใจ

หมายเหตุ : พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (MOCA Bangkok) เลขที่ 499 ถนนกำแพงเพชร 6 เปิดวันอังคาร-วันอาทิตย์ (วันจันทร์หยุดทำการ) เวลา 10.00-18.00 น. ค่าเข้าชมผู้ใหญ่ 180 บาท นักเรียน/นักศึกษา แสดงบัตร 80 บาท