สนช.รับหลักการกฏหมายคุ้มครองสัตว์5ฉบับ

สนช.รับหลักการกฏหมายคุ้มครองสัตว์5ฉบับ

คนรักสัตว์เฮ! สนช.รับหลักการกฏหมายเกี่ยวกับสัตว์5ฉบับ คุ้มครอง ปกป้องไม่ให้ทารุณกรรม-ทดลองทางวิทยาศาสตร์

ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นประธาน โดยได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ...... โดย มีหลักการคือ เนื่องจากสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึกและเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งแวดล้อม จึงควรได้รับการคุ้มครองมิให้ถูกทารุณกรรม และเจ้าของสัตว์ซึ่งนำสัตว์มาเลี้ยง จะต้องจัดสวัสดิภาพให้เหมาะสมตามประเภทและชนิดของสัตว์ อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ร่างกฏหมายดังกล่าวได้มีการบัญญัติคำนิยามคำว่า”สัตว์” หมายถึงสัตว์เลี้ยงในบ้านเพื่อเป็นสัตว์เลี้ยง สัตว์ใช้งาน สัตว์ใช้เป็นอาหาร หรือสัตว์ เพื่อใช้ในการแสดงเช่น สุนัข แมว โค กระบือ ม้า สุกร เป็ด ไก่ หรือสัตว์ เลี้ยงอื่น ๆ ไม่ว่าจะมีเจ้าของหรือไม่ก็ตาม แต่ไม่รวมถึงสัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสัตว์ป่า สัตว์น้ำตามกฎหมายการประมง และสัตว์อื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยเห็นชอบตามคณะกรรมการ

ส่วนการทารุณกรรม หมายถึง การกระทำ หรือการงดเว้นกระทำใดๆที่ทำให้สัตว์ได้รับความทรมาน ความเจ็บปวด ทุพพลภาพหรือมีผลทำให้สัตว์ตาย ส่วน”เจ้าของ”หมายถึงเจ้าของกรรมสิทธิ์ และให้หมายรวมถึงผู้ครอบครองสัตว์ด้วย และยังกำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน พร้อมให้อำนาจเจ้าพนักงานเข้าไปตรวจค้น หรือตรวจสอบกรณีได้รับการร้องเรียนว่ามีการทารุณสัตว์และดำเนินการกับสัตว์ได้ตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ยังได้กำหนดโทษของเจ้าของสัตว์ที่ปล่อย ละทิ้ง กระทำการใดๆให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตน โดยไม่มีเหตุจำเป็น ไม่ให้มีการกระทำทารุณสัตว์โดยไม่มีเหตุอันควร หากฝ่าฝืนติดคุกไม่เกิน1 ปี ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากไม่ทำตามหลักเกณฑ์ตามที่รัฐมนตรีประกาศปรับไม่เกินสองหมื่น หากขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ปรับไม่เกินหมื่นบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกได้อภิปรายสนับสนุนและแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง เช่น ควรมีการรวมคำนิยาม”สัตว์”ควรครอบคลุมให้กว้างที่สุด เช่น สัตว์น้ำ สัตว์ป่าด้วย เพราะปัจจุบันมีปัญหาเกี่ยวกับการนำสัตว์ป่ามาเลี้ยง หรือสัตว์น้ำในตู้ปลา หรือสวนอาหาร โดยไม่ดูแล ทิ้งขว้าง และทารุณกรรมควรได้รับการดูแลด้วย นอกจากนี้ควรให้หน่วยงานกทม.ร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย เพราะเกิดปัญหาการทารุณสัตว์ในพื้นที่กทม.จำนวนมาก โดยเฉพาะช้างเร่ร่อน หรือสุนัขจรจัด รวมถึงกรมศุลกากรที่ควรเข้ามาดูแลเพราะมีการลักลอบค้าขายผ่านสุนัขไปยังประเทศต่างๆเพื่อเป็นอาหาร ถือว่าไม่มีเหตุสมควรเช่นกัน ควรใส่ข้อห้ามกระทำการทารุณทางเพศต่อสัตว์ ไว้ในร่างกฎหมายด้วย เพราะหลายประเทศเช่น ฝรั่งเศส ก็มีการกำหนดเป็นความผิดอาญา ถึงขั้นติดคุก และปรับ

นางพิไรพรรณ สมบัติศิริ สมาชิกสนช. อภิปรายว่าตนเห็นด้วยในหลักการ แต่ต้องคิดถึงความสอดคล้องกับวัฒนธรรมไทยด้วย เช่น รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี เมื่อมีการนำสัตว์มาเลี้ยงในบ้าน ก็ควรมีการอบรมมิเช่นนั้นจะเป็นอันตรายต่อมนุษย์และทรัพย์สินได้ เช่น ช้างที่ต้องใช้ภูมิปัญญาไทยด้วยพิธีกรรมผ่าจ้าน ก็ไม่ควรเข้าข่ายเป็นการทารุณสัตว์ส่วนผู้รักษากฎหมายก็ต้องเข้มงวดและ ควรระบุโทษให้หนักมากกว่านี้

นายปิติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงว่าการกำหนดนิยาม “สัตว์เลี้ยงอื่นๆ” สามารถเปิดกว้าง ให้รัฐมนตรีที่รักษาการณ์ตามกฎหมายประกาศเพิ่มเติมได้ตามมติคณะกรรมการ อย่างไรก็ตามตนยินดีรับข้อเสนอแนะต่าง ๆ ของสมาชิกไป เพิ่มเติมในชั้นกรรมาธิการต่อไป

จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติรับหลักการวาระแรกร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ 200 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาจำนวน 15 คน กำหนดแปรญัตติภายใน7 วัน ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้เห็นชอบหลักการวาระแรกร่างพ.ร.บ.สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ.......... ซึ่งเป็นกฏหมายสำหรับกำกับดูแลและส่งเสริมการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ โดยมีสาระสำคัญคือ กำหนดชนิดและประเภทของสัตว์ที่ใช้ทดลองทางวิทยาศาสตร์ ให้มีคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ และมีคณะกรรมการจรรยาบรรณ เพื่อทำหน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัยการกระทำผิดจรรยาบรรณการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ให้มีการจัดตั้งสถาบันพัฒนาการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานวิทยาศาสตร์ ให้เป็นส่วนราชการภายในสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ รวมทั้งมีบทลงโทษกับผู้ที่ฝาฝืนทั้งจำคุกและปรับ และยังลงมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับสัตว์อีก 3 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ... ร่างพ.ร.บ.สถานพยาบาลสัตว์ (ฉบับที่......)พ.ศ......... ร่างพ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา