'สิงห์'รุกอสังหาฯผนึกพันธมิตรลุยตปท.

'สิงห์'รุกอสังหาฯผนึกพันธมิตรลุยตปท.

กลุ่มบุญรอดฯ ส่งบริษัทในเครือ "สิงห์ เอสเตท" ชิมลางเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ปูทางขยายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

จากนโยบายผลักดันรายได้เพิ่มขึ้น "เท่าตัว" ทุกๆ 5 ปี ทำให้สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ปรับโครงสร้างธุรกิจเพิ่มจำนวนบริษัทจาก 20 บริษัท เป็นกว่า 50 บริษัทในปัจจุบัน เดินหน้าขยายไลน์สู่ธุรกิจใหม่ทั้งเสื้อผ้า ร้านอาหาร การเกษตร ท่องเที่ยว ล่าสุดรุกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นับเป็นครั้งแรกในรอบ 80 ปีของการดำเนินธุรกิจที่นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ในฐานะประธานกรรมการบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ S เปิดเผยภายหลังเปิดการซื้อขายหลักทรัพย์เพิ่มทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ของบมจ. สิงห์ เอสเตท วานนี้ (26 ก.ย.) ว่า สิงห์มีเป้าหมายผลักดันธุรกิจให้เติบโตต่อเนื่อง ขยายธุรกิจใหม่ๆ ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก (นอน คอร์บิซิเนส) เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้ให้มากขึ้น จากปัจจุบันรายได้จากนอนแอลกอฮอล์ มีสัดส่วน 35% ของรายได้รวมกว่าแสนล้านบาทต่อปี

ล่าสุดรุกอสังหาริมทรัพย์อย่างจริงจัง ภายใต้ บมจ.สิงห์ เอสเตท บริษัทที่เกิดจากซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท รสา พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) มูลค่ากว่า 4,162 ล้านหุ้น แล้วเสร็จวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ แนวทางธุรกิจของสิงห์ จะพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ทุกรูปแบบทั้งที่อยู่อาศัย บ้านเดี่ยว คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า และโรงแรม โดยใช้จุดแข็งด้านเงินทุน ประสบการณ์ การผลิตสินค้าคุณภาพตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และมีสายสัมพันธ์ที่ดี (คอนเนคชั่น)

"สิงห์ เอสเตทฯ เป็นบริษัทแรกของเครือบุญรอดที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อสร้างความโปร่งใส และธรรมาภิบาล ให้เกิดความมั่นใจแก่ผู้ลงทุน ส่วนการรุกอสังหาริมทรัพย์ เพราะบริษัทมีนโยบายให้ความสำคัญกับนอนคอร์บิซิเนสมากขึ้น ไม่ได้เกิดจากข้อจำกัดทางกฎหมายในการทำธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ขยายสู่ธุรกิจอสังหาฯเพื่อผลักดันการเติบโตต่อเนื่อง ขณะเดียวกันเชื่อว่า มีศักยภาพที่จะพัฒนาโครงการที่มีคุณภาพ รองรับตลาดระดับโลก และการเติบโตของภาพรวมธุรกิจจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ด้วย"

ทุ่มหมื่นล.ผุด "สิงห์ คอมเพล็กซ์"

นายนริศ เชยกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. สิงห์ เอสเตท กล่าวว่า บริษัทมีที่ดินรองรับการพัฒนาโครงการอสังหาฯ เบื้องต้น 3 แปลง ประกอบด้วย ที่ดินย่านอโศกมนตรี-ถนนเพชรบุรี เนื้อที่กว่า 11 ไร่ (สถานทูตญี่ปุ่นเดิม),ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างย่านอโศกมนตรีกว่า 2 ไร่ และที่ดินเปล่าย่านประดิษฐ์มนูธรรมกว่า 30 ไร่ โดยคาดว่าเดือนต.ค.นี้จะเปิดเผยแผนธุรกิจ รายละเอียด มูลค่าโครงการ รวมถึงแผนธุรกิจเต็มรูปแบบจะเปิดเผยได้เดือน ต.ค.นี้

นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาหาพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศเข้ามาถือหุ้นเพื่อเพิ่มสภาพคล่องของหุ้น S ซึ่งขณะนี้กลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ ถือหุ้นในสัดส่วน 90% สูงกว่าเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯกำหนด ทำให้ปัจจุบันผู้ถือหุ้นรายย่อยสามารถถือหุ้น S ได้ในสัดส่วน 10% ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 15%

ส่วนภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในไทย ยังมีความต้องการในทิศทางที่ดี ประกอบกับความมั่นใจของผู้บริโภคฟื้นตัวกลับมาจากสถานการณ์ทุกอย่างที่นิ่งขึ้น โดยเห็นว่าทำเลที่มีศักยภาพจะอยู่เกาะแนวระบบขนส่งมวลชนใหม่ ซึ่งมีความต้องการมากขึ้น แต่ปีนี้คาดว่าตลาดอสังหาฯ จะไม่มีการเติบโตแต่อย่างใด

"บริษัทมีแผนหาพันธมิตรทางกลยุทธ์ ที่มีความแข็งแกร่งด้านเงินทุน มีองค์ความรู้เพื่อร่วมขยายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศด้วย"

รายงานข่าวระบุว่า ที่ผ่านมาสิงห์อยู่ระหว่างศึกษาการนำที่ดินย่านอโศกมนตรี 2 ไร่ มาพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมสูง 39 ชั้น จำนวน 329 ยูนิต มูลค่าโครงการ 2,850 ล้านบาท และจะก่อสร้างปลายปี 2558, ที่ดินอโศกมนตรี-เพชรบุรี เนื้อที่ 11 ไร่ จะเป็นโครงการมิกซ์ยูส ภายใต้ชื่อ "สิงห์ คอมเพล็กซ์" มีโรงแรม อาคารสำนักงานและพื้นที่ค้าปลีกกว่า 1.44 แสนตารางเมตร มูลค่าโครงการกว่า 6,000 ล้านบาท (ไม่รวมที่ดินกว่า 3,300 ล้านบาท) ซึ่งจะก่อสร้างไตรมาส 2 ปี 2558 และพัฒนาโครงการบ้านเดี่ยวระดับไฮเอ็นด์ย่านประดิษฐ์มนูธรรม จำนวน 16 ยูนิต มูลค่าราว 2,240 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างปลายปี 2558 รวมมูลค่าโครงการกว่า 1 หมื่นล้านบาท

ส่วนธุรกิจโรงแรมที่จะเปิดใหม่ มีแนวคิดจะใช้แบรนด์ "สันติบุรี" เพื่อรุกตลาดด้วย อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้โครงการบนที่ดินสถานทูตญี่ปุ่นเดิมนั้น นายสันติ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ต้องการพัฒนาให้เป็น "แลนด์มาร์ค" ของกรุงเทพฯ นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกต้องไปเยือน และสิงห์ยังได้ผนึกกลุ่มทุนญี่ปุ่น "มิตซุย ฟูโดซัง (เอเชีย)" เพื่อขยายธุรกิจอสังหาฯด้วย

ดึง "มืออาชีพ" เสริมทัพ

นายชญานิน เทพาคำ ประธานกรรมการบริการ บมจ. สิงห์ เอสเตท กล่าวว่า การรุกธุรกิจอสังหาฯ ทำให้ที่ผ่านมาบริษัทได้ดึงมืออาชีพเข้ามาเสริมทัพค่อนข้างมาก ซึ่งเกิดจากการบุคลากรที่ทำงานอยู่ในเครือบุญรอดฯ และมีญาติพี่น้องในองค์กรด้านอสังหาฯ แนะนำให้มาร่วมงานมากกว่าวิธีดึงตัวจากบริษัทอื่น

ทั้งนี้ บุคลากรใหม่ ประกอบด้วย นายนริศ เชยกลิ่น อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา(ซีพีเอ็น), นายล่องลม บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการลงทุน อดีตประธาน บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ ผู้ให้บริการด้านอสังหาริมทรัพย์, นางสาวเชิญพร สุภธีระ ผู้อำนวยการนักลงทุนสัมพันพันธ์ ซึ่งมาจากซีพีเอ็น และนายเมธี วินิชบุตร ประธานเจ้าหน้าที่สายการงาน มาจากบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์

นางสาวเชิญพร สุภธีระ ผู้อำนวยการนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.สิงห์ เอสเตท กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาเข้าซื้อสินทรัพย์ใหม่เพิ่มอีกหลายแห่ง ซึ่งคาดว่าจะเป็นโรงแรม เนื่องจากสินทรัพย์เดิมของ บมจ.รสาฯ มีค่อนข้างน้อยน้อย โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้อย่างน้อย 1 ดีล

ปรับแผนเพิ่มส่งออกเบียร์

นายจุตินันท์ กล่าวอีกว่า จากปัจจัยลบด้านเศรษฐกิจโลก ทำให้บริษัทปรับแผนการส่งออกเบียร์ไปยังตลาดต่างประเทศ แต่ยังไม่สรุปแผนธุรกิจที่ชัดเจน ปัจจุบันสิงห์มีสัดส่วนการส่งออกเบียร์ราว 10% ส่วนภาพรวมกำลังซื้อในประเทศไตรมาส 4 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากความเชื่อมั่นฟื้นตัวและการท่องเที่ยวกลับมา

"ตลาดเบียร์ในระดับภูมิภาคถือว่าเติบโต และเป้าหมายที่บริษัทจะเป็นเบียร์เบอร์ 3 ของเอเชีย ภายในปี 2561 ก็ใกล้เคียง ขณะที่การเป็นโกลบอลแบรนด์ก็ยังต้องบุกตลาดต่อเนื่อง เพราะเราต้องแข่งกับตัวเองเสมอ แม้จะอยู่บนยอดแล้ว เราก็ต้องหายอดที่สูงกว่า"

ปัจจุบันสิงห์มียอดขายรวมกว่า 1 แสนล้านบาท มีสัดส่วนรายได้จากกลุ่มที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก 35% และเป้าหมายทุกๆ 5 ปี บริษัทจะตั้งเป้ารายได้เติบโตเป็น 2 เท่า