กฟผ.ผนึกบริษัทลูกลุยนำเข้าแอลเอ็นจี

กฟผ.ผนึกบริษัทลูกลุยนำเข้าแอลเอ็นจี

กฟผ.ระดมบริษัทลูกเตรียมนำเข้าแอลเอ็นจีใช้ผลิตไฟฟ้าเอง เชื่อจัดหาก๊าซฯราคาถูกกว่าปตท.

นายพงษ์ดิษฐ พจนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) รวมทั้งบริษัทลูก อาทิ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด(มหาชน) หรือ เอ็กโก ร่วมกันจัดตั้งทีมงานขึ้นมา ศึกษาความเป็นไปได้ของการนำเข้าก๊าซธรรมชาติสำหรับผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.และบริษัทลูกในเครือ แทนการซื้อจากบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หลังจากที่ ปตท.เตรียมแยกธุรกิจท่อก๊าซฯ ออกมาเป็นอีกหนึ่งบริษัท และเปิดให้บริษัทเอกชนรายอื่นเข้าใช้ท่อก๊าซฯได้ แต่คงต้องรอให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)หรือเรกูเลเตอร์ ออกหลักเกณฑ์การใช้ท่อฯบุคคลที่ 3 อย่างเสรีให้เสร็จภายในปี 2558 ก่อน

ทั้งนี้การนำเข้าก๊าซฯมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าเองแทนการซื้อจาก ปตท. นั้น เชื่อว่าจะช่วยประหยัดต้นทุนค่าดำเนินการต่างๆลงได้ อีกทั้งบริษัทในเครือ กฟผ. มีความต้องการใช้ก๊าซฯ เพื่อผลิตไฟฟ้ารวมกันสูงถึง 14,000-15,000 เมกะวัตต์ จึงเหมาะสมต่อการนำเข้าก๊าซฯมาใช้เอง และมั่นใจว่าจะสามารถจัดหาก๊าซฯจากต่างประเทศได้ในราคาที่ต่ำกว่าหรือใกล้เคียงกับ ปตท. เพื่อไม่ให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าของประชาชนแพงเกินไป โดยแหล่งก๊าซฯ ที่ กฟผ.สนใจอยู่ในขณะนี้ ได้แก่ แหล่งก๊าซฯในสหรัฐฯ แคนาดา และรัสเซีย

อย่างไรก็ตามการศึกษาพบว่า การนำเข้าก๊าซฯจากต่างประเทศมาใช้เอง จะต้องลงทุนจัดหาสถานที่สร้างคลังเก็บก๊าซฯ รวมถึงจัดหาอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องมารองรับ ซึ่งต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี ดังนั้นในปี 2558 จึงยังไม่มีเอกชนรายใดพร้อมเข้ามาใช้บริการท่อก๊าซฯ ปตท.ได้ แต่ กฟผ.จะเดินหน้าเพื่อนำเข้าก๊าซฯต่อไปในอนาคต

“ต่อไป กฟผ.คงต้องนำเข้าก๊าซฯจากต่างประเทศมาใช้เอง เพื่อจะได้ประหยัดต้นทุนค่าดำเนินการต่างๆ และมั่นใจว่าจะจัดการก๊าซฯมาใช้ในราคาที่ถูกกว่า ปตท.ได้ ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าถูกลง และในเชิงธุรกิจนั้น เห็นว่า เมื่อนำเข้าก๊าซฯมาแล้ว ควรเปิดจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการรายอื่นด้วย นอกเหนือจากใช้ในกิจการของ กฟผ.และบริษัทลูกแล้ว เพื่อเป็นทางเลือกในการแข่งขันทางธุรกิจต่อไป”นายพงษ์ดิษฐ กล่าว

นายพงษ์ดิษฐ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมากฟผ. เคยเจรจากับ ปตท. เพื่อร่วมกันลงทุนคลังเก็บก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) แต่ขณะนี้กำลังพิจารณาใหม่เพราะเกรงจะเกิดข้อครหาว่า เป็นการผูกขาดก๊าซฯของผู้ประกอบการ 2 รายใหญ่ด้านพลังงาน

สำหรับในเรื่องการต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นเห็นว่า ปัญหาเกิดจากความไม่มั่นใจและเชื่อว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินจะก่อให้เกิดมลภาวะ จึงก่อให้เกิดการโต้แย้งของสังคมตลอดมา ดังนั้นแนวทางแก้ไขปัญหาคือ สังคมควรเปิดโอกาสให้ กฟผ.สร้างโรงไฟฟ้าต้นแบบถ่านหินขึ้นมา 1 โรงก่อน และวัดผลกันอย่างชัดเจน หากพบว่าก่อให้เกิดมลภาวะจริงและสังคมไม่ยอมรับอีก รัฐบาลก็สามารถกำหนดไว้ได้ว่า ประเทศไทยจะไม่ยอมรับโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะสร้างขึ้นใหม่อีกต่อไป เพราะหากปล่อยให้โต้แย้งกันต่อไป จะทำให้ไทยเสียโอกาสและเสียเวลากับประเทศอย่างมาก

สำหรับความคืบหน้าโครงการลงทุนโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ขนาด 200 เมกะวัตต์ ที่มัณฑะเลย์ พม่า คาดว่าจะยื่นซองประมูลได้ภายในเดือน ก.ย. 2557 นี้ หลังจากรัฐบาลพม่าเลื่อนวันยื่นซองประมูล คาดว่าผลการประมูลจะสรุปภายในเดือนต.ค.2557 นี้

ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมะริดขนาด 2,500 เมกะวัตต์ ที่ประเทศพม่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นขอลงนามข้อตกลง(เอ็มโอยู)เพื่อทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในเดือนก.ย.2557 นี้เช่นกัน เบื้องต้นโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะป้อนให้กับพม่าไม่เกิน 200-500 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือ 2,000 เมกะวัตต์จะถูกส่งมายังไทย โดยประเมินมูลค่าลงทุน 5,000-6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ