อสมทเปิดทางช่อง3แก้สัญญา

อสมทเปิดทางช่อง3แก้สัญญา

อสมทเปิดทางช่อง3แก้สัญญา "สุภิญญา"หวังยุติปัญหาก่อนแจกคูปองต.ค.นี้ "พล.อ.ไพบูลย์"ชี้หน้าที่กสทช.

กสทช.เปิดเวที "ช่อง3 -ทีวีดิจิทัล" หารือแนวทางออกอากาศ หลัง คสช.แจงอำนาจ กสทช.กำกับดูแล หาทางออนแอร์คู่ขนานระบบดิจิทัล แจงติดปัญหาสัญญาสัมปทานทีวีอนาล็อก ด้าน อสมท เปิดทางเจรจา ช่อง3 -กสทช. เจรจาแก้สัญญาออกอากาศคู่ขนาน "สุภิญญา" หวังเคลียร์ปัญหาจบก่อนแจกคูปอง ต.ค.นี้ ชง บอร์ด กสท. ส่งหนังสือแจ้ง"ดาวเทียม-เคเบิล" ห้ามแพร่ภาพช่องอนาล็อก

หลังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) มีมติเมื่อวันที่ 1 ก.ย.2557 เห็นชอบไม่ขยาย เวลาการปฏิบัติหน้าที่โทรทัศน์ที่ให้บริการทั่วไป (ฟรีทีวี) ของทีวีอนาล็อก ทุกช่องรวมทั้งช่อง 3 อนาล็อก ทำให้ "ทีวีอนาล็อก" สิ้นสุดการทำหน้าที่เป็นฟรีทีวี ตั้งแต่ 2 ก.ย.2557

จากกรณีดังกล่าวส่งผลให้ โครงข่ายระบบเคเบิลและดาวเทียม ไม่มีหน้าที่นำช่องทีวีอนาล็อก ที่ไม่ออกอากาศคู่ขนานระบบดิจิทัล ปัจจุบันมีเพียงช่อง 3 อนาล็อกช่องเดียว ไปเผยแพร่ในช่องทางเคเบิลและดาวเทียม ตามประกาศมัสต์ แคร์รี่ โดยช่อง 3 อนาล็อก ยังคงออกอากาศในระบบภาคพื้นดินจนจบสัญญาสัมปทาน ปี 2563

ทั้งนี้ หลังจาก บอร์ด กสท. มีมติไม่ขยายเวลาทีวีอนาล็อก ทำหน้าที่ฟรีทีวี ในวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา พบว่าโครงข่ายระบบดาวเทียมและเคเบิลทีวี ซึ่งครองสัดส่วนผู้ชมทีวีของครัวเรือนไทยในปัจจุบัน 70% ยังออกอากาศ ช่อง 3 อนาล็อก โดยยึดตามประกาศ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 27 ที่ระบุให้โทรทัศน์อนาล็อกและระบบดิจิทัล ออกอากาศผ่านทุกโครงข่ายทั้งภาคพื้นดิน ระบบดิจิทัล เคเบิลและดาวเทียมโดยปกติ

ดังนั้น บอร์ด กสท. จึงได้เตรียมหารือกับ คสช. เกี่ยวกับความชัดเจนด้านแนวทางการปฏิบัติของช่อง 3 อนาล็อก ตามประกาศ ฉบับที่ 27 ซึ่งขัดแย้งกับการบังคับใช้มติ กสท. วันที่ 3 ก.พ. 2557 ที่กำหนดให้ช่องทีวีอนาล็อกสิ้นสุดการทำหน้าที่ ฟรีทีวี ซึ่งขยายเวลามาถึงวันที่ 1 ก.ย.2557 และไม่สามารถออกอากาศได้บนโครงข่ายดาวเทียมและเคเบิลทีวี

คสช.ชี้อำนาจกสท.กำกับวิทยุทีวี

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณี กสทช. ระบุว่าจะส่งเรื่องให้ฝ่ายกฎหมาย คสช.เพื่อขอแนวปฏิบัติที่ชัดเจน กรณีช่อง 3 ระบบอนาล็อก พ้นหน้าที่ฟรีทีวี ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า ประกาศของ คสช.ทุกฉบับ ตั้งแต่ฉบับแรก วันที่ 22 ,23, 27 พ.ค.ที่ผ่านมา ไม่มีฉบับใดหรือข้อไหนที่บอกเรื่องการจัดการความถี่เรื่องนี้ เริ่มตั้งแต่คำสั่งฉบับแรกเป็นการประกาศให้สถานีโทรทัศน์หยุดทำการ ต่อมาเริ่มให้ฟรีทีวีและสถานีวิทยุออกอากาศได้ ยกเว้นวิทยุชุมชน จากนั้นได้ประกาศอนุญาตให้ทีวีระบบบอกรับสมาชิกออกอากาศได้เพียงแต่ขอความร่วมมือเรื่องเนื้อหาจนถึงขณะนี้ทีวีของช่องสีเสื้อต่างๆ ก็ออกอากาศได้จนครบทุกสถานี

ดังนั้นประกาศ คสช. จึงไม่มีอะไรเกี่ยวกับการจัดระบบอนาล็อกหรือดิจิทัลของ กสทช. ซึ่งต้องตัดสินใจด้านกระบวนการกำกับดูแล และต้องเข้าใจบทบาทของตัวเอง คำสั่งคสช. 3 บรรทัดแรกอ่านแล้วก็จะเข้าใจทันทีว่าไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ กสทช.เลย ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงไม่เข้าใจเจตนารมณ์ เพราะหากได้อ่านรายละเอียดจนเข้าใจ ก็จะทราบว่า คสช.ไม่เคยก้าวล่วงการจัดระบบ. เรื่องนี้ กสทช.ต้องไปคุยกับเอกชนคู่กรณีเอาเอง”

“ผมอ่านคำสั่งคสช.ทุกฉบับ อย่างละเอียดมา 2-3 วัน ยังไม่เห็นว่าตรงไหนไปเกี่ยวข้องกับการจัดระบบของกสทช.จึงขอฝากบอกว่าไม่ต้องมาถามผม ให้ไปทำหน้าที่ของตัวเอง" พล.อ.ไพบูลย์กล่าว

กสทช.เปิดทางช่อง3ส่งแผนแก้ปัญหาออนแอร์

วานนี้ (3 ก.ย.) กสทช. ได้เชิญตัวแทน บริษัทบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ผู้บริหารช่อง 3 บริษัทบีอีซี - มัลติ มีเดีย จำกัด ผู้ชนะประมูลทีวีดิจิทัล 3 ช่อง ในเครือช่อง 3 ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทุกช่อง รวมทั้งตัวแทนจากบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) คู่สัญญาสัมปทานช่อง 3 เพื่อร่วมหารือแนวทางแก้ปัญหาการออกอากาศช่อง 3 อนาล็อก ตามมติ กสท. หลังจาก คสช. มีความเห็นว่าการกำกับดูแลการออกอากาศในกิจการวิทยุโทรทัศน์ เป็นหน้าที่ของ กสทช.

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. และประธาน กสท. กล่าวว่าจากการหารือร่วมกับช่อง 3 ทีวีดิจิทัล และ อสมท เพื่อร่วมแก้ปัญหาการออกอากาศบน “โครงข่ายเคเบิลและดาวเทียม” ที่ต้องปฏิบัติตาม มติ กสท. โดยไม่สามารถเผยแพร่ช่องอนาล็อกได้ แม้ว่าช่อง 3 อนาล็อก จะยึดประกาศ คสช. ฉบับ 27 ในการออกอากาศทุกช่องทาง แต่โครงข่ายดาวเทียมและเคเบิล ต้องปฏิบัติตาม กสท. เช่นกัน

ทั้งนี้ การหารือร่วมกับตัวแทนช่อง 3 จะนำเสนอปัญหาการออกอากาศดังกล่าว รวมทั้งเสนอแผนแก้ไขและแนวทางปฏิบัติ ตามอำนาจ กสทช. กลับมาให้พิจารณาอีกครั้งในสัปดาห์ ซึ่ง กสทช.พร้อมจะร่วมหาทางออกกับทุกฝ่ายเกี่ยวข้อง

“การแก้ปัญหาการออกอากาศช่อง 3 อนาล็อกวันนี้ มุ่งหาแนวทางจากความร่วมมือทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดประโยชน์กับอุตสาหกรรมโทรทัศน์ ช่อง3 ทีวีดิจิทัล รวมทั้งประชาชนไม่ถูกรอนสิทธิในการรับชมทีวี” พ.อ.นที กล่าว

ดังนั้นระหว่างการหารือแนวทางแก้ปัญหาออกอากาศช่อง 3 อนาล็อกร่วมกัน ประชาชนที่รับชมผ่านโครงข่ายดาวเทียมและเคเบิล ยังคงได้รับชมช่อง3 อนาล็อก เป็นปกติ

ขณะที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ร่วมหารือการแก้ปัญหาในครั้งนี้ ต้องการให้ กสทช. บังคับใช้ ประกาศ กสทช. และมติ กสท.ต่างๆ เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่โทรทัศน์ระบบดิจิทัลโดยเร็ว ส่วนช่อง 3 ซึ่งเป็นผู้ชนะประมูลทีวีดิจิทัล สูงสุด 3 ช่อง ระบุว่ามีความตั้งใจจะดำเนินธุรกิจทีวีดิจิทัล เช่นกัน และเห็นว่า ทีวีดิจิทัล เป็นอนาคตของกลุ่มบีอีซี

"อสมท"พร้อมแก้สัญญาออกอากาศดิจิทัล

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. กล่าวว่าจากการหารือแนวทางการแก้ไขการออกอากาศช่อง 3 อนาล็อก และการออกอากาศคู่ขนานระบบดิจิทัล เพื่อสนับสนุนให้อุตสาหกรรมโทรทัศน์เปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลโดยเร็ว และต้องการให้ชัดเจนก่อน กสทช. เริ่มแจกคูปองในเดือน ต.ค.นี้

ทั้งนี้ ตัวแทนที่ปรึกษากฎหมายของช่อง 3 ชี้แจ้งว่าแนวทางการออกอากาศคู่ขนานอนาล็อกและดิจิทัล มีปัจจัย ที่ต้องตีความข้อกฎหมายเกี่ยวกับสัญญาสัมปทานช่อง 3 อนาล็อก รวมทั้งความแตกต่างของนิติบุคคล ระหว่างช่อง 3 อนาล็อกและดิจิทัล ซึ่งเป็นคนละบริษัท

ดังนั้นทั้ง กสทช. ช่อง 3 และ อสมท พร้อมที่จะหารือเพื่อร่วมกันหาแนวทาง ที่จะนำช่อง 3 มาออกอากาศคู่ขนานโดยเร็ว

นายพลชัย วินิจฉัยกุล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าที่ผ่านมา บริษัทบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ยังไม่มีการมาหารือกับ อสมท เรื่องการออกอากาศคู่ขนานช่องดิจิทัล เนื่องจากบริษัทที่ชนะประมูลทีวีดิจิทัลของช่อง 3 เป็นคนละนิติบุคคล กับคู่สัญญาสัมปทานช่อง 3 อนาล็อก

สำหรับบริษัทบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ซึ่งเป็นคู่สัญญาสัมปทานกับ อสมท ได้สิทธิบริหารสถานีโทรทัศน์ ช่อง 3 ระบบอนาล็อก ภาคพื้นดิน ดังนั้นแนวทางการนำช่อง 3 อนาล็อก ไปออกอากาศคู่ขนานดิจิทัล อสมท ยินดีที่จะหารือร่วมกับ กสทช.และช่อง 3 เพื่อแก้สัญญาสัมปทานกับ อสมท ในการนำช่อง 3 อนาล็อกไปออกอากาศคู่ขนานดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนได้รับชมช่อง 3 ในทุกช่องทาง

"ที่ผ่านมาถือว่าช่อง 3 เป็นคู่สัญญาที่ดีมาโดยตลอด แต่เมื่อเกิดสัญญาและกติกาใหม่ ช่อง 3 ควรคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ การระดมความเห็นร่วมกัน น่าจะมีทางออกที่ดี สัญญาสัมปทานสามารถแก้ไขได้ หากเกิดประโยชน์กับอุตสาหกรรมและประชาชน โดยช่อง 3 ต้องเข้ามาเจรจา และ อสมท ก็ยินดีเจรจาด้วย" นายพลชัย กล่าว

ปัจจุบันสัญญาสัมปทานช่อง 3 อนาล็อก ระยะที่สอง 10 ปี ระหว่างปี 2553-2563 ช่อง3 จ่ายค่าสัมปทานรวมให้ อสมท จำนวน 2,000 ล้านบาท

นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษากฎหมาย บริษัทบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ตัวแทนช่อง 3 อนาล็อก กล่าวว่าหลังจากร่วมหารือกับ กสท. อสมท และผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล วานนี้ จะนำความคิดเห็นและข้อเสนอต่างๆ กลับไปให้ฝ่ายบริหาร

"สุภิญญา"ชงบอร์ดส่งหนังสือเตือนโครงข่าย

นางสาวสุภิญญา กล่าวอีกว่าสำหรับกรณีการบังคับใช้ มติ กสท. เรื่องกำหนดสิ้นสุดหน้าที่ "ฟรีทีวี" ช่องอนาล็อก ของช่อง 3 อนาล็อก หลังจาก คสช. ระบุให้ กสทช.มีหน้ากำกับดูแลกิจการวิทยุโทรทัศน์โดยตรง

ดังนั้นในมุมมองส่วนตัว จะเสนอให้บอร์ด กสท. พิจารณาส่งหนังสือแจ้งไปยังโครงข่ายดาวเทียมและเคเบิล ที่ไม่สามารถแพร่ภาพช่อง 3 อนาล็อก ได้เนื่องจากสิ้นสุดหน้าที่ฟรีทีวี เพื่อให้โครงข่ายดังกล่าวแจ้งเตือนไปยังผู้รับบริการและผู้ชม

ทั้งนี้ เห็นว่าแนวทางที่ ช่อง 3 อนาล็อก สามารถออกอากาศผ่านช่องทางดาวเทียมและเคเบิลได้นั้น คือการขออนุญาตออกอากาศคู่ขนานดิจิทัล หรือ ขอใบอนุญาตประกอบกิจการบอกรับสมาชิก (เพย์ทีวี) กรณีดังกล่าวต้องยอมรับกติกาโฆษณาได้ 6 นาทีต่อชั่วโมง ขณะที่ช่องอนาล็อกและดิจิทัล โฆษณาได้ 12 นาทีต่อชั่วโมง

"ทีวีดิจิทัล"หนุน กสท.กำกับตามกฎหมาย

นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทเนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารทีวีดิจิทัล “เนชั่นทีวี” กล่าวว่าการมาร่วมหารือกับ กสทช. และผู้ประกอบการโทรทัศน์ระบบดิจิทัลวานนี้ ต้องการให้ทุกฝ่ายหาทางออกในการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมทีวีอนาล็อก ไปสู่ยุคดิจิทัลร่วมกัน โดยต้องการให้ กสทช. มุ่งกำกับดูแลผู้ได้รับใบอนุญาต ให้ปฏิบัติตาม ประกาศ กสทช. และมติ กสท. โดยเฉพาะ มติ กสท. วันที่ 3 ก.พ. 2557 ที่กำหนดเวลาการสิ้นสุดการทำหน้าที่ช่องอนาล็อก

แนวทางการออกอากาศ ช่อง 3 อนาล็อก น่าจะมีทางออกที่ดีร่วมกันได้ หากช่อง 3 นำผังรายการมาออกอากาศคู่ขนาน จะทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทุกรายเปลี่ยนผ่านไปพร้อมกัน และแข่งขันอย่างเท่าเทียม และไม่ควรนำ ประกาศ คสช.ฉบับที่ 27 มาเกี่ยวข้อง

นายสุภาพ คลี่ขจาย ประธานที่ปรึกษา บริษัทไทยทีวี จำกัด ผู้บริหารทีวีดิจิทัล ช่องไทยทีวี กล่าวว่าต้องการให้ กสทช.ปฏิบัติตามกฎกติกาอย่างชัดเจน หากช่อง3 ไม่ออกอากาศคู่ขนานระบบดิจิทัล คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อโครงการแจกคูปอง เพราะประชาชนอาจไม่นำคูปองไปแลกซื้อกล่องดิจิทัล เพราะเกรงว่าจะไม่มีช่อง 3 ซึ่งจะทำให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัลล่าช้า

ช่อง3พร้อมเจรจาหาทางออก

นายสุรินทร์ กล่าวอีกว่า ช่อง3 อนาล็อก ยังคงออกอากาศในระบบภาคพื้นดินต่อไป ตามสัญญาสัมปทานกับ อสมท ซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2563 จากนั้นจะนำช่องอนาล็อก ไปออกอากาศทางช่องดิจิทัล

“ช่วงที่มีการประมูลทีวีดิจิทัล ไม่ได้มีกฎกติกาใดกำหนดให้ ฟรีทีวีอนาล็อก ที่ออกอากาศในปัจจุบัน ต้องออกคู่ขนานช่องดิจิทัล”

สำหรับ ช่อง3 ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีแนวทางในการดำเนินธุรกิจชัดเจนมาตั้งแต่ต้น และไม่มีแผนนำช่อง3 ออกคู่ขนานช่องดิจิทัล ยกเว้นโครงข่าย(Mux) ระบบดิจิทัล มีความพร้อมส่งสัญญาณทั่วประเทศ ผู้ชมเปลี่ยนช่องทางไปรับชมทีวีดิจิทัล จะเป็นปัจจัยให้ช่อง 3 อนาล็อก ย้ายมาออกอากาศทางช่องดิจิทัลเร็วกว่าแผนเดิม

บริษัทให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิทัล และมองเป็นโอกาสในอนาคตเช่นกัน จึงประมูลมา 3 ช่อง มูลค่ากว่า 6 พันล้านบาท ดังนั้นหาก กสทช. ต้องการให้ช่อง3 ออกอากาศคู่ขนานดิจิทัล เร็วกว่าแผนที่บริษัทวางไว้ ก็พร้อมจะหารือร่วมกัน

นอกจากนี้ต้องการให้ กสทช. เร่งกำกับโครงข่ายภาคพื้นดิน ให้ขยายสถานีส่งครอบคลุมทั่วประเทศโดยเร็ว รวมทั้งเร่งแจกคูปอง เพื่อให้ประชาชนนำไปแลกซื้ออุปกรณ์รับชมทีวีดิจิทัลโดยเร็ว และประชาสัมพันธ์ให้เข้าใจถึงการเปลี่ยนจากอนาล็อกไปสู่ระบบดิจิทัลอย่างถูกต้อง

"ที่สำคัญผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ควรให้ความสำคัญในการพัฒนาคอนเทนท์ของตัวเองให้ดี ตอบโจทย์ผู้ชม เพื่อสร้างเรทติ้งผู้ชม และรายได้โฆษณาให้ช่อง" นายสุรินทร์ กล่าว