หนังสือ 'ดับไฟ'

หนังสือ 'ดับไฟ'

ภูมิปัญญาในหน้ากระดาษไม่ต่างจากกรุสมบัติล้ำค่า ที่ปลายด้ามขวาน ตัวหนังสือเหล่านั้นคือสันติภาพที่จับต้องได้

การอ่าน ถือเป็นประเด็นที่ชวนฉุกคิดได้หลากหลายแง่มุมอยู่ตลอดเวลา...

มากกว่าคำถามคลาสสิกสำหรับรางวัลเมืองหนังสือโลกประจำปี 2556 อันสวนทางกับวลีการอ่านทำนองว่า "คนไทยอ่านหนังสือปีละไม่กี่บรรทัด" กระทั่ง ปริมาณบรรทัดคงไม่สำคัญเท่ากับสิ่งที่กำลัง "อ่าน" ผ่านตานั้นมีอะไรบ้าง

สถิติการอ่านหนังสือของคนไทยจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2556 พบว่า คนไทยใช้เวลาในการ "อ่าน" เฉลี่ยคนละ 37 นาทีต่อวัน เพิ่มขึ้นจากการสำรวจปี 2554 ร้อยละ 10 ทั้งผู้หญิง และผู้ชาย อีกทั้งการอ่านหนังสือของวัยรุ่นก็มีปริมาณสูงถึง 90.1 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 8.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ร้อยละ 11.5 ทั้งหมดล้วนเป็นแนวโน้มที่ดี

ยิ่งไปกว่านั้น การอ่านหนังสือมากน้อยของประชาชนในแต่ละภาคยังสอดคล้องกับฐานะทางเศรษฐกิจ และ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนั้นๆ อย่างไม่น่าเชื่อ

ภายในรายงานฉบับดังกล่าวระบุอย่างชัดเจนว่า ภาคไหนคนอ่านหนังสือน้อย ความรอบรู้ก็น้อยไปด้วย ทำให้ยากจนกว่าจังหวัดที่ประชาชนอ่านหนังสือมาก ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัดและกระทบไปถึง "คุณภาพชีวิต" ที่ด้อยกว่าภาคที่มีการอ่านหนังสือมากกว่า

แต่สำหรับพื้นที่ความรุนแรงเรื้อรังมากว่าทศวรรษอย่าง 3 จังหวัดชายแดนใต้ "การอ่าน" กลับมีความหมาย "พิเศษ" ออกไปมากกว่านั้น

อ่านบันดาลใจ

ฏีฟลานี ยีระ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสามารถดีวิทยา อ.สายบุรี จ.ปัตตานีเคยจำได้ว่า "หนังสือทุกเล่มทุกแผ่น แม้กระทั่งกระดาษห่อข้าวยำล้วนมีความรู้ สาระสำคัญทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับว่าใครสามารถที่จะเก็บรายละเอียดจุดๆ นั้นได้มากแค่ไหน"

คำพูดของคุณครูในความทรงจำชั้นมัธยมต้นนั้น ทำให้การไล่สายตาทำความเข้าใจเนื้อหาที่ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดถือเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเธอไปแล้ว

ถึงวันนี้ ก่อนไปโรงเรียน ฏีฟลานีจะมีเวลาให้สำหรับข่าวสารบนหน้าหนังสือพิมพ์ หรือก่อนหัวถึงหมอน หนังสือก็มักจะเป็นสิ่งที่อยู่ในมือเสมอ

"จะได้รู้เยอะๆ ค่ะ" เธอให้เหตุผล

ถ้าถามเรื่องเดียวกันกับอับดุลเลาะ ดือราแม จากโรงเรียนสตรียะลา ที่กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัยในปีหน้ายอมรับว่า หนังสือถือเป็นสิ่งที่ชอบมาตั้งแต่เด็ก ภาพในความทรงจำของเขาก็คือ เด็กตัวดำๆ ที่ชอบแบกหนังสือหลายๆ เล่มไปโรงเรียน และอ่านทุกๆ เช้า

"การอ่านเป็นสิ่งที่ผมชอบมาก และมีความสุขทุกครั้งที่ได้อยู่กับมัน จนทำให้ผมเป็นเด็กที่รักในการอ่านหนังสือเป็นอย่างมาก" และนั่นเป็นสิ่งที่ช่วยต่อยอดความรู้ของตัวเองตลอด 10 ปีที่ผ่านมา จนกลายเป็นต้นทุนสำคัญส่วนหนึ่งสำหรับการเข้าสอบในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าอีกด้วย

ขณะที่ อาอีซะห์ สาเรป นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนสุวรรไพบูลย์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี คิดว่า การอ่านไม่ได้มีความหมายเพียงแค่การสะกดคำ หรือรับรู้ความหมายของตัวอักษรในกระดาษเท่านั้น แต่การอ่านคือกระบวนการที่ผู้อ่านรับรู้สาร ซึ่งเป็นความรู้ ความคิด ความรู้สึกต่างๆ ของผู้เขียนรวมทั้งคำตอบอันหลากหลาย

"การอ่านเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับตัวของเราเอง เป็นหนทางที่จะนำพาสู่ความสันติสุขให้กับใจของเราได้"

แต่ก็ต้องยอมรับว่า เรื่องของการเข้าถึงแหล่งความรู้สำหรับเด็กในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้นั้น จนถึงวันนี้ก็ยังคงเป็นหนึ่งในความท้าทายหลายรูปแบบ จากรายงานสถานการณ์เด็ก และสตรีในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้หลายๆ ฉบับ ระบุตรงกันว่า ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของระดับการศึกษาในพื้นที่อันส่งผลในด้านการพัฒนาความรู้ ปริมาณสถานศึกษา และศูนย์พัฒนาเด็กที่มีปริมาณเพียงพอ แต่ความกังวลด้านคุณภาพยังเป็นคำถามที่หาคนตอบไม่ได้ รวมทั้งเด็กอยู่นอกระบบการศึกษาในพื้นที่ซึ่งมีอยู่ราว 50,000 คนนั้น 1 ใน 5 อยู่ในภาวะเสี่ยง โดยเฉพาะเด็กผู้ชายที่มีอัตราการเรียนน้อยลง การออกจากโรงเรียนกลางคันสูงขึ้น

สอดคล้องกับสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ตามรายงานขององค์การยูนิเซฟประเทศไทย (Unicef Thailand) พบว่า ผู้ก่อเหตุมีความระมัดระวังต่อเด็กน้อยลง ขณะที่ภาครัฐยังไม่มีมาตรการใดที่จะรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลกระทบให้มีเด็กได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิต รวมทั้งระบบการเยียวยาในแง่วิธีการคัดกรองเด็ก และความรู้ก็ยังไม่มีประสิทธิภาพที่เพียงพอ

ยิ่งไปกว่านั้น จากผลการสำรวจความคิดเห็นเยาวชน ซึ่งส่วนใหญ่มีพ่อแม่เป็นเกษตรกร พบว่า เด็กส่วนใหญ่ไม่อยากมีอาชีพเหมือนพ่อแม่ แต่ต้องการเป็นแรงงานรับจ้างไร้ฝีมือ สะท้อนว่า เยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ขาดแรงจูงใจในการพัฒนาตนเอง

อีกทั้ง การเติบโตของเด็กๆ ที่อยู่ท่ามกลางความรุนแรงอย่างต่อเนื่องก็มีแนวโน้มที่จะไม่รับรู้ถึงสันติภาพและการอยู่ร่วมกันกับผู้ที่มีความคิดเห็นหรืออุดมการณ์แตกต่างอันถือเป็น "ความอ่อนไหว" ที่บ่อยครั้ง "ผู้ใหญ่" มองไม่เห็น

สันติภาพในหนังสือ

หากอนาคตของเด็กๆ ใน 3 จังหวัด ตรงกับรายงานบนหน้ากระดาษวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมอันสุ่มเสี่ยง รวมทั้งทัศนคติที่ถูกปลูกฝังจนทำให้ดูเหมือนกว่า หากจะเริ่มพูดคุยถึงความสงบสุขในวันนี้ เราอาจต้องคาดหวังไปถึงความสำเร็จในคนยุคหน้าอย่างน้อยอีก 2 รุ่น

แต่หากดูตัวเลขการเข้าถึง "ข้อมูล" และ "ข่าวสาร" ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนกับเด็กรุ่นใหม่นั้น อีกคำถามที่น่าถามก็คือ...

"ตัวหนังสือจะสร้างสันติได้ไหม"

"เมื่อการอ่านจุดประกายไปทั่วทั้งสังคม รอยยิ้มแห่งความสุขก็กลับคืนมาค่ะ" ซูนัยเร๊าะ คาเร็ง จากโรงเรียนสุขสวัสดิ์วิทยา อ.ยะหา จ.ยะลาตอบเสียงดังฟังชัด

เธอมองว่า เพราะเราอยู่ในสังคมท่ามกลางความแตกต่างและความหลากหลาย ทั้งด้านภาษา ศาสนา วัฒนธรรม รวมทั้งความเป็นอยู่การเรียนรู้เพื่อใช้ชีวิตในสังคมอันหลากหลายจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง และการอ่านก็จะเป็นกุญแจดอกหนึ่งที่นำไปสู่อุดมคติเหล่านั้น

ส่วน มะเซาฟี แดวอสนุง จากโรงเรียนสุขสวัสดิ์วิทยา อ.ยะหา จ.ยะลา มองว่า ถึงวันนี้ คนส่วนใหญ่ต่างตระหนักแล้วว่า ความขัดแย้ง และการเผชิญหน้าในสังคมเรามาถึงจุดอิ่มตัวแล้ว เราไม่สามารถอยู่บนความขัดแย้งได้ต่อไปอีก ถึงเวลาแล้วที่กระบวนการสร้างสันติภาพจะต้องให้บังเกิดผล ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

"หลายครั้งที่วิธีคิด วิธีแก้ปัญหาที่ได้มาก็เพราะการอ่าน การอ่านช่วยในการสร้างสมาธิได้ดีที่ได้ทั้งองค์ความรู้ ความคิด ข้อมูลข่าวสารในเวลาเดียวกัน การอ่านเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการพัฒนาตนเองเพื่อให้เกิดทักษะต่างๆ มากมาย ตั้งแต่เด็กจนโตการอ่านถือเป็นวัคซีนชนิดหนึ่งที่เป็นตัวพลักดันให้แรงบรรดาลใจในการอยู่ในสังคมแห่งความหวาดระแวงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และการอ่านของหนูสามารถที่จะช่วยเพื่อนๆ น้องๆ ในพื้นที่โดยการเอาความรู้ แนวคิดดี ๆ ที่ได้ที่ได้อ่านได้ไปถ่ายทอดให้น้อง ๆ ที่มีผลกระทบ เพิ่มพูนความรู้มากยิ่งขึ้น" เธออธิบาย

เมื่อความไม่สงบเกิดจากความไม่เข้าใจกัน ความเข้าใจกันสำหรับเธอคิดว่าสามารถสร้างได้ด้วยการอ่านนั่นเอง

แม้แต่ เด็กหออย่างรอมล๊ะ ดอเลาะมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนซอลีฮียะห์ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ก็ยอมรับว่า การอ่านนำความรู้มาทลายกำแพงต่างๆ ที่คอยปิดกั้น "โลกภายนอก" ของตัวเองลงอย่างราบคาบ ไม่ว่าจะเป็น บอร์ดประชาสัมพันธ์ หรือใบปลิวโฆษณา

"การอ่านเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งที่ทำให้คนเรามีความคิดที่ดี ปรับเปลี่ยนทัศนคติของตัวเราได้ อีกทั้งยังเพิ่มพูนความรู้ ทำให้เกิดความคิดที่มีระบบ และมีกระบวนการมากยิ่งขึ้น การอ่านหนังสือเยอะๆ นั้นทำให้เราได้ความรู้มากยิ่งขึ้นรู้จักคิดมากขึ้น อีกทั้งสามารถรู้จักวิธีการคิดแบบสังเคราะห์ และวิเคราะห์ได้ ซึ่งการอ่านนั้นสามารถช่วยสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นได้ด้วย คือเมื่อเราได้อ่านหนังสือหลายเล่มหลายเรื่อง เราก็สามารถที่จะไปเผยแพร่หรือเล่าต่อให้กับคนในชุมชน ครอบครัวได้อีกด้วย สามารถเล่าเรื่องที่เขาไม่รู้ให้เขาได้รู้ได้"

ทั้งนี้ เมื่อเข้าใจกันมากขึ้น ก็จะทำให้เกิดสันติสุขขึ้น คนในชุมชนก็จะรักกันในที่สุด

การอ่านสร้างได้

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สภาพแวดล้อมในแต่ละช่วงวัยของเด็กล้วนมีผลต่อการใช้ชีวิต และบ่มเพาะทัศนคติที่จะติดตัวต่อไปในอนาคต ดังนั้น การสร้างนิสัยรักการอ่านคงไม่ได้เป็นเพียงกิจกรรมที่ทำวันนี้ แล้วพรุ่งนี้จะเห็นผล หากเปรียบเสมือนการเพาะเมล็ดพันธุ์ที่ต้องผ่านการดูแลเอาใจใส่จนกล้าไม้เติบใหญ่ให้ร่มเงาต่อไปนั่นเอง ซึ่งนอกจากครอบครัวที่เหมือนเป็นเสาหลักแล้ว ห้องเรียนในโรงเรียนก็ถือเป็นอีกส่วนผสมที่อย่างที่ขาดไม่ได้

"เราจะลงไปขลุกอยู่กับเด็กเลย แสดงบทบาทสมมติให้เขาเข้าใจตามไปด้วย" นี่เป็นวิธีที่ ครูป้าเอ๋ - สงบ เอี่ยมอำพร รักษาการหัวหน้าศูนย์เด็กเล็กค่ายอิงคยุทธบริหารสู่เจริญศรีศึกษา จ.ปัตตานี มักใช้ประจำกับเด็กๆ ที่ตัวเองดูแล

ประสบการณ์ และความรักในวิชาชีพครูที่อยากเห็นเด็กๆ เติบโตขึ้นเป็นคนดีของสังคม ทำให้เธอ และเพื่อนๆ ครูในศูนย์ฯ พยายามสร้างนิสัยรักการอ่านให้กับเด็กๆ ทั้งกิจกรรมในห้องเรียน รวมทั้งมุมหนังสือที่จัดเอาไว้ "ล่อตา-ล่อใจ" บรรดาเด็กวัยเตรียมอนุบาลให้เข้าไป "สัมผัส" สร้างความคุ้นเคยเป็นพื้นฐาน

"เราอย่าไปดุเขาถ้าเขาจะฉีกหนังสือ ไม่เป็นไรหนังสือขาดเราค่อยๆ ซ่อมได้ แต่เขาก็จะสนใจเนื้อหาข้างใน ยิ่งเวลาเราเข้าไปเล่นกับเขา เล่าให้เขาฟังด้วยเด็กๆ ก็จะยิ่งให้ความสนใจมากขึ้น"

นอกจากตัวเด็กๆ แล้ว ครูป้าเอ๋ยังมักหยิบหนังสือใส่มือผู้ปกครองกลับไปบ้านทุกครั้งที่มีโอกาส แน่นอนว่า พ่อแม่จะได้มีเวลาอ่านหนังสือให้ลูกฟังซึ่งถือเป็นการช่วยส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของเด็กๆ ได้อีกทางหนึ่งเหมือนกัน

ยิ่งไปกว่านั้น กิจกรรมเสริมการอ่านก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ขาดไม่ได้ เพื่อสร้างความต่อเนื่องในการอ่านให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพวกเขาอย่างแท้จริง ครูภาษาอังกฤษที่รับอีกบทหนึ่งเป็นบรรณารักษ์ประจำห้องสมุดโรงเรียนบ้านปุโรง จ.ยะลา อย่าง อภิรักษ์ สำเร ยืนยันเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

โรงเรียนขนาดกลางที่นอกจากจะมีชั่วโมงห้องสมุดให้สำหรับเด็กได้มีเวลาอยู่กับคลังความรู้ที่ซ่อนอยู่ตามชั้นหนังสือต่างๆ แล้ว เขาจะจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านสำหรับเด็กเป็นประจำทุกเดือน ตั้งแต่กิจกรรมเล่านิทาน วาดภาพ ประกวดการเขียน และการอ่าน ทั้งหมดก็เพื่อให้เด็กๆ คุ้นชินกับหนังสือ และห้องสมุดนั่นเอง

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ชั้นหนังสือของโรงเรียน และศูนย์เด็กเล็กจะไม่มีปัญหา

"เมื่อก่อนจะหนักไปทางวารสารวิชาการครับ" ครูอภิรักษ์เล่า

ปริมาณหนังสือที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการถือเป็นปัญหา "คลาสสิก" พอๆ กับ "ภาษา" ในหนังสือ เพราะต้องไม่ลืมว่า "ภาษามลายู" เป็นภาษาประจำถิ่น

เหมือนกับรายละเอียดใน "โครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อปฏิรูปการศึกษา 3 จังหวัดชายแดนใต้" ของ มะลาเซ็น อาสัน พบว่า ภาษาเป็นปัญหาหลายด้านสืบต่อกันมา เช่น ฟังไม่เข้าใจ เด็กพูด ออกเสียงไม่ชัด อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ การสื่อสารไม่ชัดเจน เข้าใจความหมายไม่ตรงกัน นอกจากนี้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ครูไม่สามารถทำงานได้เต็มที่มีการปิดเรียนบ่อยๆ ครูมีเวลาอยู่ในโรงเรียนจำกัด ทำให้ผู้เรียนได้รับการส่งเสริมทักษะทางด้านภาษาไม่ต่อเนื่อง

โดยในเรื่องนี้ ปัจจัยหลักที่ชี้ชัดถึงแนวทางแก้ปัญหา ก็คือการฝึกทักษะเชิงภาษาผ่านกิจกรรมส่งเสริมการอ่านด้านต่างๆ รวมทั้ง การมีหนังสือภาษามลายูเพื่อเชื่อมโยงความหมายของภาษา และสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับตัวนักเรียนให้มากยิ่งขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ครอบครัวก็ถือเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เรื่องนี้สำเร็จ และล้มเหลวลงได้พอ ๆ กัน

"ปรบมือข้างเดียวไม่ดังหรอกครับ" ใครบางคนเย้าด้วยรอยยิ้ม

ถ้าการอ่านจะเป็นเหมือนสะพานเชื่อมความคิดอันนำไปสู่ความสงบในพื้นที่ได้ในอนาคตจริงๆ เราก็ควรจะไม่ลืมองค์ประกอบร่วมต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสให้โน้มเข้ามาใกล้เคียงคำว่า "สันติสุข" ที่สุดเหมือนกัน