แนะไทยพลิกวิกฤติ ดันการเมืองหลุดพ้น'วงจรอุบาทว์'

แนะไทยพลิกวิกฤติ ดันการเมืองหลุดพ้น'วงจรอุบาทว์'

(รายงาน) นักวิชาการ ตปท. แนะไทยพลิกวิกฤติ ดันการเมืองหลุดพ้น "วงจรอุบาทว์"

เมื่อเร็วๆ นี้มีการนำเสนอความเห็นเรื่อง "ไทยสามารถฝ่าฟันวิกฤตเปลี่ยนผ่านการเมืองตอนนี้ไปได้อย่างไร" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานเสวนาหัวข้อ "วิกฤติการเมืองไทยในสายตาต่างชาติ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต" ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)

นายมาร์ค แซกเซอร์ ผู้อำนวยการมูลนิธิ Friedrich Ebert Stiftung ประจำประเทศไทย กล่าวกับผู้สื่อข่าวภายหลังนำเสนอความเห็นว่า ภายใต้วาทกรรมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในไทยขณะนี้ สะท้อนได้ว่าไทยยังไม่สามารถนำพาประเทศออกจากวิกฤติที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ได้

ทั้งนี้ หากประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงภาวะแวดล้อมการเกิดวาทกรรมอันเนื่องมาจากปัญหาความขัดแย้งที่เกิดระหว่างกลุ่มคนสนับสนุนเสื้อเหลือง ซึ่งเป็นกลุ่มสนับสนุนอำนาจนิยมผู้มีบารมีทางการเมือง และกลุ่มคนเสื้อแดงที่นิยมการใช้อำนาจกระตุ้นมวลชน โดยเปลี่ยนความขัดแย้งมาเป็นการทำความเข้าใจกันในทางการเมืองได้ นั่นจึงจะช่วยทำให้คนไทยและประเทศไทยออกจากวิกฤติได้

ต่อข้อถามว่า การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองทำให้คู่ขัดแย้งได้รับผลกระทบที่ไม่ดีทั้งคู่ จะต้องใช้เวลานานเท่าไรจึงจะแก้ไขบาดแผลแห่งความขัดแย้งนี้ได้ นายแซกเซอร์ กล่าวว่า บาดแผลทางการเมืองในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาใช้เวลานานกว่าจะรักษาได้ แต่คนไทยไม่ควรมองว่าเมื่อเกิดวิกฤติแล้วต้องเป็นวิกฤติเสมอไป แต่ควรมองว่าวิกฤตินั้นเป็นโอกาสนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง นำไปสู่สิ่งใหม่ๆ ที่ดีกว่าเดิมได้เช่นกัน

"สำหรับผมแปลกใจที่ว่าทำไมการเปลี่ยนแปลงการเมืองครั้งนี้ คือเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ใช้เวลานานถึงจะเกิด ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเกิดขึ้นเร็วกว่านี้ การเปลี่ยนแปลงมีส่วนเหมือนกับช่วงที่เกิดใน ยุคสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรี) แต่ที่ไม่เหมือนกันคือครั้งนั้นใช้อำนาจความรุนแรงในระดับกว้าง แต่การเข้ามาของกองทัพครั้งนี้ไม่ได้ใช้อำนาจหรือความรุนแรงมาก เพราะชนชั้นนำรู้ตัวว่าอาจเสียอำนาจ และทำอะไรไม่ได้มากกว่านี้แล้ว" นายแซกเซอร์ กล่าว

ด้าน นายเอดวาร์ด คนุธ อาจารย์ในโครงการปริญญาตรี โครงการอังกฤษ-อเมริกันศึกษา (British and Ametican Studies) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมเสวนา มองว่า ไทยยังอยู่ในวงจรอุบาทว์ทางการเมือง 5 ขั้นตอน ซึ่งหมายถึง

ขั้นแรก มีเผด็จการเข้ามาคุมอำนาจ

ขั้นที่สอง เกิดการสร้างประชาธิปไตยกระดาษ

ขั้นที่สาม การเกิดประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่แล้วก็เกิด...

ขั้นที่สี่ วิกฤติการเมือง ที่จบลงในขั้นสุดท้ายเมื่อ...

ขั้นที่ห้า กองทัพเข้ามาแทรกแซง

นายคนุธ เชื่อว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและคนไทยทั้งประเทศจำเป็นต้องช่วยกันหยุดวงจรอันเลวร้ายนี้ให้ได้ ซึ่งเขาเห็นว่าตอนนี้ยังพูดไม่ได้ว่าไทยมีประชาธิปไตย ส่วนวิธีที่จะออกจากวงจรเลวร้าย ต้องทำอย่างไรบ้างนั้น ยอมรับว่ายังไม่รู้ว่ามีทางแก้ปัญหาหรือทางออกใดที่ชัดเจน

"ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมีการรัฐประหารที่ทำสำเร็จ 12 ครั้ง และอีก 7 ครั้งพยายามทำแต่ไม่สำเร็จ มีรัฐธรรมนูญถึง 19 ฉบับ ทั้งที่เป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราวและถาวร ที่ผ่านมามีผู้นำรัฐบาล 28 คน มีอยู่ 9 คนมาจากการเลือกตั้งและเลือกตั้งซ่อม รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจริงๆ ที่ผ่านมาอยู่บริหารประเทศเป็นเวลารวมกัน 19 ปี"

ทั้งนี้ เขาได้เสนอแนะ 3 แนวทางซึ่งเป็นทางออกที่พอจะทำได้ คือ 1.ให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายยอมรับในผลการเลือกตั้ง หากมีการเลือกตั้งตามแนวทางประชาธิปไตย 2.ให้ทุกฝ่ายยอมรับกฎที่เกิดขึ้นตามกฎหมายหรือนิติรัฐ ให้ทุกฝ่ายถือเรื่องนี้เป็นคำตอบของทุกความขัดแย้ง และ 3.กลุ่มคนเสื้อแดงที่มีข้อขัดแย้ง ต้องยอมรับคำตัดสินของศาลทุกอย่าง ไม่ว่ากรณีใดๆ

นายคนุธ มองว่า กองทัพมีทางเลือกที่จะช่วยหยุดการเมืองที่เป็นอัมพาต หรือภาวะที่ประเทศเกิดการชัตดาวน์ได้ ซึ่งภาวะที่เกิดขึ้นดังกล่าวไม่ได้เกิดเอง แต่เกิดจากการล้มการเลือกตั้งและกองทัพเข้ามาแทรกแซงอย่างเปิดเผย

"เหตุผลที่ไทยต้องรับฟังผู้เชี่ยวชาญต่างชาติอย่างผมและผู้ที่ร่วมเสวนาครั้งนี้ เป็นเพราะในประวัติศาสตร์ตามทฤษฎีมานุษยวิทยา พบว่าประเทศที่เปิดกว้างรับมุมมองของชาวต่างชาติอยู่เสมอ ประเทศนั้นๆ มักบริหารประเทศให้อยู่รอดได้ในระยะยาว ตรงข้ามกับประเทศที่ไม่เปิดรับมุมมองต่างชาติ มักล่มสลาย อยู่ได้ไม่นานในระยะยาว"

ขณะที่ นายคลอดิโอ โซปรานเซตติ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดซึ่ง มีงานวิจัยเกี่ยวกับเศรษฐกิจการเมืองไทย เห็นว่า วิกฤติการเมืองไทยครั้งนี้และในอดีตเกิดจากการต่อสู้ 2 กลุ่มที่มาจาก 2 รูปแบบ คือ

แบบแรก กลุ่มสนับสนุนอำนาจมาจากบารมี

แบบที่สอง กลุ่มสนับสนุนอำนาจที่ได้มาจากกระตุ้นขับเคลื่อนด้วยมวลชน

"ทั้งสองแนวคิดล้วนขัดกับหลักประชาธิปไตยในระดับสากล ดังนั้นปัญหาจึงอยู่ที่กลุ่มผู้สนับสนุนอำนาจทั้ง 2 รูปแบบเกิดความขัดแย้ง และในที่สุดนำมาซึ่งวิกฤติการเมือง การทำให้การเมืองเกิดเสถียรภาพได้ต้องทำให้เกิดความสมดุลและประนีประนอมระหว่างกลุ่มคนทั้งสองกลุ่มนี้ให้ได้ ให้การเมืองไทยอยู่ในภาวะเกิดสมดุล"

ในช่วงท้าย นายแซกเซอร์ได้ตอบคำถามถึงข้อสงสัยที่ว่า เพราะเหตุใดประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย อย่างสิงคโปร์และจีน จึงมีเศรษฐกิจที่รุ่งเรืองได้ ซึ่งเขามองว่าประเทศเผด็จการอย่างสิงคโปร์และจีนมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในบางส่วนที่เกิดจากการกดขี่แรงงาน ขณะที่ความสัมพันธ์ของคนในสังคมเป็นไปอย่างไม่ยุติธรรม

เขาเชื่อว่าในประเทศเหล่านี้ การกดขี่ยังมีอยู่ มีความขัดแย้งเกิดขึ้นภายในซึ่งมองไม่เห็น และสร้างมายาคติทางการเมืองให้มองจากภายนอกว่าการเมืองมีเสถียรภาพ สำหรับเขาจึงไม่คิดว่าประเทศเหล่านี้จะสามารถรักษาระดับการพัฒนาเศรษฐกิจได้เรื่อยๆ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือสร้างนวัตกรรมใหม่ทางการเมืองได้