แนะบริหารจัดการน้ำฟังความเห็นรอบด้าน

แนะบริหารจัดการน้ำฟังความเห็นรอบด้าน

(รายงาน) นักวิชาการแนะบริหารจัดการน้ำ ฟังความเห็นรอบด้าน-อย่ารีบเร่ง

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เตรียมสรุปแผนบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศในเดือนหน้า หลังสั่งให้ทุกหน่วยงานเร่งเสนอโครงการให้พิจารณา แต่นักวิชาการเห็นว่าการบริหารน้ำมีความซับซ้อน ดังนั้นการรับฟังความเห็นจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจึงเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการ

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระดมสมองจัดสัมมนาเรื่อง "ยุทธศาสตร์และ ทิศทางการพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย" วานนี้(19 ส.ค.) โดยเสนอให้รัฐบาลใหม่พิจารณาการบริหารจัดการน้ำอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการที่เกิดขึ้น

นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ กล่าวว่าการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่ผ่านมา จะเน้นผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก แต่ไม่ปกป้องผลประโยชน์ของผู้ที่ได้รับผลกระทบ เช่น ที่ผ่านมามีการปรับหลักเกณฑ์การชดเชยแก่ผู้เสียประโยชน์ตลอดเวลา มีการพิจารณาเป็นรายโครงการ โดยอาศัยอำนาจคณะรัฐมนตรี แต่ไม่มีหลักเกณฑ์ที่เป็นธรรมและเป็นหลักปฏิบัติอย่างชัดเจน

รัฐควรเพิ่มทางเลือกให้ทั้งผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการ โดยอาจต้องเก็บภาษีจากผู้ที่ได้ประโยชน์ไปจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้เสียผลประโยชน์ เช่น คนชนบทที่ถูกเวนคืนที่ดิน เพื่อนำเงินไปชดเชยให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี อย่างน้อยที่สุดในระดับเดิม หรือมากขึ้นกว่าเดิมจากการต้องเสียสละย้ายที่ทำกินเพื่อคนกรุงเทพ โดยเฉพาะการลงทุนโครงการมูลค่าสูงถึง 3 แสนล้านบาท ยิ่งต้องวางแผนให้รอบคอบโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ยังมีเวลาอย่างน้อย 1 ปี ในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายต่างๆเพื่อให้การดูแลบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพ คุ้มค่าและได้รับการยอมรับจากประชาชน

“โครงการชลประทานขนาดใหญ่ในอดีตกระทบคนชนบทที่ยากจน ซึ่งไม่มีเสียงทางการเมือง การเวนคืนที่ดินมีปัญหาไม่มาก ราคาที่ดินต่ำ ต้นทุนเวนคืนไม่สูง แม้รัฐบาลในอดีตจะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ การชดเชยผู้ถูกเวนคืนที่ดิน เช่น การชดเชยให้ผู้ครอบครองที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การตั้งนิคมสร้างตนเอง แต่การชดเชยยังต้องขอมติ ครม. เป็นกรณีๆ ไม่มีการวางกฎกติกาถาวร “ นายนิพนธ์ กล่าว

นิพนธ์ กล่าวว่า ในอดีต โดยเฉพาะช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 3 แผนแรก โครงการชลประทานขนาดใหญ่ เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรหลายล้านครัวเรือน พื้นที่เกษตรกรรมที่ได้ประโยชน์จากน้ำชลประทานเป็นเนื้อที่หลายแสน หลายล้านไร่ เช่นเขื่อนภูมิพล ผลิตไฟฟ้า 0.56 ล้านกิโลวัตต์ ให้น้ำฤดูแล้ง 2 ล้านไร่ เขื่อนสิริกิติ์ ผลิตไฟฟ้า 0.25 ล้านกิโลวัตต์ ให้น้ำฤดูแล้ง 2.5 ล้านไร่ การลงทุนส่วนใหญ่มีระบบการประเมินผลทางเศรษฐกิจ (Cost-benefit) อย่างเคร่งครัด และเป็นหลักประกันว่าประเทศได้ผลประโยชน์คุ้มค่า เพราะใช้เงินกู้ธนาคารโลก

"แต่ไม่ต้องทำ EIA ผู้ถูกผลกระทบของโครงการชลประทาน เป็นคนยากจนในชนบทซึ่งไม่มีเสียงทางการเมือง ที่ดินส่วนใหญ่ในเขตก่อสร้างเป็นป่า หรือที่ดินมือเปล่า ราคาต่ำ การเวนคืนจึงมีต้นทุนไม่มาก การจัดการโครงการชลประทานขนาดใหญ่จึงดำเนินงานไปด้วยดี และเกิดประโยชน์มหาศาลต่อประเทศ"

แต่ปัจุบัน ผลประโยชน์ของโครงการจัดการน้ำไม่ชัดเจน แต่เกิดผลกระทบชัดเจน โครงการชลประทานขนาดใหญ่ และขนาดกลางให้ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจต่ำหรือไม่คุ้มค่าเพราะข้อจำกัดเรื่องปริมาณน้ำผิวดิน และต้นทุนโครงการสูงขึ้นในประเทศไทย-เวียดนาม-กัมพูชา สิ่งก่อสร้างเพื่อป้องกันน้ำท่วม เช่น เขื่อน คันกั้นน้ำ คลองผันน้ำ อุโมงค์ระบายน้ำ ไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้อย่างที่รัฐบาล และผู้เชี่ยวชาญสัญญาไว้กับประชาชน

นิพนธ์ กล่าวว่า โครงการป้องกันน้ำท่วม จะเกิดผลกระทบรุนแรงต่อรายได้ ราคาที่ดิน ความเป็นอยู่ของคนมีฐานะและคนชั้นกลางที่อาศัย ในชานเมืองและชนบท ต่อธุรกิจ และโรงงาน รวมทั้งเกษตรกรชั้นกลางในลุ่มเจ้าพระยา คนเหล่านี้เป็นฐานเสียงการเมืองกลุ่มใหญ่ที่สุด คนไทยมีการศึกษาและรายได้สูงขึ้น จึงให้ความสำคัญต่อมูลค่าสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และมีเสียงดังมากขึ้น ดังนั้น ชาวบ้าน NGO และนักวิชาการ จึงต่อต้านโครงการป้องกันน้ำท่วม โครงการชลประทาน อย่างหนัก เช่น แก่งเสือเต้น

ทั้งหมดทำให้ประชาชนเริ่มตั้งคำถามว่า ใครเป็นผู้ได้ประโยชน์จากสิ่งก่อสร้างป้องกันน้ำท่วม ใครแบกภาระของการป้องกันน้ำท่วม และมีทางเลือกอื่นในการจัดการความเสี่ยงจากน้ำท่วมไหม ที่สำคัญ คือโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาลยังคงเน้นเฉพาะผลประโยชน์โดยรวมของโครงการ และหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงผู้ที่ถูกผลกระทบทางลบกลุ่มต่างๆ ข้อมูลในการเสนอขออนุมัติโครงการ จะมีแค่ วงเงินชดเชย การเวนคืนที่ดิน เท่านั้น

นอกจากนี้ในปัจจุบันที่ดินในชนบทมีราคาแพงขึ้น ที่ดินชานเมืองถูกนำไปใช้ประโยชน์ทั้งด้านที่อยู่อาศัย การพาณิชย์และอุตสาหกรรม ที่ดินภาคเกษตรส่วนใหญ่มีเอกสารสิทธิ์ และถูกใช้ประโยชน์ตลอดปี โครงการแก้มลิงที่จะฝากน้ำในที่ดินการเกษตรจะเกิดต้นทุนเสียโอกาสต่อเจ้าของที่ดิน ผู้ครอบครองและทำให้ราคาที่ดินลดลง

นายนิพนธ์ กล่าวว่าการประชุม คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่มี พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะกรรมการรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เป็นประธาน ในวันที่ 15 ต.ค. นี้ ควรพิจารณาโครงการบริหารจัดการน้ำจะต้องก่อประโยชน์ต่อสังคม หลังจากคำนึงถึงผลกระทบต่อกลุ่มบุคคลทุกกลุ่ม ตลอดจนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียร่วมพิจารณาประโยชน์และทางเลือกของโครงการตั้งแต่ต้น และผลกระทบต่างๆ มีระบบการชดเชยที่เป็นธรรมต่อผู้ถูกผลกระทบทุกกลุ่ม ผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการควรมีส่วนร่วมรับภาระการชดเชยแก่ผู้เสียหาย

กระบวนการตัดสินใจเลือกโครงการจัดการน้ำ หน่วยงานเจ้าของโครงการจะต้องนำข้อเสนอ และโครงการทางเลือก เข้าสู่สภาปฏิรูปเพื่อจัดเวทีประชาเสวนา (deliberative) ซึ่งประกอบด้วยประชาชนผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย มิใช่อาศัยเพียงผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

"เมื่อประชาชนเข้าใจผลกระทบและความเสี่ยงดีขึ้น ก็สามารถนำไปสู่ทางออกและรูปแบบการจัดการที่เหมาะสม และไม่ถูกต่อต้านแบบปัจจุบัน"

ด้าน สุจริต คูณธนกุลวงศ์ นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอให้จัดทำแผนแม่บทการจัดการและพัฒนาน้ำระดับประเทศ โดยมองว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีพระราชบัญญัติ หรือ พรบ.บริหารจัดการน้ำ เพื่อรองรับการกำหนดนโยบายด้านน้ำและที่ดิน ให้สอดคล้องกัน รวมทั้งต้องจัดตั้งคณะกรรมการ หรือ water board เข้ามาดูแลโครงการบริหารจัดการน้ำมูลค่า 3 แสนบ้านบาท ที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วย

เสรี ศุภราทิตย์ นักวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การที่ คสช.กำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งแผนโครงการบริหารจัดการน้ำ 3 แสนล้านบาทภายในกลางเดือนต.ค.นี้ โดยส่วนตัวมองว่า เร็วเกินไป เนื่องจากการบริหารจัดการน้ำเป็นเรื่องใหญ่ที่มีความสำคัญ ควรใช้เวลาในการศึกษา และรับฟังความเห็นให้รอบด้านก่อนตัดสินใจดำเนินโครงการ

"เกรงว่าหากเร่งรีบเกินไป ปัญหาน้ำที่เกิดขึ้นก็จะซ้ำรอยเดิม และอาจรุนแรงมากขึ้น เพราะครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศ"