พาณิชย์ชงนบข.ขายข้าว5แสนตัน/เดือน

พาณิชย์ชงนบข.ขายข้าว5แสนตัน/เดือน

“พาณิชย์”เตรียมชงนบข.ตั้งคณะทำงานระบายข้าว ดึงคลัง สำนักนายกฯร่วมเน้นโปร่งใส ตั้งเป้า5แสนตันต่อเดือน

นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการระบายข้าว ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การระบายข้าว เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานพิจารณาเห็นชอบ

รูปแบบการระบายข้าวประกอบด้วย การระบายแบบรัฐต่อรัฐ การให้เอกชนร่วมกับภาครัฐ ในการออกไปขายข้าว การขายตามคำสั่งซื้อ การประมูลเป็นการทั่วไป การขายผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (เอเฟท) และการบริจาค ส่วนการขายให้หน่วยราชการด้วยกัน เช่น กรมราชทัณฑ์ ที่ประชุมไม่เห็นด้วยสำหรับวิธีนี้เนื่องจากยังมีปัญหาการเรียกเก็บเงินยาก

“การระบายข้าวในสต็อกรัฐบาลครั้งนี้จะต้องทำงานในรูปแบบของคณะทำงาน โดยมีหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์มาช่วยกันดูแล เช่น จากกระทรวงการคลัง สำนักนายกรัฐมนตรี เน้นความโปร่งใสเป็นหลัก จึงให้มีคณะทำงานระบายข้าวและคณะทำงานระบายข้าวเอเฟท ขึ้นมา 2 ชุดและการส่งออกข้าวจะให้สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเข้ามาช่วยเต็มที่ เรียกส่วนแบ่งตลาดข้าวกลับคืนมา โดยปีนี้มีโอกาสที่ไทยจะส่งออกได้ 10 ล้านตัน"

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า ตามยุทธศาสตร์การระบายข้าวได้ระบุเพิ่มเติมว่าหากทำให้ราคาข้าวภายในประเทศตกต่ำ จะชะลอแผนการระบายทันที โดยการระบายผ่านวิธีการประมูลทั่วไปกำหนดให้ระบายเดือนละ 5 แสนตัน ส่วนการระบายผ่านเอเฟท เฉลี่ยเดือนละ 1.5-2 แสนตัน โดยการระบายข้าวต้องทำทันทีเนื่องจากราคาข้าวของไทยกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น

กรมการค้าต่างประเทศ รายงานสถิติการส่งออกข้าวตั้งแต่ 1 ม.ค.- 16 มิ.ย. ที่ผ่านมา ปริมาณ 4.831 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 72.24% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน มูลค่า 2,360 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 7.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นในรูปดอลลาร์สหรัฐ 17.79% ราคาเฉลี่ยตันละ 488 ดอลลาร์สหรัฐ

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า เป้าระบาย 5 แสนตันต่อเดือน ตั้งแต่เดือนส.ค.เป็นต้นไป ถือว่าเป็นปริมาณไม่มาก ก่อนที่ผลผลิตข้าวนาปี ฤดูกาล 2557/58 จะออกมาในช่วงเดือนต.ค.นี้ โดยราคาข้าวไทยขณะนี้ตันละ 430 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เวียดนามตันละ 420 ดอลลาร์สหรัฐ

นายฟรานซิส ปังกิลินัน ผู้อำนวยการหน่วยงานความมั่นคงด้านอาหารของฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ฟิลิปปินส์จะเปิดประมูลนำเข้าข้าวเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ 500,000 ตัน ปลายเดือนส.ค.หรือต้นเดือนก.ย. เพื่อไว้สำรองหลังจากพายุรามสูรสร้างความเสียหายแก่ไร่นาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

การนำเข้าข้าวเพิ่มทำให้ความต้องการซื้อข้าวของฟิลิปปินส์ปีนี้มีปริมาณทั้งหมดเกือบ 2 ล้านตัน หรือสูงที่สุดในรอบ 4 ปี และทำให้ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในผู้ซื้อข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก

นายชาญพิทยา ฉิมพาลี อธิบดีกรมการข้าว กล่าวในการสัมมนา"กองทุนพัฒนาข้าวและชาวนาแห่งชาติ" ว่า กรมการข้าวมีเวลา 2 เดือนในการเสนอตั้งกองทุนนี้ให้คสช.เห็นชอบ โดยกองทุนจะทำหน้าที่สนับสนุนและช่วยเหลือชาวนา ในด้านการจัดหาปัจจัยการผลิต ช่วยลดต้นทุน เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนกระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ และเพื่อสร้างและพัฒนาอาชีพชาวนาให้มีความมั่นคงและยั่งยืน

"กองทุนช่วยค่าปัจจัยการผลิตไม่เกิน 20 % ของปัจจัยการผลิตต่อไร่ ไม่เกิน รายละ 1,500 บาท สนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวศูนย์ข้าวชุมชนและองค์กรชาวนา"

แหล่งที่มาของเงินกองทุนจากรัฐบาลให้การสนับสนุนในปีแรก 10,000 ล้านบาทและในปีต่อไปรัฐบาลจัดสรรงบประมาณสนับสนุนปีละ 6 พันล้านบาท

นายอัษฏางค์ สีหาราช ชาวนา จ. อุตรดิตถ์ กล่าวว่า คนที่เกี่ยวข้องกับชาวนารวยทุกคน ตั้งแต่พ่อค้าปัจจัยการผลิต ถึงส่งออก แต่ชาวนาไม่รวย ในขณะที่ต้องทำไปจนตายไม่มีเกษียณ การมีกองทุนเกิดขึ้น จึงเป็นความหวังว่าจะสามารถช่วยเหลือชาวนาได้จริงๆ ทั้งนี้คณะกรรมบริหารกองทุนฯควรจะมาจากตัวแทนของชาวนามากกว่าข้าราชการ