ยอดมนุษย์ 'ป้า'

ยอดมนุษย์ 'ป้า'

กระแสแอนตี้มนุษย์วัยป้า เคยสงสัยไหมว่า.. ทำไมป้าต้องฝึกวิชายอดมนุษย์ ?

“วันนี้แต่งตัวป้าจัง” คำว่า “ป้า” เช่นนี้ใช้กันมานานแล้ว ทำเอาสาวหลายคนขยาดกับคำนี้ จนป้า (จริงๆ) เองก็รู้สึกไม่ดีไปกับเขาด้วย ถึงเวลานี้ ป้าก็ต้องสะอึกอีกครั้ง เมื่อโลกออนไลน์เริ่มต้นเรียกผู้หญิงวัยกลางคนที่ชอบทำอะไรตามใจ อยากจะแซงคิวก็แซง อยากยืนขวางประตูก็ยืน ว่าเป็น “มนุษย์ป้า” และกลายเป็นกระแสการใช้คำนี้เรียกพฤติกรรมของคนที่ไร้มารยาททางสังคมในวงกว้างมากขึ้น

ใครเจอพฤติกรรมแบบนี้ ก็เอามาเล่าสู่กันฟัง หลายโพสต์มีภาพประกอบจากสถานการณ์จริง เล่ากันจนเป็นเรื่องดราม่า แต่พฤติกรรมการยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางของโลก ใช่ว่าจะมาจากผู้หญิงวัยกลางคนทุกคนอย่างที่นิยามกันไว้

ทำไมป้าผิด?

ทำไมป้าไม่ได้พูด?

ทำไมต้องป้า?

  • หลังฉากมนุษย์ป้า

การใช้คำคำหนึ่งเพื่อเรียกแทนสิ่งของหรือการกระทำ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภายในคำนั้นมี "ความหมาย" ที่ซ่อนอยู่ เมื่อมองในเชิงโครงสร้างของสังคม วาทกรรมที่สร้างขึ้นตอนนี้อาจเกิดจาก "โครงสร้างอำนาจด้านอายุ"

ประเด็นนี้ พรทิพย์ เนติภารัตนกุล อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า คนที่มีอำนาจมากที่สุดจากวาทกรรม คือ "วัยรุ่น"

"สังคมมีโครงสร้างเป็นสามเหลี่ยมพีระมิด คนที่อยู่บนสุด เป็นคนที่มีอำนาจมากสุด แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นคนที่มีจำนวนมากสุด คนกลุ่มนี้คือคนหนุ่มสาว คนวัยแรงงาน วัยรุ่น ซึ่งเขามีอำนาจในการที่จะกำหนดว่า มนุษย์ป้าคืออะไร คนเหล่านี้มีอำนาจที่จะใช้สื่อ ซึ่งตรงนี้ทำให้เขาสามารถเอานิยามของเขาแพร่หลายไปในโลกโซเชียลมีเดียได้ง่าย ในขณะที่ป้าอยู่ชั้นต่ำสุดเลยของพีระมิดไม่มีอำนาจในการต่อรอง หรือว่ารับรู้ด้วยซ้ำว่ามนุษย์ป้าคืออะไร"

เมื่อมีคนในโลกออนไลน์เรียกพฤติกรรมที่ไม่ดี (?) ว่าเป็นพฤติกรรมของ 'ป้า' จึงบอกได้ว่า ที่มาของคำ คงไม่ได้มาจากสายตาของเพศหญิงที่มีอายุแน่นอน

"เป็นเรื่องของช่องว่างระหว่างวัย สังคมของคนยุคใหม่ก็เติบโตขึ้น เพราะฉะนั้นก็อาจจะมีอะไรหลายๆ อย่างที่ไม่สามารถเชื่อมโยงกับคนรุ่นก่อนๆ ได้ ในขณะเดียวกัน สังคมไทยก็พัฒนาไปในด้านที่ไม่ค่อยยกย่องผู้หญิงมากนัก ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว" นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ สื่อมวลชนอาวุโส ตั้งข้อสังเกตขึ้นในการสนทนาหัวข้อ "มนุษย์ป้า วาทกรรมสื่อและสังคม" ซึ่งจัดโดย Media Inside Out พร้อมให้ความเห็นว่า "มนุษย์ป้า" เกิดมาจากผู้ชาย แล้วก็เกิดจากผู้หญิงที่รู้สึกสนุกกับการอยู่ร่วมกับสังคมผู้ชาย ก็เลยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับผู้ชายที่ด่าและเหยียดหยามผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า และปัจจุบันสื่อก็นำคำนี้มาใช้กันมากขึ้น เพราะเห็นว่าเป็น 'เทรนด์' อย่างหนึ่ง

พร้อมกล่าวเสริมว่า สื่อไทยมีพัฒนาการที่เริ่มจากการยกย่องผู้หญิงอ่อนหวานน่ารักว่าเป็นต้นแบบที่ดีอย่าง 'แม่พลอย' เมื่อได้อิทธิพลจากต่างประเทศ ก็เปลี่ยนมาให้ค่าผู้หญิงที่กล้าแสดงออก เริ่มให้ค่าคนที่แสดงตัวเป็น "เจ๊" เป็น "คุณ" และเมื่อเริ่มมองเห็นความน่ารำคาญของผู้หญิง ก็ให้ค่าเป็น "มนุษย์ป้า" โดยที่สื่อเองก็ไม่รู้ความหมายที่ลึกซึ้ง แต่นำมาใช้เพราะ "อะไรก็ตามที่โลกนี้สนใจ สื่อก็ต้องรู้ด้วย"

ข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ ทุกวันนี้สังคมไทยตัดสินคนจากอะไร ตัดสินจากฐานะหรือลักษณะที่ปรากฏให้เห็นใช่หรือไม่ เพราะการตำหนิพฤติกรรมที่ไม่ดีในที่สาธารณะไม่ค่อยเกิดกับ “สาว (ที่ดู) ไฮโซ” เลย

"เป็นไปได้ไหมว่า มนุษย์ป้าที่เห็นชัดๆ คือคนที่แต่งตัวไม่เก๋ คนที่เป็นไทยๆ บ้านๆ แล้วเป็นอาซิ้ม อาซ้อ คือเห็นชัดๆ ว่า ไม่ได้ทำงานในลักษณะที่สร้างผลผลิตให้กับสังคม หรือว่าเป็นคนที่เลี้ยงดูลูก ดูแลครอบครัว ซึ่งสังคมสมัยใหม่เราจะให้ค่าว่า งานแบบนี้มีคุณค่าน้อย" พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ นักกิจกรรมสิทธิมนุษยชนให้ความเห็นการสนทนาเวทีเดียวกัน ซึ่งทำให้ต่อยอดไปถึงอีกประเด็นที่เป็นไปได้

นั่นคือ ปัจจุบัน การวิจารณ์เรื่องเบาๆ สามารถทำได้สะดวกปากกว่าเรื่องที่ซับซ้อน ซึ่งเรื่องที่อยู่ในพื้นที่ของผู้หญิงมักจะหนีไม่พ้นเรื่องเล็กน้อยจิปาถะในชีวิต จุดนี้จึงถูกนำมาตำหนิได้ง่ายกว่า

"สังคมไทยเราไม่ได้ฝึกให้คิดเยอะ เราคิดอะไรน้อยๆ ง่ายๆ เช่น การซื้อของลดราคาในห้าง หรือการแย่งกันซื้อตั๋วหนังมันเอามาประจานง่าย ส่วนอันอื่นเราไม่ได้คิด" นิธินันท์ ร่วมแสดงความเห็น

  • รวมพลังต้าน "ป้า”

บนพื้นที่ที่ไม่จำกัดของสื่อออนไลน์ สามารถสร้าง "มนุษย์ป้า" ขึ้นในหลายความหมาย และทวีคูณขึ้นเมื่อมีการแชร์ต่อกัน กระแสที่ก่อตัวนี้เริ่มแรงขึ้นในเว็ปไซต์พันทิปในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เมื่อมีคนพูดถึงกันมาก แฟนเพจ "มนุษย์ป้า" ก็ก่อตัวขึ้น ปัจจุบันมีผู้กดไลค์เกือบสองแสนคน และยังมีเพจอื่นๆ แท็กอื่นๆ กระทู้อื่นๆ ที่สร้างโดยบรรดาตาวิเศษที่ชีวิตไปเกี่ยวข้องกับมนุษย์ป้าตามมามากมาย

ขวัญข้าว บรรจง หรือ 'ป้าน้ำหมาก' หนุ่มวัยยี่สิบกว่า ผู้ดูแลเพจ 'มนุษย์ป้าอยู่กับเราทุกที่' ปัจจุบันที่ยอดไลค์กว่าสามหมื่นไลค์ ในเวลาครึ่งปี ได้ร่วมสนทนาในเวทีดังกล่าว เล่าถึงที่มาของเพจว่า เมื่อเห็นคนในชีวิตประจำวันไม่เดินไปตามครรลองของสังคมก็อยากจะเล่าเรื่องที่ไปพบมาด้วยความตลกร้าย เช่น เอาตัวเองแทนป้าแล้วบอกถึงเหตุผลว่า ทำไมต้องทำพฤติกรรมเช่นนั้น

“วิธีการแบบนี้มันใช้ได้ คือเราจะไปนั่งสั่งสอนป้าไม่ได้ พอเลย 30 ไป เรากลายเป็นเด็ก มันมีคำว่า อาวุโส เข้ามา ถ้าเขามาอ่านเพจ หรือลูกหลานเขามาอ่านก็จะไปบอกป้าได้ มันจะได้ทำให้เขาเปลี่ยนวิถีที่เขาเคยเป็น แต่ผมไม่หวังคนในรุ่นนี้ ผมหวังคนในรุ่นต่อไป ผมหรือเด็กกว่าผมที่ต่อไปจะต้องมาแสดงพฤติกรรมมนุษย์ป้าในสังคมอีก หวังให้พฤติกรรมแบบนี้มันลดลง”

ความคิดของคนหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งหวังจะสร้าง 'เส้น' ใหม่ให้การดำเนินชีวิตที่อยู่รวมกันหลายรุ่นว่า ทำอย่างไรถึงจะถูกและควร โดยป้าน้ำหมาก มองว่า วิธีการเล่าสู่กันฟังจะช่วยให้คนที่ทำตัวอยู่นอกเส้นกลับเข้ามาได้

“ถ้าป้าเขาถือของหนัก เขามองในมุมของเขา มันเป็นสิทธิที่เขาจะวางของตรงนี้ได้นะ แต่บางทีมันก็เป็นสิทธิของคนอื่นหรือเปล่าที่จะนั่งตรงนี้ มันเป็นพื้นที่สาธารณะ อาจจะเหลื่อมกันได้ในระดับที่สังคมยอมรับได้ แต่ถ้ามันเหลื่อมมากเกินไป มันเหมือนเป็นการสร้างบรรทัดใหม่ สังคมพยายามจะตีเส้นใหม่ที่เมืองไทยยังไม่เคยมี แล้วเป็นเส้นที่ควรจะเป็น มันก็เลยเหมือนคนที่ตกขอบไปกลายเป็นคนที่ไม่ยอมรับของสังคม จริงๆ เขาเป็นอยู่เหมือนเดิมแหละ แต่เราไปขีดเส้นใหม่ ผมว่า มันก็ควรนะที่จะให้เขากลับเข้ามาอยู่ในเส้นที่ควรจะเป็น”

'อคติ' นับเป็นสิ่งหนึ่งที่แฝงอยู่ในคำว่า "มนุษย์ป้า" ผู้ที่ใช้คำนี้เรียกคนอื่น กำลังแสดงออกถึงการมองไม่เห็นความหมายด้านบวก

"มันจะมีช่วงที่บอกว่า You’re so Thai. คนไทยก็สะดุ้งว่า ฉันผิดเหรอ ทำไมเอาชาติพันธุ์ของฉันไปเล่น อย่างคำว่า มนุษย์ป้า พอใช้คำเหมารวมตรงนี้ เหมือนเราลืมมิติอื่นๆ ของความสูงวัยไปหรือเปล่า เราไปลดทอนคำนี้เหลือแต่ความแก่ โบราณ เห็นแก่ตัว แต่เราลืมมองว่า ป้าคือคนที่มีประสบการณ์ชีวิตที่บางทีเราก็เข้าไปคุยกับเขาได้ เขามีทักษะ เขามีฝีมือที่จะทำสิ่งอื่นๆ มากกว่าเรา" พรทิพย์ ยกตัวอย่าง

  • มนุษย์ป้า 'จำเป็น'

พรทิพย์ อาจารย์ผู้ศึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสังคมวิทยาชราภาพ ได้มองถึงที่มาของพฤติกรรมที่ถูกมองว่าเป็นมนุษย์ป้าว่า เป็นเรื่องของความขาดสิ่งอำนวยความสะดวกเฉพาะสำหรับคนกลุ่มนี้

“เราอาจต้องมองว่าที่เป็นแบบนี้ เพราะสังคมไม่มีให้เขา สังคมมันขาดแคลน แทนที่จะมองว่าเขาเป็นป้าขาดแคลน ทุกวันนี้สังคมไม่มีทรัพยากรหรือว่าสิ่งของอะไรที่เหมาะกับคนกลุ่มนี้ หรือแม้กระทั่งการขาดแคลนน้ำใจ ก็เป็นอันหนึ่งที่สะท้อนว่า ไม่มีให้เขา อย่างขึ้นไปบนรถเมล์ เขาต้องรีบเข้าไปนั่ง เพราะอะไร เพราะไม่มีใครลุกให้เขา เขาก็ต้องแก่งแย่ง ลองมองย้อนกลับไปในยุคของป้า ช่วงนั้นมันยังไม่มีความสะดวกสบายใช่ไหม รถรามันก็ยังไม่ค่อยสะดวกสำหรับเขา ตอนนี้สังคมมีอะไรให้คนกลุ่มนี้บ้าง”

เช่นเดียวกับที่นิธินันท์ได้กล่าวในการสนทนาในประเด็นการใช้ชีวิตที่สาธารณะของคนมีอายุว่า “เป็นเรื่องของการปรับตัวของผู้คนในเรื่องของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง การขึ้นรถไฟฟ้า หรือขึ้นลิฟต์ มันเป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับคนแก่ที่ไม่เคยเจอมันมาก่อน”

มีคำอธิบายหนึ่งของมนุษย์ป้า บอกว่า คนแบบนี้มักจะใช้ความอาวุโสแหกกฎสังคม เพื่อให้ตัวเองได้รับความสะดวกสบาย แต่เสียงหนึ่งจากคนรุ่น "ป้า" อย่าง เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง เจ้าของบริษัทประชาสัมพันธ์ นักแปล และคอลัมนิสต์บอกว่า พฤติกรรมแบบนี้อาจจะเกิดจากทั้งพวกที่ตั้งใจเห็นแก่ตัว และจากพวกที่ไม่เข้าใจวัฒนธรรมว่าแบบไหนจึงจะเข้าข่าย "ระเบียบ" ที่ใครๆ ต้องการ

"ในสังคมชนบท ถ้าเห็นคุณป้าเดินมาอย่างไม่สะดวกนัก คนก็จะเข้าไปช่วย เป็นความเอื้ออาทรกัน แต่ในสังคมเมืองมองไม่เห็นความเอื้ออาทร กลับกลายเป็นความเห็นแก่ตัว"

ปรากฏการณ์เช่นเดียวกันได้เกิดขึ้นในสังคมเกาหลีมานานแล้ว "อาจุมม่า" กลายเป็นคำที่ใช้เรียกหญิงวัยกลางคนที่ไม่รู้จักกาลเทศะ ซึ่ง ดร.ไพบูลย์ ปีตะเสน ประธานโครงการสอนภาษาเอเชียตะวันออก สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ข้อมูลว่า “อาจุมม่า” มีความหมาย 2 แบบ คือ ในเชิงบุคลิกลักษณะที่มองเห็นจากภายนอก และเชิงพฤติกรรม

"ปกติคนเกาหลีไม่ละเมิดสิทธิคนอื่น แต่อาจุมม่าจะเป็นข้อยกเว้น อาจุมม่าจะใช้กับพวกที่ไม่อัพเดทตัวเอง หรือใช้เรียกผู้หญิงที่มีลูกแล้ว ก็ทำเนียนๆ ว่า ขอฉันไปก่อนแล้วกัน นี่เป็นความเคยชิน" ซึ่งปรากฏการณ์แบบนี้จะไม่เกิดที่ญี่ปุ่น เพราะคนญี่ปุ่นจะมีระเบียบวินัยและให้เกียรติคนอื่น

  • ทุกมนุษย์มีด้านมืด

"มนุษย์ป้า" ที่ใช้กันอยู่นั้น คนใช้เข้าใจความหมายตรงกันแค่ไหน แรกเริ่มที่ใช้กันก็คงจะมาจากพฤติกรรมของป้าที่เห็นๆ กัน อย่าง “วันนี้ เราไปเจอป้าคนหนึ่งมา เป็นมนุษย์ป้าที่ไม่แคร์ใครเลย...” แต่ตอนนี้เริ่มมีหัวข้อใหม่เช่นว่า "ดูมนุษย์ป้าวัยสาวคนนี้สิ..."

พฤติกรรมที่เคยเป็นของป้าในโลกออนไลน์ ได้กลายมาเป็นคำเรียกพฤติกรรมที่ไม่รู้จักกาลเทศะของคนทั่วไปมากขึ้น

“ในมุมมองของผม มนุษย์ป้าเป็นได้ทุกวัย ใครก็ได้ วันหนึ่งอาจเป็นคุณก็ได้ที่ไปแซงคิว หรือเจอของลดราคา ก็เข้าไปแย่ง” วิศาลพล อรรถสิษฐ์ หรือ 'ป้าแช่ม' หนุ่มวัยยี่สิบกว่าที่ร่วมดูแลเพจมนุษย์ป้าอยู่กับเราทุกที่ เล่า

เสริมด้วยป้าน้ำหมาก ผู้ดูแลเพจอีกคนก็เห็นเช่นเดียวกันว่า "ความตั้งใจของเพจคืออยากจะสลัดภาพเหยื่อทิ้งแล้วให้โฟกัสไปที่พฤติกรรมมากกว่า มันอาจจะเป็นมนุษย์ลุงก็ได้"

หากถูกเรียกว่า “มนุษย์ป้า”.. แน่นอนว่า คงไม่มีใครยินดี

“มันเป็นคำเสียดสี พอฟังแล้วรู้สึกเหมือนเป็นกระจกสะท้อนว่า คนรุ่นป้าไปทำอะไรให้รุ่นหลานขัดข้องใจ เราก็หันมาดูตัวเอง ถ้ามีอะไรที่ปรับปรุงได้ เราก็ปรับปรุง” เพ็ญศรี กล่าว และเห็นว่า พฤติกรรมแบบนี้ไม่ได้มีอยู่เฉพาะ "ป้า"

"ก็มีคนที่ไม่ได้อายุอย่างเรา แต่มีมารยาทที่ไม่ดีก็มี ไม่ว่าจะเป็นคนหนุ่มสาว ไม่ว่าจะเป็นผู้ชาย หรือวัยรุ่นก็มีเหมือนกัน อย่างเพื่อนที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เคยจะขึ้นลิฟต์ แล้วโดนนักศึกษาดันตัวอาจารย์ออก เด็กๆ ก็เข้าลิฟต์ไป แบบนี้ก็มีให้เห็น"

ถึง "มนุษย์ป้า" จะเป็นแค่คำขยายถึง พฤติกรรมไร้มารยาทแบบไม่เกี่ยงวัย แต่หากวันหนึ่ง ชื่อของคุณถูกนำมาใช้แทนเรื่องที่แย่ที่สุดบ้าง คุณจะรู้สึกอย่างไร

...หรือเราควรจะต้อง 'คิด' มากขึ้นก่อนจะสร้าง 'เส้น' อะไรบางอย่าง ?