รถเล็กฉุดตลาดรวม'ทรุด'อัดแคมเปญปลุกกำลังซื้อ

รถเล็กฉุดตลาดรวม'ทรุด'อัดแคมเปญปลุกกำลังซื้อ

ตลาดรถเล็กร่วงหนัก ผลกระทบโครงการรถคันแรก ฉุดตลาดรวมหดตัวต่อเนื่อง อัดแคมเปญแรงกระตุ้นยอด

ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวยาวนาน และโครงการรถคันแรกที่มีผลทำให้โครงสร้างตลาดบิดเบือนอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์มาถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะ "รถขนาดเล็ก" ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มรถยนต์นั่ง หดตัวชัดเจนทำให้มีผลต่อตลาดโดยรวมทั้งหมด

รถคันแรกฉุดรถเล็กร่วง50%

นายสมชาย ตระกูลภิรมย์ ผู้จัดการทั่วไป มาสเตอร์ เซอร์ติฟายด์ ยูสด์คาร์ ในเครือบริษัท มาสเตอร์ กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจด้านรถยนต์รายใหญ่ เปิดเผยว่ากำลังซื้อในตลาดรถยนต์มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ช่วงกลางปี 2556 ซึ่งเป็นช่วงที่รถยนต์จากโครงการรถคันแรกส่วนใหญ่ส่งถึงมือลูกค้า ทำให้ยอดหายไปอย่างชัดเจน ทั้งมีแรงเสริมจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ทั้งนี้เดือน ก.ค.2556 เป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือนที่มียอดขายต่ำกว่า 100,000 คัน โดยทำได้ 98,258 คัน โดยปีที่แล้ว เดือนที่มียอดขายสูงสุดคือ มี.ค. 157,527 คัน และผลพวงของรถคันแรกยังคงส่งผลกระทบถึงปัจจุบัน เห็นได้จากข้อมูลการขายช่วง ม.ค.-เม.ย.ปีนี้ ที่ตลาดรถมียอดขาย 295,887 คัน ลดลง 43% และในจำนวนการถดถอยพบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้สิทธิประโยชน์จากโครงการรถคันแรก เนื่องจากกำลังซื้อถูกดึงไปใช้ล่วงหน้า ลดลง 50% ขณะที่รถยนต์นั่งขนาดกลางลดลง 46% พรีเมียมลดลง 22% ส่วนรถกลุ่มอื่นๆ เอสยูวี ลดลง 31% เอ็มพีวี 40% รถตู้ 48% ปิกอัพ 39% และรถอื่นๆ 49%

ทั้งนี้ ตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่หดตัวรุนแรง ส่งผลกระทบต่อภาพรวมตลาดมาก เนื่องจากเป็นกลุ่มรถที่มียอดขายสูงสุด โดยช่วง 4 เดือนแรกมียอดขาย 101,349 คัน คิดเป็น 79% ของตลาดรวม และเห็นได้ชัดว่าสัดส่วนน้อยกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 81%

ขณะที่ รถขนาดเล็กออกสู่ตลาดจำนวนแบบบิดเบือนโครงสร้างตลาดที่แท้จริง ส่งผลกระทบต่อรถในตลาดมือสองด้วยเช่นกัน เนื่องจากถูกดึงกำลังซื้อไปสู่ตลาดมือหนึ่งแทน

“ตลาดรถเล็กป้ายแดงลดลงค่อนข้างแรง ดังนั้น ค่ายรถต้องหาทางแก้ไขด้วยการอัดแคมเปญ และทุกแคมเปญที่จัด ยิ่งส่งผลต่อตลาดมือสอง”

เนื่องจากตลาดรถขนาดเล็กมีราคาไม่สูง เมื่อมีแคมเปญ เช่น แถมประกันภัยชั้นหนึ่ง ซึ่งมูลค่าประกันมีสัดส่วนค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับราคา ทำให้ราคารถมือสองลดลง ผู้ประกอบจึงต้องปรับตัว โดยในส่วนบริษัทลดสต็อกรถกลุ่มนี้จาก 25% เหลือ 10%

สำหรับยอดขายรถโดยรวมล่าสุดเดือน พ.ค. ทำได้ 69,681 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 37% รวม ม.ค.-พ.ค. ทำได้ 367,112 คัน ลดลง 42% รถยนต์นั่งยังเป็นกลุ่มรถที่มีอัตราการถดถอยมากสุด 50% ด้วยยอด 150,780 คัน ในช่วง ม.ค.-พ.ค. ขณะที่รถปิกอัพ ทำได้ 156,101 คัน ลดลง 38%

กำลังซื้อล่วงหน้าฉุดตลาดซึม

นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร ประธานกรรมการบริหาร ปฏิบัติการ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้กำลังซื้อลดลงต่อเนื่องเป็นเวลานาน นอกจากภาวะเศรษฐกิจแล้ว ยังมาจากกำลังซื้อถูกดึงไปใช้ล่วงหน้า 2 ครั้งในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ครั้งแรกคือโครงการรถคันแรก ครั้งที่ 2 ผลพวงรถคันแรกฉุดตลาดหดตัว ค่ายรถต้องใช้แคมเปญแรงเพื่อดึงกำลังซื้อ แต่กลายเป็นการดึงกำลังซื้อล่วงหน้ามาใช้อีกครั้ง และมีผลตามมาในปัจจุบัน

ขณะที่ สัญญาณกำลังซื้อไม่ค่อยดีก่อนหน้านี้ ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดปล่อยสินเชื่อมากขึ้น มีผู้ไม่ผ่านอนุมัติเพิ่มสูง ส่งผลกระทบต่อยอดขายรถในที่สุด

ทั้งนี้ คาดว่าหลังสถานการณ์บ้านเมืองที่สงบขึ้น คสช.มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจและตลาดรถยนต์ปรับตัวดีขึ้นได้ช่วงครึ่งปีหลัง ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีแล้ว จากความมั่นใจของผู้บริโภคที่สูงขึ้น

"ความเชื่อมั่นที่จะมีผลต่อตลาดรถยนต์อีกทางหนึ่งคือ ความเชื่อมั่นของสถาบันการเงิน หากลดความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ ก็จะเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าความเชื่อมั่นกลับมาแล้วอย่างแท้จริง จะส่งผลดีต่อตลาดรถยนต์ตามมา"

นางสาวยุคนธร วิเศษโกสิน รองประธานฝ่ายการตลาด ฟอร์ด ประเทศไทย กล่าวว่า ค่ายรถต้องพยายามหามาตรการดึงกำลังซื้อ ในส่วนของค่ายที่มีรถใหม่เปิดตัวจะสามารถกระตุ้นตลาดได้ด้วยตัวเอง ส่วนค่ายที่ไม่มีรถใหม่ ต้องใช้แคมเปญส่งเสริมการขาย ทำให้ช่วงนี้ค่ายรถมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

โดยแคมเปญมีทั้งกำหนดเงื่อนไขให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อรถง่ายขึ้น และไม่จำกัดแค่รถที่อายุในตลาดนานเท่านั้น แต่รถใหม่ที่เพิ่งเปิดตัว ก็มาพร้อมแคมเปญเช่นกันเป็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นในภาวะตลาดปกติ

ตัวอย่างแคมเปญรถใหม่ เช่น 2 รุ่นที่เพิ่งเปิดตัวล่าสุด คือ ซูซูกิ เซเลริโอ กำหนดผ่อนเริ่มต้น 2,222 บาทต่อเดือน หรือ ฮอนด้า แจ๊ซ กำหนดเงินดาวน์ต่ำ เริ่มต้น 59,900 บาท เป็นต้น

เชฟฯชี้แคมเปญรับตลาดตกผิดปกติ

นอกจากแคมเปญการขายแล้ว การส่งเสริมการขายผ่านบริหารหลังการขายก็มีผู้นำมาใช้เช่นกัน เพราะทำให้ลูกค้าสามารถคำนวณและประหยัดค่าใช้จ่ายหลังซื้อรถไปแล้ว เช่น เชฟโรเลต มีแคมเปญ "6+6" เป็นค่ายแรก ถือเป็นแคมเปญที่ค่อนข้างแรงในวงการ แคมเปญนี้จะรับประกัน 6 ปี หรือ 1.4 แสน กม.รวมถึงบริการช่วยเหลือฉุกเฉิน 24 ชม.6 ปี โดยช่วงเวลา 6 ปี เจ้าของรถไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายซ่อมหรือเปลี่ยนอะไหล่ที่บกพร่อง ทั้ง เครื่องยนต์ เกียร์ เพลาหน้า เพลาท้าย ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ ระบบระบายความร้อน ระบบไฟฟ้า ระบบบังคับเลี้ยว ระบบกันสะเทือน ระบบเบรก ระบบปรับอากาศ ระบบฉีดน้ำมันและควบคุมมลภาวะ ระบบน้ำมันเชื้อเพลิง ระบบความปลอดภัย และชิ้นส่วนที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงฟรีค่าแรงด้วย

นายมาร์คอส เพอร์ตี้ กรรมการผู้จัดการ จีเอ็ม (ประเทศไทย) กล่าวว่า การออกแคมเปญแรง เนื่องจากตลาดรถยนต์ไม่ปกติ การหดตัวกว่า 40% ถือว่ารุนแรงมากบ่งบอกถึงการขาดความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ดังนั้นจึงต้องการ การกระตุ้นที่รุนแรงด้วยเช่นกัน