คสช.อนุมัติกรอบงบปี58 วงเงิน2.575ล้านล้าน

คสช.อนุมัติกรอบงบปี58 วงเงิน2.575ล้านล้าน

คสช.อนุมัติกรอบงบปี58 วงเงิน2.575ล้านล้าน-ขาดดุล2.5แสนล้าน

การประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ร่วมกับส่วนราชการ วานนี้ (10 มิ.ย.) โดยเป็นเหมือนกับการประชุมคณะรัฐมนตรี มีการอนุมัติกรอบงบประมาณปี 2558 มีรายละเอียดดังนี้

นายสมศักดิ์โชติ รัตนะศิริ ผู้อํานวยการสํานักงบประมาณ แถลงผลการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดิน ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.เป็นประธาน เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 โดยมีวงเงิน 2.575 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2557 วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ประมาณการรายได้ 2.325 ล้านล้านบาท และเป็นงบประมาณขาดดุล 2.5 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ มีสมมุติฐานว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติในปี 2558 จะขยายตัวได้ 6.3% และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.3% โดยในขณะนี้หน่วยงานที่จัดทำงบประมาณยังคงมีเป้าหมายหายในการจัดทำงบประมาณสมดุลในปี 2560

สำหรับงบลงทุนภาครัฐในปี 2558 กำหนดวงเงินไว้ที่ 450,625 ล้านบาท คิดเป็น 17.5% ของงบประมาณทั้งหมดเพิ่มขึ้นจากงบลงทุนปี 2557 2.2% อย่างไรก็ตามในขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณางบลงทุนของหน่วยงานต่างๆ อีกครั้งให้สอดคล้องกับนโยบายของ คสช.รวมทั้งพิจารณาจากประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบฯลงทุนของหน่วยงานต่างๆในปีงบประมาณ 2557 หากหน่วยงานใดเบิกจ่ายต่ำกว่าเป้าหมายมากอาจถูกลงโทษด้วยการตัดงบประมาณลงทุนในปีงบประมาณ 2558 ได้

นอกจากนี้ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบกรอบงบประมาณ 2558 เพื่อเป็นกรอบเวลาในการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย 2558 ให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 1 ต.ค. 2557 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นของปีงบประมาณใหม่ โดยกำหนดว่าภายหลังจากที่หน่วยงานเศรษฐกิจ 4 หน่วยงานที่มีหน้าที่กำหนดกรอบงบประมาณรายจ่าย ได้แก่ สศช. ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณได้นำเสนอกรอบวงเงิน รายรับ รายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2558 ให้หัวหน้า คสช.พิจารณาเห็นชอบในวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมาแล้ว ในวันที่ 13 มิ.ย.จะมีการชี้แจงรายละเอียดรวมทั้งยุทธศาสตร์การจัดทำกรอบงบประมาณ 2558 ให้กับหัวหน้าส่วนราชการ และผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ จากนั้นระหว่างวันที่ 13 - 27 มิ.ย.ส่วนราชการต่างๆจะจัดทำรายละเอียดการขอจัดสรรงบประมาณส่งให้สำนักงบประมาณพิจารณา

วันที่ 30 มิ.ย.- 11 ก.ค.สำนักงบประมาณพิจารณารายละเอียดงบประมาณปี 2558 และนำเสนอให้ หัวหน้า คสช.ให้ความเห็นชอบในรายละเอียดงบประมาณ 2558 ในวันที่ 15 ก.ค. และส่งให้ส่วนราชการไปปรับปรุงรายละเอียดบางส่วน และในวันที่ 29 ก.ค. หัวหน้า คสช.ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2558 และนำเสนอฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณาต่อไป

สำหรับขั้นตอนของการอนุมัติงบประมาณของฝ่ายนิติบัญญัติกำหนดว่าในวันที่ 6 ส.ค.ฝ่ายนิติบัญญัติให้ความเห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2558 และแต่งตั้งกรรมาธิการเพื่อพิจารณา ระหว่างวันที่ 7 ส.ค. - 5 ก.ย. คณะกรรมการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.และจัดทำข้อเสนอต่อฝ่ายนิติบัญญัติ (วาระที่ 1) วันที่ 9 ก.ย.ฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2558 (วาระที่ 2 - 3) และวันที่ 15 ก.ย.เลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรีนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณขึ้นทูลเกล้าถวายฯ

“ปฏิทินงบประมาณที่กำหนดไว้ว่าจะมีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2558 ของฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นการวางแผนการทำงานตามขั้นตอนราชการปกติ แต่หากไม่สามารถจัดตั้งสภานิติบัญญัติได้ตามกำหนด อาจมีการตั้งกรรมาธิการเต็มคณะประมาณ 30 - 40 คนขึ้นมาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯตามขั้นตอนต่อไป” นายสมศักดิ์กล่าว

ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกล่าวด้วยว่าที่ประชุมฯได้เห็นชอบยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณปี 2558 โดยมีหลักการของยุทธศาสตร์ที่สำคัญได้แก่ การน้อมนำปรัชญาหลักการเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นหลักในการปฏิบัติ โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจปละสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 และแผนแม่บทอื่นๆ ยึดหลักบทบาทหน้าที่ของภาครัฐในการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน และดำเนินการตามเจตนารมณ์และนโยบายของ คสช.เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและฟื้นฟูความเชื่อมั่น

ตั้งเป้าเร่งเบิกจ่ายงบปี 2557 ให้ได้95%

สำหรับการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 มีเป้าหมายในการเบิกจ่ายงบประมาณให้ได้ 95% ของวงเงินงบประมาณทั้งหมด โดยขณะนี้สามารถเบิกจ่ายได้เพียง 40% จากเป้าหมายที่ควรจะเบิกจ่ายได้ ณ สิ้นเดือน พ.ค.ไม่ต่ำกว่า 60% ดังนั้นจึงต้องออกมาตรการเพิ่มเพื่อให้การเบิกจ่ายทั้งปีเป็นไปตามเป้าหมาย โดยหากโครงการใดยังมีความจำเป็นต้องดำเนินงานมีความพร้อมก่อหนี้ผูกพันได้ทันวันที่ 30 มิ.ย.นี้ให้เร่งเบิกจ่ายให้เสร็จภายใน 30 ก.ย. 2557

ส่วนโครงการใดไม่ทันวันที่ 30 มิ.ย.ให้เสนอหัวหน้าฝ่ายที่รับผิดชอบพิจารณาเป็นรายกรณีไป ขณะที่โครงการใดที่ไม่ทันและหมดความจำเป็นไม่สามารถดำเนินการได้ มีความซ้ำซ้อนเหลือจ่ายให้ปรับแผนโดยโอนเปลี่ยนแปลงงบไปยังโครงการที่มีความพร้อม นอกจากนี้ในรายจ่ายงบกลางที่เหลือจ่าย ให้ส่งคืนสำนักงบประมาณ และเงินกันไว้เหลือมปีที่ยังไม่มีข้อผูกพันก็ให้ทบทวนถึงความจำเป็นต่อไป อย่างไรก็ตามการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณให้ทำได้ตามความจำเป็น ยกเว้นรายการการโอนงบประมาณเพื่อเดินทางต่างประเทศ และการจัดซื้อยานพาหนะ

คสช.ประชุมทุกสัปดาห์เหมือนครม.

ด้านนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ คณะรัฐมนตรีกล่าวว่า หัวหน้าคสช.ให้ความสำคัญกับงานเร่งด่วนเรื่องของการดูแลค่าครองชีพพื้นฐานใหกับประชาชนที่มีรายได้น้อย พร้อมทั้งเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณปี 2557 ขณะที่การจัดเก็บรายได้ ก็ให้กระทรวงการคลังไปพิจารณาแนวทางการดำเนินงาน ส่วนการปรับโครงสร้างภาษีต่างๆนั้น กระทรวงการคลังกำลังเสนอเรื่องมาให้คสช.พิจารณาเร็วๆ นี้ ซึ่งจะมีมาตรการที่ชัดเจนออกมาในระยะต่อไป

นายอำพน กล่าวด้วยว่า ในทุกสัปดาห์จะมีการประชุม คสช.เพื่อขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดิน ในรูปแบบเดียวกับการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งจะมีการประชุมสัปดาห์ โดยในการประชุมจะมีผู้เข้าร่วมประชุมได้แก่ หัวหน้า คสช. รองหัวหน้า คสช.ที่เป็นหัวหน้าฝ่ายต่างๆ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการ ครม. เลขาธิการ คสช. รวมทั้งคณะกรรมการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ

000

(ล้อมกรอบ)

คสช.แจงแนวทางบริหารแก้เหลื่อมล้ำ-เน้นศก.เสรี

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) แจ้งหน่วยงานราชการถึงแนวทางและนโยบายเร่งด่วน โดยเร่งดำเนินการมี 5 ข้อ ประกอบด้วย

1.การแก้ปัญหาหนี้ค้างชำระแก่ชาวนาในโครงการจำนำข้าว

2.เร่งแก้ปัญหาการขอใบอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรมที่ล่าช้า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน

3.เน้นเบิกจ่ายงบดุลปี 2557 ที่ยังดำเนินการไม่เเล้วเสร็จ ซึ่งขณะนี้มีอยู่ประมาณ 7 พันล้าน

4.เริ่มการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น อาทิ รถไฟรางคู่ และรถไฟฟ้าสายต่างๆ ในกทม. ปริมณฑล

5.เร่งรัดจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ให้เเล้วเสร็จก่อนเดือนก.ย.

ขณะที่เรื่องจะดำเนินการควบคู่กับนโยบายเร่งด่วน ประกอบด้วย 1.ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและขจัดปัญหาทุจริต 2.ปฏิรูปโครงสร้างภาษีอย่างเป็นธรรม 3.ทบทวนโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยเน้นให้มีการจัดเก็บภาษีจากคนที่มีรายได้สูงมากขึ้น และดึงผู้มีรายได้เข้าระบบมากขึ้น 4.ส่งเสริมการค้าชายแดน ผ่านการจัดตั้งเศรษฐกิจพิเศษ 5.ส่งเสริมและพัฒนาสินค้าขั้นกลาง และขั้นปลายเพื่อการส่งออกให้มากขึ้น 6.ทบทวนกองทุนนอกงบประมาณต่างๆ อาทิ กองทุนหมู่บ้าน กองทุนสตรี โดยหากเป็นกองทุนที่มีประโยชน์พร้อมทบทวน และ7.ส่งเสริมให้มีการดูแลเกษตรกรชาวนาอย่างเป็นระบบ

ในด้านเศรษฐกิจ 1.เน้นการบริหารระบบเศรษฐกิจแบบเสรี ซึ่งจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยภาคเอกชนเป็นหลัก 2.ให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนเป็นไปอย่างเสรี 3.ส่งเสริมนโยบายการค้าเสรี 4.ลดบทบาทรัฐวิสาหกิจที่ภาคเอกชนสามารถดำเนินการได้ 5.ขจัดอุปสรรคการค้าต่างประเทศให้คล่องตัว ทั้งนี้ คสช.เสนอให้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ 6.สนับสนุนการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม 7.ไม่ก่อหนี้เกินตัวและรักษาวินัยการคลัง 8.ขจัดความไม่เป็นธรรมในระบบพ่อค้าคนกลาง และ 9.แก้ปัญหาแรงงานอย่างบูรณาการ

ขั้นตอนการดำเนินงานของคสช.จะมี 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะแรก ระบบการบริหารประเทศในขณะนี้มีหัวหน้าคสช. เป็นหัวหน้า ระยะต่อไปจะมีการออกธรรมนูญการปกครองเป็นการชั่วคราว จากนั้นจะมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีภายใต้กฎอัยการศึก และมีการตั้งสภาปฏิรูปชุดต่างๆ อาทิ ปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูปกระบวนการทุจริต และจะมีการตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และระยะที่สาม เป็นการกำหนดให้มีการเลือกตั้งต่อไป