'ประจิน'ดันรสก.กระตุ้นเศรษฐกิจ

'ประจิน'ดันรสก.กระตุ้นเศรษฐกิจ

ดัน"รสก."กระตุ้นเศรษฐกิจ "ประจิน"สั่งส่งแผนงานจันทร์นี้เน้นโครงการค้างปี ทีโอทีชงฟื้น3โปรเจค มูลค่า4หมื่นล้านบาท

วานนี้ (31 พ.ค.) พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทบ.) และรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. เป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนรัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่ง เพื่อเร่งให้ส่งแผนงานให้ คสช.ภายในวันจันทร์ที่ 2 มิ.ย.นี้

การประชุมดังกล่าว คสช.ได้เรียกเฉพาะผู้บริหารรัฐวิสาหกิจเข้าหารือ หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เดินสายไปตามกระทรวงต่างๆ เพื่อรับทราบปัญหาและนโยบายสำคัญ โดยในวันนี้ (1 มิ.ย.) จะมีการประชุมร่วมกับส่วนราชการ

ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจถือว่ามีบทบาทสำคัญในด้านเศรษฐกิจ เพราะแต่ละปีมีงบลงทุนหลายแสนล้านบาท หากกระตุ้นให้เกิดการลงทุนได้ตามแผนก็จะมีส่วนเกื้อหนุนให้การลงทุนภาครัฐฟื้นตัวขึ้น หลังต้องหยุดชะงักไปตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาเนื่องจากปัญหาการเมือง

การประชุมร่วมกับรัฐวิสาหกิจวานนี้ พล.อ.อ.ประจิน ได้ให้ผู้บริหารหน่วยรัฐวิสาหกิจทุกแห่งคนละ 3 นาทีในการชี้แจงถึงแผนการดำเนินงานในระยะต่างๆ รวมถึง ปัญหาและอุปสรรคที่มีต่อการดำเนินงาน และกำหนดให้ทุกหน่วยงานสรุปสาเหตุของปัญหาและอุปสรรค แล้วเสนอแนวทางแก้ไขกลับมายังทีมเศรษฐกิจอีกครั้งภายในวันจันทร์ที่ 2 มิ.ย.

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวก่อนการประชุมว่า คสช.ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีความมั่นคง โดยจะทบทวนการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ปรับปรุงให้ดีและมีความทันสมัยยิ่งขึ้น อีกทั้งพัฒนารัฐวิสาหกิจให้มีระเบียบและมาตรฐาน โดยจัดให้มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถมาบริหารงานให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยมุ่งหวังทำให้เกิดความเข้มแข็งและความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ โดยยึดถือประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก

สั่งทบทวนการทำงาน-มุ่งหาพลังงานทดแทน

ภายหลังประชุมเป็นเวลากว่า 4 ชั่วโมง พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ได้แบ่งงานการกำกับดูแลออกเป็น 9 กลุ่ม โดยตนเองรับผิดชอบดูแลรัฐวิสาหกิจ 4 กลุ่ม ได้แก่ ขนส่ง พลังงาน สื่อสาร และสาธารณูปการ ส่วน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. รับผิดชอบ 5 กลุ่ม ได้แก่ สถาบันการเงิน เทคโนโลยี อุตสาหกรรม เกษตร และทรัพยากรธรรมชาติ

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวต่อว่า ได้เปิดโอกาสให้แต่ละหน่วยงานรายงานถึงปัญหาในการดำเนินงานที่ผ่านมา คสช.ยืนยันจะดูแลหน่วยงานรัฐวิสาหกิจตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ได้ให้นโยบายไว้ คือต้องทบทวนการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้ดีขึ้น ทันสมัย รวมทั้งพิจารณาความมั่นคงด้านพลังงาน การพิจารณานโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมพลังงานทดแทนทั้งจากแสงแดดและพืชพลังงานอื่นๆ ให้เหมาะสมโดยเร็ว

เร่งโครงการเก่า-ทำโรดแมพโครงการใหม่

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวอีกว่า ได้สั่งให้ทุกหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจัดเตรียมแผนการดำเนินงานระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว นำส่งให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. เป็นผู้รวบรวม และเสนอให้ คสช.พิจารณาในวันที่ 2 มิ.ย.นี้ก่อน 12.00 น. จากนั้นจะสรุปเสนอให้หัวหน้า คสช.พิจารณาในวันต่อไป

หลักเกณฑ์การพิจารณาโครงการจะแยกเป็นโครงการเร่งด่วนที่ค้างจากงบประมาณปี 2557 ที่รอพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และแผนงานปีงบประมาณ 2558 กับ 2559 ซึ่งต้องสอดคล้องกับแผนโรดแมพของประเทศ

สำหรับเรื่องเร่งด่วนที่จะดำเนินการ ได้แก่ การตั้งคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจให้สมบูรณ์ เร่งสางงานที่ค้างในปี 2557 ที่รอ ครม.ตัดสิน และแผนงานที่จะดำเนินการในปี 2558 ซึ่งจะต้องรอดำเนินการคู่กับโรดแมพที่ประธาน คสช.สั่งให้ดำเนินการด้วย

ระบุไม่ตามกระแส-เน้นฟื้นเศรษฐกิจ

"การดูแลรัฐวิสาหกิจจะพิจารณาบริบทโดยรวมก่อน จะไม่พิจารณาตามกระแส แต่พิจารณางานเร่งด่วนที่มีผลต่อการแก้ไขด้านเศรษฐกิจ โดยทั้งหมดจะเร่งพิจารณากำหนดนโยบายให้แล้วเสร็จเป็นรายสัปดาห์ ไม่ช้าเป็นเดือน" พล.อ.อ.ประจิน ระบุ

รองหัวหน้า คสช. กล่าวอีกว่า คณะกรรมการของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจำเป็นต้องมีการทบทวนและปรับเปลี่ยน โดยเปิดโอกาสให้คนที่มีเวลาทำงานมากเข้ามาทำงานแทนคนที่มีเวลาทำงานน้อย ซึ่ง คสช.จะต้องมีส่วนร่วมในการพิจารณารายชื่อคณะกรรมการใหม่ด้วย และจะต้องดำเนินการภายใต้กฎกติกาเดิม ไม่ผิดกฎหมาย รวมทั้งเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติสูงสุด

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวด้วยว่า เมื่อช่วงเช้าวันเดียวกัน ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เพื่อดูแลนโยบายการลงทุนให้สามารถเดินหน้าโครงการต่างๆ ต่อไปได้ ซึ่งจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการให้สมบูรณ์ก่อน ส่วนข้อเสนอที่ภาคเอกชนเรียกร้องให้อนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการมีอำนาจในการตัดสินใจอนุมัติโครงการแทนบอร์ดชุดใหญ่ได้นั้น ขอไปศึกษารายละเอียดในข้อกฎหมายก่อน

กฟผ.เสนอโครงการเร่งด่วนแสนล้าน

ด้าน นางอัญชลี ชวนิชย์ ประธานคณะกรรมการ (ประธานบอร์ด) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ในส่วนของ กฟผ. ได้นำเสนอโครงการเร่งด่วนไป 2 โครงการ ได้แก่ การสร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะแห่งใหม่ทดแทนโรงที่ 1-4 ที่หมดอายุการใช้งาน และโครงการวางสายส่งไฟฟ้าแรงสูงขนาด 500 เควี ในพื้นที่ภาคใต้และตะวันตก มีมูลค่ารวมกว่า 1 แสนล้านบาท เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางไฟฟ้าให้กับประเทศ โดยจะส่งโครงการนี้ให้ คสช.พิจารณาอนุมัติลงทุนตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นไป

ไฟเขียวบอร์ด รสก.พิจารณาตัวเอง

แหล่งข่าวในที่ประชุมเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ทีมเศรษฐกิจ คสช.ได้พูดในที่ประชุมถึงการปรับเปลี่ยนบอร์ดรัฐวิสาหกิจในภาพกว้างว่า หากจะมีการปรับเปลี่ยนก็เพื่อให้เกิดความเหมาะสม และเพื่อให้องค์กรมีประสิทธิภาพการทำงานที่ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็แจ้งให้ประธานและบอร์ดของรัฐวิสาหกิจได้พิจารณาตัวเองด้วยการลาออก หากเห็นว่าสมควร พร้อมทั้งแจ้งว่าการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงควรชะลอไปก่อนจนกว่าจะมีความชัดเจนเรื่องแผนงาน

อย่างไรก็ดี นางชูจิรา กองแก้ว ประธานบอร์ดธนาคารออมสิน กล่าวถึงกรณีที่อาจถูกให้ออกจากตำแหน่งเนื่องจากเข้ารับตำแหน่งในช่วงรัฐบาลชุดที่แล้วว่า แม้จะไม่ใช่บุคคลที่กระทรวงการคลังแต่งตั้งมา แต่เป็นผู้ที่สามารถทำงานในองค์กรนี้ได้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีแนวคิดที่จะลาออก

ทีโอทีชงโปรเจค 4 หมื่นล้าน

นายยงยุทธ วัฒนสินธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที กล่าวว่า ในส่วนของทีโอทีได้เสนอ 3 โครงการใหญ่ มูลค่ารวม 40,000 ล้านบาทที่ต้องหยุดชะงักไปในช่วงที่รัฐบาลประกาศยุบสภาเมื่อปลายปี 2556 แม้ว่าบางโครงการจะผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ 3 โครงการใหม่เป็นไปตามแผนฟื้นฟูองค์กร (เทิร์นอะราวด์) ตามที่ทีโอทีเสนอไป โดยขณะนี้รอเพียงการอนุมัติงบประมาณที่ทีโอทีร้องขอจำนวน 40,000 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการโทรศัพท์ 2 ล้านพอร์ตจำนวน 30,000 ล้านบาท โครงการสร้างโครงข่ายอัจฉริยะ (เอ็นจีเอ็น) 2,800 ล้านบาท และโครงการสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 5,000 ล้านบาท

ทีโอทีได้รายงานต่อ คสช.ว่าที่ผ่านมาแนวทางการดำเนินงานในช่วงที่ไม่มีรัฐบาลนั้น ทีโอทีได้ปรับเปลี่ยนงบประจำปีของทีโอทีในปี 2557 จำนวน 4,000-5,000 ล้านบาท ที่เดิมใช้กับการขยายคอร์เน็ตเวิร์คสำหรับบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) เพียงอย่างเดียว ไปลงในสายธุรกิจให้เข้ากับแผนฟื้นฟูองค์กร

"กสท"ขอปรับการทำงานร่วม รสก.อื่น

ขณะที่ นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า กสท ได้เสนอคำร้องขอไปยัง คสช. 4 ระยะ คือ ปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขทันที ปัญหาระยะสั้นภายในปี 2557 ปัญหาระยะกลางปี 2558 และปัญหาระยะยาวหลังจากปี 2559

โดย กสท อธิบายว่า บริษัทไม่ได้มีปัญหาเรื่องเงินงบประมาณ เพราะ กสท สามารถอยู่ได้ด้วยการบริหารงานของตัวเองตามแผนการดำเนินงานปกติ และไม่มีงบประมาณที่รอให้อนุมัติ แต่ปัญหาที่ต้องการให้แก้ไขคือ ปรับเปลี่ยนขั้นตอนการประสานหน่วยงานภาครัฐใหม่ เพราะธุรกิจโทรคมนาคม ไอซีที จำเป็นต้องได้รับการปฏิรูปโดยทันที เช่น กรณีสิทธิในการวางเสา ปักเสาโทรคมนาคม ที่ผ่านมาเกิดปัญหาอย่างมาก เพราะ กสท มักจะไม่ได้รับความร่วมมือจากรัฐวิสาหกิจด้วยกันเอง

"ปัญหาของเรามันต้องแก้ในระดับนโยบาย เปลี่ยนเรื่องทรัพยากรบุคคล ความรวดเร็วในการอนุมัติการดำเนินงาน ซึ่งไม่ได้ติดอยู่ที่เรื่องเงินเพียงอย่างเดียว" นายกิตติศักดิ์ กล่าว