กระแจะ ตำนานเครื่องหอมไทย

กระแจะ ตำนานเครื่องหอมไทย

เรียนรู้ความมหัศจรรย์ของ กระแจะตะนาว สมุนไพรมีเรื่องราวและประวัติการใช้มาอย่างยาวนาน ในงานมหกรรมการแพทย์แผนไทย 5-8 มิ.ย.นี้

กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับภาคีเครือข่ายสาธารณสุขจังหวัด เครือข่ายการแพทย์แผนไทย และการแพทย์พื้นบ้าน ภาคกลางและภาคตะวันออก เตรียมนำสมุนไพรเด่นประจำถิ่นของภาคกลางและภาคตะวันออก มาโชว์ในงานมหกรรมการแพทย์แผนไทย ภาคกลางและภาคตะวันออก 2557

“สุขภาพดี เริ่มต้นด้วยการแพทย์แผนไทย” ซึ่งหนึ่งในสมุนไพรที่น่าสนใจ ก็คือ กระแจะตะนาว สมุนไพรมีเรื่องราวและประวัติการใช้มาอย่างยาวนาน

กระแจะ หรือ พญายา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Naringi crenulata (Roxb.) Nicolson อยู่ในวงศ์ RUTACEAE และมีชื่ออื่นๆ คือ กะแจะตะนาว ขะแจะ ตุมตัง พญา มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก กิ่งก้านมีหนาม ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับรูปวงรีแกมไข่กลับ ก้านใบแผ่เป็นปีก ดอกช่อออกที่ซอกใบ ผลรูปทรงกลมออกเป็นพวง พบได้ทั่วไปในป่าเบ็ญจพรรณ

พญายา เป็นสมุนไพรที่หมอยาอีสานใช้มากตัวหนึ่ง ในตำรายาอีสานจึงมีชื่อของพญายาปรากฏให้เห็นอยู่เสมอในตำราใบลานอีสาน พญายาขึ้นอยู่ทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย ถือว่าเป็นสมุนไพรเก่าแก่ ในภาคอื่นๆ มักรู้จักกันดีในชื่อ กระแจะ หรือกระแจะตะนาว เนื่องจากบริเวณเทือกเขาตะนาวศรีเป็นแหล่งของสมุนไพรชนิดนี้

ชาวตะนาวจะมีความเชี่ยวชาญเรื่องเครื่องยาหอม กระแจะจันทน์เจิม เมื่อย้ายมาอยู่ในกรุงเทพฯ บริเวณถนนบ้านตะนาวจะนิยมทำเครื่องตะนาว ซึ่งก็คือ กระแจะน้ำมันจันทน์ ปรุงเครื่องร่ำ น้ำอบและประทินผิว ถนนบ้านตะนาวนี้เป็นถนนสายเก่าแก่ที่สร้างมาตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

นอกจากนี้ กระแจะตะนาว ยังเป็นส่วนผสมสำคัญของดินสอผงวิเศษ ซึ่งจะนำไปเขียนอักขระในการสร้างพระเนื้อผงของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้สร้าง “สูตรนิยม” หรือ “สูตรครู” ในการสร้างพระเนื้อผง และในมวลสารของพระเครื่องที่สมเด็จโตสร้าง ดินสอผงวิเศษนั้นจะมีกระแจะตะนาวอยู่ด้วย

และยังได้มีการพูดถึงกระแจะตะนาวไว้ว่า เป็นชื่อต้นไม้ขนาดเล็ก ขึ้นในป่าเบ็ญจพรรณ ต้นและกิ่งมีหนาม เปลือกขรุขระสีเทา ดอกเล็กสีขาวเป็นช่อสั้นกลิ่นหอมอ่อนๆ ท่อนไม้ใช้ฝนกับน้ำเป็นเครื่องประทินผิว กระแจะจึงเป็นสมุนไพรที่อยู่คู่กับสังคมไทยมานาน คนโบราณทุกภาครู้จักวิธีการใช้ แม้จะมีชื่อเรียกที่ต่างกัน เห็นได้จากการที่มีตำรับยา ตำรับเครื่องหอม ตำรับยาหอม ที่หลายตำรับมักมีกระแจะตะนาวเป็นส่วนผสมอยู่ด้วยนั่นเอง

ในอดีต คนไทยแถบสุโขทัยเรียกกระแจะว่า ตุมตัง ซึ่งจะถูกนำมาบดรวมกับเครื่องหอมจนได้เป็น “กระแจะจันทน์” เครื่องหอมประทินผิวที่มักวางอยู่บนโต๊ะเครื่องแป้งของสาวไทยในอดีต ทุกส่วนของกระแจะมีกลิ่นหอม มีสรรพคุณแก้ฝ้า แก้สิว รักษาผิวพรรณ ทำให้ผิวขาวสดใสสวยงาม โดยจะนำเปลือก เนื้อไม้ หรือราก ฝนกับน้ำหรือบดผสมกับเครื่องหอมอื่นๆ เป็นแป้งผัดหน้า ทำให้หน้าผุดผ่องเป็นยองใย

ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยโดยแกะรอยจากภูมิปัญญาชาวบ้านพบว่า กระแจะ มีฤทธิ์ในการป้องกันแสง UV สามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์กันแดดได้และด้วยความหอมของกระแจะ ทำให้คนไทยในแถบอีสานใต้ใช้ทำเป็นธูป โดยใช้กิ่งอ่อนบดละเอียดผสมทำธูป

ป้าบุญทัน โสมศรีแก้ว หลานตาของท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เล่าว่า สมัยก่อนจะใช้กิ่งอ่อนของพญา (กระแจะ) พญาครุฑ (เล็บครุฑ) ใบขมิ้น ใบนุ่น ซอยตากแดด ตำให้ละเอียด ใช้ทำธูป ใบนุ่นจะมียางทำหน้าที่เป็นตัวยึดเครื่องหอมเข้าด้วยกันและทำให้ติดกับแกนก้านธูปได้

กระแจะ เป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยาสูงมาก สามารถรักษาโรคและอาการได้หลากหลาย และเป็นส่วนผสมใส่ในยาตำรับได้มากมาย ทำให้หมอยาภาคกลางเรียก กระแจะ ว่า “พญายา” ป้าบุญทัน โสมศรีแก้ว กล่าวว่า พญา (กระแจะ) เป็นสุดยอดของสมุนไพรทั้งหลาย นิยมใส่เนื้อไม้หรือรากลงในทุกตำรับยาที่ใช้ดับพิษภายในและภายนอกร่างกาย แก้อาการเฉียบพลันที่มีอาการรุนแรง เช่น ลมบ้าหมู อาการผิดสำแดง อาเจียนอย่างรุนแรง และจำได้ว่าพ่อของป้าจะใส่พญาลงไปในหม้อยาแทบทุกหม้อ

เช่นเดียวกับหมอยาไทยภาคกลางนิยมใส่กระแจะในตำรับยา แก้ไข้ แก้กษัย แก้โลหิตจาง ผอมแห้ง ดับพิษร้อน ใช้เข้ายากวาดคอหรือยาเป่าคอแก้ไอ ในตำรายาไทยระบุสรรพคุณของกระแจะไว้ว่า เปลือกและเนื้อไม้ มีสรรพคุณลดไข้ ดับพิษร้อน เจริญอาหาร บำรุงจิตใจให้ชุ่มชื่นแจ่มใส รักษาโรคโลหิตผอมแห้ง และโรคกษัย รากมีสรรพคุณเป็นยาระบาย ช่วยขับเหงื่อ รักษาอาการปวดเกร็งในท้อง ใบมีสรรพคุณแก้ลมชัก แก้ไข้ แก้ปวดข้อและกระดูก คุมกำเนิด ผลใช้รักษาพิษ เป็นยาบำรุง รักษาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ เนื่องจากอาหารไม่ย่อย ดังนั้น ในยาหอมไทยจึงมักใส่กระแจะตะนาวลงไปด้วยเสมอ เช่น ยาหอมจิตรารมย์ ยาหอมสุคนโอสถ ยาหอมเทพประสิทธิ์ ยาแดงเม็ดเล็ก เป็นต้น

นอกจากนี้ หมอพื้นบ้านยังใช้ใบสดตำให้แหลกแช่เหล้าพอท่วม เอาน้ำยาทาแก้ปวดฟัน ทากันยุง และยังใช้ใบผสมใส่ในลูกประคบ เข้าตำรับยาแก้ไอ แก้พยาธิตัวจิ๊ด เป็นต้น

ตัวอย่างตำรับยาและเครื่องหอม

+ ธูปหอม มีส่วนผสม คือ กิ่งและใบกระแจะ ใบครุฑ (เล็บครุฑ) ใบนุ่น เปลือกชะลูด (ถ้าเป็นกิ่งเล็กๆ ก็สามารถสับทั้งกิ่ง แล้วนำไปตากแดดได้เลย) ยางไม้ (ชันตาแมว) หรือเปลือกบง ไม้ไผ่เหลาสำหรับไว้ทำก้านธูป

วิธีทำ

1. นำใบครุฑ ใบนุ่น และเปลือกชะลูดตากแดดให้แห้งสนิท แล้วนำมาบดรวมกันให้ละเอียดในปริมาณที่เท่ากัน และถ้าหากต้องการให้ธูปมีกลิ่นหอมมากขึ้น ก็สามารถเติมผิวมะกรูด ขมิ้น หรือเติมกลิ่นอื่นๆ ที่ชอบลงไปก็ได้

2. นำไม้ไผ่ที่เหลาไว้สำหรับทำก้านธูป จุ่มลงในยางไม้แล้วนำไปกลิ้งบนผงธูปที่เตรียมไว้ในข้อ 1 การกลิ้งธูปนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ที่ทำธูปว่าต้องการความหนาบางของธูปแค่ไหน ถ้าหากต้องการให้ธูปหนามากก็กลิ้งไปมาหลายๆ ครั้ง หลังจากนั้นนำธูปไปตากแดดให้แห้งสนิท

+ กระแจะเจิม มีส่วนผสม คือ น้ำมันเสน่ห์จันทน์ขาว ผงกระแจะ ดินสอพอง

วิธีทำ

นำน้ำมันเสน่ห์จันทน์ขาว ค่อยๆ หยดลงผสมในผงกระแจะและดินสอพอง คนให้เข้ากัน เติมน้ำพอเหลว

+ กระแจะจันทน์เจิม ดั้งเดิมเป็นเครื่องหอมชั้นสูง ที่มีผงของกระแจะเป็นส่วนประกอบสำคัญ กระแจะจันทน์เจิมนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นในงานมงคลและในพิธีกรรมต่างๆ เช่น การขึ้นบ้านใหม่ การเจิมหน้าผากคู่บ่าวสาวในพิธีแต่งงาน เป็นต้น

ตำรับยายาแก้มึนแก้เมา แก้พิษผิดสำแดง

ตำรับที่ 1 ใช้กระแจะทั้งห้า 1 กำมือ น้ำประมาณ 1 ลิตร ต้มให้น้ำเหลือครึ่งหนึ่ง กินครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น

ตำรับที่ 2 ใช้ผลต้มกับน้ำตาล ดื่มแก้พิษ บำรุงร่างกาย น้ำประมาณ 1 ลิตร ต้มให้น้ำเหลือครึ่งหนึ่ง กินครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น

+ ยาแก้ปวดเมื่อย แก้กษัย ใช้ต้นกระแจะต้มน้ำดื่มครั้งละครึ่งแล้ว วันละ 3 ครั้ง แก้ปวดตามข้อ ปวดเมื่อย

+ ยาขับลม ช่วยระบายอ่อนๆ ใช้กระแจะทั้งห้า มะตูมทั้งห้า อย่างละหนึ่งกำมือมาต้มกิน

+ ยาแก้พยาธิตัวจี๊ด ใช้กิ่งและใบกระแจะ ต้มกับกระเจี๊ยบเขียวกินแก้พยาธิตัวจี๊ด

+ ยากันยุงขยี้ใบทากันยุงหรือตำผสมเหล้าทากันยุง

สำหรับผู้ที่สนใจสมุนไพรประจำถิ่นที่น่าสนใจ และหลากหลายเรื่องราวของการแพทย์แผนไทย และการแพทย์พื้นบ้านของภาคกลางและภาคตะวันออก สามารถเข้าร่วมงานมหกรรมการแพทย์แผนไทย ภาคกลางและภาคตะวันออก 2557 “สุขภาพดี เริ่มต้นด้วยการแพทย์แผนไทย” ในระหว่างวันที่ 5 - 8 มิถุนายน 2557 ณ พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จ.ปทุมธานี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร 037-211-289