"afterword"ระดมทุนเปลี่ยนโลกการอ่าน

"afterword"ระดมทุนเปลี่ยนโลกการอ่าน

“afterword”คือกิจการเพื่อสังคมที่ใช้แนวคิดการระดมทุนแบบใหม่เพื่อสนับสนุนให้เกิดหนังสือที่ดี มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของนักอ่าน

หนังสือดี แต่ตีพิมพ์ไม่ได้ เพราะสำนักพิมพ์ประเมินแล้วว่า "ไม่มีตลาด" โลกของหนังสือแคบลงทุกวันเพราะขาดความหลากหลาย ค่าตอบแทนนักเขียนไม่พอยาไส้ ครั้นจะออกมาตั้งสำนักพิมพ์เองก็ไม่เก่งบริหาร ไม่ถนัดการตลาด พาลจะ “เจ๊ง” เอาได้ง่ายๆ ขณะคนอ่าน ทำอย่างไรจะได้อ่านหนังสือที่อยากอ่าน และมีส่วนร่วมในการผลิตหนังสือดีๆ สักเล่ม

นี่คือคำถามที่ค้างคาใจคนในโลกวรรณกรรมมานาน จุดประกายไอเดียคนกลุ่มหนึ่ง ให้จัดตั้ง “afterword” (อาฟเตอร์เวิร์ด) กิจการเพื่อสังคมที่ใช้การระดมทุนแบบใหม่ เพื่อสนับสนุนให้เกิดหนังสือที่ดี ตรงตามความต้องการของนักอ่าน

พวกเขาเริ่มจากเปิดพื้นที่ออนไลน์ (http://afterword.co,Facebook / afterword.co) เพื่อให้นักเขียนสามารถนำเสนอต้นฉบับให้กับผู้อ่านโดยตรง ขณะที่ผู้อ่านก็สามารถตัดสินใจได้ว่าต้นฉบับไหนควรได้รับการสนับสนุน จากนั้นก็เปิดระดมทุน ประสานทีมจัดทำหนังสือ จนสามารถผลิตเป็นหนังสือขึ้นมาได้ แล้วทำการตลาดไปยังกลุ่มเป้าหมาย

ไอเดียแปลกใหม่ ที่จะ “เปลี่ยนโลก” และ “ปลดล็อก” อุปสรรคของ นักเขียน คนอ่าน การผลิต และการขาย

เบื้องหลังแนวคิดคูลๆ มาจาก “หวัง-กิตติศักดิ์ ปัญญาจิรกุล” และ “แพรว-พราวพรรณราย มัลลิกะมาลย์” สองผู้ร่วมก่อตั้ง afterword ศิษย์เก่า มหาวิทยาลัย Stanford สหรัฐอเมริกา

“หวัง” เคยทำงานที่ Driptech ในอเมริกา กิจการเพื่อสังคมที่จำหน่ายอุปกรณ์การเกษตรให้กับเกษตรกรในประเทศโลกที่สาม ก่อนกลับมาเมืองไทย เป็นผู้บรรยายพิเศษ เรื่อง “Design Thinking” กระบวนการความคิดเชิงออกแบบ และเป็นอาจารย์พิเศษที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขณะที่ “แพรว” เคยทำงานในมหาวิทยาลัย Stanford และเคยร่วมงานกับบริษัทผลิตสื่อการสอนออนไลน์ และข้อมูลด้านการเลี้ยงดูเด็ก ที่อเมริกา ก่อนกลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

แบคกราวน์ไม่ธรรมดา แต่ที่ดูจะน่าสนใจไปกว่านั้น คือทั้งสองคนกำลังเริ่มต้นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) ของพวกเขา เพื่อแก้ปัญหาด้านการเขียนการอ่านของคนไทย

“ได้คุยกับเพื่อนที่เป็นหมอเด็ก เขาบอกว่า อยากมีหนังสือดีๆ สำหรับเด็กที่ป่วยเป็นโรคต่างๆ เพื่ออธิบายถึงตัวโรค และการดูแลตัวเอง แบบสนุกๆ ไม่ใช่วิชาการเชยๆ พอเอาความคิดนี้ไปเสนอสำนักพิมพ์ เขาบอกน่าสนใจนะ แต่คงทำไม่ได้ เพราะตลาดมันเล็ก จึงมาคิดกันว่า แล้วยังมีหนังสือดีๆ ที่ต้องเก็บไว้ก่อน ด้วยเหตุผลแบบนี้อีกเยอะไหม”

นั่นเองที่จุดประกายความคิด ให้ทั้งสองคนได้ขบคิดหาทางออก จนได้โมเดลที่ตอบโจทย์ทุกปัญหา ถ้าสำนักพิมพ์ไม่กล้าพิมพ์เพราะคิดว่า “ไม่มีตลาด” พวกเขาก็จะลองเปิดพื้นที่เสนอไอเดียนักเขียน เพื่อ “ทดสอบดีมานด์” คนอ่าน การผลิตหนังสือแต่ละเล่มมีต้นทุน ก็ใช้การ “ระดมทุน” เพื่อให้มีกำลังมาผลิตหนังสือดีๆ หลากหลาย ตรงใจผู้อ่าน ให้เกิดขึ้นได้

“การระดมทุน ถ้ามองในแง่ธุรกิจ หรือเชิงการลงทุน ถ้าลงเงินไปแล้วหนังสือเกิดไม่ได้เพราะเงินที่ได้มาไม่ถึงเป้าหมาย เราก็คืนเงินให้ แต่ถ้าเกิดได้ ก็จะได้รับหนังสือหรือของอย่างอื่นตอบแทน ซึ่งผลตอบแทนก็ขึ้นกับเงินที่นำมาลงทุน เช่น สองร้อยบาท อาจได้หนังสือปกอ่อนหนึ่งเล่ม ห้าร้อยบาท ได้ปกแข็งมาหนึ่งเล่ม เป็นต้น มันมีผลตอบแทนที่ชัดเจนมากกว่าแค่ในเชิงจิตใจ”

เขาบอกว่า วิธีระดมทุนมาผลิตหนังสือ จะผลักดันให้เกิดแรงจูงใจการสร้างสรรค์งานเขียนใหม่ๆ และผลของการระดมทุนได้สำเร็จ มักเกิดจากการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของกลุ่มคนที่สนใจและเห็นคุณค่าในสิ่งเดียวกัน จึงเป็นการสร้างความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างผู้สร้างสรรค์ผลงานและผู้สนับสนุน

“นี่เป็นช่องทางที่จะสำรวจวิธีทำธุรกิจแบบใหม่ พื้นที่นี้เหมาะสำหรับเนื้อหาที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตามท้องตลาด หรือเป็นพื้นที่สำหรับนักเขียนหน้าใหม่ มันไม่ใช่แค่เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นการแก้ปัญหาที่มีอยู่ในระบบ เป็นผลประโยชน์ที่มากกว่าตัวปัจเจก”

ขณะที่ระบบใหม่ ไม่ต้องขายผ่านสายส่งเหมือนเก่า ไม่ต้องเผชิญต้นทุนสาหัส ก็น่าจะทำให้มีมาร์จิ้นเหลือมาอุดหนุนนักเขียนได้เพิ่มขึ้น แต่นักเขียนเองก็คงต้องทำงานหนักกว่าเดิม นั่นคือ นอกจากผลิตงานที่ดี ยังต้องทำงานด้านการตลาดควบคู่ไปด้วย เช่น ทำแฟนเพจในเฟชบุ้คเพื่อนำเสนอตัวเองเรียกลูกค้า

“นักเขียนบางคนอาจไม่ถนัดทำแบบนี้ เราก็ช่วยทำให้ได้ รวมถึงหาตลาดให้ด้วย ตลอดจนประสานงานกับบรรณาธิการ คนจัดอาร์ทเวิร์ค พิสูจน์อักษร ช่วยทำในส่วนที่เขาไม่ถนัด โดยเราจะทำหน้าที่ประสาน เชื่อมโยง และแก้ปัญหาที่มีอยู่ในระบบ”

พวกเขาบอกภารกิจ ที่ไม่ใช่คู่แข่งของจิ๊กซอร์ใดในอุตสาหกรรม แต่มาเพื่อร่วมแก้ปัญหา “เรื้อรัง” ที่เกิดขึ้น

“คนที่อยู่ในวงการ ทราบดีว่าตอนนี้ระบบกำลังจะล่มสลาย เนื่องจากสายส่งผูกขาด และมีอิทธิพล แต่คนที่มีอิทธิพลเหนือสายส่ง ก็คือห้างสรรพสินค้าซึ่งเป็นเจ้าของที่เช่า พอไปถึงจุดมุ่งหมายปลายทาง สายส่งเจ๊ง หนังสือขายไม่ได้ ก็คือ ตายทั้งระบบ” เขาบอกปัญหาใหญ่ที่กำลังเล่นงานคนในอุตสาหกรรมทุกวันนี้

ทำธุรกิจไม่ง่าย ยิ่งธุรกิจที่ว่านั้นต้องคิดถึงผลกระทบต่อสังคมด้วย พวกเขาเริ่มสร้างความมั่นใจ หาทางเป็นไปได้ ตลอดจนหา “ทุน” มาตั้งต้นกิจการ ด้วยการส่งตัวเองเข้าประกวดแผนธุรกิจเพื่อสังคม “BANPU Champions for Change” ในปีนี้ และสามารถผ่านเข้ารอบ 10 ทีม ได้เงินทุนมาเดินหน้ากิจการ 5 หมื่นบาท ขณะเดียวกันก็คิดโมเดลให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน โดย afterword จะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมจากยอดเงินระดมทุน ตลอดจนอนาคตที่จะพัฒนาไปสู่รายได้จากช่องทางอื่น เช่น ค่าโฆษณา การขายเนื้อหาผ่านช่องทางต่างๆ หรือการเอาต้นฉบับที่ระดมทุนได้ไปเสนอสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ เพื่อที่จะเก็บค่าธรรมเนียมได้เพิ่มขึ้น เป็นต้น

ซึ่งพวกเขาเชื่อว่า แม้ไม่ทำกำไรอู้ฟู่ แต่ระบบนี้ก็น่าจะมีประสิทธิภาพพอที่จะเลี้ยงตัวเองได้

มีเส้นทางมากมายให้เลือกเดิน แต่ทั้งสองคนกลับเลือกเป็นผู้ประกอบการสังคม ต้องเผชิญกับปัญหาสารพัด ทั้งยาก ทั้งหิน แวะเวียนมาไม่ซ้ำแต่ละวัน ขณะที่ยังไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่า “วิธีนี้” จะเวิร์คจริงๆ ไหม?

“ผมมองว่าชีวิตคือการเรียนรู้ มันมีการเรียนรู้หลายแบบ ทำธุรกิจก็เป็นการเรียนรู้อีกแบบหนึ่ง เป็นบททดสอบชีวิตที่มีค่ามาก แล้วก็ยากมากด้วย แต่ผมรู้สึกว่า ตอนนี้ยังมีพลังพอที่จะลงคลาสๆ นี้ ได้ ถ้าอีกสิบปีผมไปมีครอบครัว หรือเพื่อนไปทำอย่างอื่น บรรยากาศอาจไม่เหมาะเท่าตอนนี้ ..ถ้าต้องล้มเหลว ผมเชื่อว่า การล้มเหลว มาพร้อมกับการเรียนรู้ ขึ้นอยู่กับว่า..เราจะเอาบทเรียนนี้ไปทำอะไรต่อเท่านั้น” เขาสะท้อนความคิด

ขณะที่แพรวก็ฝากความหวังว่า อยากเห็น afterword ทำให้เกิดการตื่นตัวในวงการสื่อสิ่งพิมพ์ ทั้งสร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบที่เป็นอยู่ได้ ก่อนทิ้งท้ายถึงคนรุ่นใหม่ที่อยากลุกมาทำอะไรแบบนี้

“ถ้ายังไม่มีภาระ ไม่มีความจำเป็นด้านอื่น ก็ให้สร้างประสบการณ์ให้เยอะที่สุด มันไม่มีคำว่าสายเกินไป ขอให้ลอง ลองแล้วผิดหวัง ดีกว่ามานั่งเสียดายทีหลังว่า ทำไมตอนนั้นถึงไม่ทำอย่างนี้ ถ้าอยากทำอะไรก็ให้ลองเอาตัวเองไปอยู่ในชุมชนของคนที่ทำอย่างนั้น เรียนรู้จากประสบการณ์ หาพี่เลี้ยง หรือโค้ชของชีวิต คอยแนะนำ ให้กำลังใจ มันมีสิ่งที่ตอบโจทย์ชีวิตเราอยู่แล้ว แต่ต้องหาโอกาสให้ตัวเอง เพราะโอกาสต้อง..สร้างเอง”

หนึ่งบททดสอบชีวิตในวิถีผู้ประกอบการสังคม ของคนที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในสังคมเล็กๆ ของพวกเขา บางทีสิ่งที่วัดความสำเร็จจากบทเรียนครั้งนี้ อาจแค่การได้ลงมือทำอย่างเต็มที่แล้วเท่านั้น..