เรือรบสายพันธุ์ไทย

เรือรบสายพันธุ์ไทย

จากตู้คอนเทนเนอร์น้ำหนักเบา เรียกเสียงฮือฮาให้กับวงการขนส่งในประเทศ ตามด้วยเรือรบพันธุ์ไทย 'ช.ทวี ดอลลาเชียน' ยังไม่หยุดสร้างนวัตกรรม

10 ปีก่อน “สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย” ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลทวีแสงสกุลไทย เคยสร้างความฮือฮาให้กับวงการขนส่งในประเทศด้วยนวัตกรรมรถขนส่งตู้คอนเทนเนอร์น้ำหนักเบา จนเป็นที่รู้จักในแถวหน้า หลังจากตีโจทย์ความต้องการของธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจการบินที่กำลังมองหาตู้ขนส่งอาหารสำหรับเครื่องบินขนาดใหญ่ อย่าง แอร์บัส A380 ได้อย่างลงตัว

ทว่าวันนี้ สุรเดชยังไม่หยุดนิ่ง ล่าสุดนำ ช.ทวี ดอลลาเซียน ก้าวสู่ความท้าทายไปอีกขั้นหนึ่ง โดยรับอาสาต่อเรือรบทั้งลำให้กับกองทัพเรือ และกำลังรื้อไลน์การผลิตใหม่ โดยเปลี่ยนมาใช้หุ่นยนต์แทนแรงงานคน

โมเดลไทยทำ

“บริษัทไม่ได้หยุดนิ่ง และมองว่าการทำนวัตกรรมสำคัญที่สุด ตราบใดที่มีองค์ความรู้เป็นของตัวเอง” สุรเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช.ทวี ดอลลาเชียน จำกัด (มหาชน) กล่าว

วิสัยทัศน์ของสุรเดช เป็นจุดเริ่มต้นของความท้าทายใหม่ที่เกิดขึ้นตลอด จนกลายเป็นบุคคลต้นแบบที่ประสบความสำเร็จจากการทำวิศวกรรมย้อนรอย ที่หลายคนอาจมองว่าเป็นการก๊อปปี้ แต่ตัวเขากลับมองว่า เป็นการเรียนลัดที่ทำให้ได้ผลลัพธ์รวดเร็ว และหัวใจสำคัญคือการคิดต่อยอดซึ่งหลายคนอาจมองข้าม

ปัจจุบัน ช.ทวี ดอลลาเชียน หรือ CTV DOLL อยู่ระหว่างพัฒนาเรือรบร่วมกับกองทัพเรือ โดยเริ่มจากการซื้อโนว์ฮาวมาจากบริษัท บีเออีซิสเต็ม ประเทศอังกฤษ เป้าหมายเพื่อพัฒนาเรื่องรบสัญชาติไทยได้ลำแรก ที่สามารถพิสูจน์ว่าใช้งานได้จริง ทั้งด้านคุณภาพและประสิทธิภาพการใช้งาน ณ วันนี้บริษัทได้ทดสอบประสิทธิภาพของเรือต้นแบบ 1 ลำ ใช้เวลาเดินทาง 72 วัน ไปกลับระหว่างประเทศไทยกับออสเตรเลีย

สุรเดช มองว่า เรือรบจะกลายเป็นนิชมาร์เก็ตสำหรับประเทศไทยได้ในอนาคต เนื่องจากมีเทคโนโลยีเป็นองค์ความรู้อย่างหนึ่ง ที่ทำให้สินค้ามีความแตกต่างจากแมส โปรดักส์ อย่างเรือคอนเทนเนอร์ หรือเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ ซึ่งถ้าลงไปต่อสู้ในตลาดเดียวกับเกาหลีและจีน โอกาสความสำเร็จเป็นไปได้น้อยมาก

“เรือรบที่พร้อมด้วยยุทโธปกรณ์จะกลายเป็นสินค้าสำคัญ สามารถสร้างรายรับให้กับประเทศได้อย่างน่าสนใจ และปัจจุบันกองทัพเรือก็เริ่มมีนโยบายสนับสนุนให้สร้างเรือรบเอง”

นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างเดินหน้าโครงการผลิตหุ่นยนต์อุตสหากรรม หรือ VR-7 ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ที่ออกแบบโดยคนไทย ทั้งในส่วนควบคุมและฮาร์ดแวร์ ที่มีราคาเหมาะสม คาดว่าไม่เกิน 2 ปี จะได้เห็นการใช้งานหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น

ย้อนรอยวิศวกรรม

สุรเดช สำเร็จการศึกษาด้าน Automotive Engineering และการบริหารจากประเทศญี่ปุ่น เป็นบุคคลสำคัญที่ผลักดันแนวคิดสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าเดิมอย่างต่อเนื่อง กระทั่งทำให้ ช.ทวี ดอลลาเชียน ประสบความสำเร็จจากการพัฒนานวัตกรรมหลายต่อหลายครั้ง

เขาแนะว่า เทคนิคการทำนวัตกรรมของบริษัทเริ่มจากการลอกแบบ ทำวิศวกรรมย้อนรอย โดยซื้อโนว์ฮาวมาจากประเทศ เช่น ตู้เย็นไฟเบอร์กลาสจากประเทศฝรั่งเศส มาผลิตเป็นตู้ขนส่งสินค้าที่ต้องการควบคุมอุณหภูมิ ให้ใช้งานได้ตั้งแต่ปิคอัพจนถึงตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ที่ต้องการการขนส่งที่ปิดสนิท ไม่ว่าจะเป็น รถขนส่งสินค้าของโลตัส บิ๊กซี รถโค้ก รถขนส่งดีเอชแอล ไปรษณีย์ไทย รถดับเพลิง และรถบรรทุกก๊าซเอ็นจีวี

หรือหลายครั้งที่ได้สินค้าขึ้นมาโดยที่นึกไม่ถึงว่าเป็นตัวหลักของบริษัท เช่น ตู้คอนแทนเนอร์เสิร์ฟอาหารให้กับเครื่องบิน ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยม ในกลุ่มตู้พาณิชย์อากาศยานของสายการบินในกลุ่มตะวันออกกลาง ที่ต้องการนำไปใช้กับเครื่องบินแอร์บัส A380 ทำให้บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับหนึ่งของโลก

“การที่ซื้อเทคโนโลยีมาพัฒนาต่อคือนวัตกรรม พอทำเป็นแล้วต่อยอดได้ ต้องยอมรับว่าคนไทยเก่ง แต่จะเก่งอย่างไรก็มีจุดอ่อน คือเสียฟอร์มไม่ได้ คนไทยชอบคิดว่าตัวเองฉลาด การซื้อมาเท่ากับเสียฟอร์ม แต่ถ้ายอมซื้อเทคโนโลยีมาก่อน จะพบว่าการพัฒนาไปได้เร็วมาก สามารถเดินหน้าได้ทันที 1-2 ปี ไม่มีใครตามทัน”

ยกตัวอย่างโครงการ “BIG BAO” ตู้คอนแทนเนอร์น้ำหนักเบาด้วยผนังแซนด์วิช นวัตกรรมระบบการผลิตผนังแซนด์วิชสำหรับตู้คอนเทนเนอร์ ที่ใช้วัสดุหลักคือไฟเบอร์กลาสและโฟมแทนเหล็กที่มีน้ำหนักมาก แต่ยังคงความแข็งแรงและทนแรงกระแทกได้ 1.5 ตันต่อตารางเมตรด้วยเทคนิคการเชื่อมด้วยเรซินและอัดด้วยสุญญากาศ

“น้ำหนักที่หายไปหมายถึงส่วนต่างต้นทุนค่าขนส่งลดลง ขนส่งสินค้าเพิ่มได้ถึง 20% ซึ่งเขามองว่าหลังจากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะทำให้ความต้องการตู้คอนเทนเนอร์ประสิทธิภาพสูงในประเทศมีมากขึ้น”

โครงการนี้ได้รับเงินสนับสนุนในส่วนดอกเบี้ยจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งตัวเขามองว่า การได้รับสนับสนุนหรือความช่วยเหลือจากภาครัฐเป็นช่องทางที่น่าสนใจ เพราะธุรกิจเอสเอ็มอีไม่ได้มีเงินทุนมากพอในการทำนวัตกรรม ขณะที่การวิจัยและพัฒนามีต้นทุนค่าใช้จ่าย และเต็มไปด้วยความเสี่ยง

ฉะนั้น ด้วยกลยุทธ์ "คิดลัด+คิดต่อยอด" เสริมด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐ ความสำเร็จปลายทางที่สุรเดชวางไว้กับ CTV DOLL ไม่ได้มองแค่ตลาดอาเซียนหรือ เออีซี ทว่านวัตกรรมสัญชาติไทยต้องก้าวไกลไปถึงตลาดโลกอย่างแน่นอน

รายงานโดย จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา