โรงงานเสื้อผ้าบังกลาเทศไม่ยอมขึ้นค่าจ้าง

โรงงานเสื้อผ้าบังกลาเทศไม่ยอมขึ้นค่าจ้าง

โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในกรุงธากาเกือบ40% ไม่สามารถจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำตามที่รัฐบาลบังกลาเทศประกาศ

สมาคมผู้ผลิตและผู้ส่งออกเสื้อผ้าบังกลาเทศรายงานว่า โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในกรุงธากาที่ผลิตเสื้อผ้าป้อนบริษัทค้าปลีกตะวันตก เกือบ 40% ไม่สามารถจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำตามที่รัฐบาลบังกลาเทศประกาศเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วได้

เดือนพฤศจิกายน 2556 รัฐบาลบังกลาเทศเห็นชอบเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 77 % ให้กับแรงงานในอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า จำนวน 4 ล้านคน เป็นเดือนละ 68 ดอลลาร์ หรือราว 2,040 บาท

สมาคมผู้ผลิตและผู้ส่งออกเสื้อผ้าบังกลาเทศสำรวจอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า ที่มีมูลค่าถึง 20,000 ล้านดอลลาร์ หรือใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจบังกลาเทศ การสำรวจครั้งนี้เพื่อตรวจสอบว่า มีโรงงานใดในจำนวน 4,500 โรง จ่ายค่าจ้างใหม่ตามกฎหมาย ผลการสำรวจพบว่า โรงงานรอบกรุงธากาเกือบ 40% ยังไม่จ่ายค่าจ้างในอัตราใหม่ ขณะที่ตัวเลขในเมืองท่าจิตตะกองสูงกว่ามาก

รองประธานสมาคมผู้ผลิตและผู้ส่งออกเสื้อผ้า "นายชาฮิดิลลาห์ อาซิม" กล่าวว่า สมาคมสำรวจโรงงาน 594 โรงในเมืองหลวงและชานเมือง พบว่า 62% จ่ายค่าแรงในอัตราใหม่แล้ว ส่วนในเมืองจิตตะกองมีโรงงานเพียง 5% เท่านั้นที่สามารถจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่ได้

นายอาซิม กล่าวโทษเหตุนองเลือดก่อนถึงวันเลือกตั้งทั่วไป 5 มกราคมที่ผ่านมา ที่พรรคการเมืองฝ่ายค้านนำการประท้วงและขัดขวางการคมนาคมจนมีผู้เสียชีวิต ว่าเป็นเหตุให้ต่างชาติลดการสั่งซื้อเสื้อผ้าจากบังกลาเทศ บีบให้โรงงานจำเป็นต้องเลื่อนการจ่ายค่าแรงในอัตราใหม่ออกไป

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขของรัฐบาลชี้ให้เห็นถึงช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมการส่งออกเสื้อผ้าของบังกลาเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว ข้อมูลล่าสุดระบุว่า ครึ่งหลังของปี 2556 การส่งออกเสื้อผ้าเติบโตขึ้นอย่างน่าประทับใจ 20% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555

ด้านผู้นำสหภาพแรงงาน "นายบาบูล อักเตอร์" โต้แย้งตัวเลขของสมาคมเรื่องจำนวนโรงงานที่่ขึ้นค่าจ้าง โดยกล่าวว่า กลุ่มสหภาพแรงงานทำการสำรวจอีกชุดหนึ่งพบว่า มีโรงงานเพียง 20% เท่านั้นที่จ่ายค่าจ้างอัตราใหม่

นายอักเตอร์อธิบายว่า คนงานถูกลดระดับจากคนงานมีประสบการณ์เป็นคนงานฝึกหัด เพื่อให้มั่นใจว่าโรงงานจะไม่ต้องขึ้นค่าจ้างสูง

รัฐบาลบังกลาเทศให้คำมั่นขึ้นค่าจ้าง หลังเกิดเหตุแรงงานหลายหมื่นคนเดินขบวนประท้วง เผาโรงงาน และปะทะกับตำรวจเมื่อเดือนกันยายน ต่อมาในเดือนพฤศจิกายนคณะกรรมการที่รัฐบาลแต่งตั้ง มีมติขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจากเดือนละ 3,000 ตากา เป็น 5,300 ตากา หรือราว 2,040 บาท หลังการประท้วงและภัยพิบัติหลายระลอกเน้นย้ำถึงสภาพการทำงานที่น่าตกใจ

สหภาพแรงงานส่วนใหญ่ยอมรับการขึ้นค่าจ้างหลังนายกรัฐมนตรีและโรงงานร้องขอ แต่แม้ขึ้นค่าจ้างคนงานตัดเย็บเสื้อผ้าบังกลาเทศก็ยังได้รับค่าจ้างต่ำสุดแห่งหนึ่งในอุตสาหกรรมประเภทเดียวกันในโลก

การประท้วงเรียกร้องค่าจ้าง ผลประโยชน์ตอบแทน และเงื่อนไขการทำงานเกิดขึ้นบ่อยครั้งในบังกลาเทศ แต่เข้มข้นมากขึ้นหลังเกิดอุบัติเหตุอาคารโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า "รานา พลาซ่า" ถล่มเมื่อเดือนเมษายน มีผู้เสียชีวิต 1,135 คน