เรียนๆเล่นๆ เป็นมนุษย์

เรียนๆเล่นๆ เป็นมนุษย์

เมื่อโรงเรียนที่มีอยู่ ไม่ตอบโจทย์ พ่อแม่จึงรวมตัวกัน หาทุนสร้างโรงเรียนสำหรับลูกขึ้นเอง โดยองหลักการสอนของรูดอล์ฟ สไตเนอร์

ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางวัตถุรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว วัยเด็กกำลังสูญหายไปจากชีวิตเด็กมากขึ้นและเร็วขึ้นทุกที แต่ที่น่ากลัวที่สุดคือ วิถีชีวิตของผู้คนในสังคมยุคใหม่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการอย่างเหมาะสมของเด็ก

หลายๆคนรีบเร่งแข่งกันก้าวตามกระแสสังคมโดยไม่ทันคิดอะไรมาก แต่ยังมีพ่อแม่บางรายที่รู้สึกไม่สบายใจกับการที่ลูกจะต้องคร่ำเคร่งกับชีวิตที่ถูกเคี่ยวกรำตั้งแต่เล็ก แล้วก็ไม่ได้ตั้งความหวังว่าโตขึ้นลูกจะต้องสอบแข่งขันให้ได้คะแนนสูงๆ เรียนสาขาซึ่งใครๆแย่งกันเข้า และมีอาชีพที่ทำรายได้งาม

สร้างโรงเรียน "มนุษย์"

"เราให้ความสำคัญกับการที่ลูกจะเติบโตขึ้นเป็นคนเต็มคน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคที่ขวางกั้น และสามารถเผชิญกับความท้าทายของชีวิตได้ด้วยความรับผิดชอบมากกว่า ซึ่งพ่อแม่ในฐานะผู้ผลักดันลูกให้สามารถก้าวไปตามเส้นทางชีวิตของตนเองได้อย่างมีความหมาย จึงต้องออกมาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้ลูกตัวเอง"

อัจฉรา ปู่มี หนึ่งในคุณแม่ที่เลือกสร้างโรงเรียนให้ลูกเอง ในชื่อโรงเรียนศิร์รัถยา โรงเรียนนี้เกิดจากพ่อแม่ที่อยากจะสร้างโรงเรียนแนววอลดอร์ฟให้ลูก เพราะไม่สามารถเข้าโรงเรียนปัญโญทัยด้วยข้อจำกัดในจำนวนที่รับนักเรียนในแต่ละปี

"โรงเรียนปัญโญทัยเป็นโรงเรียนวอลดอร์ฟต้นแบบในประเทศไทย เรารู้สึกอยากหาทางออกให้กับการศึกษาให้กับลูกของเราที่เรารักยิ่ง เราจึงตัดสินใจที่ทำโรงเรียนขึ้นมากัน โดยได้รับการสนับสนุนจาก นพ.พร พันธ์โอสถ ผู้อำนวยการโรงเรียนปัญโญทัย ช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้เรา"

ปัญโญทัย หนึ่งในเครือข่ายโรงเรียนวอลดอร์ฟนับพันแห่งจาก 60 ประเทศทั่วโลก นำระบบการศึกษาแนววอลดอร์ฟ (หลักการของรูดอล์ฟ สไตเนอร์) ซึ่งถูกใช้มายาวนานกว่า 90 ปีนั้นเข้าสู่การรับรู้ของเด็กไทย หวังจะเสนอโอกาสให้เด็กๆ ได้ใช้ชีวิตวัยเด็กอย่างเด็ก เบ่งบานไปตามขั้นตอนอย่างเป็นธรรมชาติ พร้อมทั้งพัฒนาไปอย่างรอบด้านและสมดุล เพื่อให้เขาเติบโตขึ้นโดยมีคุณสมบัติที่ดีที่สุดของความเป็นมนุษย์อยู่ในตัว

"ที่ปัญโญทัย เราไม่เห็นว่าการศึกษาเป็นเรื่องของการสอนหนังสือหรือการให้ข้อมูลความรู้แก่เด็ก สิ่งที่เราทำคือบ่มเพาะความเป็นมนุษย์ในตัวเด็ก ปลุกความสามารถที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวเขาให้ปรากฏออกมา เพื่อให้เขาเติบโตขึ้นอย่างมนุษย์ผู้สร้างสรรค์ มีอิสระทางปัญญา รู้จักตนเอง รู้จักโลก"

วิถีวอลดอร์ฟ คือวิธีการช่วยให้เด็กเข้าใจในวิวัฒนาการแห่งวิทยาการของโลก กล่อมเกลาเขาด้วยศิลปะ และสร้างสมดุลด้วยจริยธรรม ให้การเรียนรู้ผ่านทั้งความคิด ความรู้สึก และการปฏิบัติ เพื่อพัฒนาไปสู่การคิดที่กระจ่างชัด สร้างสรรค์ มองเห็นความดี ความงาม และความจริงในโลกนี้ มุ่งหมายให้เด็กได้รับการศึกษาอย่างทั่วด้านและสมดุล มุ่งพัฒนาทั้งกาย ใจ และปัญญา เพื่อให้เด็กเติบใหญ่ขึ้นมาโดยพรั่งพร้อมไปด้วยคุณสมบัติที่ดีที่สุดของความเป็นมนุษย์อยู่ในตัว

ไม่ต้อง "ที่หนึ่ง" ก็ได้

อัจฉรา เล่าให้ฟังต่อว่า เป้าหมายของวิถีวอลดอร์ฟไม่ใช่การผลิตทรัพยากรมนุษย์เพื่อป้อนตลาดแรงงาน หรือแปรผันไปตามปัจจัยทางเศรษฐกิจหรือการเมือง แต่ต้องการสร้างพื้นฐานความเป็นมนุษย์ให้แก่เด็ก ช่วยให้เขามีอิสระทางความคิด รู้จักรับผิดชอบต่อการกระทำของตน พร้อมที่จะทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อโลกและเพื่อนมนุษย์

"เราพยายามรักษาวัยเด็กไว้กับเด็ก ไม่เร่งรัดให้เขารีบโตรีบก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่ก่อนเวลา เราไม่เห็นว่าการให้ข้อมูลเป็นหัวใจของการเรียนการสอน แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือการบ่มเพาะให้เขามีความรับผิดชอบทางจริยธรรม มีความปรารถนาจะลงมือกระทำเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น

หลายสิ่งที่พ่อแม่กลัว อย่าง กระแสวัตถุนิยม บริโภคนิยม พาณิชย์นิยม ก็จำเป็นต้องสกัดกั้นไว้ห่างไกลจากเด็ก เช่นไม่สนับสนุนให้เด็กใช้สื่อต่างๆ โดยเฉพาะโทรทัศน์และคอมพิวเตอร์ก่อนชั้นมัธยมปลาย แต่ต้องส่งเสริมให้เด็กใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย เป็นตัวของตัวเอง สามารถทำงานพื้นฐานของชีวิต ตลอดจนทำข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมให้เด็กๆ มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันทั้งทางคำพูดและการกระทำ เห็นคุณค่าของกันและกัน ไม่สนับสนุนให้มีการแก่งแย่ง แข่งขัน กลั่นแกล้ง ล้อเลียนกัน และการทะเลาะวิวาท

"ที่เห็นชัดๆเลยก็คือ ไม่มีการสอนอ่าน เขียน คำนวณในระดับอนุบาล แต่จะให้เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่น การทำกิจกรรมต่างๆ ของเล่นสำหรับเด็กจะเป็นของง่ายๆ พื้นๆ ของจากธรรมชาติ ของที่ครูทำขึ้น ไม่ใช่ของเล่นสำเร็จรูปหรือของเล่นกลไกใดๆ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้พัฒนาจินตนาการและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่

รูปแบบการเรียนรู้จะไม่ให้นักเรียนนั่งฟังและลอกตามกระดานดำเท่านั้น แต่ยังใช้การเคลื่อนไหว การปฏิบัติ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการถ่ายทอดผ่านศิลปะ ส่วนวิธีวัดประเมินผล จะใช้การสังเกตและประเมินจากการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคน จากนั้นครูจะพูดคุยกับผู้ปกครอง และเขียนรายงานผลการเรียนของเด็กส่งให้"

ตอนนี้ทางพ่อแม่ผู้ปกครองที่ลงขันสร้างโรงเรียนขึ้นเอง กำลังหาทุนสำหรับการสร้างโรงเรียนต่อ เหล่าพ่อๆแม่ๆกลุ่มเล็กๆ กำลังรอคอยการสนับสนุนทางใดทางหนึ่ง หวังจะตอกย้ำว่า "วิชาชีวิต" คือวิถีสร้างมนุษย์ให้อยู่รอดตลอดฝั่งได้จริง