หลักสูตรใหม่ปั้นนักบริหารจัดการ"น้ำดี"เติมเต็มสังคม

หลักสูตรใหม่ปั้นนักบริหารจัดการ"น้ำดี"เติมเต็มสังคม

สังคมไม่ได้ต้องการแค่คนเก่งแต่ต้องการ“นักเปลี่ยนแปลง”ที่คิดเป็นทำเป็นทำงานกับคนอื่นได้มองภาพใหญ่ออก ไม่ได้คิดถึงแต่ตัวเองแต่คิดถึงสังคมด้วย

“โลกและตลาดงานต้องการ นักเปลี่ยนแปลง”

ประโยคโดนๆ ของหลักสูตรน้องใหม่ ปริญญาตรี สาขาโลกคดีศึกษาและการประกอบการสังคม (Bachelors of Arts in Global Studies and Social Entrepreneurship) คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สำหรับพวกเขา “นักเปลี่ยนแปลง” สำคัญไปกว่า คนเก่ง แต่ทำงานกับใครไม่ได้ รู้เชิงลึก แต่มองภาพใหญ่ไม่ออก มีความสามารถ แต่มิอาจปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้ ที่สำคัญ คิดเก่ง คิดใหญ่ แต่ไม่ได้สร้างคุณค่าอะไรให้กับสังคม

เพราะอยากผลิตคนสายพันธุ์ใหม่ เพื่อเติมเต็มจุดอ่อนเหล่านี้ มาร่วมสร้างประเทศไทยให้แข่งขันได้ในโลกยุคใหม่ เลยเป็นที่มาของการพัฒนาหลักสูตรปริญญาตรี ที่แตกต่างไปจากความมักคุ้นของสังคมไทยในอดีต แต่ก็ได้รับการยอมรับอย่างมากในต่างประเทศ หลักสูตรที่จะ ‘ปั้นคนเก่ง ที่มีความสามารถด้านสังคม’

“เด็กที่เรียนจบไป ไม่ได้จำกัดแค่จะต้องไปเป็นผู้ประกอบการสังคม (Social Entrepreneur) เป็น นักบริหารจัดการธุรกิจเพื่อสังคม แต่ไม่ว่าเขาจะไปอยู่ตรงจุดไหนในตลาดงาน ก็จะเป็นคนเก่ง ที่มีความสามารถด้านสังคม”

“วิริยา วิจิตรวาทการ” ผู้ร่วมก่อตั้งหลักสูตรน้ำดี และในฐานะที่คนเรียนจบมาทางด้านนี้ (International development social entrepreneurship มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา) บอกอนาคตในตลาดงานของว่าที่บัณฑิตจากสาขาน้องใหม่

เพราะมองว่าสิ่งที่สังคมกำลังขาด คือ คนเก่ง ทำงานเป็น ที่ “คำนึงถึงคุณค่าทางสังคม” และโลกปัจจุบันกำลังต้องการคนที่มีทักษะความเป็นผู้นำ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีมุมมองที่กว้าง ทำงานกับศาสตร์อื่นได้ แม้เด็กกลุ่มนี้ออกมาเป็นนักบริหาร นักธุรกิจ หรือแม้แต่พนักงานในองค์กรใด เขาก็จะมีความคิดทางสังคมติดตัวมาด้วย อย่างเช่น พัฒนาสินค้าที่ไม่เอาเปรียบเกษตรกร คำนึงถึงเรื่องการค้าที่เป็นธรรม (Fair Trade) คิดเรื่องคุณค่าทางสังคม คือไม่ใช่มุ่งแค่ผลิตสินค้าคุณภาพดีและ “มีกำไร” เท่านั้น แต่ทว่ายังต้องใส่ใจผลกระทบที่จะตกสู่สังคมด้วย

“ตอนนี้สังคมกำลังต้องการคนที่มองภาพใหญ่เป็น มองเห็นความเชื่อมโยง เช่น ในการดูปัญหาใดปัญหาหนึ่ง อย่างปัญหาทางธุรกิจ เราจะเห็นว่ากระทบทั้งแง่ กฎหมาย สังคม เศรษฐศาสตร์ หรือแม้แต่ ชุมชน เอง ฉะนั้นเราต้องการคนที่มองเห็นภาพทั้งหมด แล้วบอกได้ว่า ถ้าทำอย่างนี้จะมีผลกระทบต่ออะไรบ้าง หรือว่าดูในระดับนโยบายได้

ประเทศเราต้องการและยังขาดคนแบบนี้ ขณะที่การทำให้คนลึกในศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง มันเชื่อมโยงกับอย่างอื่นไม่ได้ ที่สำคัญในการแก้ปัญหาหลายๆ อย่าง ใช้ศาสตร์เดียวแก้ไม่ได้ แก้ไม่สุด แล้วมันก็ไม่พอ” เธอสะท้อนความคิด

นี่ไม่ใช่การคิดแบบ “โลกสวย” ทว่ามองโลกบนพื้นฐาน “ความจริง” โดยไม่ได้ต้องการปั้นคนที่เก่งด้านใดด้านหนึ่ง แต่ต้องการสร้างคนทำงานยุคใหม่ ที่มีทักษะการทำงานในศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าจะเป็น ทักษะการทำงาน ความเป็นผู้นำ การวิเคราะห์ด้วยหลักเหตุและผล การสื่อสาร การแก้ปัญหา การปรับตัว การตัดสินใจ การทำงานร่วมกับผู้อื่น และการบริหารเวลาเป็น

ขณะที่หลักสูตรอินเตอร์สอนเป็นภาษาอังกฤษ ก็เพื่อให้เด็กไทยพร้อมที่จะก้าวไปทำงานในระดับภูมิภาคและระดับโลกได้ โดยมีทักษะทางด้านภาษาเป็นต้นทุนดีๆ ในการทำงาน

ในส่วนของอาจารย์ผู้สอนก็มีทั้งอิมพอร์ทจากต่างประเทศ และอาจารย์ในประเทศที่เปี่ยมประสบการณ์ ร่วมถึงผู้เชี่ยวชาญในแขนงต่างๆ เพื่อหาผู้สอนที่จะเชื่อมโยงกับการทำงานจริงของผู้เรียนได้

ที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือการสอนโดยไม่เน้นแต่ทฤษฎี แต่สอนให้ “คิดเป็น ทำเป็น” โดยเน้นลงมือปฏิบัติถึง 50% ทั้ง ทำโพรเจคจริง รวมถึงไปแลกเปลี่ยนในต่างประเทศ เพื่อให้ผู้เรียนมีวิสัยทัศน์ที่กว้างขึ้น พ่วงกับทักษะพูดเป็น ทำเป็น และนำเสนอเป็น ที่จะติดตัวมาด้วย

หลักสูตรการเรียนเน้นกลุ่มเล็ก โดยปีแรกเปิดรับแค่ 50 คน เพราะต้องการลงทุนกับเด็กทั้ง 50 คน ให้ได้ผลลัพธ์ดีที่สุด ยิ่งกลุ่มเล็ก คนน้อย ก็ยิ่งสกรีนเด็กที่จะเข้ามาเรียนมากขึ้น ผู้ก่อตั้งหลักสูตรบอกเราว่า ไม่ใช่สาขาที่จะเหมาะกับเด็กทุกคน แต่ต้องเป็นเด็กที่มีคาแรคเตอร์ชอบทำกิจกรรม และสนใจที่จะลงมือทำ เพราะเน้นเลคเชอร์ในห้องเรียนน้อยมาก

“เด็กกลุ่มนี้จะยูนีคมาก เพราะถือว่า เขามีแนวคิดที่แปลกไม่เหมือนคนอื่น สามารถมองภาพกว้างได้ เก่งธุรกิจ และเก่งทางด้านสังคมด้วย อย่างอาชีพหมอคือรักษาคนไข้ เด็กที่เรียนหลักสูตรนี้ ก็คือคนที่ ‘แก้ปัญหาโรงพยาบาล’ เพราะแม้มีหมอที่ดี แต่ถ้าแก้ปัญหาโรงพยาบาลไม่ได้ ก็เติบโตและ ขยายผลไม่ได้ นี่จึงเป็นสิ่งที่ยังขาด และสังคมมีความต้องการคนแบบนี้ เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบให้ดีขึ้น”

ใครคิดว่าจบมาแล้วจะไม่มีงานทำ หรือได้ผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่าเท่าสาขาอื่น วิริยา ซึ่งเรียนมาทางด้านนี้ ย้ำกับเราว่า ค่าตอบแทนไม่ได้น้อยเลยสำหรับการทำงานด้านนี้ และอาจจะดีกว่าวิชาชีพทั่วไปด้วยซ้ำ ที่สำคัญการทำงานภาคสังคม หรือเพื่อสังคม ไม่ใช่ “การกุศล” แต่เราสามารถใช้วิธีคิดแบบธุรกิจสร้างความยั่งยืนให้กับการทำงานเพื่อสังคมได้

“บางคนอาจเถียงว่า เป็นผู้ประกอบการ หรือผู้ประกอบการสังคม สอนกันไม่ได้ แต่การที่เด็กซึ่งมีความฝัน ความมุ่งมั่นเดียวกัน ได้มาอยู่ด้วยกัน ไม่ได้คิดหรือทำอะไรอยู่คนเดียว มีความเป็นกลุ่มก้อน เป็นเครือข่าย ทั้งยังมีกระบวนการ มีเครื่องมือใหม่ๆ ไปพัฒนาการทำงานของตนเอง จะทำให้เขาตอบโจทย์ได้แรงขึ้น ถ้าไม่มีระบบ ก็จะไม่เห็นอะไรเลย ไม่มีมุมมองที่กว้าง ระบบการศึกษาจึงสำคัญกับเรื่องนี้”

เวลาเดียวกับการพัฒนาหลักสูตรใหม่ พวกเขายังเปิดตัว “ศูนย์นวัตกรรมสังคม” (Social Innovation Lab) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “GLab” ซึ่งกำลังพัฒนาสู่โมเดลกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่มีรายได้และอยู่ด้วยตัวเองได้ เพื่อสนับสนุนเด็กที่มาเรียนให้มีพื้นที่ลงมือทำจริง และให้บริการสังคมไปพร้อมกันด้วย กับบริการอย่าง การจัดทำเวิร์คช้อป โดยใช้กระบวนการออกแบบเพื่อแก้ปัญหาสังคม (Human-Centered Design process) บริการข้อมูลวิจัยในประเด็นปัญหาต่างๆ ของสังคม และการจัดสัมมนาให้กับกิจการเพื่อสังคม ที่ประสบปัญหาในการเติบโต โดยมีกลุ่มเป้าหมายครอบคลุมทั้ง ผู้ดูแลระดับนโยบาย หน่วยงานภาครัฐ องค์กรธุรกิจ ภาคการศึกษา กิจการเพื่อสังคม ตลอดจนผู้สนใจวิถีนี้

สาขาน้องใหม่ ยังเปิดรับสมัครเด็กไทยหัวใจเพื่อสังคม ร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้ โดยดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์www.sgs.tu.ac.th

เพื่อมาเป็นนิสิต เรียนจบในเวลา 4 ปี ได้ปริญญาตรี ศิลปศาสตร์บัณฑิต ทว่าสิ่งที่ได้มา ไม่ใช่แค่ใบปริญญาเท่านั้น แต่คือ ผลงาน ทักษะ และเครือข่าย ที่สั่งสมได้ตลอดปีการศึกษา

“การเรียนในสาขานี้ เป็นการเรียนรู้ ไม่ใช่เรียนเพื่อจบ เด็กจะไม่มีความรู้สึกว่าอยากรีบจบ เพราะการที่ยังอยู่ในระบบการศึกษาก็คือโอกาสที่เขาจะพัฒนาตัวเองและทำในสิ่งที่รัก”

เธอสะท้อนมุมคิด กับการเรียนที่ไม่ต้องยึดติดกับเกรดหรือใบปริญญา สะกิดเด็กไทยให้หลุดจากกรอบและกล้าเปลี่ยนแปลง

เพื่อเป็นมนุษย์งานพันธุ์ใหม่ ที่ไม่ใช่แค่เก่ง แต่ยังมีหัวใจเพื่อสังคมด้วย