ถอดดีเอ็นเอคนทำงานเพื่อสังคม "วิริยา วิจิตรวาทการ"

ถอดดีเอ็นเอคนทำงานเพื่อสังคม "วิริยา วิจิตรวาทการ"

ในวัย25ปีเราทำอะไรเพื่อใครได้มากแค่ไหนสำหรับใครคนหนึ่งที่ค้นพบความฝันตั้งแต่7-8 ขวบในวันนี้เธอจึงยังมุ่งมั่นทำงานที่รักซึ่งให้คุณค่าแก่สังคม

“แตว-วิริยา วิจิตรวาทการ” ชื่อของคนรุ่นใหม่วัย 25 ปี หลานสาวของ พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ นักคิด นักพูด นักเขียนคนสำคัญของไทย

เธอคือตัวแทนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ที่เกิดมาในครอบครัวที่ดี มีการศึกษาดี และยังมีทางเลือกมากมายในชีวิต แต่เส้นทางที่เลือกเดิน คือการทำงานที่ให้คุณค่าทั้งแก่ตัวเองและสังคม

“สนใจเรื่องเพื่อสังคมมาตั้งแต่ 7-8 ขวบ”

เธอเปิดบทสนทนาด้วยจุดเริ่มต้นที่น่าตื่นเต้น เมื่อเด็กตัวเล็กๆ ที่เกิดและเติบโตในกรุงเทพ แต่มีความใฝ่ฝันที่อยากเดินทางไปท่องเที่ยวตามต่างจังหวัด เพราะสนใจใคร่รู้ว่าคนอื่นมีชีวิตความเป็นอยู่กันอย่างไร

“โชคดีที่คุณแม่ท่านทำงานด้านสาธารณสุข ได้ลงพื้นที่ เลยขอติดตามท่านไปทำงานด้วย ตอนนั้นมีโอกาสไปเป็นอาสาสมัครหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะจัดขึ้นทุกเดือน เดือนละครั้ง ซึ่งถ้าว่างก็จะพยายามติดตามไปด้วยทุกครั้ง ก็รู้สึกในตอนนั้นว่า สนุกและมีความสุขมาก”

เธอบอก “ความสนุก” ตามประสาเด็ก ที่ได้ไปเห็นโลกใหม่ซึ่งแตกต่าง และ “สุข” เมื่อได้ทำให้คนอื่นมีความสุข ความรู้สึกอิ่มเอมแบบนี้ที่ค่อยๆ ซึมซับติดตัวเด็กหญิงแตว มาตั้งแต่ในตอนนั้น

กิจกรรมสุดโปรดในวัยเด็ก เลยถูกใช้ไปกับการจัดค่ายอาสาร่วมกับเพื่อนๆ ให้กับน้องๆ ตามต่างจังหวัด

“พอจัดให้แล้วมันสนุก และเด็กแต่ละคนเขาก็มีความสุขด้วย เลยมองว่า เราลงแรงแค่นิดเดียว แต่ทำให้ชีวิตเขาได้อะไรที่ดีขึ้นได้ ก็รู้สึกตั้งแต่ตอนนั้นว่า อยากทำงานภาคสังคม”

เธอบอกแรงบันดาลใจ ที่ทำให้ “เด็กหัวดื้อ” ผู้เลือกทำแต่ในสิ่งที่เชื่อ ตัดสินใจไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่ต่างประเทศ โดยเลือกสาขาที่ดูห่างจากกระแสนิยมเสียเหลือเกิน นั่นคือ กระบวนการ การประกอบการสังคม และการบริหารจัดการธุรกิจเพื่อสังคม (Urban Studies, concentration in International Development and Social Entrepreneurship) ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา

“หลายคนมองว่าทำไมไม่เรียนเศรษฐศาสตร์ หรือเรียนอะไรก็ตามที่จะทำให้ชีวิตมีความก้าวหน้ามากกว่านี้ แต่กลับเลือกเรียนภาคสังคม จริงๆ เรียนสายวิทย์มา แต่ก็มองว่ามันไม่ตอบโจทย์ ด้วยความที่เป็นคนคิดเยอะ เลยจะสู้รบกับตัวเองตลอดว่า ถ้าทำอะไรแล้วไม่ได้สร้างประโยชน์ให้ใครมากกว่าแค่ให้ตัวเอง ก็ไม่ใช่ทางที่อยากทำ”

เธอบอกความชัดเจน ของคนที่เชื่อว่า ทุกสิ่งที่ทำควรสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมด้วย ไม่เพียงแต่ตัวเราเท่านั้น
ระหว่างศึกษาอยู่ต่างประเทศ คือเวลาที่มีโอกาสเก็บเกี่ยวความรู้ด้านสังคมอย่างเต็มที่ วิริยาจึงไปลงเรียนคอร์สต่างๆ เพื่อเติมเต็มมิติความคิดให้กว้างขึ้น เช่นลงเรียนที่ “ดี.สคูล” (d.school : Institute of Design at Stanford) สถาบันที่สอนแนวคิด “Design Thinking” ซึ่งเธอย้ำว่า สามารถนำมาปรับใช้ในมิติด้านสังคมได้อย่างดียิ่ง

“Design Thinking เป็นมุมมองของการค้นหาปัญหาที่ถูกต้องในการแก้ปัญหาสังคม เป็นกรอบที่ช่วยเตือนเรา ว่า กำลังตอบโจทย์ของความต้องการของกลุ่มเป้าหมายอยู่หรือไม่ เขาสอนให้รู้จักทำตัวเหมือนเด็ก คือ ตั้งคำถาม อย่าคิดว่าเรารู้ดีแล้ว และถามตอบตลอดเวลา ซึ่งกระบวนการนี้จะถูกย้ำไปเรื่อยๆ กลับไปเช็คกับกลุ่มเป้าหมายตลอดเวลา ซึ่งเมื่อเราเข้าใจความต้องการ และออกแบบตามความต้องการได้ อย่างไรผลประโยชน์ทางสังคมจะต้องได้อย่างแน่นอน”

การเรียนรู้ไม่ได้ลอยอยู่แค่ในโลกทฤษฎี แต่เกิดจากการลงมือทำจริง ในโครงการจริง เช่น ทำเรื่องไมโครไฟแนนซ์ร่วมกับมูลนิธิไนกี้ (Nike Foundation) รวมถึงการได้ทำงานที่ IDEO.org ที่สอนการแก้ปัญหาสังคมโดยใช้กระบวนการออกแบบ เหล่าประสบการณ์จริงแบบนี้เลยเป็นต้นทุนชั้นดีให้กับการทำงานของเธอในวันนี้

แม้แต่การได้เป็น 1 ใน 7 นักศึกษาที่ถูกคัดเลือกจากมหาวิทยาลัยให้ได้รับรางวัล Deans’ Award จากการทำเรื่องแรงงานพม่าในประเทศไทย ก็สะท้อนความ “ไม่ธรรมดา” ของเด็กไทยคนนี้

ระหว่างความสนใจในกระบวนการแก้ปัญหาสังคม เธอก็ให้ความสำคัญเอามากๆ กับแนวคิดกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) หรือการทำให้การแก้ปัญหาสังคมยั่งยืนด้วยแนวคิดในเชิงธุรกิจ เธอเล่าว่า ระหว่างเรียนได้ไปลงเรียน ที่ Business school ซึ่งสอนเกี่ยวกับ นวัตกรรมสังคม (Social Innovation)

“ส่วนใหญ่คอร์สที่เรียนจะเป็นเด็กธุรกิจ อาจารย์ที่สอนก็เป็นทางธุรกิจ แต่ก็ทำให้เราเห็นความสำคัญเกี่ยวกับความยั่งยืน เพราะว่าการที่เข้าใจธุรกิจ ก็คือเข้าใจลูกค้า เข้าใจกลุ่มเป้าหมาย ทำอย่างไรให้ตอบโจทย์ และบริการให้ดีที่สุด ซึ่งคิดว่าคนที่ทำงานด้านสังคมก็ควรจะคิดเช่นเดียวกันนี้”

เธอมองว่า “ความเข้าใจธุรกิจ” สำคัญกับคนทำงานภาคสังคม โดยเฉพาะกิจการเพื่อสังคม ที่จะต้องสร้างสมดุลให้ได้ทั้งผลกระทบสู่สังคมและความยั่งยืนในเชิงธุรกิจ แม้ “มุมมองธุรกิจ” ต้องเป็นรอง “ผลกระโยชน์ทางสังคม” ก็ตามที

“ถ้าเราชอบงานภาคสังคมจริงๆ เราก็จะมีความชอบที่จะทำให้มันยั่งยืนได้ด้วย แต่ถ้าเรายอมแพ้ตั้งแต่คำว่า ‘ยั่งยืน’ แล้ว นั่นหมายความว่า เราไม่ได้ชอบมันจริง” เธอสะกิดความคิด

ด้วยความที่สนใจด้านการศึกษา เพราะเชื่อว่าคือหัวใจของการพัฒนาประเทศ ขณะที่ยังเชื่อเสมอว่าตัวเธอโชคดีเอามากๆ ที่ได้รับการศึกษาที่ดี และได้เห็นมุมมองต่างๆ จากโลกของการศึกษา เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่อยากเข้าใจระบบการศึกษาของไทย และอยากเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบการศึกษา หลังห่างหายจากบริบทของประเทศไทยไปนานถึง 6 ปี เมื่อกลับมา วิริยา จึงเริ่มทำงานภาคการศึกษาอย่างเต็มตัว ในวิทยาลัยโลกคดีศึกษา (School of Global Studies) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเธอได้ร่วมก่อตั้งหลักสูตร ปริญญาตรี สาขาโลกคดีศึกษากับการประกอบการสังคม (Bachelors of Arts in Global Studies and Social Entrepreneurship) ซึ่งนักศึกษาที่เรียนจบจะได้ทักษะการทำงานแก้ปัญหาสังคมในระดับโครงสร้าง และเป็นนักบริหารจัดการธุรกิจเพื่อสังคม โดยเริ่มเปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่แล้ววันนี้

เวลาเดียวกันเธอยังช่วยวิทยาลัยโลกคดีศึกษา สร้างศูนย์นวัตกรรมสังคม (Social Innovation Lab) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “GLab” พร้อมนำความรู้จากการเล่าเรียนและประสบการณ์ที่ผ่านมา จัดทำ workshop โดยใช้กระบวนการออกแบบเพื่อแก้ปัญหาสังคม (Human-Centered Design process) อย่างเช่น การทำกิจกรรมเพื่อเสริมทักษะการทำงานเป็นทีม และการวางแผนการดำเนินชีวิตของตนเองให้กับ หมอและพยาบาล ที่โรงพยาบาล อำเภอ งาว จังหวัดลำปาง หรือการ จัดกระบวนการให้กับผู้บริหารจากประเทศจีน และ นิสิต ชั้นปี 1 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น

“ตอนนี้อายุ 25 ปี ก็ยังเด็กอยู่ และยังอยากทำอะไรอีกเยอะมาก แต่ก็เริ่มคิดมากขึ้น ว่าตัวเองยังขาดทักษะอะไรและต้องเติมอะไรบ้าง เพราะเชื่อว่า สุดท้ายก่อนที่เราจะช่วยเหลือคนอื่นได้ เราต้องมีความรู้และทักษะ อย่าทำงานอย่างเดียวจนลืมเสริมศักยภาพของตัวเอง เพราะในอนาคตถ้าเรามีศักยภาพมากขึ้น เราก็จะช่วยสังคมได้มากขึ้น”

ยังมีความฝันมากมาย ที่ตั้งธงอยู่ในอนาคต เธอบอกว่าอยากตั้งกิจการเพื่อสังคมของตัวเอง แต่คงต้องใช้เวลาไปกับการเรียนรู้เพื่อให้มีความเข้าใจมากกว่านี้ และเมื่อพร้อมก็คงได้เห็นผลผลิตจากความตั้งใจนี้

“สำหรับน้องๆ ขอแนะนำว่าให้ทำในสิ่งที่ชอบ แล้วหลายๆ อย่างจะมาช่วยให้ทำได้เอง น้องๆ ที่เพิ่งเริ่มทำ คิดว่าความเป็นเด็ก เป็นอะไรที่เป็นกำไรชีวิตมาก เพราะทำให้เรามองกว้าง แล้วไม่ถูกตีกรอบ โดยส่วนตัวเชื่อว่า ปัญหาสังคมต้องการมุมมองที่แตกต่าง แปลกใหม่ แล้วก็สร้างสรรค์มากๆ ในการแก้ปัญหา ฉะนั้นเราต้องไม่จำกัดความคิดตัวเอง”

อาจเพราะเป็นหลานปู่ (หลวงวิจิตรวาทการ) เลยมีดีเอ็นเอในเรื่องนี้ติดตัวมาบ้าง แต่อย่างไรที่ผ่านมา วิริยาก็ต้องฟันฝ่าอะไรมามาก โดยเฉพาะการตั้งคำถามจากครอบครัว ว่าจะอยู่ได้อย่างไร จะใช้ชีวิตอย่างไรถ้าต้องมาทำงานแบบนี้ แต่เธอเอาชนะทุกคำถามเหล่านั้น ด้วยการย้ำกับตัวเองตลอดเวลาว่า ...เชื่อมั่นในเส้นทางนี้

“ขอแค่เชื่อว่าจะต้องทำได้ แล้วเราก็จะทำทุกอย่างได้เอง ด้วยความเชื่อมั่นนี้”