สศก.เผยรายได้เกษตรกร 4ปีหนี้พุ่ง5%

สศก.เผยรายได้เกษตรกร 4ปีหนี้พุ่ง5%

สศก.เผยผลสำรวจครัวเรือนเกษตรกรรอบ 4 ปี มีหนี้สินเพิ่มขึ้น 4.84 % ขณะที่รายได้เงินสดขยายตัวเพียง 2% ส่วนรายได้เงินสดสุทธิขยายตัว 0.33 %

การแข่งขันทางด้านการผลิตและการค้าทวีความรุนแรงขึ้น ส่วนหนึ่งเนื่องจากไทยต้องก้าวสู่ยุคของการค้าเสรีตามข้อตกลงขององค์การการค้าโลกหรือดับบลิวทีโอ โดยเฉพาะกลุ่มประชาคมอาเซียนหรือเออีซี ทั้งหมดได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตและความเป็นอยู่ของครัวเรือนเกษตรกร ซึ่งมีถึง 5.8 ล้านครัวเรือน

นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่ารัฐบาลจึงได้เตรียมพร้อมเพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยมีนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรทั้งด้านดิน น้ำ พันธุ์พืช เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อการแข่งขัน การให้ความสำคัญในการส่งเสริมการผลิตการรวมกลุ่ม และการตลาด และสนับสนุนการวิจัยด้านการเกษตรครบวงจร

จากผลการศึกษาภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนเกษตรกรในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา พบรายได้เงินสดของเกษตรกรทั้งประเทศมีอัตราการขยายตัว 2 % จากปีเพาะปลูก 2551/52 - 2554/55 โดยภาคใต้มีอัตราการขยายตัวลดลง 3.81 % เนื่องจากสินค้าหลัก คือยางพาราที่ราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าช่วงปี 2553และ 2554 จะมีราคาเพิ่มสูงขึ้น แต่เป็นเพียงช่วงสั้นๆ ภาคที่มีรายได้เงินสดขยายตัวมากที่สุดคือ ตะวันออกเฉียงเหนือ 7.02 % เนื่องจากราคาข้าว มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนภาคเหนือขยายตัว 3.85 % ภาคกลาง 1.87 %

รายได้เงินสดสุทธิ เกษตรกรทั้งประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.33 % จากปีเพาะปลูก 2551/52 - 2554/55 โดยภาคใต้ลดลง 9.46 % เป็นผลมาจากราคายางพาราตกต่ำ ขณะที่ปัจจัยการผลิตมีราคาสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ส่วนภาคอื่นๆมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือขยายตัวมากที่สุด 14.82 % ภาคกลาง 2.84 % และภาคเหนือ 2.12 % จะเห็นว่าราคาสินค้าเกษตรและต้นทุนการผลิตเป็นปัจจัยสำคัญมีผลต่อรายได้ครัวเรือนเกษตรกร

รายได้สุทธิที่ครัวเรือนเกษตรกร ซึ่งรวมถึงรายได้นอกภาคการเกษตร พบว่าทั้งประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.84 % จากปีเพาะปลูก 2551/52- 2554/55 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือขยายตัวสูงสุด 7.90 % รองลงมาคือ ภาคเหนือ 4.93 % ภาคกลาง 4.92 % ส่วนภาคใต้ลดลง 5.65 % ส่งผลให้ เกษตรกรมีทรัพย์สินปลายปี ทั้งประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.32 % จากปีเพาะปลูก 2551/52- 2554/55

โดยภาคใต้ขยายตัวมากที่สุด 9.75 % ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1.03 % ขณะที่ภาคเหนือ ลดลง 6.22 % กลางลดลง 0.68 % สินทรัพย์เกษตรกรที่สำคัญคือ ที่ดิน เครื่องมือ เครื่องจักร และเงินทุนที่ใช้ประกอบกิจกรรมเกษตร โดยที่ดินเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทรัพย์สินเกษตรมาก

ผลสำรวจยังพบว่าเกษตรกรมีหนี้สินทั้งประเทศเพิ่มขึ้นถึง 4.84 % จากปีเพาะปลูก 2551/52 - 2554/55 หนี้สินที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลมาจากเกษตรกรต้องการใช้เงินทุนทางด้านการเกษตรมากขึ้น เพื่อขยายการผลิตและกิจกรรมอื่นๆ รวมทั้งการเข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายขึ้น จากกองทุนหมู่บ้าน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกษตรกรกู้เงินมาลงทุนกิจกรรมของครัวเรือน โดยภาคใต้มีอัตราการขยายตัวของหนี้สินเพิ่มขึ้นมากที่สุด 8.92 % รองลงมาคือภาคเหนือ 8.29 % ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3.97 % ในขณะที่ภาคกลางมีอัตราการขยายตัวลดลง 0.14 %