Push the limit ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ

Push the limit ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ

ตัวอย่างของผู้หญิงเก่งที่ไม่ลืมคำว่า 'ความดี' และ 'ประเทศชาติ'

หากเอ่ยถึงนักวิทยาศาสตร์หญิงชั้นนำของเมืองไทย ลำดับต้นๆ ต้องมีชื่อของ ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ


เธอผู้นี้ไม่ได้โดดเด่นด้วยผลงานสร้างชื่อมากมายในประเทศเท่านั้น แต่เธอยังเป็นนักวิทย์หญิงไทยที่ถูกกล่าวขานและได้รับการยอมรับในระดับเวทีโลก โดยในปี 2010 เป็นคนเอเชียคนแรกและคนเดียวที่ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานร่วมองค์การเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นรุ่นใหม่ของโลก (Global Young Academy: GYA) ต่อมาได้เป็นคนไทยและคนใน Southeast Asia คนแรก ที่ได้รับทุนวิจัย Marie Curie Incoming International Fellowships และเป็นคนเอเชียเพียงคนเดียวที่ได้รับเชิญจากตัวแทนองค์ราชินีอังกฤษในประเทศแคนาดา เพื่อเข้าร่วมเสวนาโต๊ะกลม


ล่าสุดได้รับการเสนอชื่อและถูกคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้นำรุ่นใหม่ของโลกปี 2013 (Young Global Leader 2013) โดย World Economic Forum โดยรางวัลนี้คัดสรรจากบุคคลหลากหลายสาขาวิขาชีพที่มีอายุไม่เกิน 40 ปี ซึ่งเธอได้รับเลือกในฐานะนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่เป็นผู้นำในอนาคต


"การได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน Young Global Leader ถือเป็นโอกาสที่ดีมาก เพราะว่าได้รู้จักพบปะผู้คนที่เป็นผู้นำในอนาคตของแต่ละประเทศ ได้เห็นวิสัยทัศน์ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ และเป็นความภูมิใจที่เราในฐานะนักวิทยาศาสตร์ไทยได้ไปร่วมตรงนั้น"


ย้อนหลังกลับไป เส้นทางสายวิทยาศาสตร์เริ่มต้นจากการสอบได้ทุนรัฐบาลตามความต้องการของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรี โท เอก สาขาวิศวกรรมเคมี โดยปริญญาตรีเธอได้ศึกษาที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (มหาวิทยาลัยเดียวกับ บารัค โอบามา) และจบการศึกษาระดับดีเยี่ยมจนเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับการจารึกชื่อเพื่อเป็นเกียรติประวัติบนป้ายจารึกของสาขาวิศวกรรมเคมีที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียอีกด้วย


ด้วยประวัติการศึกษาที่ดีเยี่ยม เธอจึงได้รับทุนการศึกษาในระดับปริญญาโท-เอก จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและจบเป็นด็อกเตอร์สาวสวยเมื่ออายุเพียง 26 ปี ปัจจุบัน ดร.นิศรา เป็นหัวหน้าห้องปฏิบัติการไมโครอะเรย์แบบครบวงจร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีผลงานตีพิมพ์ในระดับนานาชาติมากกว่า 30 เรื่อง และรางวัลในเมืองไทยอีกมากมาย ซึ่งเบื้องหลังความสำเร็จเช่นวันนี้ เธอบอกว่าไม่ใช่เพราะความเก่ง แต่มาจากความพยายามและความชัดเจนในเป้าหมาย


ล่าสุดนอกจากผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 18 ที่ผ่านมา เธอได้เปิดตัวหนังสือ “Push the Limit... เก่งได้ ไร้ขีดจำกัด” หนังสือที่บอกเล่าเคล็ดลับที่ทำให้ความสำเร็จไม่เคยเกินเอื้อมผ่านเรื่องราวประสบการณ์ชีวิตของตัวเอง

-คิดว่าอะไรที่ทำให้ก้าวมาถึงจุดนี้


เส้นทางการดำเนินชีวิตและเคล็ดลับที่นำไปสู่ความสำเร็จนั้นอาจสรุปได้จาก 4 หลักใหญ่ๆ นั่นคือ เลือกในสิ่งที่รัก ประจักษ์ในเป้าหมาย ค้นหาแรงบันดาลใจ และกัดไว้ไม่ปล่อยมัน ฟังเผินๆ อาจดูง่าย ใครๆ ก็รู้อยู่แล้ว แต่ในทุกหัวข้อต่างมีรายละเอียด อย่างเช่น การเลือกในสิ่งที่รัก สำหรับบางคนอาจง่ายมากเลย แต่บางคนอาจจะไม่ใช่ เพราะบางทีสิ่งที่เรารักจริงๆ มันอาจถูกบดบังด้วยกระแสสังคม เช่น เรามักโดนกรอกหูมาตลอดเลยว่า อยากเก่งต้องเรียนสายวิทย์นะ หรือต้องเรียนวิชานี้นะถึงจะดี ถึงจะมีอาชีพที่มั่นคง ซึ่งมันไม่ใช่ แล้วคุณจะเลือกสิ่งที่คุณรักจริงๆ ได้อย่างไรถ้าเรายังถูกบดบังการตัดสินใจด้วยกระแสสังคมกันอยู่


ดังนั้นสังคมก็ไม่ควรมา label ว่า คนที่เรียนวิทย์เก่งกว่าคนที่เรียนศิลป์ ควรปล่อยให้เด็กตัดสินใจเองโดยการให้เขาได้เรียนรู้ทุกวิชา พยายามไม่ตั้งแง่กับวิชาอะไรเลยจะได้เปิดใจเลือกในศาสตร์ที่ตัวเองรัก บางครั้งเราเคยเจอเพื่อนๆ ตอนเด็กถูกใส่หัวว่าคณิตศาสตร์เป็นเรื่องยาก พอเขาได้ถูกกรอกหูเช่นนั้นเขาก็เริ่มกลัวคณิตศาสตร์ เริ่มตั้งแง่ตั้งแต่ก่อนจะเรียนเสียอีก และเมื่อพอเรียนได้ไม่ดีก็เอาพวกคำเหล่านี้มาเป็นข้อแก้ตัวเวลาทำมันไม่ดี เช่น ทุกคนบอกคณิตศาสตร์ยากเราสอบตกได้ ไม่แปลก ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง


ดังนั้นทุกคนควรต้องเริ่มต้นด้วยการเปิดใจ อย่ารีบตั้งแง่ว่าคนที่ประสบความสำเร็จต้องเรียนแต่วิทยาศาสตร์ ไม่สนใจภาษาหรือสังคมเลย เราต้องเปิดใจและเปิดรับทุกๆ อย่างพร้อมๆ กัน ถึงจะวัดได้ว่าเรารักอะไรจริงๆ เพราะบางสิ่งบางอย่างคุณทำได้ดี แต่คุณไม่ได้รักมัน แต่คุณกับถูกสังคมกดดันให้คุณเลือกไปทางที่คุณไม่รักเพียงเพราะเห็นว่าคุณทำได้ดีเท่านั้น


กระแสสังคมเป็นสิ่งสำคัญมากนะ เพราะกระแสสังคมมันจะปิดบังหัวใจเด็กๆ ทำให้เด็กๆ ไม่ได้ยินเสียงหัวใจของตัวเอง แต่ละวันได้ยินจากสื่อ จากพ่อแม่ผู้ปกครอง บางครั้งจึงทำให้เสียงของสังคมมันดังกว่าหัวใจของเรามาก เพราะหัวใจเราดวงเล็กๆ ดวงเดียว สิ่งที่อยากบอกสังคมและผู้ปกครองคือ ทุกอาชีพถ้าคุณไม่เก่งจริง คุณไม่รุ่ง แต่คุณจะเก่งจริงได้เมื่อคุณรัก เมื่อคุณรัก คุณจะทุ่มเท ชอบ ฝึกฝนจนเก่ง อย่างน้องเมย์ หรือ รัชนก อินทนนท์ แชมป์แบดมินตัน น้องไม่ได้เกิดมาจากครอบครัวที่พร้อมทุกอย่าง แต่น้องรักที่จะเล่นแบดมินตัน ด้วยความชอบ แล้วน้องก็ทำ ไม่ย่อท้อ และก็สร้างชื่อเสียงให้ตัวเอง ครอบครัว และประเทศชาติ นี่คือตัวอย่างที่ดีจากการที่น้องเลือกในสิ่งที่รักแล้วทำมัน

-แล้วคุณค้นหาสิ่งที่รักเจอได้อย่างไร


สิ่งสำคัญที่ทำให้เราค้นพบสิ่งที่รักได้เร็ว เพราะเป็นคนเปิดใจและเปิดโอกาสให้ตัวเองได้สัมผัสทุกอย่าง เปิดใจเรียนทุกวิชา เข้าร่วมทุกกิจกรรม ทดลองทำทุกอย่างให้ได้รู้ว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบอะไร ซึ่งเรียนไปสักพักก็เริ่มรู้ว่าเราชอบเรียนคณิตศาสตร์ และก็เป็นเหตุผลที่ทำให้เราเริ่มชอบวิทยาศาสตร์ กระทั่งช่วงที่เรียนมัธยมศึกษาปีที่ 5 สอบได้คณะแพทยศาสตร์ และสอบได้ทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์และทุนกระทรวงต่างประเทศพร้อมๆ กัน เป็นทางเดินสามแพร่ง ระหว่างการเป็นหมอ การเป็นนักวิทยาศาสตร์และการเป็นนักการฑูต ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็ช่วยเราอย่างมากในการทำการบ้าน นั่นคือการหาข้อมูลร่วมกันว่าการเรียนแต่ละสาขาต่างกันอย่างไรและอาชีพที่ต้องทำหลังจบการศึกษานั้นเป็นอย่างไร ซึ่งด้วยความที่ชอบเรียนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ทุกสาขาจึงตัดสินใจรับทุนกระทรวงวิทย์ฯไปเรียนวิศวกรรมเคมีเพราะ เรียนแพทย์ได้เรียนแค่ชีววิทยาและเคมีเป็นหลัก ส่วนเศรษฐศาสตร์จากทุนกระทรวงต่างประเทศนั้นก็จะเน้นแค่คณิตศาสตร์ แต่เราชอบคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ทุกสาขามากกว่า จึงตัดสินใจทิ้งคณะแพทย์และทุนกระทรวงต่างประเทศไป

-แต่สำหรับเด็กทั่วไปไม่ใช่เรื่องง่ายเลย?


โลกปัจจุบัน เราถูกสังคมหล่อหลอม เสียงคนอื่นดังกว่าเสียงหัวใจของเราเสมอ เราต้องพยายามอยู่ในโลกที่ฟังเสียงหัวใจของตัวเอง พยายามสื่อสารให้ครอบครัวเข้าใจ และครอบครัวก็ต้องเปิดใจ เปิดโอกาสให้ลูกได้ทดลองทำในสิ่งที่เขารัก ส่วนตัวแล้วเข้าใจหัวอกของคนเป็นพ่อแม่นะคะ บางครั้งพ่อแม่อาจจะรู้สึกว่าการเรียนบางสาขาอาจไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ เช่นอาจมีความเชื่อว่าเรียนเรียนศิลปะแล้วจะไส้แห้ง ซึ่งพ่อแม่สามารถสื่อสารความกังวลเหล่านี้ให้ลูกเข้าใจได้ ต้องให้ข้อมูลเหล่านั้นกับเขา เช่นว่ามันมีโอกาสนะ ถ้าคุณไม่ประสบความสำเร็จ คุณจะไม่มีงานทำ อาจจะไม่มีงานประจำให้เลือกมากนัก ถ้าหนูอยากเรียนมันอาจมีปัญหาตรงนี้ แล้วหนูจะทำอย่างไร


เราให้ข้อมูลเขาได้ แต่ไม่ใช่ปิดกั้นหรือห้ามโดยไม่ให้ข้อมูลใดๆ เลย แต่สุดท้ายเขาต้องตัดสินใจเอง ส่วนตัวน้องๆ เองก็ต้องเปิดรับฟังคนอื่นด้วย ต้องฟังว่าเขาเตือนเรื่องอะไร ห่วงอะไร เพราะว่าไม่มีใครรักเราเท่าครอบครัวหรอก แล้วถ้าเราพิจารณาแล้วว่าเราสามารถยอมรับกับความท้าทายของอาชีพนั้นๆได้ เราก็ต้องรับผิดชอบชีวิตของเรา แต่ปัญหาความขัดแย้งทางความคิดในครอบครัวที่เกิดขึ้นบ่อยๆ เป็นเพราะเราสื่อสารกันน้อย เราเข้าเว็บ ดูยูทูป มีมั้ยที่นั่งเฉยๆ คุยกันบนโต๊ะกินข้าวในครอบครัว แทบไม่มีเลยตอนนี้


จริงๆ อยากจะฝากสถาบันครอบครัวว่า คุณมีลูกมีหลาน นี่คืออนาคตของชาติ อนาคตบ้านเมืองอยู่ในมือคุณนะ สิ่งที่คุณทำได้คือให้ข้อมูลเขาเต็มที่แต่ไม่ได้กดดัน ให้เขาเลือกเอง แต่ถ้าให้ข้อมูลไม่ครบ เขาอาจจะเลือกผิด เพราะฉะนั้นพาไปเถอะ open house เสียเวลาแค่ 1 วัน มันอาจจะเปลี่ยนชีวิตและมุมมองเขาเลยก็ได้ เช่นคุณอาจไม่เคยเข้าใจเลยว่านักวิทยาศาสตร์เป็นอย่างไร แค่คุณลองไป มันอาจจะไม่ใช่แบบที่คุณคิดไว้เลย นี่คือสิ่งที่อยากบอกสังคมว่าให้ข้อมูลเขาเถอะ


ส่วนของตัวเองก็เช่นเดียวกัน เราต้องยอมรับนะว่าถ้าเลือกรับทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปเรียนแล้ว กลับมาต้องทำงานให้กับประเทศชาติ หรือถ้าคุณเลือกเรียนแพทย์ คุณต้องรับใช้ประชาชน คุณต้องทำงานหนักนะ ทุกอย่างนี้ต้องมีข้อมูล ข้อดีและข้อเสีย แล้วเราก็ต้องประมวลและตัดสินใจเลือกเอาเอง

-นอกจากเคล็ดลับความสำเร็จแล้ว เคยเจออุปสรรคบ้างไหม แล้วมีวิธีการจัดการกับอุปสรรคอย่างไร


การเลือกในสิ่งที่รักทำให้เราฝ่าอุปสรรคมาได้ตลอด อย่างตอนไปเรียนอเมริกาปีแรก พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เรื่องเลย พูดตรงๆ นะโทรศัพท์มาบอกแม่ว่าจะสละทุนและกลับมาสอบเป็นหมอใหม่ แต่คุณแม่ถามว่า แล้วตอนเลือกใครเลือกล่ะ ซึ่งมันก็ย้อนกลับมาว่า เมื่อเราเลือกด้วยความรัก อย่าลืมว่าเราชอบอันนี้ และนี่เป็นแค่อุปสรรคซึ่งเราจะก้าวข้ามไปได้ อุปสรรคจะทำให้เราเข้มแข็ง มันแค่เครื่องมือที่ทำให้เรามีวันนี้ ถ้าไม่มีอุปสรรค เราจะไม่เก่งและไม่แกร่ง


เพราะฉะนั้นเวลามีอุปสรรคจะบอกทุกคนเลยว่า โอบกอดอุปสรรคเอาไว้ เพราะอุปสรรคทำให้เราเป็นคนพิเศษ คนเราจะเก่งพิเศษหรือดีพิเศษได้นั้น มักจะต้องมีอุปสรรคมาเป็นเครื่องพิสูจน์ บางครั้งในการทำดี รู้สึกว่าโห...เราจะทำดีสักอย่างหนึ่งทำไมมีมารผจญเยอะเหลือเกิน พวกมารผจญทั้งหลายเหล่านี้ มันทำให้เรามีคุณค่า เราผ่านพวกนี้ไปได้เราจะเข้มแข็ง แกร่งขึ้น


ในหนังสือจะเห็นว่าให้ความสำคัญกับเรื่องกัดไม่ปล่อยมาก เมื่อคุณมีอุปสรรคอย่าย่อท้อ เพราะสำหรับตัวเอง คนสองคนต่างกันไม่ไช่ด้วยมันสมองนะ สมองทุกคนมีพอๆ กัน แล้วแต่ว่าคุณจะใช้สมองนั้นไปสู่ความสำเร็จอย่างไร คนบางคนฉลาดมากเลย แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ เพราะหนักไม่เอา เบาไม่สู้ คือไม่มี commitment ในเป้าหมาย เจอปัญหานิดนึงก็ท้อไปแล้วก็เปลี่ยนงาน เจองานใหม่ผิดหวังนิดนึงก็เปลี่ยนอีก


คือไม่ได้บอกว่าการเปลี่ยนงานแย่นะคะ แต่บางอย่างต้องบอกว่า ไอ้งานที่บอกว่าไม่ใช่ มันไม่ใช่จริงๆ หรือคุณยังไม่สู้กับมัน ทุกอย่างในชีวิตมีอุปสรรค ทั้งเรื่องงาน เรื่องรัก เรื่องใช้ชีวิต ทุกอย่างมีอุปสรรคหมดเลย แต่คนมักคิดว่าตัวเองเจออุปสรรคมากกว่าคนอื่น ชอบคืดว่าคนอื่นไม่เจออุปสรรค จริงๆ แล้วไม่ใช่ เขาเจอกันทุกคน แต่เขาไม่ได้เอาอุปสรรคมาเล่าให้ฟัง คนที่ประสบความสำเร็จเขาคิดว่าอุปสรรคเป็นแค่ฟืน เพิ่มไฟให้เขาเดินหน้า คนที่ประสบความสำเร็จมักจะโอบกอดอุปสรรค บางครั้งมันทำใจยาก แต่เราต้องคิดว่าทุกครั้งที่เราก้าวผ่านอุปสรรคมาได้ เราจะเก่งขึ้นเป็นดับเบิ้ลเลย จะเก่งขึ้นแบบที่เรียกว่าอัตราเร่งสูงเลย แต่ว่าถ้าไม่มีอุปสรรคเราก็จะทำงานไปเรื่อยๆ บางครั้งความริเริ่มสร้างสรรค์มันก็ไม่เกิด บางครั้งต้องขอบคุณอุปสรรคที่ผ่านเข้ามาในชีวิตด้วยซ้ำ

-ทราบมาว่านอกจากการเป็นนักวิจัยแล้ว ยังทำงานจิตอาสาในนาม TYSA (Thai Young Scientists Academy) ช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้กับนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ด้วย?


เราได้รับโอกาสเยอะมากในชีวิต ได้รับโอกาสทางการศึกษา ทำให้มีประสบการณ์ชีวิตต่างๆมากมาย โอกาสพวกนี้มันจะตายไปถ้าไม่ส่งต่อไปให้คนอื่น ซึ่งก็มีคนที่คิดเหมือนกันอยากส่งต่อประสบการณ์ แชร์ประสบการณ์และเคล็ดลับการฝ่าฝันอุปสรรคให้กับรุ่นน้องและคนอื่นๆ พวกเราก็พยายามเป็นพี่เลี้ยงและแชร์ประสบการณ์และเคล็ดลับเหล่านี้ให้กับนักเรียนทุนที่จบใหม่เพิ่งเข้ามาทำงาน เพื่อให้เขาไม่ท้อ เพราะงานด้านนี้ถือเป็นงานท้าทาย และประเทศไทยไม่ได้ลงทุนกับงานด้านวิทยาศาสตร์มากพอ เมื่อกลับมาแล้วมันอาจจะมีการท้อ หรืออาจไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร นั่นเท่ากับคุณกำลังสูญเสียทรัพยากรบุคคลของประเทศชาติ เราจึงพยายามผลักดันให้เขาประสบความสำเร็จ ซึ่งเราก็ช่วยเป็นโค้ช สร้างเครือข่ายให้เขา เขาจะได้ไม่ท้อ แล้วเราก็จะมีคนที่ทำงานดีๆ ให้กับสังคมมากขึ้น


ดังนั้นตอนนี้นอกจากทำงานวิจัยที่เรียกว่าเป็นอาชีพหลักที่เรารักและเป็นงานเต็มเวลาแล้ว ถ้ามีเวลาก็อยากจะเจียดเวลาเพื่อการศึกษา อยากช่วยให้ประเทศไทยเป็นสังคมที่มีรากฐานของความรู้ หรือ Knowledge-based society ซึ่งนั้นไม่ใช่แค่กาทำวิจัยและตีพิมพ์ผลงาน แต่ต้องช่วยเพิ่มบุคลากรทางวิทยาศาสตร์ เพิ่มความรู้ให้กับประชาชน เป็นสิ่งที่เราต้องพยายามทำให้ได้

-คิดว่าสังคมไทยให้ความสำคัญกับงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์เพียงพอหรือยัง?


ถึงแม้ว่าปัจจุบันสังคมไทยให้ความสำคัญกับความรู้และงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น แต่ยังไม่เพียงพออย่างแน่นอน ปัญหาแรกคือการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกัน เราแบ่งให้เด็กเรียนสายวิทย์สายศิลป์เร็วมากๆ จนน้องๆ ที่เรียนสายศิลป์ตอนม. ปลายไม่ได้มีโอกาสที่จะเรียนพื้นฐานวิทยาศาสตร์เพียงพอซึ่งอาจทำให้ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อวิทยาศาสตร์ และอีกประการหนึ่งที่สำคัญยิ่งคือการขาดการสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่ดี นั่นหมายถึงทั้งนักวิทยาศาสตร์และสื่อต้องร่วมกันรณรงค์เรื่องนี้ นักวิทยาศาสตร์เองต้องตระหนักว่าการสื่อสารให้สังคมเข้าใจว่าที่ทำวิจัยกันอยู่นั้นจะส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างไร และสื่อเองก็ต้องให้พื้นที่กับนักวิทยาศาสตร์และให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์อีกด้วย เชื่อว่าถ้าทุกภาคส่วนร่วมกันที่จะผลักดันให้บ้านเมืองของเราเป็นสังคมแห่งปัญญาที่ใช้เหตุและผล ใช้ตรรกะในการแก้ปัญหา บ้านเมืองของเราจะเจริญก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด

โดยส่วนตัวเชื่ออย่างยิ่งว่าเมื่อไหร่ประชาชนให้ความสำคัญกับความรู้และงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ขนาดที่ใช้นโยบายในการสนับสนุนการศึกษาและวิทยาศาสตร์ของพรรคการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินว่าจะเลือกใครเข้าสภาไปบริหารประเทศ เมื่อนั้นเราถึงจะเรียกว่าสังคมให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์

-ในฐานะที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้หญิงไทยเพียงไม่กี่คนในเวทีระดับนานาชาติ รู้สึกอย่างไร


โดยส่วนตัวไม่เคยคิดว่าเราเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย คิดแค่ว่าเราเป็นคนหนึ่งคนที่มีศักยภาพเท่าเทียบกับคนอื่น ดังนั้นเมื่อต้องไปทำงานอะไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือต่างประเทศก็จะทำอย่างเต็มที่ ไม่เคยคิดว่า การเป็นผู้หญิงนั้นเป็นจุดอ่อนของเรา หรือเอาความเป็นผู้หญิงมาเป็นจุดขาย ในทางตรงกันข้ามการที่เราเป็นผู้หญิงไทยที่ได้มีโอกาสในการไปทำงานกับนานาชาติและเขาให้การยอมรับนั้นเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจยิ่ง ไม่ได้ภูมิใจที่เป็นนิศรา แต่ภูมิใจที่เขาให้การยอมรับกับคนที่มาจากประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย เขายอมรับผู้หญิงไทย เราจึงต้องมุ่งมั้นตั้งใจทำทุกงานให้ประสบความสำเร็จเพื่อหวังว่านานาชาติจะมีทัศนคติที่ดีกับผู้หญิงไทยและคนไทยค่ะ

-อะไรคือคติที่ยึดถือในการทำงานและการดำเนินชีวิต


Push the Limit คือคติอันสำคัญ เราพยายามใช้ศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่และพยายามเพิ่มพูนศักยภาพให้ดีขึ้นตลอด โดยส่วนตัวแล้วอยากใช้ศักยภาพของเราทั้งหมดให้เป็นคนดีและคนเก่ง เพื่อทำงานคืนกลับสู่สังคม ไม่ว่าจะในฐานะนักวิทยาศาตร์ที่ต้องพัฒนาประเทศด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมหรือในฐานะประชาชนที่ต้องพยายามแทนคุณแผ่นดิน

-คิดว่านักวิทยาศาสตร์ควรแสดงบทบาทในทางสังคมมากน้อยแค่ไหน


นักวิทยาศาสตร์ก็เป็นสัตว์สังคม เป็นส่วนหนึ่งที่อยากเห็นสังคมขับเคลื่อนไปในทางที่ดี พวกเรามีเจตนารมณ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันคือพยายามวิจัยและพัฒนาเพื่อความเจริญก้าวหน้าของสังคม นักวิทยาศาสตร์นั้นไม่เพียงแต่สนใจปัญหาสังคม แต่พวกเราทำมากกว่าแค่คำว่าสนใจ เพราะพวกเราเอาปัญหาสังคมมาแก้กันจริงๆ บทบาทที่เราทำกันทุกวันอย่างหามรุ่งหามค่ำ คือการนำพาวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีมาพัฒนาชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปากท้องของพี่น้องชาวไทย เรื่องความมั่นคงและมั่งคั่งของชาติ อาทิเช่น การเข้าไปช่วยอุตสาหกรรมต่างๆ ของประเทศโดยการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับนานาประเทศ แต่ถ้าถามเรื่องการเมือง ก็ต้องถือว่านักวิทยาศาตร์เป็นประชาชนคนหนึ่งของประเทศซึ่งมีหน้าที่ที่จะต้องมีส่วนร่วมในการเมืองในฐานะประชาชนไทยที่ดี

-กับผลงานหนังสือเล่มแรก อะไรคือแรงบันดาลใจให้หันมาจับปากกา


จริงๆ เกิดมาไม่เคยคิดว่าจะเขียนหนังสือเลยนะ เพราะเราก็ไม่คิดว่าเราเป็นคนเก่งเหนือกว่าใครเลย แต่พอได้มีโอกาสบรรยาย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้น้องๆนักเรียน นักศึกษา คุณครูอาจารย์ พ่อแม่ผู้ปกครอง ก็เริ่มมีน้องๆ ผู้ปกครอง หรือแม้แต่เพื่อนร่วมงานเข้ามาพูดกับเราเสมอว่า การที่ไปบรรยายนี้ดีเพราะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับพวกเขาได้ แต่กลุ่มคนที่มีโอกาสได้ฟังยังเป็นกลุ่มเล็กๆ และอีกอย่างหนึ่งคือในช่วงแรกที่คนฟังได้ฟังอาจยังฮึกเหิม มุ่งมั่น แต่พอผ่านไปสัก 3 ชั่วโมง แรงเริ่มตก ลืมไปแล้วว่าสิ่งที่เราสื่อสารคืออะไร พูดอะไร


หลายๆ คนจึงอยากให้เราทำเป็นสื่อถาวรที่จับต้องไป เพราะว่าวันหนึ่งถ้าพวกเขาหมดแรงไป พวกเขาก็ยังคงหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านได้ สำหรับบางคนอาจจะมีแค่บทเดียวที่ทำให้เขาฮึกเหิม มีแรงมาใหม่ เขาก็กลับไปอ่านแค่บทนั้นก็ได้ มันก็เหมือนเรานะ เวลาอ่านหนังสือ บางทีหนังสือทั้งเล่ม อาจจะมีหน้าหนึ่งที่พอเราอ่านแล้วเปลี่ยนความคิด พลิกชีวิตเราได้เลย ตอนนั้นก็คิดอยู่นานเหมือนกัน พอมีแรงกระตุ้นมากๆ เข้า จนเรารู้สึกว่าถ้าชีวิตธรรมดาๆ ของเรา ซึ่งไม่ได้เกิดมาในครอบครัวที่ร่ำรวย หรือเพียบพร้อมมากมาย เพียงแต่ใช้ชีวิตอย่างมีความหวัง มุ่งมั่นอย่างมีหลักการ และตั้งมั่นกับเป้าหมายเท่านั้น หากประสบการณ์การใช้ชีวิตของเราจะสามารถนำพาเยาวชน หรือบุคคลอื่นๆ ไปสู่เส้นทางความสำเร็จได้ ก็จะเป็นความยินดีอย่างมาก เลยได้ตกลงที่จะเขียนหนังสือขึ้นมา


อีกเหตุผลหนึ่งคือ อยากตอบแทนคุณพ่อคุณแม่ เพราะหลายๆ อย่างเกิดจากการที่คุณพ่อคุณแม่พิถีพิถันเลี้ยงดูเรามา คำพูด คำสั่งสอนๆ หลายอย่าง มาจนถึงวันนี้เรายังจำได้เลยนะ บางอย่างก็เป็นเคล็ดลับการเลี้ยงดูที่อาจช่วยผู้ปกครองท่านอื่นๆ ได้

-คิดว่าคนที่อ่านหนังสือเล่มนี้จะได้ประโยชน์อย่างไรบ้าง


คิดว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นแนวทาง และบอกได้ว่าไม่ว่าคุณจะเป็นใคร คุณก็ประสบความสำเร็จได้ อยากประสบความสำเร็จ เรามีเคล็ดลับที่ใช้จริง เป็นประสบการณ์จริง ไม่กั๊กเลย เพื่อว่าคนอ่านอาจจะเลือกไปใช้ให้เหมาะสมกับตัวเอง หรืออาจจะเลือกบางข้อไปประยุกต์ใช้กับบางสถานการณ์


อยากบอกว่าทุกอย่างไร้ขีดจำกัด ถ้าคุณมุ่งมั่นตั้งใจ ถ้าเราอยากพัฒนาประเทศชาติ เราต้องพัฒนาบุคคลากรที่เป็นคนดีและคนเก่ง ถ้าเก่งอย่างเดียวประเทศชาติจะไม่ไป ต้องเป็นคนดีและคนเก่งประเทศชาติถึงจะเจริญ ถ้าหนังสือเล่มนี้จะช่วยประเทศอันเป็นที่รักของเรามีคนดี คนเก่งเพิ่มขึ้นมาแม้จะแค่คนเดียวก็ดีใจมากแล้ว ที่ได้เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา


สุดท้ายก็หวังว่าหนังสือเล่มนี้นอกจากจะช่วยให้คุณประสบความสำเร็จแล้ว จะเป็นแรงบันดาลใจให้คุณทำความดี การทำความดีไม่ยากอย่างที่คิดและการทำความดีจะสร้างความปิติให้กับทุกคน ประเทศชาติจะเต็มไปด้วยความสุขและความเจริญ