ข่าวดี!ลดภาษีบุคคลธรรมดา5-50%

ข่าวดี!ลดภาษีบุคคลธรรมดา5-50%

คลังปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดา ลดภาษี 5-50% ตามช่วงรายได้ มีผล 1 ม.ค. ระบุอัตราใหม่เน้นช่วยผู้มีรายได้น้อย คาดสูญเสียรายได้ 2.7 หมื่นล้าน

กระทรวงการคลัง ประกาศโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดาใหม่ ส่งผลให้ผู้มีรายได้เสียภาษีลดลง โดยผู้มีเงินเดือน 24,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษี ในปีภาษีนี้ ซึ่งจะมีผลตั้งแต่ 1 ม.ค. 2557

นางเบญจา หลุยเจริญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อปรับปรุงอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับการคำนวณเงินได้สุทธิจาก 5 ขั้นอัตรา เป็น 7 ขั้นอัตรา และลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากอัตราสูงสุด 37% เหลือ 35% โดยมีผลบังคับใช้สำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี 2556 และปีภาษี 2557 ซึ่งจะทำให้ผู้เสียภาษี เสียภาษีลดลง 5-50% โดยจะเป็นอัตราที่ใช้สำหรับยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2557 เป็นต้นไป

นางเบญจา กล่าวว่า อัตราภาษีที่ซอยย่อยเป็น 7 ขั้น เป็นไปตามที่ ครม.ได้เห็นชอบการปรับปรุงอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปแล้ว แต่ในขั้นตอนการบังคับใช้ยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอไปยังรัฐสภายังไม่ได้มีการพิจารณาจึงต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกาก่อน เพื่อให้มีผลในปีภาษี 2556

คาดว่ารัฐบาลจะจัดเก็บรายได้ลดลงประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท แต่ถือว่าเป็นประโยชน์กับผู้เสียภาษีเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ ในงบประมาณปีที่ผ่านมา กรมสรรพากรจัดเก็บเงินได้บุคคลธรรมดา 299,034 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32,831 ล้านบาท หรือ 12.3% จากปี 2554 ที่จัดเก็บได้ 266,203 ล้านบาท

นางเบญจา กล่าวว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ จะบังคับใช้เฉพาะเรื่องของการปรับปรุงอัตราโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับเรื่องของการขยายวงเงินค่าใช้จ่ายส่วนตัว จาก 60,000 บาท เป็น 1.2 แสนบาท ส่วนการพิจารณาลดภาษีเงินได้คณะบุคคล ต้องรอการพิจารณา พ.ร.บ.ในรัฐสภาตามขั้นตอนก่อน

"การปรับโครงสร้างอัตราภาษีครั้งนี้ถือว่าเป็นการทำประโยชน์ให้กับคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่ให้ประโยชน์กับคนรวย โดยคนที่มีรายได้เดือนละ 30,000 บาท หรือปีละ 360,000 แสนบาท จะเสียภาษีลดลง 50% คือ จากเดิมที่เคยเสียภาษี 12,000 บาท อัตราใหม่จะเสียภาษีเพียง 6,000 บาทเท่านั้น ซึ่งมีผู้เสียภาษีในระดับนี้ประมาณ 1.4 ล้านคน"

ขณะที่คนที่มีรายได้เกินกว่าปีละ 4 ล้านบาท จะเสียภาษีลดลงเฉลี่ย 5% เท่านั้น คือจากเดิมต้องเสียภาษีประมาณ 1.075 ล้านบาท อัตราใหม่จะเสียภาษีประมาณ 1.003 ล้านบาท โดยคนกลุ่มนี้มีประมาณ 20,000 ราย” นางเบญจา กล่าว

ด้าน นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.ได้มีการพูดคุยกันในการประชุม ครม.ว่าการที่ช่วยให้ประชาชนเสียภาษีเงินได้ลดลง แม้รัฐบาลจะจัดเก็บรายได้ส่วนนี้ได้น้อยลง แต่คาดว่าจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น และรัฐบาลอาจสามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้น

ลดภาษีบุคคลกระตุ้นจีดีพี 0.1%

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สศค.ได้คำนวณผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) หลังการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาว่า จะมีผลกระทบต่อการปรับขึ้นของจีดีพีประมาณ 0.1% โดยคิดจากกรณีฐานรายได้ของบุคคลธรรมดา ที่จะเพิ่มขึ้นจากโครงสร้างดังกล่าวที่จะมีจำนวนประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

"ทุกๆ 1% ของรายได้ที่เพิ่มขึ้น จะมีการใช้จ่ายราว 0.6% ส่วนที่เหลือ 0.4% จะเป็นเงินออม เพราะผู้ที่มีรายได้สูงนั้น เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้นมักจะนำไปออมมากกว่าการใช้จ่าย"

ก่อนหน้านี้ กรมสรรพากรได้ประเมินว่า การปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานี้มีผลกระทบต่อรายได้ภาษีอากรประมาณ 25,000 ล้านบาท แต่จะทำให้รายได้สุทธิของผู้เสียภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการบริโภค ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและฐานภาษีในระยะยาว รวมทั้ง ทำให้อัตราภาษีของไทยเป็นที่จูงใจและแข่งขันกับต่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น รองรับการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ทหารไทยหั่นจีดีพีปีนี้โตต่ำ 3%

การลดภาษีในครั้งนี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจปีหน้า แต่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังชะลอตัว โดยหลังจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับลดประมาณการปีนี้ เหลือ 3% และ ปีหน้า 4-5%

การปรับลดประมาณการเศรษฐกิจของ สศช. ส่งผลให้ฝ่ายวิจัยของสถาบันการเงินเริ่มปรับประมาณการเศรษฐกิจใหม่เช่นเดียวกัน

นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยเตรียมปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ใหม่ หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์ ส่งผลให้ต้องมีการทบทวนการปรับประมาณการจีดีพีของปีนี้ใหม่เป็นรอบที่ 4

"เดิมเรามองว่า การเติบโตของจีดีพีไตรมาสที่ 3 น่าจะอยู่ในระดับ 2.9 % แต่ออกมาต่ำกว่าที่เราคาดที่ 2.7 % ทำให้เราต้องทบทวนตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทยใหม่ทั้งหมด โดยมองว่าประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้น่าจะต่ำกว่า 3 % คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนนี้"

นายเบญจรงค์ กล่าวว่า ตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาในไตรมาสที่ 3 สะท้อนให้เห็นว่า การอุปโภคและการบริโภคยังคงชะลอตัว การลงทุนภาครัฐก็ไม่มีออกมาต่อเนื่อง อีกทั้งการส่งออกก็ยังไม่ขยายตัว ทำให้ตัวเลขการเติบโตในไตรมาสที่ 3 ออกมาไม่ดีนัก

ส่วนการเติบโตของจีดีพีในไตรมาส 4 มองว่า หลังจากที่จีดีพีในไตรมาสก่อนหน้า มีทิศทางที่ลดลง ทั้งไตรมาสที่ 2 เติบโตที่ 2.9% ไตรมาสที่ 3 เติบโต 2.7% ทำให้มองว่าทิศทางไตรมาสที่ 4 การเติบโตน่าจะยังชะลอตัวและจะเติบโตได้เพียง 1% เท่านั้น ผลจากฐานจีดีพีในไตรมาสที่ 4 ของปีก่อนนั้นสูงมาก โดยมีการเติบโตระดับ 19% อีกทั้งการส่งออกยังไม่มีทิศทางที่ดีขึ้น ในขณะที่การลงทุนภาครัฐบาล ก็ยังคงไม่มีทิศทางที่ดีขึ้นด้วย ทำให้คาดว่าจีดีพีทั้งปีจะโตต่ำกว่า 3%

ทั้งนี้ หากรัฐบาลต้องการที่จะให้จีดีพีของทั้งปีเกิน 3% นั้น การเติบโตของไตรมาสที่ 4 ต้องขยายตัว เกิน 4% และรัฐจะต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจึงจะมีโอกาสเป็นไปได้

'เกียรตินาคิน' คาดปีนี้โต 2.9%

ด้าน นายปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการ หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ธนาคารเกียรตินาคิน กล่าวว่า ทางฝ่ายวิจัยได้มีการปรับประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ใหม่ โดยมองว่าการเติบโตของปีนี้น่าจะอยู่ที่ 2.9% เท่านั้น เป็นผลมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงชัดเจน และไม่มีอะไรเข้ามาขับเคลื่อนใหม่ ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจที่ประกาศโดย สศช. เป็นตัวย้ำว่าเศรษฐกิจไทยนั้น ยังมีแนวโน้มไม่สดใสต่อเนื่อง และจะฉุดให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะเติบโตเพียง 4.3% เท่านั้น

"ตัวเลขการเติบโตในไตรมาสที่ 3 นั้น ออกมาถือว่าค่อนข้างต่ำ ที่ 2.7% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 2.9% เป็นผลมาจากการบริโภคที่ยังคงซบเซา การลงทุนที่ยังต่ำอยู่ โดยในไตรมาสที่ 4 มองว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสที่จะเติบโตเป็น 0% หรือเรียกว่าไม่เติบโต เพราะสถานการณ์ยังถือว่าเปราะบางมาก ทำให้เศรษฐกิจไม่น่าจะฟื้นตัวได้โดดเด่นในช่วงสั้น"

ชี้เศรษฐกิจไทยยังเปราะบาง

นางสาวสุทธาภา อมรวิวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวสอดคล้องกันว่า ฝ่ายวิจัยมีแนวโน้มที่จะปรับประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเช่นกัน ทั้งประมาณการของปีนี้และปีหน้า จากเดิมที่มองว่าการเติบโตน่าจะอยู่ในระดับ 3.4 % และในปีหน้าที่จะเติบโต 4.5% ก็จะปรับลดลงเช่นกัน ส่วนจะปรับลดลงมากน้อยเพียงใด ต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง

ภาวการณ์เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 นั้น สิ่งที่น่ากังวล คือ ภาคการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องจักรตัวสุดท้ายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาจมีปัญหา เพราะในช่วงเดือนต.ค. ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวจีนมีแนวโน้มเข้ามาท่องเที่ยวลดลง หลังจากทางการจีนมีมาตรการควบคุมนักท่องเที่ยว ทำให้มีความเสี่ยงที่ภาคการท่องเที่ยวอาจได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงได้

นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ที่ออกมา ถือว่าน่าผิดหวังอย่างมาก และด้วยการเติบโตที่ค่อนข้างต่ำแบบนี้ ทำให้เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปี 2556 น่าจะต่ำกว่า 3%

"จากตัวเลขที่ออกมาไม่ว่าจะเป็นแบบเทียบปีต่อปี หรือไตรมาสต่อไตรมาส ล้วนแต่น่าผิดหวัง สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยยังค่อนข้างเปราะบาง การบริโภคยังติดลบ ด้วยโมเมนตัมแบบนี้ เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ก็คงยังไม่ดีนัก และตัวเลขทั้งปีไม่น่าจะโตเกิน 3% แน่นอน"นายสมประวิณ กล่าว

ปัจจัยในประเทศชะลอตัว

เช่นเดียวกับ นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าทีมวิจัยลูกค้าบุคคล ฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล บล.ภัทร กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยฯ บล.ภัทร ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือ 2.7% จากเดิมที่ประเมินไว้ว่าจะเติบโตประมาณ 3.8% ซึ่งการปรับลดดังกล่าวเป็นผลจากตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ออกมาค่อนข้างน่าผิดหวัง โดยเฉพาะการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงติดลบต่อเนื่อง

"เดิมคาดการณ์กันว่า ไตรมาส 3 เศรษฐกิจน่าจะเติบโตได้มากกว่า 3% แต่ตัวเลขที่ออกมากลับเติบโตได้เพียง 2.7% เท่านั้น ซึ่งการลดลงเกิดจากความต้องการภายในประเทศที่ลดลงเป็นส่วนใหญ่ ทั้งการลงทุนและการบริโภคที่ยังติดลบ ส่วนดุลการค้าแม้จะเป็นบวก แต่ปัจจัยหลักเป็นเพราะการนำเข้าลดลงจำนวนมาก"นายพิพัฒน์ กล่าว