เทรดทองออนไลน์'ป่วน'

เทรดทองออนไลน์'ป่วน'

เทรดทองออนไลน์"ป่วน"ผู้ค้ารายใหญ่ยื่นฟ้องดำเนินคดีลูกค้า-เรียกหลักประกันเพิ่ม สศค.ย้ำคณะทำงานดูแลซื้อขายทองเน้นคุ้มครองรายย่อย ไม่คุมนำเข้า

หลังจากรายการ Business Talk "ลงทุนจริงหรือเก็งกำไรในทองคำ" ทาง กรุงเทพธุรกิจทีวี ออกอากาศไปเมื่อวันที่ 24 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งดำเนินรายการโดย นายนพคุณ ลิ้มสมานพันธ์

วานนี้ (27 ก.ย.) ได้มีนักลงทุนซึ่งได้รับผลกระทบจากการลงทุนซื้อขายทองผ่าน "ออนไลน์" ร้องเรียนว่าขณะนี้มีกลุ่มผู้ลงทุนได้รับความเสียหายจากการลงทุนโกลด์ ออนไลน์แล้วจำนวน 23 ราย โดยได้เปิดบัญชีซื้อขายทองคำแท่ง กับบริษัทค้าทองรายใหญ่ มีมูลค่าความเสียหายรวม 300-400 ล้านบาท และมีบางส่วน 7-8 ราย ที่ถูกบริษัทคู่กรณี ฟ้องร้องในคดีผิดนัดชำระหนี้ และอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล

เทรดทองออนไลน์ป่วนหนัก

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ลงทุนมีความเชื่อว่า เจ้าหน้าที่มาร์เก็ตติ้ง ทำตามนโยบายของบริษัทที่กำหนดเจ้าหน้าที่บริหารพอร์ตลงทุนของลูกค้า สามารถสั่งซื้อขายทองให้กับลูกค้า โดยไม่ได้แจ้งเจ้าของบัญชี รวมทั้งสามารถซื้อขายเกินวงเงินของลูกค้า จะมีการเรียกเงินวางหลักประกันเพิ่ม เมื่อซื้อทองจำนวนเงินเกินบัญชี โดยที่ไม่มีการแจ้งเตือน หรือบอกลูกค้าล่วงหน้า เมื่อราคาทองปรับตัวลดลง ก็มีการเรียกหลักประกันเพิ่มอีก เมื่อลูกค้าไม่มีเงินมากพอที่จะมาชำระ ส่งผลให้เป็นภาระหนี้สินกับบริษัทจนเป็นคดีความเกิดขึ้น

"ที่ผ่านมากลุ่มนักลงทุนที่ได้รับความเสียหาย ได้ไปร้องเรียนกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แต่ทางสำนักงานไม่รับเรื่องฟ้องร้อง จึงได้ร้องเรียนที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) แต่ทางหน่วยงานดังกล่าว แจ้งให้กลุ่มนักลงทุนที่ได้รับความเสียหาย ยังไม่ควรดำเนินการอะไร ให้รอดูสถานการณ์ก่อน ขณะที่กลุ่มผู้ได้รับความเสียหายกำลังจะถูกดำเนินคดีและเริ่มได้ทยอยรับหมายศาลมาบ้างแล้ว" นักลงทุนกล่าว

นักลงทุนผู้เสียหาย กล่าวด้วยว่า กลุ่มนักลงทุนที่ได้รับความเสียหายเข้ามาลงทุนแล้วประมาณ 1 ปี แต่ละรายเปิดบัญชีซื้อขายทองแท่ง โดยการวางหลักประกันที่ 1 แสนบาท สามารถสั่งซื้อทองคำได้ 1 กิโลกรัม

บริษัทค้าทองรับมีคดีฟ้องร้องจริง

ด้านบริษัทค้าทองรายใหญ่ซึ่งเป็นคู่กรณีกับนักลงทุนกลุ่มดังกล่าว ชี้แจงว่าบริษัทได้ดำเนินคดีกับกลุ่มนักลงทุนที่ได้รับความเสียหายจริง โดยมีการแจ้งความดำเนินคดีไปแล้ว 7-8 ราย และอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาล ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาบริษัท ได้เข้าไปชี้แจงกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เนื่องจากนักลงทุนกลุ่มดังกล่าวได้เข้าไปร้องเรียน ซึ่งบริษัทก็ต้องชี้แจง ไม่ว่าจะเป็น สคบ.และดีเอสไอ โดยบริษัทได้นำหลักฐานต่างๆ ทั้งเทปบันทึกคำสั่งการซื้อขาย การสนทนา พร้อมกับใบรายการการซื้อขายของนักลงทุนกลุ่มดังกล่าว โดยชี้แจงของแต่ละคนและแต่ละกรณี ซึ่งในส่วนของ ก.ล.ต.เมื่อได้รับฟังข้อมูลและหลักฐานแล้วก็เข้าใจ และไม่มีการดำเนินการใดๆกับบริษัท

ชี้ต้นเหตุราคาทองร่วงแรง

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ตามชี้แจงข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ ที่ผู้ลงทุนไปฟ้องร้อง แต่มั่นใจว่าไม่มีความผิดเพราะมีหลักฐานที่ชัดเจน ทั้งเทปบันทึกคำสั่งซื้อขายและรายงานการซื้อขาย ผู้ลงทุนกลุ่มดังกล่าวได้รับผลกระทบจากราคาทองที่ปรับลดลงแรง ทำให้มีผลขาดทุน โดยปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ทั้งนี้บริษัทมั่นใจว่าหลักฐานที่มีอยู่และกระบวนการการทำงานของบริษัทไม่ได้เป็นไปตามที่ถูกกล่าวหา"

นับจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก เมื่อปี 2553 ส่งผลกระทบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องออกมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือคิวอีออกมาเมื่อปี 2554 และอัดฉีดมาต่อเนื่องส่งผลให้ ทองคำเป็นที่นิยมของนักลงทุนทั่วไปเนื่องจากถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย โดยเฉพาะช่วงที่เงินสกุลดอลลาร์อ่อนค่าลง ส่งผลให้ราคาทองคำทะยานขึ้นไปสูงสุดถึงราคา 1,920 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ถือเป็นราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว

อย่างไรก็ตาม ส่งผลให้ราคาทองมีความผันผวนหนัก โดยเฉพาะช่วงที่เฟดไม่ชัดเจนว่าจะถอนคิวอีหรือไม่ และจะถอนเมื่อไหร่ กดให้ราคาทองผันผวนและร่วงลงอย่างแรงจนมาถึงระดับ 1,180 ดอลลาร์ เมื่อเดือนก.ค. 2556 ผลจากราคาทองที่ผันผวนรุนแรงในแต่ละวัน ทำให้นักลงทุนที่เข้าไปลงทุนเพื่อเก็งกำไรได้รับผลกระทบ และประสบกับปัญหาขาดทุนอย่างหนัก โดยเฉพาะในช่วงปีนี้ ซึ่งถือเป็นปีขาลงของราคาทองคำอย่างชัดเจน ผลกระทบดังกล่าวทำให้นักลงทุนไทยที่นิยมเก็งกำไรทองคำผ่านออนไลน์ขาดทุน โดยเฉพาะนักลงทุนที่วางหลักประกันขั้นต่ำ ซึ่งสามารถซื้อขายทองได้ในวงเงินที่มากกว่าหลักประกันถึง 10 -20 เท่า หากราคาทองตกลงก็จะถูกเรียกหลักประกันมาเพิ่ม

คณะทำงานเน้นคุ้มครองรายย่อย

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุดเพื่อศึกษาแนวทางดูแลร้านค้าทองคำ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งจะเน้นดูแลไม่ให้ประชาชนรายย่อยที่ซื้อทองคำถูกโกง ส่วนเรื่องผลกระทบต่อการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ไม่ได้เป็นวัตถุประสงค์หลักในการตั้งคณะทำงานชุดนี้ขึ้นมา

"คณะทำงานชุดนี้เริ่มจากการที่ แบงก์ชาติ อยากให้ สศค. แก้ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายทองคำ ซึ่งเราก็ตั้งคณะทำงานขึ้นมา โดยมีผมเป็นประธาน และมีการประชุมไปแล้ว 1 ครั้ง เพียงแต่ครั้งนี้ผมไม่ได้เข้าประชุม เพราะคิดว่าปัญหาไม่ใช่สิ่งที่กระทบต่อระบบอย่างมีนัยสำคัญ"นายสมชัย กล่าว

ชี้การซื้อขายมีหน่วยงานดูแลอยู่

นอกจากนี้ การซื้อขายทองคำในตลาดรองก็มีหน่วยงานที่กำกับดูแล เช่น ตลาดซื้อขายล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (ทีเฟ็กซ์) รวมทั้ง ก.ล.ต. ที่ดูแลอยู่ ดังนั้นสิ่งที่คณะทำงานชุดนี้จะดูอย่างจริงจัง คงเป็นเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหลัก

ส่วนผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนจากการนำเข้าทองคำนั้น นายสมชัย กล่าวว่าปริมาณการนำเข้าทองคำไม่ได้ถือว่าผิดปกติอะไรมาก จะมีเพียงบางช่วงเท่านั้นที่เพิ่มขึ้นมาก แต่โดยรวมไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญ เรื่องนี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ติดตามดูอยู่

"การประชุมในครั้งแรก ก็แค่เอาตัวเลขมาดูกันเฉยๆ หลังจากนั้นก็เงียบไปเลย ยังไม่ได้ประชุมกันต่อ ส่วนตัวเลขที่บอกว่าสูงขึ้นผิดปกตินั้น มันก็สูงขึ้นเป็นช่วงๆ เท่านั้น เรารู้อยู่ว่ามันมีการเก็งกำไรทองคำ แต่การเก็งกำไรก็ต้องดูว่า ผู้ซื้อรายย่อยได้รับผลกระทบหรือไม่ หน้าที่เรา คือ ดูแลในส่วนนี้มากกว่า ส่วนเรื่องผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนนั้นมันแค่ครั้งคราว"นายสมชัย กล่าว

สำหรับการประชุมครั้งต่อไป นายสมชัยกล่าวว่าขอกลับไปตั้งหลักก่อนว่าจะมีประชุมกันเมื่อไหร่ แต่ยืนยันว่า สศค. ไม่มีแนวคิดที่จะควบคุมการนำเข้าทองคำแน่นอน เพราะเราเปิดเสรีมานานแล้ว สศค. เองก็เป็นผู้เสนอให้มีการเปิดเสรีเรื่องนี้