บอร์ดเอสเอ็มอีแบงก์ตั้งกก.สอบทุจริตปล่อยกู้

บอร์ดเอสเอ็มอีแบงก์ตั้งกก.สอบทุจริตปล่อยกู้

เอสเอ็มอีแบงก์"วุ่น"ธปท.ส่งหนังสือกระทรวงการคลัง พบรายการปล่อยสินเชื่อ"แฟคตอริ่ง" เข้าข่ายทุจริต 130 ล้านบาท บอร์ดธนาคารสั่งตั้งกรรมการสอบ

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกรายงานเสนอกระทรวงการคลังเกี่ยวกับกระบวนการปล่อยสินเชื่อของธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ"เอสเอ็มอีแบงก์" โดยระบุว่าระบบการปล่อยสินเชื่อรายย่อยของธนาคารยังมีช่องโหว่ ที่อาจก่อให้เกิดการทุจริตได้ โดยรายงานการตรวจ พบว่ามีการทุจริตในโครงการสินเชื่อแฟคตอริ่งและการกระทำในลักษณะที่ยักยอกเงินของธนาคาร ซึ่งทั้งสองรายการทำให้ธนาคารเกิดความเสียหาย

กรณีการทุจริตในการให้สินเชื่อของอดีตผู้บริหารของธนาคาร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในระบบของธนาคาร ผู้บริหารธนาคาร สามารถอนุมัติสินเชื่อได้ไม่เกิน 5 ล้านบาท แต่หากเกินกว่า 5 ล้านบาท จะต้องเสนอให้บอร์ดอนุมัติ ซึ่งช่องโหว่ดังกล่าว ทำให้มีการ"ย่อยวงเงิน" การอนุมัติสินเชื่อให้ไม่เกิน 5 ล้านบาท แต่เมื่อรวมวงเงินที่อนุมัติให้กับลูกค้ารายนั้นๆ กลับพบว่ามากกว่า 5 ล้านบาท

ทั้งนี้ ธปท.เสนอว่าในกระบวนการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อแก่ลูกค้ารายย่อยนั้น ควรพิจารณาทั้งวงเงินการอนุมัติในแต่ละครั้ง และวงเงินรวมที่ลูกค้ารายนั้นได้รับ ซึ่งหากวงเงินรวมที่ได้รับสูงเกินกว่า 5 ล้านบาท ขั้นตอนการอนุมัติจะต้องส่งมาให้บอร์ดพิจารณาด้วย เพื่อร่วมกันกลั่นกรองและลดความเสี่ยงที่จะเกิดจากการปล่อยสินเชื่อ

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า กรณีที่ธนาคารได้รับความเสียหายจากการปล่อยสินเชื่อแฟคตอริ่งรวมประมาณ 130 ล้านบาท เป็นหนึ่งในการทุจริต ที่ธปท.ระบุว่า ได้อาศัยช่องโหว่ของกฎระเบียบของธนาคารดังกล่าว และน่าจะเป็นความร่วมมือระหว่าง เจ้าหน้าที่ของธนาคารและบุคคลภายนอก โดยธปท.ได้ขอให้ธนาคารตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบ

ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2553 และปี 2554 ซึ่งมี 6 บริษัท เข้ามาขอสินเชื่อแฟคตอริ่ง โดยนำใบคำสั่งซื้อสินค้าของลูกค้า 5 บริษัท มาขายให้กับธนาคาร เป็นมูลค่า 29.7 ล้านบาท ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า บริษัททั้งหมดดังกล่าว มีชื่อผู้ถือหุ้นเป็นคนๆเดียวกัน ซึ่งต่อมาผู้ถือหุ้นรายนี้ได้ขายหุ้นออก ก่อนที่จะมากู้เงินกับธนาคาร และหลังจากนั้นไม่นาน ก็เข้ามาเป็นอนุกรรมการตรวจสอบของธนาคาร

ขณะเดียวกันธนาคารยังได้รับเช็คของกลุ่มบริษัทดังกล่าว มาค้ำประกัน มูลค่า 100 ล้านบาท ซึ่งในที่สุด ลูกค้ารายนี้ได้กลายเป็นหนี้เสีย ทั้งนี้ ธนาคารได้แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และตั้งกรรมการสอบสวนความเสียหายของธนาคารในกรณีนี้แล้ว

นอกจากนี้ ธนาคารยังได้แจ้งความกรณีการทุจริต ในการรับเงินฝากจากลูกค้ารายใหญ่ของธนาคาร ซึ่งทำให้ธนาคารได้รับความเสียหาย กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นในปลายปี 2553 โดยสำนักงานกองทุนสงเคราะห์สวนยาง (สกย.) ได้นำเงินมาฝากกับธนาคารรวม 4 ครั้ง เป็นเงินฝากรวม 2,000 ล้านบาท โดยสามครั้งแรก ธนาคารให้ดอกเบี้ย 1.6 % และบวกเพิ่มอีก 0.17 % และครั้งที่สี่ ซึ่งนำมาฝากเป็นเงิน 1,000 ล้านบาท ให้ดอกเบี้ย 2% และบวกเพิ่มอีก 0.50%

ทั้งนี้ การบวกเพิ่มดอกเบี้ยเงินฝาก ถือเป็นอำนาจของผู้บริหารธนาคาร เพื่อจูงใจให้คนนำเงินมาฝาก อย่างไรก็ตามในกรณีนี้มีสิ่งผิดปกติสองกรณี คือ การจ่ายดอกเบี้ยเงินฝาก ได้จ่ายทันที ณ วันที่นำเงินมาฝาก โดยคำนวณให้จนถึงระยะเวลาที่จะนำมาเงินมาฝาก และเช็คที่เป็นยอดของดอกเบี้ยเงินฝาก ที่จ่ายให้กับ สกย. ทำเป็นสองใบ โดยใบแรกเป็นยอดเงินเท่ากับดอกเบี้ยเงินฝากที่จะได้รับตามปกติจากธนาคาร อีกใบเป็นยอดเงินในส่วนของดอกเบี้ยพิเศษที่บวกเพิ่มเข้ามา ซึ่งการสั่งจ่ายควรเป็นเช็คเพียงใบเดียว

"เช็คทั้งสองใบ สั่งจ่ายให้กับ สกย. โดยเป็นเช็คขีดคร่อมทั้งสองใบ แต่ใบที่เป็นยอดเงินของดอกเบี้ยพิเศษ ซึ่งเป็นเงิน 1.68 ล้านบาทนั้น ไม่ได้ฆ่า "หรือผู้ถือ" ออก ทำให้เช็คใบนี้ใครก็ได้สามารถไปขึ้นเงินได้ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ผู้ที่ขึ้นเงินไม่ใช่ สกย. แต่เป็นบุคคลอื่น ซึ่งอาจเข้าข่าย นำเงินของธนาคารไปจ่ายให้บุคคลอื่น โดยมิชอบหรือยักยอกทรัพย์ ขณะนี้ ธนาคารได้แจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว" แหล่งข่าวกล่าว