บทเรียนการจัดการน้ำ'เกาหลี'

บทเรียนการจัดการน้ำ'เกาหลี'

"โจทย์ใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมาจากการยอมรับของประชาชน"

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้รัฐบาลเกาหลีตัดสินใจลงทุนโครงสร้างบริหารจัดการน้ำให้เกิดขึ้นภายในประเทศ โดยมองว่า ในอนาคตภัยธรรมชาติมีแต่จะทวีความรุนแรงขึ้นจนทำให้ยากต่อการรับมือ โดยที่ผ่านมาประเทศเกาหลีใต้ต้องเผชิญกับฝนที่ตกหนัก และภัยแล้งต่อเนื่อง จากเดิมที่เคยป้องกันปัญหาน้ำท่วมด้วยการเสริมตลิ่ง สร้างกำแพงกั้นน้ำ รัฐบาลเกาหลีเลือกที่จะลงทุนโครงสร้างในเชิงป้องกันน้ำท่วมมากกว่าการแก้ไข โดยโจทย์ใหญ่เน้นไปที่การปรับปรุงลำน้ำเดิม เพื่อป้องกันน้ำท่วม และลดความเสียหายจากภัยธรรมชาติในอนาคต

ในปี พ.ศ. 2533 รัฐบาลเกาหลีใต้ตัดสินใจสร้างเขื่อน 32 แห่งไปพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจ และขยายต่อด้วยเขื่อนขนาดกลางหรือเขื่อนอเนกประสงค์ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ โคเรีย วอเตอร์ รีซอร์สเซส คอร์เปอเรชั่น หรือ เค-วอเตอร์ ในฐานะรัฐวิสาหกิจของประเทศเกาหลีใต้

นายชอง คูยอล ผู้อำนวยการสำนักงาน เค-วอเตอร์ บอกว่า ตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน เกาหลีใต้ได้ก่อสร้างฟลัดเวย์ (Ara Waterway) มูลค่ากว่า 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในโครงการฟื้นฟูแม่น้ำ 4 สาย (4 Rivers Project) สร้างฝายชะลอน้ำ 16 แห่ง ด้วยงบประมาณกว่า 6 แสนล้านบาท ตลอดจนเชื่อมต่อระบบส่งน้ำผ่านทางอุโมงค์ไปยังพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ราบที่ไม่สามารถสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ได้อีกเค-วอเตอร์ อาศัยระบบวิเคราะห์ข้อมูล หรือ KMA ที่พัฒนาขึ้นเอง โดยนำเข้าข้อมูลจากเขื่อน ฝาย ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาประเทศเกาหลี และข้อมูลอุตุนิยมวิทยาสหรัฐ (NOAA) เพื่อใช้ในการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ และคาดการณ์ได้ล่วงหน้า 5 วัน และสามารถส่งต่อข้อมูลไปยังรัฐบาลเพื่อตัดสินใจแก้ปัญหาน้ำท่วมได้อย่างทันท่วงที

หน้าที่หลักของเค-วอเตอร์ คือจัดบริหารจัดการเขื่อนอเนกประสงค์ และฝายชะลอน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมและจ่ายน้ำไปยังพื้นที่ขาดแคลน ในฐานะองค์กรหลักของประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งรับหน้าที่จัดการระบบผลิตน้ำประปาสำหรับภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรม

การเพิ่มปริมาณน้ำช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อทำเกษตรกรรม การจ่ายน้ำทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็กได้เพียงพอกับการใช้งาน 3.1 หมื่นครัวเรือน อีกทั้งโครงการในภาพรวมได้ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยสวนสาธารณะ เส้นทางจักรยาน

ส่วนนายบยอง ฮูน ยุน รองประธานฝ่ายธุรกิจต่างประเทศ เค-วอเตอร์ ยอมรับว่า โจทย์ใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมาจากการยอมรับของประชาชน ที่ผ่านมา เค-วอเตอร์ ได้ใช้วิธีให้ข้อมูลข้อที่เป็นความจริงกับประชาชน และเลือกเจรจากับรัฐบาลท้องถิ่น

"โครงการจะเดินหน้าต่อไม่ได้ถ้าไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน และกว่าที่โครงการจะเดินหน้าได้จะต้องศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ การศึกษาผลกระทบ และการทำประชาพิจารณ์ก่อน"

ในส่วนของ เค-วอเตอร์ ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1-3 ปี ในการทำประชาพิจารณ์ในแต่ละโครงการ โดยยอมรับว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่เมื่อเทียบกับผลที่ได้รับ ซึ่งผลสำเร็จวัดได้จากการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพน้ำ จากค่า BOD ที่สูงขึ้น การลดผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม และทัศนียภาพที่ดีขึ้นที่เป็นไปทางที่ดีขึ้น ทำให้ส่วนต่อขยาย ของโครงการที่เกิดขึ้นมาในภายหลัง ได้รับการยอมรับจากประชาชน โดยประชาชนเป็นผู้ร้องขอ แทนที่จะให้รัฐบาลเป็นผู้กำหนดอย่างที่ผ่านมา

การชดเชยค่าเสียหาย เค-วอเตอร์ ได้ศึกษาความเหมาะสมในเชิงพื้นที่ร่วมกันระหว่างรัฐบาลและประชาชน โดยเปิดให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้คำนวณราคาจากมูลค่าที่ดินและสิ่งมีชีวิต

ส่วนกรณีที่เอ็นจีโอออกมาให้ข้อมูลว่าโครงการที่ดำเนินการโดยเค-วอเตอร์ ทำให้ระบบนิเวศน์เกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดการบูมของสาหร่าย (Algae Bloom) ทำให้แม่น้ำกลายเป็นสีเขียว (Green tea Latte) ในปี2548 นั้น ผู้บริหารเค-วอเตอร์ ชี้แจงว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติเนื่องจากอุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อย อีกทั้งก่อนโครงการก่อสร้างจะเริ่มขึ้น ในปี พ.ศ.2539 เคยเกิดสาหร่ายบูมรุนแรงที่สุด ในขณะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังการก่อสร้าง เมื่อเทียบแล้วยังแค่ 1 ใน 3 ของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2539

"การออกแบบก่อสร้างได้คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่นในโครงการสร้างฝายชะลอน้ำ ได้มีการสร้างบันไดปลาโจนเพื่อให้ปลาได้ โครงการปรับปรุงแม่น้ำ 4 สาย เพื่อไม่ให้กระทบต่อระบบนิเวศน์ เป็นการฟื้นฟูแม่น้ำเดิมที่ไม่ถูกใช้งาน ซึ่งเป็นการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ไปพร้อมกัน" นายผู้อำนวยการสำนักงาน เค-วอเตอร์ กล่าวเสริม

บทพิสูจน์จากการปรับปรุงโครงสร้างด้านการจัดการน้ำของประเทศเกาหลี ช่วยลดผลกระทบแม้จะต้องเผชิญกับพายุทำให้ฝนตกหนัก โดยในเดือนกันยายน ปี พ.ศ.2555 อิทธิพลจากพายุ Sanba ทำให้น้ำในลำน้ำมีประมาณเพิ่มสูงขึ้นจากฝนที่ตกกว่า 277 มิลลิเมตร แต่ด้วยระบบบริหารจัดการน้ำ และระบายน้ำผ่านฟลัดเวย์ ทำให้ลดผลกระทบจากพายุลดลง และสามารถรักษาระดับน้ำ ป้องกันการจมในพื้นที่ลุ่มต่ำได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนมากนัก

ดร.ลีฮัน กู ผู้อำนวยการทรัพยากรแม่น้ำ ฝ่ายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บอกว่า เค-วอเตอร์ สนใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในลุ่มเจ้าพระยามากว่าหลายปี โดยมั่นใจว่าความรู้ เทคโนโลยี และประสบการณ์จากการขุดลองเส้นทางผันน้ำ สร้างฝายควบคุมการไหลของน้ำ จะช่วยจัดการน้ำในประเทศไทยได้ โดยจะพยายามสุดความสามารถ ถ้าได้มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับประเทศไทย

"ระดับน้ำทะเลฝั่งอันดามันและอ่าวไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 1.3 เซนติเมตร ในแต่ละปี ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการจัดการน้ำในประเทศ การที่ประเทศไทยสามารถจัดการน้ำได้ก่อนนับว่าเป็นเรื่องที่ดีกว่าการแก้ไขตอนที่ปัญหาเกิดขึ้นแล้ว"

ด้วยสภาพพื้นที่ของประเทศเกาหลีซึ่งมีความคล้ายคลึงกับประเทศไทย ด้านบนเป็นภูเขา เมื่อฝนตกหนักทำให้น้ำไหลลงสู่ที่ราบลุ่มด้วยอัตราการไหลช้า บางพื้นที่อยู่ในระดับต่ำ ลักษณะภูมิประเทศในเมืองหลวงหรือกรุงโซลมีแม่น้ำฮันไหลผ่าน ซึ่งไม่แตกต่างจากกรุงเทพมหานคร แต่สิ่งที่แตกต่างคือประมาณฝนที่ตกในประเทศไทยมีมากกว่าเกาหลีใต้ 1.1 เท่า ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมีมากกว่าถึง 4 เท่า

ประเทศไทยมีน้ำพอเพียง แต่ทำไมถึงเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม และภัยแล้งทุกปี นั้นเป็นสาเหตุที่ทำให้เราสนใจการจัดการน้ำในประเทศไทย" เขากล่าว และว่า การลงทุนโครงสร้างจัดการน้ำอาจต้องใช้ระยะเวลา 5 ปี ในการก่อสร้าง และ 2 ปีในการปรับการบริหารจัดการและถ่ายทอดเทคโนโลยี

แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน เค-วอเตอร์ ได้เริ่มขยายแนวคิดการจัดการน้ำไปยังประเทศใกล้เคียง เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย โมร็อคโค ปากีสถาน และจีน โดยมองว่าประเทศไทยมีศักยภาพในฐานะศูนย์กลางภูมิภาคเพื่อส่งต่อเทคโนโลยีการจัดการน้ำไปให้กับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเช่น ลาว เวียดนาม ที่ยังขาดแคลน หรือต้องการระบบจัดการน้ำเช่นกัน