ไอซีทีเปิดแอพฯ'ไทยแลนด์ สมาร์ทฯ'

ไอซีทีเปิดแอพฯ'ไทยแลนด์ สมาร์ทฯ'

"ไอซีที" เปิดตัวโปรแกรมประยุกต์ใช้งานบนแท็บเล็ต "ไทยแลนด์ สมาร์ท เอ็ดดูเคชั่น” นำร่องที่ ร.ร.สาธิตจุฬาฯ เป็นแห่งแรก

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวระหว่างงาน พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการความร่วมมือทางวิชาการด้านเทคโนโลยีระบบบริการการจัดการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาอัจฉริยะ (Thailand Smart Education Platform) ระหว่างกระทรวงไอซีที กับโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม ว่า ตามนโยบายการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและแท็บเล็ตเพื่อการศึกษาไทย ในโครงการคอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) เพื่อการศึกษา หรือ One Tablet PC Per Child นั้น ไอซีทีได้เร่งผลักดันให้เกิดการพัฒนาการใช้ไอทีเพื่อการศึกษาให้ทัดเทียมนานาชาติ และยกระดับมาตรฐานคุณภาพทางการศึกษาของไทย

โดยมอบนโยบายให้ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ และทีมงานโปรแกรมเมอร์ ร่วมมือกันพัฒนาโปรแกรมประยุกต์ “ไทยแลนด์ สมาร์ท เอ็ดดูเคชั่น” เพื่อใช้ทดสอบการทำงานในโครงการพัฒนาสื่อการเรียนการสอน และแพลตฟอร์มมาตรฐานเพื่อให้บริการระบบซอฟต์แวร์ด้านการศึกษา ด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ 3.0 สามารถใช้งานได้ทั้งบนอุปกรณ์แท็บเล็ตและคอมพิวเตอร์พีซี บนแพลตฟอร์มยอดนิยมทั้ง แอนดรอยด์ ไอโอเอส และวินโดว์ส เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาด้วยระบบ อี-เลิร์นนิ่งที่สามารถส่งความรู้ไปยังผู้เรียนโดยผ่านระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตเพื่อการศึกษาได้อย่างกว้างขวาง และถือเป็นการปฏิรูปการศึกษาให้ก้าวไกล รวมทั้งสอดคล้องกับรูปแบบการเรียนการสอนที่กำลังเปลี่ยนไปในอนาคต

สำหรับ "ไทยแลนด์ สมาร์ท เอ็ดดูเคชั่น" เป็นนวัตกรรมใหม่ที่นำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย มาผนวกกับเครือข่ายข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ ระบบบริการคลาวด์ และการนำศักยภาพของแท็บเล็ต มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการศึกษาในทุกภาคส่วน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการเร่งผลักดันการยกระดับคุณภาพและการกระจายโอกาสทางการศึกษา ทั้งด้านการพัฒนามาตรฐานหลักสูตรการเรียนรู้และวิธีการทดสอบความรู้ การพัฒนาครู อาจารย์ ในด้านทักษะการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการสอน การพัฒนาการวิจัยและประเมินผล ซึ่งจะช่วยให้การพัฒนาการศึกษาเป็นไปอย่างถูกต้อง เหมาะสม และยั่งยืน

ด้าน ร.ศ.สุพร ชัยเดชสุริยะ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม และรองคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า ทางโรงเรียนมีความยินดีที่จะให้ความร่วมมือและสนับสนุนกระทรวงไอซีที ในการทดลองใช้ระบบบริการการจัดการเรียนการสอนในสถาบันศึกษาอัจฉริยะ ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมเพื่อการศึกษาที่ทันสมัย ในรูปแบบสื่อการเรียนรู้ดิจิทัล เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนได้ใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตเพื่อการศึกษา โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นสื่อกลางในระบบการเรียนการสอนภายในโรงเรียน ตลอดจนเพื่อพัฒนาคุณภาพของเด็กวัยเรียนและเกิดการพัฒนาไปสู่ระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตต่อไป ซึ่งจะทำให้ครูและผู้ปกครองสามารถติดตามพัฒนาการการเรียนรู้ของนักเรียนรายบุคคลแบบรายวิชาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

"โครงการไทยแลนด์ สมาร์ท เอ็ดดูเคชั่น เป็นโครงการวิจัยนำร่อง (pilot project) ในการนำระบบแอพพลิเคชั่นสำหรับการศึกษาบนอุปกรณ์แท็บเล็ตไปขยายผลสู่การปฏิบัติจริง เพื่อเป็นต้นแบบให้บริการแก่โรงเรียนอื่นๆ ทั่วประเทศในอนาคต ซึ่งจะมุ่งเน้นการใช้งานเพื่อส่งเสริมการทำแบบฝึกหัดของนักเรียน และการจัดการระเบียนคะแนนสะสมของนักเรียน โดยระบบจะครอบคลุมการใช้งานสำหรับผู้ใช้งาน 4 ฝ่ายที่สำคัญ คือ นักเรียน ผู้ปกครอง ครู และโรงเรียน ซึ่งนับว่าเป็นกลไกในการเปลี่ยนกระบวนทัศน์การเรียนรู้ให้เป็นแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Child Center) พัฒนารูปแบบการเรียนรู้ของนักเรียนในรูปแบบ Digital Classroom แบบหนึ่งต่อหนึ่ง และเอื้อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ที่จะเชื่อมโยงการเรียนรู้ทั้งจากโรงเรียนและบ้าน ซึ่งจะทำให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา" น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว