“เอเซีย พรีซิชั่น”กุศโลบาย CSR ผ่านความดีพนักงาน

“เอเซีย พรีซิชั่น”กุศโลบาย CSR ผ่านความดีพนักงาน

การให้สู่สังคมไม่จำเป็นต้องใช้เงินมหาศาลแต่สามารถเริ่มได้ง่ายๆ ผ่านความดีของพนักงาน มุมคิดจาก“เอเซีย พรีซิชั่น” หนึ่งต้นแบบองค์กรแห่งความสุข

“บริษัทฯ พร้อมอยู่แล้วที่จะบริจาค แต่เราเลือกบริจาคผ่านความดีของพนักงาน”

นี่คือวิสัยทัศน์ ของ บมจ. เอเซีย พรีซิชั่น บริษัทของคนไทย ที่อยู่ในสนามมาเกือบ 2 ทศวรรษ (ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2538) ในฐานะผู้ผลิตชิ้นส่วนโลหะ สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์และคอมเพรสเซอร์ เพื่อป้อนให้บริษัทชั้นนำระดับโลกทั้งในและต่างประเทศ มีพนักงานเป็นกำลังสำคัญอยู่นับ 800 ชีวิต ในวันนี้

เรื่องเล่าจากองค์กรแห่งความสุข ที่ชื่อ “เอเซีย พรีซิชั่น” ถูกถ่ายทอดไปยังตัวแทนองค์กรด้านการสร้างเสริมสุขภาพหลายสิบประเทศ ที่เข้าร่วมประชุมนานาชาติด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ครั้งที่ 21 เมื่อปลายเดือน สิงหาคมที่ผ่านมา และเลือกลงพื้นที่ บมจ. เอเซีย พรีซิชั่น เพื่อเรียนรู้องค์กรต้นแบบ Happy Workplace ของเมืองไทย

แนวคิดของ “เอเซีย พรีซิชั่น” ภายใต้การนำของ “อภิชาติ การุณกรสกุล” กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอเซีย พรีซิชั่น จำกัด (มหาชน) คือ การให้ความสำคัญกับ “คน” มุ่งสร้างพนักงานของพวกเขาให้เป็นคนดี มีวินัย สามัคคี เสียสละ มีคุณธรรม และมีความกตัญญู

สนับสนุนให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และ “สุข” ในการทำงาน เพื่อผลสุดท้าย ก็คือประสิทธิภาพของงาน ที่จะกลับคืนสู่องค์กรของพวกเขา

เราเลยได้เรียนรู้หลากหลายกิจกรรม ที่แฝงไว้ด้วย “กุศโลบาย” แบบไทยๆ เพื่อให้พนักงานได้ลุกขึ้นมาทำความดี

“เริ่มจากโครงการขวดน้ำหยอดเหรียญ เราส่งเสริมให้พนักงานเอาเงินมาหยอดใส่ขวดน้ำ เพื่อนำมาบริจาคเป็นทุนการศึกษาให้กับเด็กๆ ซึ่งบางคนก็ยินดี บางคนก็ไม่ แต่เราพยายามสื่อสารให้เขาเห็นว่า การทำความดี ต้องทำทุกวัน”

“อาจารย์ สัมฤทธิ์ สว่างคำ” ผู้ดูแลงานสร้างคนและจัดทำหลักสูตรการสร้างสุข แห่ง บมจ. เอเซีย พรีซิชั่น บอกหนึ่งกิจกรรมกระตุ้นคนดีที่เริ่มต้นมาหลายปีแล้ว จนมีเงินพร้อมขยายผลไปสู่โครงการต่างๆ ภายใต้การขับเคลื่อนของพนักงาน

เงินส่วนหนึ่งไม่ได้มาจากการหยอดกระปุก แต่เพียงพนักงานลุกขึ้นมาปฏิญาณตัวเองว่าจะเป็นคนดี บริษัทก็พร้อมตอบแทนเป็นเงินคืนกลับสู่กองทุนทำดี

“งบในการทำกิจกรรมต่างๆ มาจากไหน ก็มาจากการที่เขาทำความดีในแต่ละเดือน โดยเราจะมีบอร์ดให้พนักงานมาลงชื่อเพื่อเชิญชวนทำความดีใน 4-5 เรื่อง อย่าง ไม่สูบบุหรี่ ไม่กินเหล้า ไม่เล่นการพนัน ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ใครเซ็นชื่อลงช่องไหน บริษัทจะจ่ายทันที 30 บาท แต่ไม่ได้จ่ายให้กับเจ้าตัวนะ จะนำเข้ากองทุน เพื่อไปทำสิ่งดีๆ เพื่อสังคมต่อไป”

อาจารย์ สัมฤทธิ์ บอกว่า ไม่สนใจว่าพนักงานจะทำจริงหรือไม่ ขอเพียงแค่ให้กล้าประกาศตัวว่าเป็นคนอย่างไร เท่านี้ก็เท่ากับได้บุญแล้ว และหากใครปฏิบัติไม่ได้ ขอเพียงยอมรับสารภาพว่ายังทำสิ่งนั้นอยู่ บริษัทก็จะจ่ายทันที 10 บาท

“พูดง่ายๆ ว่าบริษัทพร้อมที่จะบริจาคอยู่แล้วล่ะ แต่เลือกบริจาคผ่านความดีของพนักงาน กุศโลบายของเรา คือต้องการให้พนักงานลุกมาทำกิจกรรม และความดี”

กิจกรรมมากมายมีให้เห็นใน เอเซีย พรีซิชั่น แต่ก็ไม่ได้มีแค่ในโรงงาน ทว่ายังเผยแผ่ความดีไปสู่ชุมชนอีกด้วย เราเห็นความตั้งใจนั้น ที่ “โรงเรียนวัดกลางคลองหลวง” ตำบลไร่หลักทอง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี โรงเรียนขนาดเล็ก สอนกันตั้งแต่อนุบาลจนถึง ป. 6 มีคุณครู 6 คน กับนักเรียนอีก 69 ชีวิต แต่เรื่องราวของที่นี่ มีอะไรมากมายให้ได้เรียนรู้

แม้เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก กำลังคนก็ไม่มาก แต่วัดกลางคลองหลวง ก็มีกิจกรรมหลายๆ ด้าน ทั้ง ส่งเสริมการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น มีโครงการเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ การเพาะเห็ดนางฟ้า เลี้ยงหมู เป็ดไก่ และปลา มีการทำปุ๋ยหมัก และทำนา ซึ่งพนักงานของเอเซีย พรีซิชั่น มาลงแรงช่วยกันสร้างและร่วมทำกิจกรรมที่โรงเรียนแห่งนี้

ความสำเร็จของโครงการ ไม่ได้มาจากความมุ่งมั่นของโรงงาน แต่ต้องอาศัยผู้บริหารโรงเรียนที่ต้องมีความเข้าใจ ตั้งใจจริง พร้อมสร้างให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันได้ ไม่ใช่ประเภทอยากได้อะไรก็ร้องขอ ขอจนไม่มีที่สิ้นสุด

“เราไม่ได้เน้นสร้างอะไรด้วยมูลค่าเงินมากมาย เพราะโรงงานเราไม่ได้รวยขนาดนั้น” ผู้นำกิจกรรมสร้างสุขบอกกับเรา ก่อนขยายความให้เห็นภาพ การทำกิจกรรมแบบ “พอเพียง” ที่โรงเรียนเล็กๆ แห่งนี้

“อย่างศาลาเอนกประสงค์ ซึ่งเป็นทั้งห้องสมุด และสถานที่พบปะของบรรดาผู้ปกครองเด็ก เราก็ใช้วัสดุเหลือใช้จากโรงงานมาสร้างให้ มูลค่าไม่ได้มาก แต่ต้องการให้พนักงานมีความใกล้ชิดกับชุมชน”

นี่คือ เป้าประสงค์ที่แท้จริงของกิจกรรมที่ต่อยอดจาก โครงการเปิดรั้วโรงงาน ประสานชุมชน ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่ต้องการให้โรงงานและชุมชนมีความใกล้ชิดกัน มีสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ซึ่งพวกเขาก็ต่อยอดกิจกรรมและทำต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

“เราไม่ต้องไปหวังคนส่วนใหญ่ให้มาร่วมกันทำ ทั้งโรงงานอาจมีคนสนใจแค่ 5-10 คนก็ถือว่าคุ้มแล้ว เพราะความสุข ก็คือการได้ทำสิ่งดีๆ ให้บังเกิด และมีคนเข้ามาสัมผัสด้วยกัน ส่วนใครไม่ชอบก็ไม่เป็นไร เราคงไปบังคับเขาไม่ได้ เรื่องยากในการทำงานนี้ก็คือการต่อสู้กับจิตใจของตัวเอง เราจะไปหวังอะไรมากไม่ได้ แค่ทำงานเพื่อความสุขมันก็จบแล้ว แค่ทำก็สุขแล้ว”

เขาสรุปผลพลอยได้ ที่สำคัญไปกว่าเม็ดเงินคืนสู่ธุรกิจ

นี่คือตัวอย่างของการสร้างสุขในองค์กรแบบไทยๆ ที่ “นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. บอกเราว่า มีความก้าวหน้ากว่าในหลายประเทศ เพราะส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ “Healthy workplace” คือมุ่งไปในเรื่องสุขภาพกายกับใจเป็นหลัก ขณะที่ไทยใช้คำว่า “Happy workplace” ที่สร้างภาพใหญ่และมุ่งเปลี่ยนวิธีคิดของคน สิ่งแวดล้อม และ กิจกรรม

“หลายๆ ที่ เน้นกิจกรรมนำ แต่ผลลัพธ์กลับไม่ได้อะไรเลย เพราะว่าไม่ได้เกิดจากการมีส่วนร่วมจริงๆ ในองค์กร แต่พอเราทำ Happy workplace สุดท้ายจะได้สองคำตอบ คือ High performance ความสามารถในการทำงานที่ดีขึ้น และ Happiness ความสุข ถ้าองค์กรไหนได้สองคำนี้ จะเป็นองค์กรที่สู้กับคนอื่นได้สบาย แต่การจะได้มา ต้องทำอะไรอีกเยอะมาก ซึ่งให้เงินอย่างเดียว ช่วยไม่ได้ แต่ต้องให้เวลา ให้ความรัก ความไว้วางใจ ให้เกียรติซึ่งกันและกัน และให้คุณค่ากัน”

เขาสรุปหนทางสร้างสุขแบบไทยไทย ที่กำลังเป็นต้นแบบให้หลายประเทศได้เรียนรู้ เพื่อเปลี่ยนสู่องค์กรพันธุ์แกร่ง พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของยุคนี้ ด้วยอาวุธที่ชื่อ Happy workplace