ถกร่างประมูล"ทีวีดิจิทัล"เอกชนจี้เปิดราคา"โครงข่าย"

ถกร่างประมูล"ทีวีดิจิทัล"เอกชนจี้เปิดราคา"โครงข่าย"

กสทช.เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ร่างฯ ประกาศ หลักเกณฑ์ ประมูลทีวีดิจิทัล ธุรกิจ 24 ช่อง คาด ส.ค.นี้ ประกาศหนังสือเชิญชวนซื้อซองประมูล

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ....

โดยมีผู้ประกอบการในกิจการวิทยุโทรทัศน์ คอนเทนท์ โปรวายเดอร์ ช่องทีวีดาวเทียม กิจการโทรคมนาคม เครือข่ายเด็กและเยาวชน รวมทั้งผู้สนใจจำนวนมากร่วมเสนอความคิดเห็นต่อร่างฯ หลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าว จำนวนมาก

สำหรับร่างฯ หลักเกณฑ์ วิธีการประมูล ทีวีดิจิทัล ประเภทธุรกิจ 24 ช่อง กำหนดการประมูลรูปแบบอี อ๊อกชั่น โดยประเด็นสำคัญ คือ การกำหนดราคาตั้งต้นประมูล ประกอบด้วย ช่องเอชดี ช่องละ 1,510 ล้านบาท เคาะเพิ่มประมูลครั้งละ 10 ล้านบาท , ช่องวาไรตี้ ราคาช่องละ 380 ล้านบาท เคาะเพิ่มราคาครั้งละ 5 ล้านบาท , ช่องข่าว ราคาช่องละ 220 ล้านบาท เคาะเพิ่มราคาครั้งละ 2 ล้านบาท และช่องเด็ก ราคาช่องละ 140 ล้านบาท เคาะเพิ่มราคาครั้งละ 1 ล้านบาท

กำหนดการประมูลประเภทละ 1 วัน ระยะเวลาประมูล 60 นาที หากมีผู้ประมูลเคาะราคา “เท่ากัน” ขยายเวลาประมูลเพิ่มครั้งละ 5 นาที ผู้ชนะประมูลสูงสุดได้รับสิทธิ เลือกผู้บริการโครงข่าย(Multiplex :Mux) และลำดับเลขช่องรายการประเภท

กสทช.เปิดซื้อซองประมูลส.ค.นี้
พ.อ.นที ศกุลรัตน์ รองประธาน กสทช. และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เปิดเผยว่าหลังจากรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ร่างฯ หลักเกณฑ์การประมูลทีวีดิจิทัล 24 ธุรกิจ ซึ่งประกอบไปด้วยช่องเอชดี 7 ช่อง , ช่องวาไรตี้ (SD) 7 ช่อง , ช่องข่าว (SD) 7 ช่อง และช่องเด็ก(SD) 3 ช่อง ในวานนี้แล้ว ยังสามารถเสนอความคิดเห็นผ่านช่องทางต่างๆ ได้เพิ่มเติม ถึงวันที่ 10 ก.ค.นี้

หลังจากนั้น สำนักงาน กสทช. จะนำความคิดเห็นต่างๆ มาปรับปรุงร่างฯ หลักเกณฑ์ เสนอให้บอร์ด กสท. เห็นชอบ หลังจากนั้นเสนอให้ บอร์ดใหญ่ กสทช.เห็นชอบ คาดว่า ร่างฯ หลักเกณฑ์จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาในราวเดือน ก.ค.นี้ ราวเดือน ส.ค.จะประกาศหนังสือเชิญชวน (information memorandum :IM) เพื่อเปิดให้ผู้สนใจเข้ามาซื้อซองประมูล หลังจากนั้นจะตรวจสอบคุณสมบัติผู้ซื้อซอง และกำหนดประมูลในราวปลายเดือน ก.ย. ถึงต้นเดือน ต.ค.นี้ โดยผู้ได้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ธุรกิจ ทั้ง 24 ราย จะออกอากาศภายในปีนี้

โดยในวันจันทร์ ที่ 1 ก.ค.นี้ สำนักงาน กสทช. กำหนดจัดการทดลองการประมูลคลื่นความถี่ฯตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดใน (ร่าง) ประกาศฯ (Pre-mock Auction) เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล ให้กับผู้สนใจเข้าร่วมทดลองวิธีการประมูลเป็นครั้งแรก

เอกชนจี้เปิดค่าบริการโครงข่าย
นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทเนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นบีซี กล่าวว่าผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าร่วมประมูลทีวีดิจิทัล มีความกังวลเรื่องค่าบริการโครงข่าย (Multiplex :Mux) ที่ยัง “คลุมเครือ” ซึ่ง กสทช. ยังไม่กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตโครงข่ายประกาศราคาค่าบริการ ซึ่งถือเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงของทีวีดิจิทัล โดยตลอดอายุสัญญา 15 ปี อาจจะสูงกว่าค่าใบอนุญาต

ทั้งนี้ เสนอให้ผู้ได้รับใบอนุญาตโครงข่าย ทั้ง 4 ราย ต้องเสนอแผนการลงทุนขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมการส่งสัญญาณทั่วประเทศ ที่กำหนดไว้ในประกาศ กสทช. ระยะเวลา 4 ปี หรือสามารถทำได้เร็วกว่าที่ประกาศกำหนด เพื่อเป็นหลักประกันให้ผู้ประมูลช่องรายการ ที่ต้องเคาะราคาแข่งขันเพื่อเลือกใช้บริการโครงข่าย เพราะหากโครงข่ายไม่มีศักยภาพในการส่งสัญญาณตามที่กำหนดไว้ในประกาศ จะส่งผลกระทบต่อช่องทีวีดิจิทัล ที่ใช้บริการด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้เสนอให้ กสทช. “ยกเลิก” กำหนดให้ผู้ชนะการประมูลด้วยราคาสูงสุด เป็นผู้มีสิทธิได้เลือกใช้บริการโครงข่ายเป็นลำดับแรก แต่ควรกำหนดให้ชัดเจนก่อนการประมูลว่า ลำดับช่องรายการที่จะประมูล อยู่ในโครงข่ายใด

พร้อมทั้งเสนอให้ กสทช. กำหนดให้โครงข่าย “กรมประชาสัมพันธ์” เป็นผู้ให้บริการ ทีวีดิจิทัล ประเภทสาธารณะ 12 ช่อง เนื่องจากกรมประชาสัมพันธ์ เป็นหน่วยงานภาครัฐ ที่อาจมีปัญหาด้านการลงทุนขยายโครงข่าย และกำหนดให้โครงข่ายของ กองทัพบก ,อสมท และไทยพีบีเอส เป็นผู้ให้บริการ ทีวีดิจิทัล 24 ช่องธุรกิจ เนื่องจากมีศักยภาพการลงทุนสูงกว่า

นายปรีย์มน ปิ่นสกุล ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด กล่าวว่าก่อนการประมูลต้องการให้ กสทช. ประกาศความแตกต่างด้านศักยภาพการให้บริการของแต่ละโครงข่าย รวมทั้งแผนการควบคุมราคา และคุณภาพการส่งสัญญาณโครงข่าย เพราะจะเกิดความได้เปรียบด้านการแข่งขันให้บริการของแต่ละช่องรายการที่ได้รับใบอนุญาต

นอกจากนี้ กสทช. ควรกำหนดกรอบเวลาในการประมูลอัพเกรดเทคโนโลยีเอชดีให้ชัดเจน ว่าจะดำเนินการภายในกี่ปี เพราะส่งผลต่อแผนการลงทุนของผู้ประกอบการ เนื่องจากการเปิดประมูลทีวีดิจิทัล 24 ช่องธุรกิจในครั้งนี้ ราคาเริ่มต้นประมูลช่อง SD และ เอชดี มีความแตกต่างกันสูงมาก

นางพรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าเสนอให้ กสทช. ประกาศค่าบริการโครงข่ายล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วันก่อนการประมูล เพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมกำหนดแผนการลงทุน และการเคาะประมูลใบอนุญาต อีกทั้งเสนอให้ กสทช. แก้ไขร่างฯ ประกาศที่ระบุให้ผู้ประมูลช่องธุรกิจด้วย “ราคาสูงสุด” เป็นผู้มีสิทธิได้เลือกใช้บริการโครงข่ายเป็นลำดับแรก โดยเสนอให้ระบุว่า ผู้ประมูลด้วยราคาสูงสุด “รายประเภท” เป็นผู้มีสิทธิเลือกใช้บริการโครงข่ายเป็นลำดับแรก และกำหนดรายละเอียด ประเภทช่องรายการที่จะประมูลก่อน อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนการประมูล

เช่นเดียวกับ นายโชคชัย ปัญจรุ่งโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์ พับลิชชิ่ง ที่เสนอให้ กสทช. ประกาศมาตรฐานการให้บริการโครงข่าย และราคา ของแต่ละราย อย่างชัดเจน เพราะเพราะถือเป็นค่าใช้จ่ายสูงของช่องรายการ อีกต้องการให้ ผู้ให้บริการโครงข่าย กำหนดแผนการขยายการส่งสัญญาณให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เร็วกว่าประกาศฯ กสทช. ที่กำหนดให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายใน 4 ปี รวมทั้งการกำหนดนิยามด้านการนำเสนอเนื้อหารายการ ใน 4 ประเภทช่องรายการให้ชัดเจน

เปิดค่าโครงข่าย “อสมท”สูงสุด
รายงานข่าวระบุว่าผู้ได้รับใบอนุญาตโครงข่ายทั้ง 4 ราย ได้เสนอราคาค่าบริการโครงข่ายเบื้องต้นกับ กสทช. โดยเสนอราคาในปีที่4 เป็นต้นไป ซึ่งกำหนดให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ พบว่า อสมท เสนอค่าบริการสูงสุด โดยช่อง SD เก็บค่าบริการเดือนละ 5.46 ล้านบาท ส่วนช่องเอชดียังไม่กำหนด

กองทัพบก เสนอค่าบริการปีที่4 เป็นต้นไป ช่องSD เดือนละ 5 ล้านบาท และช่องเอชดี เดือนละ 15 ล้านบาท , ไทยพีบีเอส เสนอค่าบริการปีที่ 4 เป็นต้นไป ช่อง SD เดือนละ 4 ล้านบาท ช่องเอชดี เดือนละ 9 ล้านบาท และกรมประชาสัมพันธ์ เสนอค่าบริการปีที่ 4 เป็นต้นไป ช่อง SD เดือนละ 4 ล้านบาท และช่องเอชดี 12 ล้านบาท