เปลี่ยนชีวิตด้วยศาสตร์แห่งหุ้น“วีระพงษ์ ธัม”พอรต์ร้อยล้าน

เปลี่ยนชีวิตด้วยศาสตร์แห่งหุ้น“วีระพงษ์ ธัม”พอรต์ร้อยล้าน

“วิถีแห่งเม่า” ขัดใจพ่อ-แม่ “อย่ายุ่งหุ้นคือการพนัน” แต่เมื่อ “หลิน” วีระพงษ์ ธัม นักลงทุน VI พิสูจน์แล้ว นี่คือ หนทางนำไปสู่ “พอร์ต 9 หลัก

“ไม่เคยคิดจะรวยด้วยศาสตร์แห่งหุ้น” ก่อนสมองจะผุดความคิดนี้ในช่วงปี 2546 “หลิน” วีระพงษ์ ธัม เซียนหุ้น VI ในฐานะหนึ่งในกรรมการสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) เป็นเพียง มนุษย์เงินเดือน” ธรรมดาๆคนหนึ่งผู้หลงรักการท่องเที่ยวเป็นชีวิตจิตใจ

ช่วงชีวิตหนึ่ง เขาเคยเป็น Backpacker นั่งรถไฟฟ้าไปตามเส้นทางสายไหมจากเมืองปักกิ่งประเทศจีน ไปจนถึงสุดขอบเมืองจีน เพื่อไปดู “คาราโครัมไฮเวย์” ถนนไฮเวย์ที่มีความสูง 3,000-4,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล และไปเที่ยวชมวัดโบราณอายุ 1,000-2,000 ปี

วันนี้ “หนุ่มหลิน” เป็นเจ้าของพอร์ตลงทุนหลักร้อยล้าน และยังเป็นผู้ก่อตั้งเว็บไซด์ 10,000 li.net มีแฟนคลับกดถูกใจกว่า 3,711 คน เว็บไซด์นี้เปิดมา 3-4 ปี หวังบอกเล่าเรื่องราวการลงทุนต่างๆ เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ “เม่าน้อยมือใหม่”

“วีระพงษ์ ธัม” อุ้ม “น้องคิน” ลูกชายวัย 1 ปี 4 เดือน พร้อมพี่เลี้ยงคู่ใจ มาเล่าเส้นทางการลงทุนแนว VI ให้ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ฟัง "ผมเป็นคนเชื้อสายไทย-มาเลเซีย คุณพ่อเป็นคนมาเลเซีย ท่านเป็นนักร้องชื่อดังออกแผ่นเสียงมาแล้วหลายร้อยแผ่น ไปถามคนรุ่นเก่าๆย่านเยาวราช แทบจะไม่มีใครไม่รู้จัก "ถัน ซุ่น เฉิง"

ก่อนครอบครัวจะย้ายมาทำธุรกิจโบรกเกอร์ประกันภัย ภายใต้ชื่อ “แคปปิตอลพลัส คอนซัลติ้ง กรุ๊ป” ย่านสุวินทวงศ์ พวกเราเคยใช้ชีวิตอยู่แถวเยาวราช ธุรกิจเล็กๆแห่งนี้ คุณแม่ใช้หาเงินเพื่อเลี้ยงดูผมและน้องชายวัย 31 ปี ปัจจุบันน้องชายเป็นคนดูแลธุรกิจของครอบครัว

ชายหนุ่มอายุ 33 ปี ดีกรีปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับ 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขายานยนต์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จิบกาแฟ ก่อนเล่าต่อว่า หลังเรียนจบเขาเลือกที่จะตรงดิ่งไปทำงานที่บริษัท “ปูนซิเมนต์ไทย” (SCC) ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่การตลาดระหว่างประเทศ สายธุรกิจกระดาษ ตอนโน่นปูนซิเมนต์ไทยกำลังบุกเบิกธุรกิจกระดาษในเมืองจีน

“งานท้าทาย ไม่อยากนั่งเหงาในโรงงาน” ทันทีที่ความคิดนี้เกิดขึ้นในหัว ผมไม่ลังเลที่จะไปยื่นใบสมัคร (ยิ้ม)
ทำงานแรกๆรู้สึก “สนุก ตื่นเต้น” ครั้งหนึ่งเคยโดนคนจีนหลอก (หัวเราะ) เราสั่งของไปแบบหนึ่ง แต่ดันส่งมาอีกแบบ ต้องไปนั่งแคลมมูลค่าหลายล้านบาท ทำงานได้ 4-5 ปี ก็ลาออก ถามว่าภูมิใจมั้ย (ยิ้ม) อย่างน้อยก็เคยทำตั้งแต่บริษัทเพิ่งตั้งไข่ จนสามารถนำเข้ากระดาษได้ปีละ1,000 ล้านบาท

อยากเป็นเจ้าของธุรกิจ ความคิดนี้ผุดปุดๆในหัว มาตั้งแต่เด็กๆ!!

ตอนทำงานบินไปกลับเมืองจีนบ่อยมากๆ รู้สึกเริ่มอินกับประเทศนี้ (หัวเราะ) ผนวกกับอยากเติมความรู้ด้านธุรกิจ กลับมาทำกิจการของตัวเอง จึงตัดสินใจลาออกจากปูนใหญ่ เพื่อบินไปเรียนต่อปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยชิงหัว ประเทศจีน ที่เด่นเรื่องบริหารจัดการ และวิศวกรรม ใช้ชีวิตเรียนหนังสืออย่างเดียวแบบไม่ทำงานอะไรเลยในเมืองจีน 2 ปี "หนุ่มหลิน" เล่า

เจ้าของนามแฝง Lingzhi ใน THAIVI.COM ยังบอกถึง “จุดเริ่มต้นการลงทุน” ว่า ทำงานปูนใหญ่ได้เกือบ 1 ปี ก็ควักเงินซื้อหุ้น ในช่วง SET INDEX ดีดขึ้นจาก 300-400 จุด เป็น 800 จุด น่าจะกลางๆปี 2546 ช่วงนั้นตลาดหุ้นไทยตกอยู่ในภาวะ“กระทิง” เพื่อนๆพี่ๆที่ปูนใหญ่พูดกรอกหูทุกวัน

“เล่นหุ้นได้กำไรดีกว่านำเงินไปทำอย่างอื่นอีกนะ” สุดท้ายก็อดใจไม่ไหว เล่นมันซะเลย!!

ก่อนจะลงทุนในตลาดหุ้นจริงจัง เขาเล่าว่า เคยเห็น “อากู๋” เล่นหุ้นในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 (ต้มยำกุ้ง) ผลปรากฎว่า “น้ำตาตก” จนพ่อกับแม่บอกว่า

อย่าไปยุ่งหุ้นคือการพนัน!!

ต้องใช้เวลาอธิบายให้ท่านเข้าใจอยู่นาน ตอนนั้นก็ยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งที่เขียนไว้ในหนังสือ “ตีแตก” ของ ““ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” ผู้เผยแพร่แนวคิดการลงทุนแบบเน้นคุณค่าคนแรกในประเทศไทย

“ถ้าเรามีเงินก้อนหนึ่งแล้วนำไปลงทุนทำธุรกิจร้านโชห่วย วันหนึ่งเกิดขาดทุนเราจะไม่เหลืออะไรเลย เพราะมีอยู่ร้านเดียว แต่ถ้านำเงินก้อนเดียวกันไปซื้อหุ้นที่มีกิจการดีๆ ต่อให้เจ๊งไปหนึ่งสาขา ธุรกิจก็ยังอยู่ได้ เพราะเขามีหลายสาขา บางบริษัทมีหลากหลายธุรกิจ เรียกว่าเขากระจายความเสี่ยงไว้หมดแล้ว สุดท้ายท่านจึงยอมใจอ่อน"

หนุ่มหลิน เล่าว่า ใช้เวลาอ่านหนังสือ “ตีแตก” และหนังสือ Rich Dad Poor Dad (พ่อรวยสอนลูก) ของ “โรเบิร์ต คิโยซากิ” รวมถึงหาข้อมูลต่างๆตามเว็บไซด์ไม่นาน ก็ตัดสินใจเปิดพอร์ตลงทุนกับบล.กรุงศรีอยุธยา (AYS) ในปี 2547

“เงินตั้งต้น” น่าจะเหยียบ 5-6 หลัก จำตัวเลขแน่นอนไม่ได้ แบ่งเป็นเงินเก็บ 70% และเงินของครอบครัว 30% อย่างที่บอกพ่อกับแม่ไม่ปลื้มตลาดหุ้น แต่เห็นความตั้งใจและรู้ว่าเราไม่ซื้อๆขายๆก็ยอมให้เงินแต่โดยดี (หัวเราะ)

“หุ้นปันผล” เป็นหุ้นตัวแรกๆ ที่ใส่เงินลงทุน จำไม่ได้ว่าซื้อตัวไหนไปบ้าง แต่น่าจะเป็นกลุ่มโรงไฟฟ้า และหุ้น โมเดอร์นฟอร์มกรุ๊ป (MODERN) หุ้น ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) หุ้น ไดนาสตี้เซรามิค (DCC) เป็นต้น รวมๆแล้วก็น่าจะมีหุ้นในพอร์ตราว 5-6 ตัว

ผลการลงทุนแรกเริ่ม ไม่ค่อยดีเท่าไร!! เพราะเข้าไปลงทุนช่วงตลาดหุ้นบูม ทำให้ราคาหุ้นปรับลงมานิดหน่อย โดยเฉพาะหุ้น ไดนาสตี้เซรามิค โทรไปถามมาร์เก็ตติ้ง “ทำไมหุ้น DCC ดิ่งแบบนี้ ไหนพี่บอกราคามีโอกาสไปต่อไง” เขาตอบกลับมาว่า “อ๋อ เข้าสู่ช่วงฤดูฝนขายของไม่ค่อยได้” เราก็รีบสวน “ทำไมพี่ไม่บอกผมก่อนจะได้ไปซื้อหน้าหนาว” (หัวเราะ) มันเจ็บใจจริงๆ

แม้ราคาหุ้นจะย่อตัวลงมา แต่ก็ยังมีความ "โชคดี” แอบแฝงอยู่บ้าง บังเอิญช่วงนั้นไปจองซื้อหุ้นไอพีโอ “ไทยออยล์” (TOP) ประมาณ 1,000 หุ้น (จริงๆจองไปมากกว่านั้น แต่คนอยากได้เยอะ) วันแรกของการซื้อขายราคาหุ้น TOP พุ่งเหนือจอง ทำให้ภาพรวมพอร์ตลงทุนเป็น “สีเขียวนิดๆ” ขณะที่ตลาดหุ้นช่วงนั้นติดลบประมาณ 10%

เชื่อมั้ย!! ทุกวันนี้ยังไม่เคยขายหุ้น TOP เลย (ยิ้ม) บอกตรงๆหุ้นตัวนี้มีคุณค่าทางจิตใจ ทำให้รู้สึกดีต่อการลงทุนในตลาดหุ้น “วอร์เรน บัฟเฟ็ตต์” มหาเศรษฐีด้านการลงทุน เคยบอกว่า..

"ปีแรกของการลงทุนต้องห้ามขาดทุน เพราะนั่นคือ กำลังใจดีๆให้คุณเดินต่อ และอยู่รอดในตลาดหุ้น"

เขา ระบายว่า แรกเริ่มของการลงทุน ถือเป็นเรื่องปกติที่เวลาใครแนะนำหุ้นอะไร “เม่ามือใหม่” อย่างเราๆเป็นช้อนหมด ถามว่ารู้เรื่องข้อมูลชนิดแน่นปึกมั้ย “ไม่เลย” ตอนนั้นดูเพียงอัตราผลตอบแทนจากการเงินปันผลขอแค่ 5% ก็พอใจแล้ว ค่า P/E ไม่พลาด ขอต่ำๆยิ่งต่ำกว่า10 เท่ายิ่งดี

หากเจอหุ้นตัวไหนเข้าทางซื้อเลย วันไหนเกิดขาดทุนก็จะซื้อถัวเฉลี่ย หวังว่าจะขาดทุนน้อยลงจากเดิม เช่น เดิมต้องขาดทุน 5% เมื่อซื้อมาถัวเฉลี่ยอาจทำให้เราขาดทุนเพียง 3% ทำไปเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น (หัวเราะ) ส่วนตัวไหนแดงจัดๆไม่ขาย แต่ถ้าอึดอัดมากก็รอเท่าทุนแล้วค่อยขาย เล่าแล้วตลกตัวเอง

ช่วงเติมความรู้ในหัวสมอง ยอมรับพอร์ตโตช้า แต่ความรู้ทบต้นเกิดขึ้นเร็วมาก

“คุณพ่อมือใหม่” เดินไปเล่นกับลูกชายที่กำลังงอแง ก่อนกลับมานั่งพูดต่อว่า เพิ่งเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนจริงจังเมื่อปี 2551 โดยเริ่มหันมาใส่ใจ 3 ข้อหลัก คือ ข้อ 1.ดูภาพรวมของกิจการ ยิ่งลงลึกไปถึงระบบการแข่งขันของธุรกิจได้จะดีมาก เมื่อก่อนนักลงทุนจะชอบดูข้อมูล ในแง่ “ทุติยภูมิ” อธิบายง่ายๆ คือ ฟังข้อมูลจากนักวิเคราะห์ และจากผู้บริหาร โดยที่เราไม่ได้มีโอกาสไปสัมผัสธุรกิจอย่างใกล้ชิด

แต่ปัจจุบัน “นักลงทุนเก่งๆ” จะเน้นดูข้อมูล “ปฐมภูมิ” มากขึ้น นั่นคือ การไปสัมผัสธุรกิจนั้นๆด้วยตนเอง เช่น ไปเดินห้าง ไปคุยกับคนงาน ไปเดินดูโรงงาน เป็นต้น การดูข้อมูลลักษณะนี้จะทำให้เห็นของจริง ส่งผลให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่า สิ่งที่ผู้บริหารและนักวิเคราะห์พูดมันทำได้จริงหรือไม่ เรื่องจริงหรือเรื่องหลอกตา

"ผมให้ความสำคัญกับข้อมูล “ปฐมภูมิ” มากถึง 60% บริษัทไหนติดตามข้อมูลไม่ได้ บอกตรงๆไม่สน ชอบที่จะไปเห็นด้วยตาตัวเอง

ข้อ 2.ดูข้อมูลอุตสาหกรรม ประเด็นนี้สำคัญไม่แพ้ข้อแรก เพราะบางบริษัทอะไรๆก็ดี แต่ธุรกิจดันมาอยู่ในอุตสาหกรรม “ตะวันตกดิน” เปรียบเทียบเหมือน “มีเรือดี แต่มีแรงต้าน ทำให้ต้องพายเรือทวนน้ำ เหนื่อย!!” ถ้าเป็นลักษณะนี้ไม่ค่อยปลื้มเท่าไร เราต้องกลับมาพิจารณาว่าอุตสาหกรรมใดในเมืองไทยที่เป็น “ดาวรุ่ง” ยิ่งบริษัทไหนมีซัพพายเออร์เก่งๆ เจอแบบนี้รีบเก็บเข้าเป๋าเลยนะ (ฮ่าฮ่า)

สุดท้าย คือ ดูภาพรวมของเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาเมืองไทยแบ่งการเติบโตออกเป็นช่วงๆ ก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง เมืองไทยอยู่ในช่วงของการลงทุน ถือว่า “บูมมาก” เห็นได้จากราคาที่ดินที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศแย่ ภาคธุรกิจส่งออก กลายเป็น “พระเอก” ทันที นักลงทุนรุ่นแรกๆรวยจากกลุ่มส่งออกเป็นแถว มาช่วงหลังๆเมืองไทยเข้าสู่ยุคของ “การบริโภค” ตอนนั้นใครจับทางได้ “รวยหุ้นค้าปลีก” ไปแล้ว เรียกว่า “ค้าปลีกเปลี่ยนชีวิต”

ปัจจุบันนักลงทุนคงต้องจับตา “ภาคการลงทุน” โดยเฉพาะกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง อนาคตอาจเห็นภูมิภาคนี้มีการเชื่อมโยงกันเหนียวแน่น บริษัทไหนได้ประโยชน์จากตรงนี้ ต้องกลับไปดู ใครที่ล้อไปกับเรื่องการลงทุนของรัฐบาลได้ถือวาน่าสนใจ ถามว่าหุ้นเหล่านี้ราคาแพงมั้ย!! (ยิ้ม) จริงๆเกือบทั้งตลาดแพงหมดแล้ว แต่ถ้าคุณมองว่าอนาคตเขามีสิทธิ์ไปต่อ ก็จงซื้อไว้ ความเป็นจริงนักลงทุนต้องมีใจเป็น “อัศวิน” ในช่วงตอนตลาดเล็กๆ จะมากล้าในช่วงตลาดแพงไม่ค่อยดีเท่าไร แต่ในเมื่อมั่นใจก็จงทำใจกล้าๆแตะๆนิดหน่อยๆคงพอ

“มีหุ้นดีๆเหมือนมีเพื่อนดีๆ แม้มีไม่มาก แต่ก็ทำให้ชีวิตการลงทุนมาไกลกว่าที่คิด”

ถามว่าหลังปรับกลยุทธ์ ผลการลงทุนเป็นอย่างไร? บอร์ดสมาคมนักลงทุนฯ ตอบว่า “เริ่มมีกำไรและความสุขมากขึ้น” ก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเคยมีกำไรราว 40-50% ช่วงนั้นตลาดหุ้นอยู่ในอาการ “ไซด์เวย์” (แกว่งตัวออกด้านข้าง) หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจผ่านพ้นไป “ตลาดหุ้นบูม” ทำให้ผลกำไรบวกปีละ 80-100%
จริงๆแล้วผลการลงทุนไม่สำคัญ เท่ากับเราสามารถนำเวลาไปทำอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์ได้มากกว่า

"ทุกวันนี้ผมจะถือหุ้นไม่เกิน 10 ตัว แต่ละตัวจะถืออย่างต่ำ 10% ของพอร์ต แต่หุ้นหลักๆจะมีแค่ 5 ตัว เน้นกลุ่มค้าปลีก และกลุ่มโรงพยาบาล อย่างหุ้นกลุ่มค้าปลีกผมถือลงทุนมาประมาณ 8-9 ปี กลุ่มโรงพยาบาลเพิ่งซื้อหนักๆในช่วงวิกฤติปี 2551 ผมจะถือหุ้น 5 ตัว ไปจนกว่าจะรู้สึกว่า

“ราคาแพงเว่อร์”

ส่วนหุ้นที่ไม่ใช่ตัวหลักจะถือแค่ 2-3 ปี เพราะคุณสมบัติไม่ครบ 3 ประการ แต่ราคายังต่ำกว่าพื้นฐาน ถ้ามั่นใจออกแนวข้อมูลแม่น ผมจะช้อนก่อน 5% จากนั้นไม่นานจะสอยเพิ่มอีก 5% ตรงข้ามหากไม่แน่ใจจะซื้อหุ้นหนึ่งตัว 3-5 ไม้ ไม้ละ 3% จนครบ 10% ส่วนกรณีชอบแต่ติดปัญหาไม่แน่ใจข้อมูลจะซื้อไว่ก่อนนิดหน่อย เมื่อหาข้อมูลได้แล้วค่อยเก็บเพิ่มเติม"

เมื่อ 5 ปีก่อน เคยขาดทุนหุ้นหนักถึง 50% นาน 3-4 เดือน แต่หลังจากนั้นกำไรก็เติบโตตลอด

“เซียนหุ้น VI” ยืนยันเป้าหมายการลงทุนว่า ไม่มีอะไรพิเศษ ขอแค่สนุกกับการลงทุน พอร์ตเติบโตเรื่อยๆ ทุกปี ไม่แพ้การเติบโตของตลาดหุ้นเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว ขอมีเงินเลี้ยงลูกและครอบครัว ผู้ชายธรรมดาที่รักการท่องเที่ยวก็มีความสุขแล้ว

ทำไมตั้งชื่อนามแฝงว่า Lingzhi? ไม่มีเป็นนัยสำคัญ เขาเงียบคิด ก่อนตอบว่า คงเป็นเพราะ “เห็ดหลินจือ” เป็นยาจีนใช้เวลาเก็บนาน เรียกว่ายิ่งนานยิ่งมีคุณค่า บ่งบอกถึงสไลต์การลงทุนของผม ซึ่งจะแตกต่างจาก “เห็ดฟาง” ที่ใช้เวลาเติบโตไม่นาน เมื่อถึงเวลาก็โดนเก็บไปขาย