หอคอยแห่งความหวังชื่อ 'โตเกียว ทาวเวอร์'

หอคอยแห่งความหวังชื่อ 'โตเกียว ทาวเวอร์'

ใครที่เคยไปโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น คงจะได้ไปเยี่ยมเยือนหรือคงต้องผ่านตากับโตเกียว ทาวเวอร์ (Tokyo Tower)

หอคอยเหล็กรูปทรงละม้ายคล้ายหอคอยไอเฟลของปารีส อันเป็นสัญลักษณ์ของเมืองและสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของ โตเกียว อย่างแน่นอน

แม้ในปัจจุบัน จะมี โตเกียวสกายทรี (Tokyo Skytree)ที่มาครองตำแหน่งหอคอยที่สูงที่สุดในญี่ปุ่นและในโลกแล้วก็ตาม แต่ชื่อของ โตเกียว ทาวเวอร์ก็ยังครองใจคนโตเกียวและคนญี่ปุ่นจำนวนมาก ไม่ใช่แค่ในฐานะของอดีตหอคอยที่สูงที่สุดเท่านั้น แต่ครั้งหนึ่งมันเคยเป็นตัวแทนแห่งความหวังอันเรืองรองของคนญี่ปุ่นในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่ประเทศกำลังต้องฟื้นฟูและพัฒนาไปข้างหน้าอย่างเข้มข้นและเข้มแข็ง

หลังสงครามในปี 1950 ประเทศญี่ปุ่น มองหาอนุสาวรีย์ เพื่อมาเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้แสดงอำนาจและอิทธิพลทางเศรษฐกิจของโลก รวมถึงความสามารถทางเทคโนโลยี รัฐบาลได้มีการอนุมัติเมกะโปรเจคสร้างชาติมากมายในช่วงเวลานี้ รวมถึงโครงการยักษ์อย่างโตเกียวทาวเวอร์ด้วยหอคอยแห่งนี้สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1958 มีความสูง 332.6 เมตร (1,091 ฟุต) ซึ่งครองตำแหน่งหอคอยที่สูงที่สุดในญี่ปุ่นมากว่า 50 ปี ก่อนจะโดนโค่นแชมป์ไปเมื่อปีที่แล้ว

บทความตอนหนึ่งจาก “50 ปีหอคอยโตเกียว จุดอ้างอิงในการศึกษางานออกแบบอุตสาหกรรมญี่ปุ่น“ ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กุลธิดา เตชวรสินสกุล ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแสดงให้เห็นว่าถึงความสำคัญของหอคอยที่สร้างเลียนแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกแห่งนี้ ที่มีต่อชาวอาทิตย์อุทัยไว้ว่า

“...คนญี่ปุ่นมีความผูกพันกับสัญลักษณ์ของการฟื้นฟูประเทศจากซากปรักหักพักของสงคราม โดยอาศัยเมกะโปรเจคอย่างการก่อสร้างหอคอยโตเกียว อันเป็นสิ่งท้าทายความสามารถในการออกแบบและเทคโนโลยีการก่อสร้างของประเทศญี่ปุ่นและมีจุดมุ่งหมายให้เป็นสัญลักษณ์ของญี่ปุ่นยุคใหม่ต่อชาวโลก หอคอยโตเกียวถือเป็นศูนย์รวมของความมานะพยายามบากบั่นและร่วมมือร่วมใจกันในการพัฒนาประเทศญี่ปุ่น...”

ไม่น่าแปลกใจที่เราจะได้เห็นโตเกียวทาวเวอร์ถูกใช้เป็นฉากสำคัญในหนังหลายเรื่องที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับแรงบันดาลใจหรือการสร้างชีวิตใหม่ในยุคหลังสงคราม และหนึ่งในหนังที่สร้างปรากฏการณ์ในบ้านเราอย่างมาก ก็คือ “Always Sunset on Third Street" )ของผู้กำกับ ทากาชิ ยามาซากิ ที่ออกฉายในปี 2005 (และยังมีภาค 2 และ 3 ตามมาสร้างความประทับใจกันอีก)

เรื่องราวของ Always Sunset on Third Street(หรือเรียกสั้นๆ ว่า Always) เกิดขึ้นในช่วงปีโชวะที่ 33 หรือ ค.ศ. 1958 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่นาน และเป็นช่วงที่กำลังก่อสร้างโตเกียวทาวเวอร์ใกล้จะเสร็จ หนังเล่าเรื่องของชุมชนซึ่งตั้งอยู่บนถนนสายที่ 3 ในเขตยูฮีของโตเกียว ซึ่งมีผู้คนหลากหลายอาศัยอยู่บนถนนสายนี้ และเต็มไปด้วยความฝันและความหวังมากมาย หลายชีวิตบนถนนสายที่ 3 เหล่านี้ นอกจากจะดำเนินชีวิตไปตามอย่างที่ทำมาโดยตลอดแล้ว ยังมีภาระให้ต้องคิดอ่านหาหนทางแก้ปัญหากับสมาชิกใหม่ที่แต่ละคนรับเข้ามาสู่ชีวิตของตน เป็นความวุ่นวายที่เต็มไปด้วย รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และคราบน้ำตา พร้อมๆ กับคำถามสำคัญที่ว่าชีวิตของแต่ละคนและชุมชนจะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ หลังจากที่หอคอยสูงตระหง่านนั้นสร้างเสร็จลง?

แม้จะเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อแสดงศักยภาพในด้านการก่อสร้างของชาวญี่ปุ่น แต่หน้าที่หลักของโตเกียวทาวเวอร์ ที่รับใช้มหานครหลวงแห่งนี้มายาวนาน ก็คือการเป็นหอคอยสื่อสารขนาดใหญ่ไว้คอยส่งสัญญาณคลื่นวิทยุโทรทัศน์ต่างๆ เช่น NHK TBS, FUJI TVฯลฯ และยังเป็นหนึ่งในจุดชมวิวที่ดีที่สุดของโตเกียว ปีหนึ่งๆ จะมีผู้เข้าชมหอคอยแห่งนี้มากกว่า 2.5 แสนคน บริเวณหอคอยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน ส่วนล่างสุดเป็นอาคารสูง 4 ชั้นที่ตั้งอยู่ใต้หอโดยตรง ภายในประกอบด้วย พิพิธภัณฑ์ ร้านค้า ภัตตาคาร ฯลฯ อีก 2 ส่วนที่เหลือเป็นจุดชมวิว ตั้งอยู่บนความสูง 150 เมตร และ 250 เมตรตามลำดับ

ในช่วงเวลากลางคืน โตเกียวทาวเวอร์ จะสวยงามโดดเด่นมองเห็นในระยะไกลด้วยแสงไฟจำนวนกว่า160ดวงที่ส่องสว่างและสร้างความงามที่แตกต่างไปจากช่วงกลางวัน ตัดกับท้องฟ้าสีเข้มยามค่ำคืนและมีแสงสีของมหานครใหญ่เป็นฉากหลัง แม้หอคอยแห่งนี้จะไม่เปิดให้ขึ้นไปชมทิวทัศน์ยามค่ำคืน แต่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ เขาจะเปิดโอกาสให้กับผู้โชคดีเพียงไม่กี่คน ให้สามารถขึ้นไปนั่งชมความงามของโตเกียวในยามค่ำของคืนส่งท้ายปีเก่าและรอชมแสงอรุณรุ่งแห่งความหวังของเช้าปีใหม่...

ที่ว่ากันว่าโรแมนติกและงามจับตาจับใจที่สุดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นทีเดียว

Place: Tokyo Tower, Tokyo
Country: Japan
Height: 333 m (1,093 ft)
Construction : started June 1957
Completed : 1958
Movie: Always Sunset on Third Street (2005)
Director: Takashi Yamazaki
Casts: Maki Horikita, Hidetaka Yoshioka, Shinichi Tsutsumi, Koyuki, Hiroko Yakushimaru, KazukiKoshimizu, Kenta Suga