ลดราคา'ทีวีดิจิทัล'ธุรกิจ เงินวูบ5พันล้าน

ลดราคา'ทีวีดิจิทัล'ธุรกิจ เงินวูบ5พันล้าน

อนุฯชงราคาตั้งต้นใหม่ ประมูล "ทีวีดิจิทัล" ธุรกิจ 24 ช่อง "ลดราคา" ทุกประเภท คาดวงเงินราคาประเมินมูลค่าคลื่นฯ วูบกว่า 5 พันล้านบาท

หลังจากทีมวิจัยมูลค่าคลื่นความถี่ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ประเมินราคาตั้งต้นมูลค่าคลื่นโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ทีวีดิจิทัล) ประเภทธุรกิจ 24 ช่อง ต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ครั้งแรกในช่วงต้นเดือนมี.ค. 2556 ภายใต้สูตรการแบ่งประเภทช่อง 5-5-10-4 ซึ่งประกอบด้วยช่องรายการความชัดมาตรฐาน (standard definition : SD) และช่องรายการความคมชัดสูง (high definition : HD) แบ่งเป็นช่องเด็กเอสดี 5 ช่อง, ข่าวเอสดี 5 ช่อง วาไรตี้เอสดี 10 ช่อง และ วาไรตี้เอชดี 4 ช่อง

เดิมรายงานผลการศึกษาราคาตั้งต้น ได้กำหนดกรอบราคาเดิมไว้ที่ช่องเอชดี เฉลี่ยราคาเริ่มต้นระดับ 1-3 พันล้านบาทต่อช่อง ส่วนช่องเอสดี ราคาประมูลทั้ง 3 ประเภท ไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อช่อง โดยช่องเด็กต่ำสุดไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อช่อง

อย่างไรก็ตาม การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2556 ได้เห็นชอบปรับสูตรการแบ่งประเภทการประมูลทีวีดิจิทัล 24 ช่องธุรกิจใหม่ โดยใช้สูตร 3-7-7-7 ประกอบด้วยช่องรายการความคมชัดมาตรฐาน ช่องเด็ก 3 ช่อง ช่องข่าว 7 ช่อง ช่องวาไรตี้ 7 ช่อง และ ช่องวาไรตี้ เอชดี 7 ช่อง โดยชี้แจ้งว่าจากการทดลองออกอากาศทีวีดิจิทัล โดยช่องฟรีทีวี อนาล็อก พบว่าสามารถจัดสรรคลื่นฯ ทีวีดิจิทัล ประเภทช่องเอชดีได้เพิ่ม จึงมีการกำหนดสัดส่วนประเภทช่องใหม่

ส่งผลให้คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้องนำปัจจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนประเภทช่องรายการ อีกทั้งประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป หรือ มัสต์แคร์รี่ (Must Carry) ที่กำหนดให้ช่อง "ฟรีทีวีดิจิทัล" แพร่ภาพได้ทุกแพลตฟอร์มการรับชมทั้งโทรทัศน์ระบบภาคพื้นดิน ทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวี ทำให้การออกอากาศ "ทีวีดิจิทัล" จะมีต้นทุนจากค่าบริการโครงข่าย (Multiplexer : Mux) ที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณทีวีดิจิทัลไปในทุกแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้น จากเดิมที่คาดว่าค่าโครงข่ายจะอยู่ที่ปีละ 40-50 ล้านบาท/ช่อง จากประกาศฯ มัสต์แคร์รี่ ทำให้ค่าบริการโครงข่ายจะอยู่ที่ปีละ 60 ล้านบาท

ลดราคาตั้งต้นกดรายได้ "วูบ"

แหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ทีมวิจัยมูลค่าคลื่นฯ จุฬาฯและผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ได้ประเมินมูลค่าคลื่นฯ และกำหนดราคาตั้งต้น "ทีวีดิจิทัล" ใหม่หลังปรับสูตรช่องรายการเป็น 3-7-7-7 พร้อมนำปัจจัยเรื่องต้นทุนโครงข่ายจากประกาศฯ มัสต์แคร์รี่มาคำนวณ ซึ่งนับเป็น "ความเสี่ยง" ทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นกับผู้ประมูลในอนาคต จากประกาศฯ มัสต์ แคร์รี่ ที่อาจถูกกำหนดไว้ในเงื่อนไขการประมูลให้ช่องทีวีดิจิทัล ต้องแพร่ภาพในทุกแพลตฟอร์มการรับชม

ดังนั้น ทีมวิจัยจุฬาฯ จึงได้กำหนดราคาตั้งต้นช่องทีวีดิจิทัล ช่องธุรกิจใหม่ โดยมีราคาลดลงจากเดิม คือ ช่องเอชดี ราคา 1,000-1,500 ล้านบาทต่อช่อง, วาไรตี้และข่าวเอสดี เฉลี่ยเท่ากันที่ 200-400 ล้านบาทต่อช่อง และช่องเด็กราคา 100-200 ล้านบาทต่อช่อง ทั้งนี้ การกำหนดราคาตั้งต้นช่องวาไรตี้และข่าวเอสดี เกือบ "เท่ากัน" เพราะว่าปัจจุบันคอนเทนท์ทั้ง 2 ประเภทนี้ มีความใกล้เคียงกันมาก เช่น รายการประเภทเล่าข่าว มีลักษณะใกล้เคียงรายการวาไรตี้

ทั้งนี้ การลดราคาตั้งต้นประมูลลง คาดว่าจะทำให้รวมรายได้ราคาตั้งต้นช่องทีวีดิจิทัล 24 ช่องธุรกิจ ที่จะประมูลในราวเดือนส.ค.-ก.ย. นี้ อยู่ที่ 15,000-16,000 ล้านบาท ลดลงจากเดิมที่คาดว่ามูลค่ารวมจะอยู่ที่ราว 20,500 -20,700 ล้านบาท โดยคณะอนุฯ จะเสนอราคาตั้งต้นทีวีดิจิทัล 24 ช่องธุรกิจใหม่ เพื่อให้บอร์ด กสท. พิจารณา หากเห็นชอบ จะไปสู่ขั้นตอนการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ก่อนนำข้อมูลมาปรับปรุง เพื่อจัดทำเป็นประกาศ กสทช. กำหนดราคาตั้งต้นประมูลทีวีดิจิทัล กลุ่มธุรกิจต่อไป

ชี้ปัจจัยเสี่ยง "มัสต์แคร์รี่"

นายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กรรมการ กสทช. และ กรรมการ กสท. เปิดเผยว่าปัจจุบันทีมวิจัยจุฬา ที่ศึกษามูลค่าคลื่นความถี่ทีวีดิจิทัล ชี้แจ้งว่าเนื่องจากการให้บริการช่องทีวีดิจิทัล มีความเสี่ยงจากต้นทุนค่าเช่าโครงข่ายสูง อันเป็นผลมาจากประกาศ มัสต์แคร์รี่ ที่ประกาศใช้เพื่อแก้ปัญหา"จอดำ" รายการลิขสิทธิ์ทางฟรีทีวี ซึ่งกำหนดให้ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ ต้องให้ประชาชนได้รับบริการโทรทัศน์เป็นการทั่วไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระบบภาคพื้นดินและผ่านดาวเทียม โดยผู้ให้บริการโครงข่ายเรียกเก็บค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายอย่างเหมาะสม เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ

ปัจจุบัน การบังคับใช้ประกาศมัสต์แคร์รี่ ยังมีการ "ตีความ" เนื้อหาในประกาศฯ "ไม่ชัดเจน" ว่าโครงข่ายจะต้องทำหน้าที่ส่งสัญญาณทีวีดิจิทัลระบบภาคพื้นดิน รวมทั้งสัญญาณดาวเทียมในเวอร์ชั่นเดิม หรือ DVB-S1 หรือไม่ เพราะกล่องรับสัญญาณ (Set top box) ของครัวเรือนไทยส่วนใหญ่ 60-70% เป็นกล่องระบบ S1 รับสัญญาณภาพ MPEG-2 ขณะที่มาตรฐานการส่งสัญญาณทีวีดิจิทัล กำหนดให้เป็นเวอร์ชั่น 2 หรือ DVB-S2 ซึ่งเป็นสัญญาณภาพ MPEG-4 ซึ่งหากต้องส่งสัญญาณทั้งโทรทัศน์ดิจิทัล ภาคพื้นดิน ทีวีดาวเทียม ระบบซีแบนด์ และเคยูแบนด์ ทั้งเวอร์ชั่นเก่า S1 และเวอร์ชั่นใหม่ S2 จะทำให้ค่าเช่าโครงข่ายมีอัตราสูงมาก หรือ กว่า 60 ล้านบาทต่อปี

จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้ทีมวิจัยจุฬาฯ ต้องปรับราคาตั้งต้นประมูลทีวีดิจิทัล "ให้ต่ำลง" เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบกิจการระดับเล็กและระดับกลาง ที่มีความสามารถด้านการผลิตคอนเทนท์ ได้มีโอกาสเข้าร่วมประมูลมากที่สุด

"การตั้งราคาประมูลทีวีดิจิทัลธุรกิจต่ำ เพื่อสร้างเวทีการแข่งขันแบบเปิดกว้าง ให้ผู้สนใจประมูลเข้ามาร่วมประมูลให้ได้จำนวนมากที่สุด" นายธวัชชัย กล่าว