นอนไม่หลับ ในทัศนะแพทย์แผนจีน

นอนไม่หลับ ในทัศนะแพทย์แผนจีน

กล่าวถึงอาการนอนไม่หลับ คิดว่าทุกท่านคงเคยเป็น บางคนอาจใช้ยาช่วยแค่ชั่วคราวก็พอ ต่างกับอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งอาการเป็นเรื้อรัง

กล่าวถึงอาการนอนไม่หลับ คิดว่าทุกท่านคงเคยเป็น ส่วนใหญ่คนเราอาจมีอาการนอนไม่หลับบ้างเป็นครั้งคราว เช่นมีเรื่องให้ครุ่นคิด ให้ตัดสินใจหรือมีเรื่องให้เศร้าใจ ถ้าผ่านพ้นเหตุการณ์นั้นไปแล้วก็สามารถกลับมานอนหลับได้ดังเดิม อาการดังกล่าวนี้ยังไม่ถือว่าเป็นโรค อาจใช้ยาช่วยแค่ชั่วคราวก็พอ ต่างกับอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งอาการเป็นเรื้อรัง แม้บางครั้งไม่มีเหตุการณ์ใดๆ มากระตุ้นก็ยังคงนอนไม่หลับ

ทางการแพทย์แผนจีนได้อธิบายถึงสาเหตุของการนอนไม่หลับว่า ปัจจัยหลักก็คือ "จิต" ซึ่งสัมพันธ์กับหัวใจในทางแผนจีน (หัวใจเป็นที่อยู่ของจิต) โดยเฉพาะถ้าอยู่ในภาวะเลือดลมไม่พอ ส่งผลให้เลือดหล่อเลี้ยงหัวใจน้อยลง ก็ทำให้มีอาการนอนหลับยาก เช่นหลังจากผ่าตัดเสียเลือดมากจะมีอาการนอนหลับยาก หลับๆ ตื่นๆ ทั้งคืน หรือในผู้หญิงหลังคลอดมักจะพบปัญหานี้ ซึ่งก็อธิบายไว้ว่าภาวะเลือดลมไม่พอ ทำให้ขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงหัวใจซึ่งเป็นที่อยู่ของจิต จิตก็จะว้าวุ่น คิดไปเรื่อยเปื่อย อาการที่แสดงออกมาคือนอนหลับยาก

อีกแบบหนึ่งของอาการนอนไม่หลับคือ หลับง่ายแต่สะดุ้งตื่นตอนตี1 ตี2 ลักษณะการนอนแบบนี้ทางแผนจีนถือว่าอยู่ในภาวะไตอ่อนแอ พบได้ในคนที่อาจอยู่ในช่วงที่หวาดกลัว ตกใจอะไรสักอย่างหรือเกิดจากการทำงานหนักเกินไป ส่งผลให้มีการใช้พลังงานของไตมากเกินไป

อาการนอนไม่หลับอีกแบบหนึ่งที่พบคือ ตื่นนอนเช้าเกินเช่น ตี 3 ตี 4 แล้วจะรู้สึกง่วงอีกทีตอนสาย อาการเช่นนี้ส่วนใหญ่จะพบในผู้ที่อยู่ในอารมณ์วิตกกังวล ไม่กล้าตัดสินใจกรณีนี้เชื่อมโยงได้กับการทำงานของถุงน้ำดี ส่วนผู้ที่นอนแล้วเหมือนหลับๆ ตื่นๆ ฝันมาก รุ่งเช้าตื่นขึ้นมาเหมือนไม่ได้นอนนั้น อธิบายว่าเป็นเพราะการทำงานของตับที่ปรวนแปร หยางตับเยอะเกิน เช่น จากอารมณ์โกรธ มักพบในผู้ที่อยู่วัยกลางคน

ฉะนั้น การรักษาจึงแก้ตามสาเหตุ เช่น ผู้ที่นอนหลับยากหลังจากเสียเลือดหรือการเจ็บป่วยเรื้อรัง มักจะสัมพันธ์กับภาวะเลือดพร่อง จึงต้องรักษาด้วยการบำรุงเลือด ผู้ที่หลับๆ ตื่นๆ ทั้งคืนจากภาวะหยางตับมากไป ก็ช่วยด้วยการฝังเข็มระบายหยางตับ หรือใช้ยาจีนปรับสมดุล ส่วนผู้ที่ไตหยินไม่พอมักสะดุ้งตื่นตอนกลางคืน ก็เลือกปักเข็มเพื่อบำรุงไตหยิน หรืออาจใช้ยาจีนร่วมด้วย ผู้ที่มีอาการตื่นนอนเช้าเกิน ก็รักษาด้วยการฝังเข็มกระตุ้นเส้นลมปราณถุงน้ำดี

ทั้งนี้ ในผู้สูงอายุมักจะมีเลือดลมน้อยอยู่แล้วตามอายุ ประกอบกับช่วงกลางวันไม่มีกิจกรรมทำ ทำให้กลางคืนนอนไม่หลับ ส่วนผู้ที่นอนกรนร่วมด้วยมักมาจากภาวะอาหารไม่ย่อย ฉะนั้น การรักษาต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ไม่ทานมื้อดึกหรือทานอาหารเย็นเยอะไป ร่วมกับการใช้ยาที่ช่วยในการย่อย ผู้ที่ครุ่นคิดมากไป ทางแผนจีนถือว่าจะทำให้เลือดลมถูกใช้ไปมาก เป็นผลให้เกิดภาวะเลือดพร่องนำไปสู่อาการหลับยาก นอกจากใช้ยาจีนและฝังเข็มรักษาแล้ว การพักผ่อนหย่อนใจโดยการออกไปเดินเล่นชมนกชมไม้ สูดอากาศบริสุทธิ์ มีส่วนช่วยในการนอนหลับเป็นอันมาก

ส่วนผู้ที่มีอาการซึมเศร้า ส่งผลต่อการนอนหลับแนะนำให้นำเก๋ากี้มาแช่น้ำร้อนดื่มเป็นประจำแทนน้ำ นอกจากนี้การตกใจกลัวในเหตุการณ์บางอย่างทำให้มีผลต่อการทำงานของไต มีการใช้พลังงานของไตมากขึ้น ผู้ป่วยจะตื่นขึ้นมากลางดึกเหมือนหวาดผวาอะไรสักอย่าง การฝังเข็มก็สามารถช่วยได้

ส่วนท่าในการนอนที่แนะนำ ควรจะเป็นท่าที่ตะแคงเอาข้างขวาลง เพื่อให้เลือดหมุนเวียนเทลงไปเลี้ยงตับได้มากขึ้น การนอนหลับถือว่าเป็นปัจจัยหลักของการดูแลสุขภาพ ถ้าการนอนหลับมีปัญหาโดยที่ไม่รีบแก้ไข ไม่ช้าไม่นานโรคภัยก็จะมาเยือน