ดัน 'รถไฟฟ้ารางเดี่ยว'รับการเติบโตเชียงใหม่

ดัน 'รถไฟฟ้ารางเดี่ยว'รับการเติบโตเชียงใหม่

Isnap 15 เม.ย. นายก อบจ.เชียงใหม่ มีแนวคิดจะทำรถไฟฟ้ารางเดี่ยวให้เป็นระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่เพื่อสอดรับการโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง

"เชียงใหม่ยังไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่เป็นรูปธรรมรองรับประชาชน และนักท่องเที่ยวได้"

"เชียงใหม่" ถือเป็นหัวเมืองใหญ่ของภาคเหนือตอนบนทั้งด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวปีละ 2-3 ล้านคน เม็ดเงินสะพัดปีละกว่า 2-3 หมื่นล้านบาท แต่กลับพบว่าไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่ดีพอรองรับ

"บุญเลิศ บูรณุปกรณ์" นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ มีแนวคิดจะทำรถไฟฟ้ารางเดี่ยว ให้เป็นระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่ขึ้น เพื่อสอดรับการโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ พร้อมกับตัดถนนวงแหวนรอบที่ 4 และรอบที่ 5 เพื่อระบายการจราจรที่คับคั่งในเขตเมือง

"บุญเลิศ" กล่าวว่าห้วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา ยอมรับว่าเชียงใหม่เป็นเมืองที่ได้รับการดูแลจากรัฐบาลมาก หลายโครงการเตรียมลงมือดำเนินการ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ขณะนี้มีการทำประชาพิจารณ์ แล้ว ตนเป็นหนึ่งในคณะกรรมการร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เชื่อว่ารถไฟความเร็วสูงนี้จะเป็นจุดดึงดูดให้คนมาเชียงใหม่ รวมถึงรองรับการเปิดประชาคมอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ อบจ.เชียงใหม่ มีแนวคิดที่จะทำระบบขนส่งเชียงใหม่ขึ้น เพราะเมืองเชียงใหม่ปัจจุบันโตเร็วมาก มีรถยนต์และรถจักรยานสัญจรไปมาหนาแน่น ตามความเจริญเติบโตของสภาพเศรษฐกิจ แต่เชียงใหม่เองยังไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่เป็นรูปแบบรองรับประชาชน และนักท่องเที่ยวได้ ซึ่งจะจัดทำในรูปแบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว มูลค่าโครงการ 8 พันล้านบาท ระยะเวลาสร้างเสร็จภายใน 5 ปี

โดยแบ่งการเดินรถไฟฟ้าฯ ออกเป็น 2 เส้นทาง เชื่อมต่อในเขต อ.เมือง ระยะทาง 28 กิโลเมตร เริ่มต้นเส้นทางตั้งแต่บริเวณอุทยานหลวงราชพฤกษ์ ปลายทางศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา โดยผ่านรอบคูเมืองเชียงใหม่และท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ รองรับผู้โดยสารและนักท่องเที่ยว เป็นรถรางเดี่ยว แต่ละเที่ยวจะรองรับผู้โดยสารได้ 120 คน หากเป็นช่วงเวลาเร่งด่วนจะรองรับผู้โดยสารได้ 200 คน ความเร็ว 28 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เบื้องต้นคาดการณ์ว่าแต่ละรอบจะใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที จะควบคุมด้วยระบบสัญญาณจราจร

"แนวคิดดังกล่าวมีการศึกษาต้นแบบมาจากฝรั่งเศส ซึ่งมีการอนุรักษ์โบราณสถานและรักษาความเป็นเมืองเก่าผสมผสานกับความทันสมัย อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้เป็นอย่างดี แนวคิดนี้น่าจะมีความเหมาะสมกับเชียงใหม่ ไม่กระทบโบราณสถาน เพราะตัวรางมีขนาด 12 นิ้วและเงียบมาก" บุญเลิศ กล่าว

ขณะนี้แนวคิดดังกล่าวได้มีการหารือกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายนิวัฒน์ธํารง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรีแล้ว โดยรูปแบบจะเป็นการร่วมลงทุน 3 ฝ่าย คือ รัฐบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และบริษัทที่ทำรถราง ซึ่งรัฐบาลได้ก็ได้เห็นชอบเบื้องต้น และช่วงสงกรานต์นี้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาเชียงใหม่ ได้นำเรื่องดังกล่าวหารือด้วย หากได้รับความเห็นชอบก็จะจัดทีมทำงานดำเนินการได้เลย ทั้งนี้จะชี้ให้นายกฯ เห็นถึงปัญหาระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่ว่าหากไม่ได้รับการแก้ไขจะเป็นการจราจรจะเป็นอัมพาต

นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดจัดทำวงแหวนรอบที่ 4 และวงแหวนรอที่ 5 เพื่อแก้ปัญหาการจราจรบริเวณชานเมืองไม่ให้เข้ามาในตัวเมือง ขณะนี้วงแหวนรอบที่ 4 ได้มีการวางแนวทางและสำรวจเส้นทางแล้ว โดยจุดแรกจะเริ่มต้นจาก อ.หางดง อ.สารภี อ.สันกำแพง อ.ดอยสะเก็ด อ.สันทราย และสิ้นสุดอ.แม่ริม ส่วนจุดตัดยังไม่มีการสรุปที่แน่ชัดแต่คาดว่าน่าจะเลยจาก อ.แม่ริมไปเล็กน้อย ทั้งนี้ จะพยายามสร้างจุดต่อเชื่อมให้สมบูรณ์ที่สุด

"ตอนนี้ติดปัญหาจากบริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า ไปยังอ.แม่ริม ระยะทางขาดไป 2 กิโลเมตร เนื่องจากเป็นพื้นที่ทหาร ตอนนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยเจรจาอยู่ ถ้าสามารถเชื่อมต่อได้ก็จะเข้าสู่อ.แม่ริมเลย" บุญเลิศ กล่าว

ทั้งนี้ อบจ.เชียงใหม่ เองยังมีการวางแผนทำเส้นทางวงแหวนรอบที่ 5 เพิ่มเติม บริเวณ อ.แม่แตง โดย "บุญเลิศ" ระบุว่า เพื่อเป็นการเชื่อมกับจังหวัดลำพูน โดยไม่ให้รถยนต์ที่จะเดินทางจากจังหวัดลำปางเข้าสู่เชียงราย ผ่านทางเชียงใหม่ แต่จะให้ผ่านทาง อ.สันกำแพง อ.ดอยสะเก็ด และมุ่งเข้าสู่เชียงรายได้เลย ทั้งนี้ บริเวณ อ.สันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีแนวทางที่จะสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ ซึ่งวงแหวนรอบที่ 5 จะสามารถตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี

"บุญเลิศ" กล่าวว่า ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ เป็นท่าอากาศยานที่รองรับผู้โดยสารได้ปีละ 5 ล้านคน ได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับที่ 4 ของโลกด้านการบริการโดยเฉพาะการตรงเวลา ซึ่งถือเป็นท่าอากาศยานนานาชาติที่สมบูรณ์แบบ แต่สภาพขณะนี้พบว่ามีความแออัดค่อนข้างสูง และคาดการณ์ว่าจะให้บริการได้ต่อเนื่องไม่เกิน 10 ปีหากอัตราการเจริญเติบโตของเชียงใหม่ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จำเป็นต้องมีการสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่เพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสาร