โซเชียลฯ อารมณ์ไหน รู้ได้ด้วย เอส-เซนส์

โซเชียลฯ อารมณ์ไหน รู้ได้ด้วย เอส-เซนส์

I snap 10 เม.ย.ระบบจัดการภาษาที่ไม่มีโครงสร้างที่แน่นอน ทำให้เราเข้าใจความรู้สึกของคนบนโซเชียล เน็ตเวิร์คได้ง่ายขึ้น

"อยากไปสวนรถไฟ หึหึ !! จัดไปเลยยยย เสาร์-อาทิตย์นี้"

"ทำไมเชียงใหม่ร้อนจุง :-("

"เอเชียทีคสวยยยยยจุงเบย ชอบอ่ะ"

"อยากอยู่เขาใหญ่ต่ออากาศดีมีความสุขมากกกกกกก"

ตัวอย่างข้อความที่พบเห็นได้ทั่วไปบนโลกโซเชียล เน็ตเวิร์ค สะท้อนให้เห็นถึงวิวัฒนาการรายวันของภาษาชนิดที่สามารถมีคำศัพท์ใหม่ๆ เกิดขึ้่นได้ทุกวัน กลายเป็นโจทย์ปราบเซียนสำหรับเครื่องมือวิเคราะห์การตลาดบนโลกโซเชียลที่ต้องวิ่งไล่ตามความเปลี่ยนแปลงถ้าคิดจะอยากรู้ว่า "ผู้บริโภคยุคดิจิทัลคิดอย่างไรกับแบรนด์สินค้าของเรา"

โพสต์เปลี่ยนโลก

เพราะต้องยอมรับข้อความโพสต์หรือทวีตชื่นชน นิยม กร่น บ่น ด่าบนโซเชียล เน็ตเวิร์ค โดยเพาะที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก เช่น เฟซบุ๊คและทวิตเตอร์ สามารถสร้างกระแสเปลี่ยนแปลงโลกได้แม้แค่เพียงข้อความเดียวแม้ผู้โพสต์จะไม่ใช่คนดังก็ตาม แต่เป็นเรื่องราวที่สร้างความสนใจให้กับสังคม ทำให้ปัจจุบันนักการตลาดหันมาจับตากับความเคลื่อนไหวบนช่องทางเหล่านี้อย่างไม่กะพริบตา

นางสาวอลิสา คงทน นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีเสียง หน่วยวิจัยวิทยาการสารสนเทศ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) บอกว่า ภาษาบนโซเชียล เน็ตเวิร์คที่ไม่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์และความยากของโครงสร้างภาษาไทยทำให้ระบบวิเคราะห์ข้อมูลบนโซเชียลปัจจุบันยังไม่สามารถแสดงผลลัพธ์ได้แม่นยำนัก

แต่ความสามารถของ "ระบบประมวลผลภาษาธรรมชาติสำหรับภาษาไทย" ที่เป็นงานวิจัยชิ้นสำคัญของเนคเทคมากว่า 10 ปี ประกอบกับพัฒนาการของเทคโนโลยี "แมชชีน เลิร์นนิ่ง" ที่ให้คนสอนให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้ให้ฉลาดขึ้นจนเกิดเทคโนโลยี "เอส-เซนส์ (S-Sense)"

"เบื้องหลังของเอส-เซนส์คือ ระบบการจัดการกับภาษาที่ไม่มีโครงสร้างที่แน่นอน โดยระบบจะรวบรวมข้อมูลของแบรนด์หรือหัวข้อที่สนใจเข้ามาจากเว็บบอร์ดหรือโซเชียล เน็ตเวิร์คต่างๆ เข้ามาสู่เอ็นจิ้นตั้งแต่การประมวลผลภาษาธรรมชาติ การทำเหมืองข้อความ และวิเคราะห์อารมณ์ความรู้สึกจากข้อความ ก่อนจะแสดงผลลัพธ์ในรูปของอินเตอร์แอคทีฟ แดชบอร์ด หรือการแสดงผลเป็นกราฟหรือข้อมูลที่ทำให้เราเข้าใจความรู้สึกของคนบนโซเชียล เน็ตเวิร์คได้ง่ายขึ้น"

เธอ บอกด้วยว่า เทคโนโลยีเอส-เซนส์ สามารถประยุกต์ใช้กับภาษาอื่นๆ ได้ เช่น ภาษาอังกฤษ เพราะการตัดคำเพื่อนำมาวิเคราะห์ว่าเป็นบวกหรือลบสามารถทำได้ง่ายกว่าภาษาไทยมาก

ทั้งยังเป็นขั้นกว่าของเทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูลทางการตลาดที่บรรดาเฟซบุ๊ค กูเกิล หรือทรูฮิต มีให้บริการเป็นพื้นฐานสำหรับนักการตลาด แต่ก็ยังไม่ลึกซึ้ง หรือเข้าใจได้ถึงอารมณ์ของผู้บริโภคได้เท่ากับเอส-เซนส์ ที่พัฒนามาเพื่อตอบโจทย์ภาษาไทยโดยเฉพาะ

เปิดทางพันธมิตรร่วมต่อยอด

นายชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีเสียง หน่วยวิจัยวิทยาการสารสนเทศ เนคเทค กล่าวว่า ปัจจุบันระบบสามารถวิเคราะห์ได้ถูกต้องราว 85% ซึ่งใกล้เคียงความจริง

โดยในช่วงเริ่มต้นเนคเทคออกแบบให้ธุรกิจที่สนใจสามารถนำไปใช้งานได้โดยเป็นโมเดลการเจรจาแบบเคส บาย เบส ทั้งการนำ "เอส-เซนส์ โซลูชั่น" ไปติดตั้งบนเซิร์ฟเวอร์ เพื่อปรับแต่งการใช้งานให้ตอบตรงความต้องการมากขึ้น ซึ่งเป็นแบบที่ต้องลงทุนฐานข้อมูลสูง และแบบ "เอส-เซนส์ เว็บ เซอร์วิส" ที่เรียกใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งก็จะเป็นฟังก์ชันมาตรฐานที่เหมาะสำหรับการเริ่มต้นหรือทดสอบใช้งานก่อน

อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องมีระบบฐานข้อมูลสำหรับเก็บข้อความคอมเมนท์ต่างๆ ที่มากถึงหลักหลายแสนคอมเมนท์ถึงหลักหลายล้านข้อความต่อวัน ซึ่งเนคเทคจำเป็นต้องอาศัยพันธมิตรที่มีความพร้อมที่จะติดตั้งระบบฐานข้อมุูล และบริษัทวิจัยตลาดที่มีความรู้ความสามารถในการทำวิจัยตลาดอยู่แล้วเพื่อทำให้ข้อมูลที่วิเคราะห์ได้ถูกนำไปใช้ต่อให้เกิดประโยชน์

ทั้งนี้แม้ว่าปัจจุบันจะมีบริษัทพัฒนาโปรแกรมวิเคราะห์การตลาดบนโซเชียลหลายราย แต่ก็ยังไม่มีรายใดที่สามารถวิเคราะห์ภาษาไทยได้แม่นยำเท่ากับเอส-เซนส์ ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของเทคโนโลยีคนไทยที่พร้อมจะต่อยอดจากงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์

รู้ใจคนด้วยแอพ "ป๊อบ"

อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ใช้งานทั่วไปก็สามารถรู้อารมณ์ความรู้สึกของโลกเซียล เน็ตเวิร์คได้ โดยผ่านเว็บไซต์ http://pop.ssense.in.th ซึ่งทดลองดึงคีย์เวิร์ดที่เน้นข้อความที่มีอารมณ์ความรู้สึกติดมาด้วยจากทวิตเตอร์ภาษาไทยเพื่อแสดงอารมณ์แบลเรียลไทม์ว่า ความรู้สึกของผู้ใช้ทวิตเตอร์ในขณะนั้นเป็นอย่างไร โดยแสดงผลเป็นใบหน้าแสดงอารมณ์ต่างๆ เช่น ยิ้ม เศร้า โกรธ

"ป็อบ แอพ เหมือนเป็นโชว์เคสให้เห็นความสามารถของเทคโนโลยีว่าก้าวไปถึงระดับที่รู้อารมณ์คนได้แล้ว และเร็วๆ นี้ก็จะเตรียมเปิดตัวในแบบแอพพลิเคชั่นให้ใช้งานได้บนระบบไอโอเอสในงานไทยแลนด์ ออนไลน์ เอ็กซ์โป"