กสท.แจกไลเซ่นทีวีสาธารณะ ชงรายเดิม4ช่อง

กสท.แจกไลเซ่นทีวีสาธารณะ ชงรายเดิม4ช่อง

บอร์ด กสท.เคาะ 12 ช่อง "ทีวีดิจิทัล"สาธารณะ จัดสรร"รายเดิม" 4 ช่อง ออกอากาศคู่ขนานระบบอนาล็อก เปิด "รายใหม่" ขอไลเซ่น 8 ช่อง

การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) วานนี้ (25 มี.ค.) ที่ประชุมบอร์ด กสท. เห็นชอบ 3:2 เสียง กำหนดช่องรายการสำหรับกิจการบริการสาธารณะโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ทีวีดิจิทัลสาธารณะ) จำนวน 12 ช่องรายการ ตามที่กำหนดประเภทและคุณสมบัติผู้มีสิทธิยื่นขอใบอนุญาต ตาม มาตรา 10 พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ พ.ศ. 2551

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธาน กสท. กล่าวว่า บอร์ด กสท. เสียงข้างมาก "เห็นชอบ" กำหนดการให้ใบอนุญาตช่องรายทีวีดิจิทัล ประเภทสาธารณะ 12 ช่อง โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้ประกอบการรายเดิม (ฟรีทีวี อนาล็อก) 3 ช่อง คือ ช่อง 5 (กองทัพบก), ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ และ ไทยพีบีเอส ได้สิทธิการออกอากาศ "ทีวีดิจิทัลสาธารณะ" คู่ขนานกับระบบ "อนาล็อก" ในรูปแบบ Simulcast เพื่อเป็นการให้บริการประชาชนทั่วไป ได้เข้าถึงระบบดิจิทัลไปจนกว่าจะสิ้นสุดระยะเวลาการใช้คลื่นความถี่อนาล็อก ตามที่ กสท.กำหนดให้ผู้ประกอบการรายเดิม ซึ่งดำเนินการตามมาตรา 82 และมาตรา 83 ของ พ.ร.บ.องค์จัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553

นอกจากนี้ ได้จัดสรร ทีวีดิจิทัลสาธารณะ ให้ "รายเดิม" ช่องที่ 4 ให้กับไทยพีบีเอส ภายใต้บันทึกข้อตกลงเบื้องต้น (MOU) ระหว่าง กสทช. กับ ไทยพีบีเอส ภายใต้เงื่อนไข ไทยพีบีเอส คืนคลื่นความถี่โทรทัศน์ อนาล็อก ภายใน 3 ปี หลังจากนั้น กสทช. จะจัดสรร ทีวีดิจิทัลสาธารณะ ความคมชัดสูง (HD) ให้ไทยพีบีเอส 2 ช่อง โดยช่องแรกเป็นผังทีวีสาธารณะรูปแบบเดียวกับที่นำเสนอในปัจจุบัน ส่วนช่องที่ 2 รูปแบบทีวีสาธารณะ ช่องเด็กและครอบครัว พร้อมจัดสรรใบอนุญาตโครงข่าย (Multiplexer) 1 โครงข่าย และใบอนุญาตสิ่งอำนวยความสะดวก (เสาส่งสัญญาณ) ให้ไทยพีบีเอส

การจัดสรรใบอนุญาตทีวีดิจิทัลสาธารณะ 2 ช่อง, โครงข่าย และสิ่งอำนวยความสะดวก ให้ไทยพีบีเอส เนื่องจากไทยพีบีเอส กำหนดคืนคลื่นฯ UHF ฟรีทีวี อนาล็อก ให้ กสทช. ซึ่งโดยปกติสามารถนำมาจัดสรรทีวีดิจิทัล ระบบเอชดี ได้ 4 ช่อง หรือ ทีวีดิจิทัล ความคมชัดทั่วไป (SD) 14 ช่อง

ทั้งนี้ ไทยพีบีเอส ได้จัดทำแผนคืนคลื่นฯ เป็นเฟส โดยเฟสแรกจะเริ่มภายใน 6 เดือนจากนี้ ทำให้ กสทช. สามารถนำคลื่นความถี่ดังกล่าวมาจัดสรรเป็นทีวีดิจิทัล ธุรกิจ ประเภท HD ได้เพิ่ม ตามสูตรประมูลใหม่ 3-7-7-7 ที่บอร์ด กสท.ได้เห็นชอบไปเมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา จากเดิมจะประมูลประเภทวาไรตี้ เอชดี 4 ช่อง เพิ่มเป็น 7 ช่อง

แจกรายใหม่8ช่องอายุ 4 ปี

สำหรับอีก 8 ช่อง ทีวีดิจิทัลสาธารณะ ที่เหลือจะพิจารณาให้ใบอนุญาตตามคุณสมบัติ (beauty contest) กับหน่วยงานสาธารณะที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.การประกอบกิจการฯ ปี 51 ในมาตรา 11

โดยกำหนดประเภททีวีสาธารณะ ตามวัตถุประสงค์ ประกอบด้วย ช่องที่ 5 เพื่อการส่งเสริมความรู้ การศึกษา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม, ช่องที่ 6 เพื่อส่งเสริมศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม การเกษตร และการส่งเสริมอาชีพ ช่องที่ 7 เพื่อส่งเสริมสุขภาพ อนามัย กีฬา หรือการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน, ช่องที่ 8 วัตถุประสงค์หลักเพื่อความมั่นคงของรัฐ, ช่องที่ 9 เพื่อความปลอดภัยสาธารณะ, ช่องที่ 10 เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชน และรัฐสภากับประชาชน, ช่องที่ 11 เพื่อสนับสนุนการเผยแพร่และให้การศึกษาแก่ประชาชน เกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และช่องที่ 12 เพื่อบริการข้อมูลข่าวสารสาธารณะ แก่คนพิการ คนด้อยโอกาส เด็กและเยาวชน

ทั้งนี้ ได้กำหนดอายุใบอนุญาตครั้งแรก 4 ปี เพื่อพิจารณาการดำเนินกิจการรูปแบบสาธารณะของผู้ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายและตอบสนองวัตถุประสงค์รายประเภทช่องรายการ หลังจากครบอายุ 4 ปี ผู้ได้รับใบอนุญาตที่ดำเนินกิจการสาธารณะตรงตามวัตถุประสงค์ และต้องการดำเนินกิจการต่อ สามารถมายื่นขอใบอนุญาตได้ใหม่ และ กสทช. อาจจะพิจารณาอายุใบอนุญาตมากกว่า 4 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี ตามที่ พ.ร.บ.การประกอบกิจการฯ ปี 2551 กำหนดไว้

อย่างไรก็ตาม การพิจารณากรอบอายุใบอนุญาต ทีวีดิจิทัลสาธารณะ ครั้งแรกที่ 4 ปี ถือเป็นการดำเนินตามกฎหมายที่กำหนดให้ใบอนุญาตมีอายุไม่เกิน 15 ปี อีกทั้งการประกอบกิจการทีวีสาธารณะ ไม่ต้องลงทุนโครงข่าย หรือการประมูลที่จะทำให้ต้นทุนสูงเหมือนประเภท ทีวีดิจิทัล ธุรกิจ 24 ช่อง ซึ่งมีอายุใบอนุญาต 15 ปี

คาดว่าในราวเดือนเม.ย.-พ.ค.นี้ กสทช. จะพิจารณาให้ใบอนุญาตโครงข่าย หรือ มัลติเพล็กซ์ 6 โครงข่ายเป็นลำดับแรก และในช่วงเวลาเดียวกันจะเปิดกำหนดหลักเกณฑ์ให้หน่วยงานที่มีคุณสมบัติตามกฎหมาย มายื่นขอใบอนุญาต ทีวีดิจิทัลสาธารณะ หลังจากนั้นจะพิจารณาให้ใบอนุญาต ทีวีดิจิทัลสาธารณะ รายใหม่ทั้ง 8 ช่อง ได้ตามกำหนดเวลาเดิมในเดือนพ.ค.-มิ.ย.นี้ ในการจัดสรรทีวีดิจิทัลสาธารณะ รวม 12 ช่อง ได้กำหนดไลเซ่นช่องรายการระบบ HD 3-4 ช่อง โดยจะกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรช่องเอชดีอีกครั้งว่าจะอยู่ในทีวีสาธารณะประเภทใด

ชงกรอบโฆษณา-เก็บค่าต๋ง4%

พ.อ.นที กล่าวอีกว่า สำหรับทีวีดิจิทัลสาธารณะ ประเภท 1 วัตถุประสงค์ส่งเสริมความรู้ การศึกษา ศาสนา การเกษตร กีฬา และคุณภาพชีวิตของประชาชน และประเภทที่ 3 วัตถุประสงค์ กระจายข้อมูลข่าวสาร เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชน และรัฐสภากับประชาชน กำหนดรูปแบบการหารายได้ จากโฆษณาภาพลักษณ์ ในสัดส่วน 12 นาทีต่อชั่วโมง

ขณะที่ประเภทที่ 2 วัตถุประสงค์เพื่อความมั่งคงของรัฐ หรือความปลอดภัยสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการฯ ปี 2551 กำหนด "ให้หารายได้จากการโฆษณาได้เท่าที่เพียงพอต่อการประกอบกิจการ โดยไม่แสวงหากำไร" ภายใต้กรอบดังกล่าว กสท. จะกำหนดหลักเกณฑ์ระยะเวลาโฆษณาเชิงพาณิชย์ ในประเภทนี้อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ผู้ได้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัลสาธารณะ ทั้ง 12 ช่อง ทั้งผู้ประกอบกิจการ รายเดิม และรายใหม่ จะต้องเสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 2% ของรายได้ให้กับสำนักงาน กสทช. และอีก 2% ของรายได้เข้ากองทุนพัฒนากิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เพื่อประโยชน์สาธารณะ รวมค่าใช้จ่าย 4% ของรายได้