เหนือในใต้...เขาไข่นุ้ย

เหนือในใต้...เขาไข่นุ้ย

องค์ประกอบของการจะเห็นทะเลหมอกเท่าที่รู้มาคือ พื้นที่ตรงนั้นต้องมีลักษณะเป็นแอ่ง หรือหุบกว้าง มีขอบภูเขาล้อมรอบ

เช้าวันนั้นไม่มีลมแรง ยิ่งถ้าตอนเย็นหรือกลางคืนมีฝนตกลงมา เช้าขึ้นมักจะมีหมอกแน่นอน ยิ่งถ้าหุบหรือแอ่งไหนมีลำห้วยไหลด้านล่าง เป็นมีหมอกให้เห็นตลอดปี แล้วหมอกหน้าฝนมักจะเป็นก้อน ยอดหมอกม้วนเป็นดอกกระหล่ำชัดเจน แต่หมอกฤดูกาลอื่นจะเป็นหมอกฟุ้งเหมือนสายไหมหรือปุยนุ่น องค์ประกอบเหล่านี้เหมือนถูกตอกย้ำให้เป็นจริงเป็นจังยิ่งขึ้นเมื่อขึ้นมายืนชมทะเลหมอกบน ยอดเขาไข่นุ้ย แห่งบ้านฝายท่า ต.ทุ่งมะพร้าว อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ขณะนี้

ทะเลหมอกที่ปรากฏเบื้องหน้านั้นลอยอ้อยอิ่งอยู่จนเต็มแอ่งหุบเขาเบื้องล่าง ที่เมื่อช่วงเย็นที่ขึ้นมาถึงยังเห็นสวนยางและสวนปาล์มน้ำมันอยู่ทั่วบริเวณ มาบัดนี้กลับเต็มไปด้วยหมอกบางๆ เหมือนสายไหม คลุมเต็มทั้งหุบ เงายอดไม้ยางพารา บางครั้งก็เป็นใบปาล์ม ลางเลือนในม่านหมอกสีขาว ไกลออกไปคือ 'ภูตาจอ' ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนปริวัตร ที่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวไปโดยที่ทางเขตรักษาพันธุ์ไม่ใคร่เต็มใจนัก

แนวเทือกเขาภูตาจอกลายเป็นขอบคูที่สำคัญคอยกั้นลมให้แก่หุบทะเลหมอกแห่งเขาไข่นุ้ยไปโดยปริยาย เช้าๆ ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น แสงแรกของวันจะทาขอบฟ้ามาก่อนเป็นสีสันต่างๆ ขอบฟ้าสีฟ้าก็ยังปรากฏชัด บางวันยังมีดาวหรือพระจันทร์ประดับฟ้าก่อนรุ่งอยู่ด้วย ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ช่างภาพบันทึกภาพทะเลหมอกได้ดีที่สุด ยิ่งได้กองไฟที่ก่อเพื่อไล่ความหนาวเหน็บในยามค่ำคืน เปลวไฟไหวลู่ไปตามแรงลมบนยอดเขามาประกอบด้วยแล้วทำให้รูปภาพมีสีสันยิ่งขึ้น ใครมีกล้อง มีเครื่องบันทึกภาพอะไรก็ต้องสรรหามาบันทึกภาพงามนี้ไว้ เพราะนี่มันคือบรรยากาศของการไปชื่นชมทะเลหมอกทางภาคเหนือชัดๆ กาแฟหอมกรุ่นสักถ้วย แล้วยืนชื่นชมธรรมชาติเบื้องหน้า อะไรจะสุขใจเท่านี้อีกเล่า
สายๆ พอแดดเริ่มออก แสงแดดที่ค่อยๆ แรงขึ้นจะไล่หมอกให้ฟุ้งลอยขึ้น แล้วลมก็จะหอบสายหมอกค่อยๆ ลอยไหลไปตามทิศทางลม เวลาของการชื่นชมหมอกบนยอดเขาไข่นุ้ยก็เป็นอันเลิกรา แต่ภาพทะเลหมอกกลางเดือนมีนาคมในป่าภาคใต้ที่เพิ่งเห็นไป จะถูกร่ำลือในความสวยงามไปอีกนาน

เขาไข่นุ้ย แท้จริงสูงแค่ 200 เมตรจากระดับน้ำทะเลเท่านั้นเอง แต่ป่าทางภาคใต้ที่ถือว่าสมบูรณ์นั้นส่งอิทธิพลทำให้มีไอหมอกแม้ในช่วงหน้าแล้งอย่างเดือนมีนาคม แต่ป่าทางภาคใต้แม้บนเขาไข่นุ้ยเองก็ไม่รอดพ้นจากการแปรสภาพป่าธรรมชาติเป็นสวนยางพาราหรือปาล์มน้ำมัน ภาพของสวนยางและป่าธรรมชาติที่ปรากฏจึงดูลักลั่นในระบบของธรรมชาติบ้าง ชาวบ้านส่วนใหญ่ได้สิทธิทำกินในพื้นที่มาช้านาน สวนยางบนยอดเขาไข่นุ้ยจึงดูสูงไม่ต่ำกว่า 10 เมตร ส่วนตัวเขาไข่นุ้ยเองกลับเป็นชื่อของเจ้าของที่ดินสองคนที่อยู่กันคนละฝั่งหุบคือ บังไข่ และ บังนุ้ย ที่ยกพื้นที่ให้ อบต.ทุ่งมะพร้าว พัฒนาเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวของชุมชน ชื่อ 'เขาไข่นุ้ย' เลยมาพ้องกันกับตัวเอกในโรงหนังตะลุงที่เป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้โดยบังเอิญ

ด้วยระยะทางที่ห่างจากถนนเพชรเกษม ตรงสามแยกทุ่งมะพร้าวของ อ.ท้ายเหมืองไม่ถึง 6 กิโลเมตร ทำให้การขึ้นไปดูความงามของทะเลหมอกบนยอดเขาไข่นุ้ยไม่ใช่เรื่องยาก แต่ทว่าเส้นทางท้ายหมู่บ้านที่จะขึ้นไปบนยอดเขาสิที่น่ากลัว ทั้งแคบทั้งชัน เป็นทางที่ชาวบ้านใช้ขึ้นไปกรีดยาง ในหน้าแล้งยังพอทำเนา แต่เข้าหน้าฝนคงลื่นพิลึก ทางแคบชนิดที่ถ้ารถยนต์สวนกันต้องชั่งใจว่าคันไหนจะหลบทางด้านติดเหวกันแน่

ท่านนายก อบต.ทุ่งมะพร้าว คุณศุภศักดิ์ โภคบุตร อุตส่าห์พาไปนอนขดตัวผิงไฟ บนยอดเขา แล้วเล่าให้ฟังว่าตอนนี้เขาไข่นุ้ยยังไม่ได้เปิดตัวเต็มที่ เพราะต้องยื่นเรื่องขอใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ให้เรียบร้อยก่อน ส่วนยอดเนินชมทะเลหมอกตอนเช้าที่เรามาค้างคืนกันนั้น ต่อไปจะไม่ให้มากางเต็นท์บนนี้ แต่จะจัดที่กางเต็นท์ให้ในสวนยางพาราบนสันเขาห่างกันไม่ถึง 50 เมตรแทน ซึ่งที่นั่นร่มรื่นด้วยร่มเงาต้นยาง ส่วนบนเนินนั้นจะทำเป็นที่ชมทะเลหมอกอย่างเดียว ใครจะมาค้างคืนก็ได้แต่ต้องมานอนเต็นท์ จะเอาเต็นท์มาเองหรือมาใช้ของ อบต.ก็ได้ ข้างบนไม่มีแหล่งน้ำใครจะขึ้นไปคงต้องหอบหิ้วไปเอง

ส่วนการก่อกองไฟจะมีการจำกัดพื้นที่เพื่อป้องกันเรื่องไฟป่าและการตัดหาไม้ฟืนในป่าธรรมชาติ อีกทั้งแม้ระยะทางจะแค่ไม่กี่กิโลเมตร แต่ทางดินที่แคบ บางช่วงชัน ไม่มีที่จอดรถด้านบน เลยตัดปัญหาโดยการให้ใช้รถในท้องถิ่นพาขึ้น-ลง ในอัตราค่าบริการแค่ 500 บาท นั่งได้ 5-6 คน ซึ่งถือว่าถูกมาก ส่วนรถยนต์ส่วนตัวให้ไปจอดไว้ที่ที่ทำการ อบต.ทุ่งมะพร้าวได้ จะเป็นการสร้างรายได้ให้ชุมชน ที่ต่อไปอาจทำอาหาร ทำของที่ระลึกขายให้นักท่องเที่ยว ขายผลิตภัณฑ์ของชุมชนได้อีก นอกจากลงมาเที่ยวใต้ ได้เที่ยวทะเลตามเกาะสวยๆ ต่างๆ แล้ว ยังแวะดูทะเลหมอกได้ด้วย

แต่ผมกลับมองว่า ช่วงการชมความงามจริงๆ จะเป็นช่วงเช้าที่มีทะเลหมอกมากกว่า การขึ้นไปกางเต็นท์นอนบนนั้นที่ไม่มีน้ำ ต้องอาบน้ำไปตั้งแต่ 5 โมงเย็น ขึ้นไปถึงก็ร้อนเหงื่อออก หัวค่ำริ้นเยอะ แต่กลางคืนอากาศเย็น ห้องน้ำที่ อบต.ไปสร้าง ต่อไปจะมีค่าใช้จ่ายเรื่องการหาน้ำขึ้นไปใช้ ผมเลยคิดว่า น่าจะพักเสียข้างล่าง จะกางเต็นท์นอนที่ อบต.หรือจะพักที่ไหนก็ตามที แล้วราว ตี 4 -ตี 5 นั่งรถชาวบ้านขึ้นไปชมทะเลหมอกมีเวลาชมความงามเหลือแหล่ ไม่ต้องไปนอนลำบากด้วย แต่ถ้าขึ้นไปพักแรมด้านบน ตอนเย็นพระอาทิตย์ตกทางฝั่งอันดามันลับเขาหน้ายักษ์นั้นก็สวยงามมาก กลางคืนไฟตามแนวถนนก็สวยไปอีกแบบ ชั่งใจดูก็แล้วกันว่าจะนอนเต็นท์ข้างบนหรือหาที่นอนข้างล่างแล้วขึ้นไปดูตอนเช้า

อบต.เขาไม่ได้เก็บค่าธรรมเนียมอะไร เว้นค่าเช่าเหมารถ หรือค่าเช่าเต็นท์เท่านั้น จะสอบถามเรื่องรถเรื่องที่นอนก็ลองถามไปที่เลขานายก อบต.คุณกิติศักดิ์ ใจเย็น โทร.084-309-9222 ได้

เมืองไทยเรายังมีของดีอีกมาก เพียงแต่เที่ยวแล้วต้องช่วยกันดูแลรักษา แหล่งท่องเที่ยวไม่ได้งอกขึ้นมาใหม่ๆ เที่ยวกันอย่างสร้างสรรค์และรู้ค่าครับ...