ใบสั่งการเมืองปมหนี้เสียเอสเอ็มอีแบงก์

ใบสั่งการเมืองปมหนี้เสียเอสเอ็มอีแบงก์

คลังปูดปมปัญหาหนี้เน่าเอสเอ็มอีแบงก์ โผล่อื้อส่วนใหญ่มาจากลูกหนี้ใบสั่งนักการเมือง เผยแต่งบัญชีหมกหนี้มาตั้งแต่ปี"50

นายภิญโญ ตั๊นวิเศษ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะอนุกรรมการติดตามแผนแก้ไขปัญหาหนี้เสียธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้จะมีการเรียกประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาหนี้เสียของธนาคาร เพื่อติดตามความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาหนี้เสีย หากเป็นไปตามแผนธนาคารจะสามารถแก้ไขหนี้เสียให้กลับมาเป็นหนี้ดีได้ประมาณ 1 พันล้านบาทในเดือนนี้ และเมื่อรวมกับการแก้ไขหนี้เสียในช่วงต้นปีที่ผ่านมาจะทำให้ยอดแก้ไขหนี้เสียที่แก้ไขได้รวมเป็น 3.1 พันล้านบาทจากเป้าหมายแก้ไขหนี้เสีย 1 หมื่นล้านบาทในปีนี้

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลหนี้เสียย้อนหลัง 7 ปี พบว่า ในยอดหนี้เสียรวม 3.2 หมื่นล้านบาท หรือกว่า 30% ของสินเชื่อคงค้าง เป็นหนี้ที่ทยอยเกิดขึ้น และมีการซุกซ่อนตัวเลขหนี้ทางบัญชีมาตลอด อย่างไรก็ดี ตัวเลขหนี้เสียได้เพิ่มขึ้นมากในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการปล่อยสินเชื่อขยายตัวมาก มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท ขณะเดียวกัน ตัวเลขหนี้เสียได้ถูกยกยอดมาไว้ในช่วงดังกล่าว

"ปี 2550 ยอดหนี้เสียอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท ปี 2551-2554 ตัวเลขหนี้เสียอยู่ที่ประมาณ 1.6-1.7 หมื่นล้านบาท ทั้งหมดนี้ ไม่ได้เป็นตัวเลขหนี้เสียที่แท้จริง ในปี 2555 ตัวเลขหนี้เสียได้ถูกยกยอดมา ปัจจุบัน สตง.ยังไม่รับรองงบการเงินของแบงก์นี้" นายภิญโญกล่าวและว่า

ในจำนวนหนี้เสียรายใหญ่ประมาณ 100 ราย มูลหนี้ประมาณ 9 พันล้านบาท พบว่า เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2552-2554 เป็นการปล่อยสินเชื่อแบบไม่รัดกุม แต่มั่นใจว่าจะติดตามหนี้ในกลุ่มนี้ได้ประมาณ 40%ในปีนี้
เชื่อใบสั่งการเมืองทำสินเชื่อพุ่ง

เขาตั้งข้อสังเกตด้วยว่า สินเชื่อที่ขยายตัวเร็ว และ มีการปล่อยสินเชื่อที่เป็นขนาดใหญ่ น่าจะเป็นสินเชื่อที่มีใบสั่งจากนักการเมือง เพราะพบว่า บางรายการเป็นสินเชื่อที่เป็นหนี้เสียและขอรีไฟแนนซ์จากสถาบันการเงินอื่น หรือบางรายการพบลักษณะการปล่อยสินเชื่อที่ผิดปกติ โดยสินเชื่อดังกล่าว ได้กลายมาเป็นหนี้เสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งคณะอนุกรรมการติดตามหนี้เสียจะเข้าไปตรวจสอบในเชิงลึกด้วย

"หลังแบงก์มีข่าวเกี่ยวกับหนี้เสียเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ มีลูกหนี้จำนวนหนึ่ง ที่เป็นลูกหนี้ที่ดี แต่เริ่มที่จะมีประวัติการชำระหนี้ที่ล่าช้า เช่น พักชำระหนี้ไปประมาณ 2 เดือน พอเดือนที่สาม ก็จะเริ่มกลับมาชำระ และ ก็จะกระทำแบบนี้ซ้ำไปซ้ำมา ส่วนบางรายถือโอกาสผิดนัดชำระหนี้ไปเลย ซึ่งลูกหนี้กลุ่มนี้ ธนาคารจะเร่งเข้าไปดำเนินการเจรจา และหามาตรการมาดำเนินการ โดยเฉพาะในกลุ่มลูกหนี้ที่เรียกได้ว่า ล้มบนฟูก ซึ่งลูกค้ารายใหญ่ของแบงก์ประมาณ 300 ราย ในจำนวนนี้ มีจำนวน 1% ที่มีแนวคิดที่จะผิดนัดชำระหนี้"

นายภิญโญกล่าวต่อว่า ในแง่การบริหารจัดการภาพรวมองค์กรให้ดีขึ้นนั้น จะมีทั้งบริหารจัดการเงินฝากให้อยู่ในระดับคงที่ต่อเนื่อง การบริหารจัดการเงินกู้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมหรือไม่เกิน 15-20 ล้านบาทต่อราย รวมถึงการจัดระบบเคพีไอ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานของพนักงาน รวมถึง ผู้บริหารให้ดียิ่งขึ้น

โดยในส่วนของเงินฝากนั้น ปัจจุบัน ผู้ฝากเงินส่วนใหญ่จะเป็นหน่วยงานจากรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน มีจำนวนเงินฝากรวมประมาณ 7 หมื่นล้านบาท แต่เงินฝากดังกล่าวมีระยะเวลาไม่นานนัก หรือสูงสุดประมาณ 18 เดือน ดังนั้นคณะทำงานจะเร่งประสานงาน เพื่อขอขยายระยะเวลาการฝากเงินให้นานขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งที่ผ่านมาได้เข้าไปเจรจากับหลายหน่วยงานแล้ว

นอกจากนี้ เพื่อให้การบริหารจัดการองค์กรมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กระทรวงการคลังมีแนวคิดที่จะเข้าไปปรับแก้กฎหมายของธนาคาร เพื่อเพิ่มอำนาจการบริหารงานให้แก่กระทรวงการคลัง จากปัจจุบันอำนาจดังกล่าวอยู่ที่คณะกรรมการ ซึ่งจะมีตัวแทนจากกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าร่วมเป็นกรรมการตามกฎหมายการจัดตั้งด้วย