การกลับมาของรฟ.ถ่านหิน !!!

การกลับมาของรฟ.ถ่านหิน !!!

เป็นภาวะดิ้นไม่หลุด กับการแก้วิกฤติพลังงาน โรงไฟฟ้าถ่านหิน เกือบจะเป็นทางออกเดียว แก้ปัญหาไฟดับที่ ชัดแล้วว่า เกิดขึ้นแน่

รู้กันมาก็นานแล้วว่า ประเทศไทยกำลังเดินเข้าสู่ "วิกฤติพลังงาน" แต่ดูเหมือนภาคผู้ใช้ไฟจะไม่สะทกสะท้านกันมากนัก เป็นเพราะไม่รู้ว่าหน้าตาของวิกฤติจะเป็นอย่างไร ตราบจนวิกฤติเข้าใกล้ "หายใจรดต้นคอ" หนำซ้ำยังมาแบบไม่ให้สุ่มให้เสียง เมื่ออยู่อยู่ก็มีข่าวว่าพม่าจะหยุดส่งก๊าซธรรมชาติ ระหว่างวันที่ 5-14 เมษายน 2556 (เป็นเวลา 10 วัน) เพื่อซ่อมแท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติแหล่งยาดานาที่ทรุดตัว โดยก๊าซฯแหล่งดังกล่าวส่งเข้าระบบมายังประเทศไทย 650 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขณะที่แหล่งก๊าซฯในพม่าอีกแหล่งคือแหล่งเยตากุน ที่ส่งก๊าซฯเข้าในระบบ"ท่อร่วม" 450 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เมื่อต้องซ่อมท่อ ก็พลอยทำให้ต้องหยุดส่งก๊าซฯไปด้วย

รวมทั้งสองแหล่งคิดเป็นปริมาณก๊าซฯหายไปจากระบบ 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือเท่ากับกำลังการผลิตไฟฟ้าจะหายไปจากระบบมากถึง 6,000 เมกะวัตต์ ผ่านการปั่นไฟของ 5 โรงไฟฟ้าฝั่งตะวันตกของไทย
ปริมาณก๊าซฯที่หายไป 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน มากน้อยแค่ไหน คำตอบคือ คิดเป็นสัดส่วน "มากถึง 20%" ของปริมาณการใช้ก๊าซฯเพื่อการผลิตไฟฟ้า ซึ่งการผลิตไฟฟ้าของไทย อิงการใช้ก๊าซฯในสัดส่วน "มากถึง" 68-70 % เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงอื่น

ส่งผลให้กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองพร้อมใช้ลดฮวบ แม้ภายหลังใส่มาตรการแก้ไขปัญหาต่างๆลงไป จะทำให้กำลังการผลิตสำรองพร้อมใช้เพิ่มขึ้นจาก 767 เมกะวัตต์ มาเป็น 1,058 เมกะวัตต์ (ในวันที่ 5 เมษายน) แต่ก็ยัง "น้อยกว่า" กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่ควรจะเป็นที่ 3,500 เมกะวัตต์ "กว่า 3 เท่าตัว" ตามการให้สัมภาษณ์ของ พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมต.พลังงาน จากปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตติดตั้งอยู่กว่า 30,000 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบแล้ว จะพบว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองพร้อมใช้งานที่เหลืออยู่พันกว่าเมกะวัตต์นั้น เท่ากับกำลังการผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี) "เพียงโรงเดียว" ซึ่งเสี่ยงอย่างมากที่จะเกิดไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ ในบางพื้นที่

ทำไม !!! ปล่อยให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น เป็นอีกคำถามคาใจประชาชนมากๆ ทั้งๆที่ประเทศไทย มีหน่วยงานหลักที่ได้ชื่อว่า ปตท. รัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน แม้จะแปรรูปไปแล้วแต่กระทรวงการคลังยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่มีภารกิจชัดเจนที่ประกาศให้สาธารณชนรู้ตลอดว่าต้อง"สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และ รักษาเสถียรภาพด้านราคาพลังงานให้กับประเทศ"

นอกจากนี้ ยังมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รัฐวิสาหกิจแท้ๆที่รอดพ้นการแปรรูป เป็นหน่วยงานหลักดูแลการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการใช้

หรือสองหน่วยงานนี้กำลังเดินสู่การปฏิบัติภารกิจที่บิดเบี้ยว กับประสิทธิภาพในการดำเนินงาน แม้จะเข้าใจได้ว่าทั้งสององค์กรกำลังถูกท้าทายด้วยปัจจัยรอบด้าน ทั้งแหล่งทรัพยากรพลังงานในประเทศที่ร่อยหรอ ก๊าซฯจะหมดจากอ่าวไทยใน 10 ปีจากนี้ หากไม่มีการค้นพบปริมาณปิโตรเลียมเพิ่มเติม และแรงต่อต้านหนักในการสร้างโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหิน และนิวเคลียร์ของเอ็นจีโอบางกลุ่ม กลายเป็นเหตุผลวกกลับมาว่า..ทำไมสัดส่วนการใช้ก๊าซฯในการผลิตไฟฟ้าจึงพุ่งปรี๊ด

ทว่า สององค์กรไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบ หากว่ากันตามภารกิจ สังคมตั้งคำถาม

ผ่านคำบอกเล่าของกูรูพลังงาน อดีตรมว.พลังงาน คนต้นทุนทางสังคมสูงอย่าง "ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์" ชี้ให้เห็นว่าทั้งปตท.และกฟผ.รู้ถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้น มาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา อีกทั้งดูจะเป็น "กิจวัตร" กับการปิดซ่อมบำรุง (ชัทดาวน์) ท่อส่งก๊าซฯ

แต่ทำไม ? การแก้ปัญหาจึงไม่เหมือนเคย ที่ประชาชนแทบจะไม่รับรู้ถึงความตระหนกนั้น ทั้งๆที่ปตท.มีทางเลือกในการสรรหานำเข้าพลังงาน"มากขึ้น"กว่าทุกครั้งที่เกิดเหตุ จากความสามารถในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เนื่องจากสถานีรับก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) ก่อสร้างแล้วเสร็จ เปิดให้ดำเนินการมาตั้งแต่ ก.ย.2554 และเริ่มนำเข้าแอลเอ็นจีมาบ้างแล้วด้วยซ้ำ

เพราะเมื่อเทียบกับต้นทุนเชื้อเพลิงแล้วจะพบว่า การนำเข้าแอลเอ็นจี แม้จะมีต้นทุนค่อนข้างสูงกว่าก๊าซฯจากอ่าวไทย แต่ก็ยัง "ต่ำกว่า" การนำน้ำมันดีเซลมาปั่นไฟฟ้า

บางกระแสระบุว่า การนำเข้าแอลเอ็นจี ไม่สามารถเข้าระบบโรงไฟฟ้าทดแทนก๊าซฯจากพม่าได้ เนื่องจากคุณภาพเนื้อก๊าซฯต่างกัน ไม่เข้ากับสเปคของโรงไฟฟ้า นอกจากนี้ยังมีการระบุว่า ปตท.ประสบปัญหาในการนำเข้าแอลเอ็นจี จากระยะทางในการขนส่ง เรียกว่า "ผิดแผน"

ทว่าทุกปัญหาน่าจะมีทางออกหากรู้มาก่อนล่วงหน้าหลายเดือน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ยังแทบจะไร้เงาผู้บริหารระดับสูงของปตท.ที่จะออกมาชี้แจงต่อสาธารณะถึงสิ่งที่เกิดขึ้น มีแต่การส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมสางปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เห็นหน้าแต่ รมว.พลังงาน (เข้ารับตำแหน่งเมื่อตุลาคม 2555) และผู้บริหารระดับสูงของกฟผ. ที่ออกโรงให้ข่าวพัลวัน ถึงการแก้ไขด้วยการเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันเตา ดีเซล พ่วงไประดมเคมเปญใหญ่รณรงค์ลดการใช้พลังงานอย่างปัจจุบันทันด่วน

ที่เอาเข้าจริงแล้วล้วนเป็นการแก้ไขปัญหาที่ "ปลายเหตุ" ทั้งสิ้น

ขณะที่ "ค่าไฟฟ้า" ขึ้นไปแล้ว ในสัดส่วน 1.7 สตางค์ต่อหน่วย ในรอบบิลเดือนมกราคม-เมษายน 2556 (คำนวณทุก 4 เดือน) และยังจะขึ้นค่าไฟอีก 0.48 สตางค์ต่อหน่วย ในรอบบิลถัดไป (พฤษภาคม-สิงหาคม)

ตกลงว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกลายกลับเป็นภาระของผู้ใช้ไฟ จากการบริหารจัดการของสองหน่วยงานรัฐ หรือไม่ อย่างไร ? ยังมีเสียงเรียกร้องให้สองหน่วยงานนี้ร่วมกันรับผิดชอบกับภาระค่าไฟฟ้าที่เกิดขึ้น

ยังไม่รวมมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ หากไฟฟ้าดับขึ้นมาจริงๆ ซึ่งไม่มีผู้บริหารการไฟฟ้าท่านใดกล้าประเมินตัวเลข เป็นแบบจำลองในหลายกรณี ซึ่งข้อเท็จจริงน่าจะต้องมีการทำไว้อยู่แล้ว

ข้อเท็จจริงของปัญหาที่เกิดขึ้น ยังดูจะกลายเป็น "ความชอบธรรม" ของการ "ปรับโหมด" โครงสร้างการผลิตไฟฟ้าของประเทศเสียใหม่ "แบบอิงสถานการณ์"ด้วยการปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ (พีดีพี) ปี 2013 ทดแทนฉบับ 2012 ที่ได้ปรับปรุงแผนแล้วปรับปรุงอีกถึง 3 ครั้ง ด้วยการลดสัดส่วนการใช้ก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าลงจากกว่า 68% ให้เหลือ 45% และจะเพิ่มถ่านหินสะอาดเป็นเชื้อเพลิงไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นเมกะวัตต์ ทำให้สัดส่วนการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มจาก 18.8% เป็นไม่น้อยกว่า 20% จากแผนฉบับเดิมที่จะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเข้าระบบ 4,400 เมกะวัตต์

"สุดท้ายหวยก็มาออกที่โรงไฟฟ้าถ่านหิน !!"

แต่ไม่แน่ใจว่า จะทานแรงต้านจากเอ็นจีโอได้หรือไม่รู้แต่ว่าตอนนี้ในฟากของเอ็นจีโอก็ค่อนข้างเงียบ ไม่มีออกมาพูดถึงปัญหาไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็อาจจะเป็นผลพ่วงหนึ่งของการต่อต้านการเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้า หรือไม่อย่างไร

และต่อจากนี้ไป เอ็นจีโอกลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้า น่าจะต้องงัดข้อ กับคนส่วนใหญ่ของประเทศ นอกเหนือจากการงัดข้อกับหน่วยงานผู้กำหนดนโยบายด้านพลังงานของประเทศ ว่าจะไม่เอาโรงไฟฟ้า

ศาตราจารย์กิตติคุณ ดร.ดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ยอมรับว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือเรกูเลเตอร์กำลังมีการทบทวนแผนการผลิตไฟฟ้าใหม่ โดยมีการหารือกันเกี่ยวกับการปรับลดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าที่มาจากก๊าซฯหันมาเน้น “โรงไฟฟ้าถ่านหิน- โรงไฟฟ้าชีวมวล” เป็นหลัก ซึ่งจะเป็นทางออกที่เหมาะสมและดีที่สุดสำหรับประเทศ ที่จะต้องคำนึงถึงเรื่องการกระจายความเสี่ยงด้านพลังงานให้กับประเทศในระยะยาว

“เรกูเลเตอร์จะประชุมหารือเรื่องการปรับแผนพีดีพีอยู่แล้วทุกๆ ปี แต่พอเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นมา เราก็ต้องมาทบทวนที่เรื่องสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในครั้งนี้เลย ว่าจะใช้อะไรเข้ามาทดแทนก๊าซฯที่เราต้องการลดสัดส่วนลง จริงๆ แล้วเราก็มองถ่านหินและชีวมวลว่าจะต้องเพิ่มมากขึ้นในระยะยาว แต่ถ่านหินก็เป็นประเด็นที่อ่อนไหวและยากมาก ก็เป็นหน้าที่ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนและเอ็นจีโอบางกลุ่มที่ต่อต้านเรื่องนี้อยู่” พร้อมบอกด้วยว่า

ทุกหน่วยงานทราบกันดีอยู่แล้วว่าไม่วันใดก็วันหนึ่งที่ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับภาวะไฟฟ้าไม่เพียงพอ เนื่องจากโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าของไทย ยึดติดกับก๊าซฯมากเกินไป ถือว่าไม่เหมาะสม เพราะควรมีการกระจายความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงมากกว่านี้

อย่างไรก็ตาม ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ระบุว่า สำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ 6 โรง ที่จะเข้าระบบ 5,400 เมกะวัตต์ โดยจะเปิดประมูลในช่วงกลางปีนี้ ถูกดีไซน์ให้ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง คงไม่สามารถที่จะปรับเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงอื่นได้ หรือเลื่อนโรงไฟฟ้าประเภทอื่นๆโดยเฉพาะโรงถ่านหินขึ้นมาแทนได้โดยทันที คงต้องทยอยทำหลังจากที่โรงไฟฟ้าใหม่ดังกล่าวเข้าระบบครบหมดแล้วตามแผน หมายถึงหลังปี 2565 หรือในอีก 9 ปีจากนี้ จึงจะมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ถามต่อไปว่า โรงไฟฟ้าทั้ง 6 แห่ง ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะเอาก๊าซฯจากไหน มาใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาวะเขม็งเกลียวก๊าซเช่นนี้ ก็ดูจะเร็วเกินไปที่จะตอบคำถามนี้ ที่ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก่อน

“สำหรับตอนนี้ หลายฝ่ายก็พยายามจัดหาพลังงานไฟฟ้าจากที่อื่นๆ เข้ามาในระบบเพื่อแก้ไขปัญหา ใช้ทั้งการนำเข้าแอลเอ็นจี หรือการเจรจาซื้อไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากประเทศมาเลเซียจำนวน 300 เมกะวัตต์ โดยมีกฟผ.เป็นผู้เจรจา แต่ก็ต้องยอมรับว่าต้นทุนการซื้อไฟฟ้าต่อหน่วยต้องแพงแน่นอน แต่เราก็จำเป็นต้องทำและประชาชนต้องยอมรับในเรื่องนี้ให้ได้ เพราะเป็นการซื้อไฟฟ้าในอัตราพิเศษ”

ด้าน รมว.พลังงาน พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ยอมรับว่า ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งประเทศไทยต้องมีทางออกในเรื่องพลังงานให้ได้ ถ้าไม่รีบแก้ไขเสียตั้งแต่วันนี้ในอนาคตก็ต้องเจอกับปัญหาซ้ำซาก ไม่มีวันจบสิ้น เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจำเป็นต้องใช้พลังงานในการขับเคลื่อนอย่างปี 2555 ที่ผ่านมา การใช้ไฟฟ้าของประเทศขยายตัวถึง 7-8% ประเมินกันว่าไฟฟ้าจากเดิมที่มีกำลังการผลิตอยู่ 33,000 เมกะวัตต์ ในปี 2554 ที่ผ่านมา จะขยับเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะช่วงปี 2555-2573 ไปที่ 55,000 เมกะวัตต์

“ระยะสั้นนี้ กระทรวงพลังงานพยายามหาทุกแนวทางทั้งเพิ่มกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากลาว ทั้งน้ำงึม 2และน้ำเทิน 2 แบบเต็มที่แล้ว ทุกโรงไฟฟ้าสั่งเดินเครื่องเต็มที่หมดแล้ว เจรจากับประเทศเพื่อนบ้านให้ช่วยส่งไฟฟ้าให้เราก็ทำแล้ว แต่เป็นแบบนี้ทุกๆ ปีก็ไม่ไหว เหมือนกัน หรืออย่างแหล่งเจดีเอในมาเลเซีย ก็ไม่ได้แล้ว เพราะทางนั้นเขาก็ต้องการใช้ไฟฟ้าเช่นกันตามสัญญาก็จบแล้ว เขาให้เราเพิ่มไม่ได้”

สำหรับระยะยาว ประเทศไทย และคนไทยต้องตัดสินใจแล้วว่าจะเอาโรงไฟฟ้าทางเลือกไหม ซึ่งก็มีอยู่แค่ไม่กี่ตัวเลือก คือ ถ่านหิน กับชีวมวล ส่วนนิวเคลียร์ไม่ต้องพูดถึงเพราะสร้างไม่ได้แน่นอน

รมว.พลังงานตอบคำถามเกี่ยวกับการร่วมกันสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-กัมพูชา ซึ่งถูกระบุว่าน่าจะมีปริมาณสำรองก๊าซฯอยู่เป็นจำนวนมาก ว่า เป็นเรื่องของอนาคตที่ยาวไกลมากๆ เพราะทั้งไทยและกัมพูชาต่างไม่มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน โดยเขายอมรับว่ายังไงตัวเขาก็ไม่เป็นโต้โผในการเจรจา

“ผมเองไม่เอาตัวเข้าไปเจรจาแน่นอน เพราะภาพลักษณ์ของผมก็อย่างที่รู้ๆกันอยู่” เขาหัวเราะ และบอกด้วยว่า “จะเป็นใครไปเจรจาก็ได้ รัฐบาลนี้หรือรัฐบาลไหนก็ได้ แต่ผมไม่ทำ” เขาย้ำ

ในความเห็น ของ ปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีต รมว.พลังงาน เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องยอมรับความจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ไฟฟ้าที่จะไม่เพียงพอในอนาคต หากโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าของไทยยังคงพึ่งพาก๊าซฯเป็นหลักในสัดส่วนที่มากถึง 70%

“คนไทยก็ต้องเลือกเอาจะให้ไฟฟ้าตก ไฟดับ จะตั้งอยู่บนความเสี่ยงด้านพลังงานไปเรื่อยๆ เช่นนี้ต่อไปหรือ”
เขาระบุว่า แน่นอนที่สุดทางออกสำหรับการแก้ไขปัญหาคือการมีโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก ทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือไม่ก็ต้องมองเรื่อง โรงไฟฟ้าชีวมวลให้มากขึ้นกว่านี้

“มีการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าไปจนถึงปี 2573 ว่า ประเทศไทยจะต้องใช้ไฟฟ้ามากถึง 70,000 เมกะวัตต์ แต่กำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ในช่วงปี 2555-2573 มีแค่ 55,130 เมกะวัตต์เท่านั้น เพราะจะมีโรงไฟฟ้าที่ถูกปลดออกจากระบบในช่วงปี 2555-2573 ประมาณ 16,839 เมกะวัตต์ เราต้องคิดกันแล้วจะกำหนดทิศทางพลังงานของประเทศไปทางไหนดี โดยเฉพาะกลุ่มต่อต้านทั้งหลาย” เขาให้ความเห็นอย่างออกรส

หากประเทศไทยยังยืนยันที่จะใช้ก๊าซฯในการเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า ก็คงจะต้องเจอกับปัญหาก๊าซฯไม่เพียงพอเช่นนี้ต่อไป เพราะทางพม่าก็ปิดซ่อมบำรุงทุกๆ ปีอยู่แล้ว และหากคิดว่าจะใช้แอลเอ็นจีเข้ามาแทนก๊าซฯ

ปัญหาที่ตามก็คือ ราคาแอลเอ็นจีในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน อีกทั้งไทยไม่ใช่ผู้นำเข้ารายใหญ่ ขาดอำนาจต่อรองราคา ตลาดแอลเอ็นจียังเป็นของผู้ขาย ดังนั้นต้องทำใจยอมรับว่าค่าไฟฟ้าก็จะต้องปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากหลายๆ ประเทศมีความต้องการใช้แอลเอ็นจี เช่นเดียวกันโดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาแอลเอ็นจีในตลาดโลกถีบตัวสูงขึ้น นับจากเกิดปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่น

“ราคาแอลเอ็นจีขยับไปที่ 560 บาทต่อล้านบีทียู ถือว่าแพงมากๆ ในอนาคตหากแอลเอ็นจีจะเข้ามาปีละ 13 ล้านตัน นั่นจะทำให้ราคาค่าไฟฟ้าในบ้านเราปรับเพิ่มขึ้นได้ถึง 30-40%” เขาให้ความเห็น

โดยข้อมูลจากสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ระบุว่า ราคาก๊าซฯที่ผลิตในประเทศจากทุกแหล่ง เฉลี่ยราคาทั้งหมดแล้วจะอยู่ที่ราคาประมาณ 182 บาทต่อล้านบีทียู ขณะที่ราคาก๊าซฯเฉพาะในอ่าวไทย ราคาอยู่ที่ 250 บาทต่อล้านบีทียู ต่ำกว่าราคานำเข้าแอลเอ็นจี 2 เท่า โดยราคานำเข้าแอลเอ็นจี ที่อยู่ประมาณ 449-500 บาทต่อล้านบีทียู (ราคาเฉลี่ยปี 2554) ในขณะที่ราคาก๊าซฯนำเข้าจากพม่า (ยาดานา-เยตากุน) เฉลี่ยอยู่ที่ 308 บาทต่อล้านบีทียู และราคาก๊าซฯจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ) อยู่ที่ประมาณ 169 บาทต่อล้านบีทียู

แหล่งข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ สนพ. ระบุว่า ขณะนี้ สนพ.อยู่ระหว่างการปรับแผนพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า ซึ่งทางกระทรวงพลังงาน โดยรมว.พลังงานแจ้งว่าต้องการให้เร่งดำเนินการโดยด่วน เพื่อความมั่นใจของประชาชนที่เป็นห่วงว่าในปีต่อๆ ไปประเทศไทยจะประสบปัญหานี้ต่อไปอีก โดยทางสนพ.คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนเมษายน 2556 นี้ เนื่องจากต้องรอดูความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือ Peak ของปีนี้เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาด้วย

“โดยเฉลี่ยความต้องการใช้ไฟฟ้าก็เพิ่มขึ้นอยู่แล้วโดยเฉลี่ยปีละ 4-5% เราก็ต้องรอดูการประเมินตัวเลขทางเศรษฐกิจจากสภาพัฒน์ฯอีกครั้ง ควบคู่ไปกับ Peak ในปีนี้ว่าจะเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด ภายในเดือนเมษายนก็น่าจะแล้วเสร็จทันตามที่กระทรวงพลังงานเร่งมา”

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโรงไฟฟ้าใหม่ 6 โรงที่จะเปิดประมูลจะยังคงมีการเดินหน้าต่อไปตามแผน แต่สำหรับแผนระยะยาวจะปรับสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าในส่วนของก๊าซฯลดลงนั้น จะต้องทำใหม่ตั้งแต่ช่วงปี 2565 เป็นต้นไป โดยอาจจะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเข้ามาในระบบเพิ่มขึ้นจากแผนเดิมที่มีเฉลี่ยเพียงปีละ 1 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโรงไฟฟ้าของกฟผ. หากในอนาคตกฟผ.ไม่สามารถดำเนินการได้ โรงไฟฟ้าเอกชนที่มีความพร้อมอยู่แล้วก็สามารถทำได้เช่นกัน เช่น โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ที่มีความพร้อมในการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ เพราะมีพื้นที่เหลืออยู่แล้วในพื้นที่ของโรงไฟฟ้าเดิมที่จ.ระยอง

“จริงๆ แล้ว กฟผ.อยากจะขึ้นโรงไฟฟ้าเองมากกว่า เขาก็รอว่าถ้าโรงไฟฟ้ากระบี่ขึ้นได้ โรงไฟฟ้าถ่านหินอื่นๆ ของกฟผ.ก็จะขึ้นได้ง่ายขึ้น เขาเองก็พยายามที่จะรักษาสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเขาเอาไว้ด้วย ขณะที่พลังน้ำทราบว่ากำลังจะมีการหารือกับทางพม่าในการขอซื้อไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากเขื่อนท่าซาง และเขื่อนอื่นๆ ในลำน้ำสาละวินที่ขณะนี้ยังอยู่ในแผน หรือแม้แต่โรงไฟฟ้าทวายที่เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน"

ด้าน สุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า วิกฤตพลังงานไฟฟ้าครั้งนี้ อาจจะสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับประเทศไทยในอนาคต ที่จะต้องยอมรับในเรื่องการกระจายความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงมากขึ้น จากปัจจุบันที่เน้นการใช้ก๊าซฯในการผลิตไฟฟ้ามากเกินไปในสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศมาเลีย ที่ก่อนหน้านี้มีการใช้ก๊าซฯในการผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่สูงมากเกิน 50% แต่ปัจจุบันปรับลดลงมา โดยหันมาใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้นอยู่ที่ประมาณ 40% รวมทั้งใช้พลังน้ำเช่นกัน

“เราก็อยากให้ประชาชนยอมรับโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะสร้างความเข้าใจกับประชาชนและเอ็นจีโอได้อย่างไร การใช้พลังงานอย่างใดอย่างหนึ่งย่อมมีความเสี่ยงต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ”