บุญชัย โชควัฒนา ภาวะผู้นำจากคำสอนพ่อ

บุญชัย โชควัฒนา
ภาวะผู้นำจากคำสอนพ่อ

บุญชัย โชควัฒนา"ซีอีโอสหพัฒน์ฯ ซึมซับมรดกทางความคิดจากคำสอนของพ่อเจ้าของศาสตร์การบริหารและการใช้ชีวิตตามหลัก"ปรัชญาขงจื๊อ"

จากคำสอนที่ของคนยุคโบราณแม่ของนายห้างเทียม โชควัฒนา พร่ำบอกให้ลูกชายท่องจำปรัชญาขงจื๊อ ทำให้นายห้างเทียม โชควัฒนา ซึมซับนำมาปฏิบัติก่อนจะถ่ายทอดมรดกทางความคิด การสร้างธุรกิจอยู่ยั่งยืนมาถึงคนรุ่นลูก หนึ่งในนั้นคือ บุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน)

"ลิขิตฟ้า หรือจะสู้มานะตน" ปรัชญาขงจื้อที่สะท้อนความเป็นตัวตนของนายห้างเทียมได้เป็นอย่างดี
ผู้นำที่ดี ต้องประกอบด้วย คุณสมบัติ ขยัน-เสียสละ-อดทน-ไม่หยุดคิดและเรียนรู้ -กล้าเปลี่ยนแปลงตัวเอง - ซื่อสัตย์ -มีคุณธรรม - คบคนดี - รักษาเครดิต

วันเวลาผ่านไป 7 ทศวรรษ ในยุคปัจจุบันที่สหพัฒน์ฯ มีธุรกิจในเครือกว่า 200 บริษัท มีรายได้กว่า 3 หมื่นล้านบาทต่อปี และกำลังจะเผชิญโจทย์ยากกับการเชื่อมโยงตลาดเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียน (เออีซี) ในปี 58 ทำให้สหพัฒน์ฯไม่อาจอยู่เฉยต้องรุกออกไปลงทุนนอกบ้าน

คำสอนของบรรพบุรุษ ก็ยังล้ำค่า อยู่เหนือกาลเวลา (อกาลิโก) อยู่เสมอ

“หากพูดถึงบะหมี่ (มาม่า) เราคือเบอร์1 หากมองถึงเราผงซักฟอก (เปา) เราคือเบอร์ 2 ขึ้นอยู่กับว่าสินค้าไหน" บุญชัย เอ่ยถึงตำแหน่งทางการค้าของสินค้าในเครือ

แม้จะยอมรับว่าเมื่อครั้งยังเด็ก ดช.บุญชัย ออกจะเบื่อกับคำพร่ำสอนของพ่อ ที่พูดซ้ำไปซ้ำมา ทว่าเมื่อเติบโตขึ้น เขากลับรู้ซึ้งว่านี่คือกลวิธีตอกย้ำให้จำขึ้นใจ พร้อมที่จะงัดมาใช้ได้เสมอในเก้าอี้ ผู้นำสหพัฒน์ฯ
คำสอนที่เป็นเหมือน "สัจธรรมในการบริหาร"

“บางทีเวลาคุณพ่อพูดซ้ำไปซ้ำมา เราก็ไม่อยากฟัง และก็ไม่ได้ตั้งใจฟัง (หัวเราะ) แต่มันกลับทำให้เราซึมซับ สิ่งที่ท่านคิดที่ท่านพูด และเข้าใจแนวคิดเมื่อเติบโตขึ้น" เขาย้อนความหลัง


บุญชัยบอกด้วยว่า ผู้นำอย่างนายห้างเทียม เป็นทั้งผู้นำครอบครัวและผู้นำขององค์กรที่เป็นแบบอย่างในทางที่ดี
"ผมอยากเดินตามรอยพ่อ !!"


ใครว่าผู้นำสบาย ถ้าใช่คนนั้นไม่ใช่ผู้นำ(ที่แท้จริง) ผู้นำอย่างนายห้างเทียมผ่านลำบากตั้งแต่เล็ก แบกหามน้ำตาลกว่า 100 กิโลกรัม เป็นพี่ที่เสียสละออกจากโรงเรียนมาก่อน เพื่อช่วยเหลือกิจการครอบครัว

“ผู้นำจะต้องไม่คิดถึงตัวเองว่า ทำไปแล้วได้อะไร เพื่ออะไร แต่ต้องคิดและทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เพื่อองค์กรในอนาคต” เขาฉายแนวคิดพ่อที่ส่งต่อมาที่ลูกๆ

เมื่อพูดถึงความซื่อสัตย์ สำหรับในห้างเทียมแล้ว เจ้าของธุรกิจเช่นเขามีกฎเหล็กอยู่ว่า..แม้จะเป็นเจ้าของสินค้าแต่ก็ไม่สามารถหยิบสินค้าในคลังไปใช้ได้ตามอำเภอใจ ต้องใช้เงินซื้อสินค้ากลับไปใช้เหมือนๆกับลูกค้าคนอื่น ตอนเด็กบุญชัยยอมรับไม่เข้าใจความคิดพ่อ แต่เมื่อโตขึ้นเข้าใจว่าที่พ่อต้องทำแบบนั้น เพราะป้องกันการ "คอร์รัปชัน" ในบริษัท
ที่ต้องเริ่มจากผู้นำไม่โกง


นายห้างเทียมยังรักที่จะเรียนรู้ การอ่านหนังสือพิมพ์ทุกฉบับทุกวันเพื่อเติมคลังข้อมูล และสั่งสมองค์ความรู้ของนักบริหาร บุญชัยบอกว่า จะเป็นผู้นำที่ดี ต้องมีวิสัยทัศน์ถึงจะบรรลุเป้าหมายธุรกิจได้ จะต้องหลอมรวมการอ่าน แปลงมาสู่การกระทำอย่างเท่าทันสถานการณ์

“อ่านมากๆอย่างเดียวโดยไม่ปฏิบัติจะทำให้สมองขี้เกียจ จึงต้องเบลนด์เข้าด้วยกัน in put develop ให้เกิดองค์ความรู้จากคิดและนำไปปฏิบัติพร้อมกัน”


เขายังบอกว่า ผู้นำต้องไม่หยุดคิดและเรียนรู้ ทำตัวเสมือน"น้ำครึ่งแก้ว" ที่รอรับสิ่งใหม่ๆ ทุกๆด้านอยู่ตลอดเวลา เพราะความรู้เป็นเครื่องมือสะสมมาก ก็จะทำให้ตัดสินใจได้แม่นยำไม่ผิดพลาด เมื่อเทียบกับคนรู้น้อย

บุญชัยยังเห็นพ่อเป็นแบบอย่างที่เคร่งครัด การมีวินัยในการทำงานเขากับพ่อไม่ต่างกัน "ตรงกันข้าม" แต่เขาออกจะโหดกว่าพ่อตรงที่ พ่อเขามักใจเย็น เตือนลูกน้องให้แก้ไขข้อบกพร่อง จะใช้วิธีสอนซ้ำไปซ้ำมา โดยยอมเสียเวลา ต่างกันกับเขาที่เมื่อไม่ถูกใจก็บอกกันตรงไปตรงมาทันทีไม่มีอ้อมค้อม

“ผมเป็นคนดุกว่าพ่อ ผมจะบอกไปตรงๆให้แก้ไข แต่ไม่ใช้ความรุนแรงนะ และจะใช้วิธีจูงใจลูกน้องโดยให้ผลตอบแทนตามความสำเร็จ ใครทำสำเร็จก็ได้มากกว่าคนที่ทำไม่สำเร็จ หรือทำได้บางส่วน แต่ไม่ถึงขั้นไล่ออกแบบฝรั่ง เพราะเรายังผูกพันกันแบบไทยๆ"

สำหรับบุญชัย นอกจากจะเป็นผู้นำที่ยึดหลักการบริหารจากคำสอนพ่อ เขายังดูแลตัวเอง ออกกำลังกายเพื่อให้สุขภาพแข็งแรง พร้อมทำงานหนัก

"ผมต้องทำตัวเองให้ดูหนุ่มเสมอ เพราะเมื่อเราสุขภาพดีก็จะมีใจทำอะไรได้เยอะ หากเราอ่อนแอ อะไรก็ไม่อยากทำ จึงต้องหมั่นออกกำลังกายรักษาสุขภาพ ไม่ทำให้ตัวเองอ้วนเกินไป หรือปล่อยให้โดนสิ่งแวดล้อมจูงใจจนละเลยที่จะดูแลชีวิตตัวเอง"

นอกจากนี้ ภาวะผู้นำที่เขาเห็นคล้อยตามกับพ่อคือ "การวางตัวเป็นแบบอย่างที่ดี" ให้คนในองค์กรมองเห็น จึงจะทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจที่วางไว้

“องค์กรไหนๆจะเจริญได้ อยู่ที่ผู้นำ และจะล้มเหลวก็อยู่ที่ผู้นำ”

สำหรับนายห้างเทียม บุญชัยบอกว่า จุดเด่นอีกข้อคือ "การอ่อนน้อมถ่อมตน" ไม่เคยชมตัวเอง เช่นเดียวกับบุญชัย ก็มักจะบอกกับตัวเองว่า เขาไม่เคยสำเร็จ !!! เพราะความสำเร็จเป็นจุดเริ่มต้นของความล้มเหลว

"นิสัยพ่อเป็นคนถ่อมตัวไม่เคยชมตัวเอง สำหรับผมก็เหมือนกัน ชื่นชมตัวเองเล็กน้อยไม่เป็นไร แต่อย่าโม้มาก" เขายิ้ม อีกคุณสมบัติที่ต้องไปกันให้ได้กับองค์กรธุรกิจที่แสวงหากำไร นั่นคือ "การคำนึงถึงคุณธรรม"

สิ่งนี้เองที่ทำให้สหพัฒน์ฯสามารถรักษาชื่อเสียง รวมถึงแบรนด์ไว้ได้ ด้วยการไม่เอาเปรียบลูกค้า ไม่ค้ากำไรเกินควร และทำธุรกิจที่เป็นประโยชน์กับชีวิตคนเราถูกปลูกฝังมาตลอดว่า..ธุรกิจต้องไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ทำเครื่องดื่มมึนเมา และไม่ทำอาบอบนวด


เดิมทีก่อนหน้านั้นจะเคร่งครัดถึงขั้นซัพพลายเออร์อย่างสหพัฒน์ฯ จะไม่เข้าไปทำค้าปลีก แต่วันนี้ เมื่อค้าปลีกต่างชาติเข้ามาครอบครองตลาด อยู่เพียงไม่กี่ราย สหพัฒน์จึงต้องลงไปทำร้านสะดวกซื้อ 108 shop เพื่อคานอำนาจ และเป็นทางเลือกให้โชห่วยต่างจังหวัดยืนอยู่ได้


จนล่าสุดเมื่อสภาพตลาดเปลี่ยนแปลงอีก ค้าปลีกโชห่วยสัญชาติไทยสูญพันธุ์ไปมาก สหพัฒน์ฯจึงกลับมาคิดจริงจังที่จะ "ท้าชน" กับค้าปลีกขนาดใหญ่ ด้วยการร่วมมือกับ "ลอว์สัน” ยักษ์ค้าปลีกอันดับ 2 ของญี่ปุ่นเป็นรองเซเว่น อีเลฟเว่น ที่ญี่ปุ่น เพื่อทำคอนวีเนียนสโตร์ในชื่อ "ลอว์สัน 108”


บุญชัยยังบอกว่า สิ่งที่ต่อยอดทำให้สหพัฒน์ฯ มีวันนี้ได้ก็คือ "คบคนดี-รักษาเครดิต" อาทิ การเริ่มเจรจากับผู้นำเข้าสินค้าให้หันมาร่วมทุนพัฒนาสินค้าร่วมกัน ทำธุรกิจร่วมกันจนถึงปัจจุบัน หลายผลิตภัณฑ์รับการถ่ายทอดโนว์ฮาว ทำให้เกิดความสามารถในการแข่งขันกับแบรนด์นอกรายอื่นๆ โดยเฉพาะแบรนด์ตะวันตก

เช่นเดียวกันกับการรักษาเครดิต บุญชัยบอกว่า มีผลทำให้เกิดชื่อเสียงสั่งสมมา ทำให้มีคนอยากมาร่วมทุนกับสหพัฒน์ฯ

“รับปากแล้วต้องทำ หากเราเสียเครดิตครั้งเดียว ประวัติไม่ดีก็ขาดความเชื่อถือ”

สำคัญที่สุดสำหรับความต่างระหว่าง "ผู้นำ" กับ "นักบริหาร" คือ การมีวิสัยทัศน์ มองเห็นอนาคต มุมมองของผู้นำต้องโดดเด่นกว่านักบริหาร ที่มักทำงานตามคัมภีร์ไบเบิล หรือ Job Description (ภาระงานที่รับมอบหมาย)

ทว่า ผู้นำของสหพัฒน์ฯ ที่เขาระบุสเปคเพิ่มเติม ยังจะต้องมี "ทัศนคติที่ดี เป็นคนดี" ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการค้ำยันธุรกิจSuccessor หรือผู้นำองค์กรรุ่นต่อไปต้องเป็นแบบนี้นั่นเพราะเขาเชื่อว่า...คนดี มาฝึกให้เป็นคนเก่งได้ แต่คนเก่ง ฝึกให้เป็นคนดีนั้นยาก ทว่าหากได้ทั้ง "คนเก่งและคนดี" ในคนเดียวกัน ถือว่า "ล้ำเลิศ"นั่นจึงเป็นส่วนที่ทำให้ผู้นำเจนเนอเรชั่นต่อๆมา ต้องเก่งมากขึ้นกว่าเจนเนอเรชั่นแรกๆ เพราะสั่งสมองค์ความรู้ ความคิดที่ส่งทอด จากรุ่นสู่รุ่น

เขาจึงหวังว่า..ผู้นำต่อจากเขาจะเป็น "บุญชัย 2" ที่เก่งกว่าบุญชัยคนนี้