Zero Dark Thirty ผ่านพ้น 'ไม่พานพบ'

Zero Dark Thirty ผ่านพ้น 'ไม่พานพบ'

นันทขว้าง สิรสุนทร เขียนถึงผลงานใหม่ของ แคทรีน บิเกโลว์

รางวัลออสการ์ในสาขาหลักๆ เมื่อ 3 ปีก่อน(หนังเยี่ยม,กำกับ) ของ The Hurt Locker ยังไม่ได้ทำให้ แคทรีน บิเกโลว์ ถูกยกย่องว่า “ขึ้นหิ้ง” อะไรมากนัก


ยิ่งไปกว่านั้น เธอยังถูกตั้งข้อสงสัยถึงความสามารถว่า เพราะเล่นกับสถานการณ์ตามกระแสก่อการร้าย หรือเพราะเก่งจริง มีความสามารถจริง

แต่เมื่อ Zero Dark Thirty ถูกเปิดไพ่ออกมาและมันผ่านสายตาไปในรอบสื่อหลังปีใหม่ไมกี่วัน โดยส่วนตัวผมยอมรับว่า ผู้กำกับสาวแกร่งคนนี้ เติบโตขึ้นมากจาก The Hurt Locker และถ้าวัดจากระยะทางที่เดินมา ก็ต้องยกย่องว่าไปได้ไกลกว่าที่คิด

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่า “คุ้ย” และ “คุย” ก่อนจะไปเข้า Zero Dark Thirty ก็คือ จังหวะที่ทางของ บิเกโลว์ ซึ่งมีร่องรอยของ “เฟมินิสต์” อยู่ในระดับหนึ่ง อย่าลืมว่า The Hurt Locker และเธอคว้าออสการ์ในวันที่ 8 มีนาคมเมื่อ 3 ปีก่อน ซึ่งเป็น “วันสตรีสากล” จนอดคิดไม่ได้ว่า ตุ๊กตาทองอเมริกันจะไม่ได้สนใจมุมเชื่อมโยงเหล่านี้เลยหรือ ?

จากความสำเร็จของหนังเรื่องนั้น บิเกโลว์ มีข่าวมาอยู่เป็นระยะๆ เกี่ยวกับการแสดงความเห็นในการเมืองและเหตุการณ์ต่างๆ ในฐานะตัวแทน “เพศหญิง” (ตามที่สื่ออเมริกันเรียก) แม้แต่ในวันที่ประกาศว่าจะทำหนังในชื่อ Killing Bin Laden(ชื่อแรกของ zero dark thirty) ภาพของเธอเด่นชัดขึ้นถึงการเป็นผู้กำกับเพศหญิงที่มุ่งมั่นกับเรื่องของผู้ชาย (ถ้าเราจะคิดว่า สงครามไม่ใช่พื้นที่ของ “ผู้หญิง”)

การถ่ายทำหนังเรื่องนี้ของ บิเกโลว์ ค่อนข้างมีปัญหามาก เพราะระหว่างที่กำลังทำงานไป บิน ลาเดน เกิดตายขึ้นมาจริงๆ ถูกสังหารโดยหน่วยพิเศษของสหรัฐ ทำให้สคริปท์ที่วางไว้ของหนัง ต้องหยุดและเปลี่ยนทิศทางใหม่ ซึ่ง “ตรงนี้” ทำให้ทีมงานเติบโตขึ้น เพราะต้องเปลี่ยนขบวนกลางคัน (บิเกโลว์ ถึงขนาดบอกว่าเธอมึนตื๊บ เมื่อรู้ว่า บิน ลาเดน ตายแล้ว)

พล็อตที่เกลากันใหม่และทางที่ถางใหม่ เล่าเรื่องการดั้นด้นควานหาตัวบิน ลาเดน ที่เต็มไปด้วยอันตรายตั้งแต่เริ่มแรก และก็ไม่ใช่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯทุกคนที่มีชีวิตรอดกลับมา ระหว่างนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านหน่วยสืบราชการลับบางคนเชื่อว่า ภารกิจนี้ไม่น่าจะสำเร็จได้

ท่ามกลางความคิดที่ว่าเป็นไปไม่ได้นั้น ทีมนักวิเคราะห์และนักสอบสวนผู้มุ่งมั่นกลับท้าทายความเป็นไปได้อันน้อยนิดและพิสูจน์ให้เห็นว่าคนเหล่านั้นคิดผิด ความพยายามในการไล่ล่าตัวโอซาม่า บิน ลาเดนของพวกเขาถูกบอกเล่าออกมาด้วยรายละเอียดที่สมจริง (มีข่าวว่า บิเกโลว์ พยายามจะขอข้อมูลในการทำงานของเจ้าหน้าที่ ที่เหมือนจริง)

ผมเห็นด้วยที่ว่า ความท้าทายเชิงสร้างสรรค์ที่ บิเกโลว์ ต้องเผชิญในการพัฒนาบท Zero Dark Thirty ขึ้นมาคือจะทำอย่างไรถึงจะบอกเล่าเรื่องราวที่สลับซับซ้อนนี้ออกมาภายใต้ “กรอบเวลา” ที่จำกัดของหนังได้ เพราะอย่างที่ทราบว่า การติดตามบิน ลาเดนนั้นใช้เวลาเกือบทศวรรษ หากจะเล่าเรื่องตามแต่ละปี ก็เยิ่นเย้อ อืดอาด แต่ถ้าจะกระโดดข้ามไป โอกาสที่คนดูจะไม่ผูกพันกับเนื้อหา ก็มีสูง (ซึ่งในที่สุด หนังก็มีทางออกของตัวเอง)

ในการติดตามไล่ล่าของโลกเพศชาย (ทั้งผู้ล่าคือ “ทหาร” และผู้ถูกล่าคือ “บิน ลาเดน”) มุมของเพศหญิงค่อยๆ สว่างขึ้นมา เมื่อ “มายา”(เจสสิก้า เชสเทน) เจ้าหน้าที่คนหนึ่งต้องคอยแก้ปัญหาและรับรู้สิ่งที่กองทัพของสหรัฐเลือกที่จะกระทำ โลกทัศน์ของ มายา ถูกนำเสนอในลักษณะของคนที่มองเหตุการณ์แบบนี้ในฐานะบุคคลที่สาม เมื่อหนังใช้กล้องที่ถอยออกมาและมองเข้าไป (ผ่านช่องทางต่างๆ และผ่านสายตาที่เคลือบแคลง)

สิ่งที่ มายา ไม่เห็นด้วยหรืออย่างตะขิดตะขวงใจก็คือ การทรมานนักโทษในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ได้คำตอบ หนังใช้ฉากเหล่านั้นและการมองของ มายา ตั้งคำถามถึงศีลธรรมและคุณธรรม (ราวกับต้องการตบหน้าวิธีคิดของทุนนิยม) จากที่มุ่งมั่น ทะเยอทะยาน และอัดแน่นไปด้วยความแค้น

โลกของ มายา ค่อยๆ สลัวและมิดลง (ตามการจัดแสงแบบ low key) คล้ายๆ ที่หนังเรื่อง all about lily chou chou เคยทำ (และบังเอิญด้วยว่า หนังเรื่องนี้ออกฉายในปีเดียวกันกับที่เกิดเหตุการณ์ 9/11)

พอถึงตรงนี้ ประเด็นที่หนังพามาทั้งเรื่อง จึงมาถึงจุดที่น่าสนใจสำหรับผม เพราะขณะที่โดยหลักๆ มันว่าด้วยการติดตามการสังหารผู้ก่อการร้ายเบอร์ 1 ของโลกสงครามและความขัดแย้ง และไปๆ มาๆ สิ่งที่เป็น conflict รุนแรงกว่าสงครามก็คือ ความขัดแย้งในใจที่ค่อยๆ ปรากฏของ มายา เสียเอง

ชื่อ Zero Dark Thirty เป็นศัพท์ทางทหารสำหรับช่วงกลางดึก ซึ่งเป็นเวลาเที่ยงคืนครึ่ง ในตอนที่หน่วยรบพิเศษซีลได้ก้าวเท้าเข้าไปในเขตคฤหาสน์เป็นครั้งแรก และต้องบอกว่ามันหนักกว่า The Hurt Locker มากนัก เพราะทั้งเวลาเกือบๆ 3 ชั่วโมงและทั้งเนื้อหา นี่คืองานที่แม้เต็มไปด้วยความทะเยอทะยาน แต่มันไม่ใช่หนังที่ต้องการประนีประนอมกับผู้ชม

การไม่ต้องการประนีประนอมกับคนดูทั้ง “วิธีเล่า” และ “เนื้อหา” นี่เอง ที่ทำให้ บิเกโลว์ จัดเต็มทั้งการไม่มีช่วงเวลาต้องหายใจ หรือยืดหยุ่นตามสูตรการเล่าเรื่องของหนัง คนที่คุ้นกับขนบของโรงงานฮอลลีวู้ดมานาน อาจจะรู้สึกว่าหนังมันเครียดแบบต่อเรื่อง แต่ผมว่าสิ่งหนึ่งที่มันดีคือ อารมณ์ที่หนักของหนัง ไม่ได้เกิดจากการเป็นสารคดี (เพราะนี่ไม่ใช่หนังสารคดี)

ถ้าไม่นับ Amour ในบรรดาหนัง 9 เรื่องที่ชิงออสการ์เสียแล้ว Zero Dark Thirty เป็นงานที่ผมชอบมากที่สุด และไม่ได้สนใจว่า มันจะคว้าออสการ์อีกครั้งหรือไม่

ขณะเดียวกันก็รู้สึกว่า แม้หนังจะมีแง่มุมเชิดชูสังคมอเมริกัน แต่มันก็ไม่ได้มากมายในระดับที่ฮอลลีวู้ดต้องการ ซึ่งถ้ามันจะเป็นปัญหาของคนดูอเมริกัน หรือบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ในสายเดโมแครตเอย รีพับลิกันเอย ก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้

เพราะ “ชีวิต” หากต้องการจะแทงยอดเพื่อรับแสง การเติบโตผ่านความยาก คือก้าวที่น่าสนใจ

อย่างน้อย ถ้า Zero Dark Thirty จะหมายถึง 00.30 หรือเที่ยงคืนครึ่ง อันเป็นเวลาปฏิบัติการคืนนั้น

แต่ถ้าหญิงสาวอย่าง มายา อายุ 30 ในปีนั้นด้วย ใจของเธอก็มืดมิด ด้วยผ่านพ้นภารกิจ และไม่พานพบอะไรเลยในชีวิตที่เดินมา

สายตาที่เหม่อลอยในรถ...ไม่รู้ว่าอะไรคือชีวิตต่อไป.

บิน ลาเดนตายแล้วยังไง

โลกจะดีขึ้นหรือ ?

จึงเป็น Zero Dark Thirty ของ มายา อย่างแท้จริง.