ก้าวข้ามวิกฤติค่าแรง สร้าง 'คน- องค์กร' ให้แกร่ง

ก้าวข้ามวิกฤติค่าแรง สร้าง 'คน- องค์กร' ให้แกร่ง

จะเจ็บจะปวดกับบททดสอบที่ชื่อต้นทุนค่าแรงแต่เอสเอ็มอีพันธุ์แกร่งก็ต้องผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้ร่วมค้นหาทางออกกับสูตรสร้างคน-สร้างองค์กรแห่งอนาคต

ร้อนแรงตั้งแต่ต้นปี สำหรับนโยบาย ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา หลังจาก 7 จังหวัดนำร่อง อย่าง กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภูเก็ต ผจญชะตากรรมนั้นไปแล้วเมื่อปีก่อน

ถ้าโจทย์หนักเข้ามาในวันที่เศรษฐกิจกำลังดี ตลาดยังคงรุ่ง เรียกง่ายๆ คือ ยังขายของได้แบบ “เทน้ำเทท่า” ก็คงไม่มีเสียงโอดครวญหนักขนาดนี้ แต่ที่เอสเอ็มอีหลายรายยังต้องสั่นผวา ก็เพราะเพิ่งผ่านบททดสอบสาหัส ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ความผันผวนของค่าเงินบาท เผชิญหน้ากับน้ำท่วมหนัก ตามมาด้วยวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรปและอเมริกา ที่ทำ ตลาดส่งออกซบ เครื่องจักรเดินไม่เคยเต็มกำลังการผลิต ขณะที่คู่แข่งรอบบ้านก็ร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ

พอมาปีนี้เจอกระหน่ำซ้ำด้วยต้นทุนค่าแรงแบบ “ก้าวกระโดด” เลยได้เห็นชะตากรรมของหลายกิจการโดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้แรงงานหนัก ประเภท “มาร์จิ้นต่ำ-แข่งขันสูง” อย่าง เครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ เซรามิก ต้องตกอยู่ในสภาวะ “ขาดอากาศหายใจ”

เลยมีให้เห็นตั้งแต่ ลดคน ย้ายฐานการผลิต หรือแม้แต่ ปิดกิจการ!

“ที่กระทบหนักสุด คือ กลุ่มที่ทำกำไรได้น้อย และความสามารถในการแข่งขันต่ำ อย่างพวกการ์เม้นท์ เฟอร์นิเจอร์ ที่การแข่งขันสูงมาก เรียกว่าถ้าต้องปรับราคาเพิ่ม เขาก็แข่งขันไม่ได้อีก ที่เห็นปิดตัวมากสุดก็คือกลุ่มนี้”“ดร.จิราพร พฤกษานุกูล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินดิโก คอนซัลติ้ง กรุ๊ป จำกัด ที่ปรึกษาด้านการจัดการคนและโครงสร้างองค์กร บอกสถานการณ์ที่เกิดกับเอสเอ็มอี ในยุควิกฤติค่าแรง

ขณะที่เอสเอ็มอีกลุ่มหนึ่งสาหัส ทว่ายังมีอีกกลุ่ม ที่ “เอาอยู่” กับสถานการณ์ คือ พวกที่มีมาร์จิ้นพออยู่ได้ และเป็นธุรกิจที่กำลังเติบโต โดยอาจมีต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ก็สามารถปรับราคาเพิ่ม หรือหันไปจัดการวิธีอื่นเพื่อให้ธุรกิจไปต่อได้

“การปรับตัวของกลุ่มแรกที่เห็นก็คือฉีกตัวเองออกไป แทนที่จะแข่งขันในตลาดแมส ก็ไปแข่งเรื่องดีไซน์ ใช้เทคโนโลยี สร้างจุดขายของตัวเองขึ้นมา ส่วนกลุ่มที่สองนี่น่าสนใจ คือ พอต้นทุนเพิ่มเรามักจะได้ยินกันบ่อยๆ ว่า ต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานสิ ลดของเสียสิ ซึ่งความจริงเรื่องนี้พวกเขาทำกันอยู่แล้ว แต่ประเด็นคือ ต้นทุนที่เกิดขึ้นเป็นต้นทุนด้านคน ก็ต้องแก้ที่คน”

เธอบอกแนวทางที่ใช้ได้ผลดี ตั้งแต่ ทำเรื่อง Productivity เพิ่มประสิทธิภาพของคน โดยการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้กลุ่มที่เป็นแรงงานทักษะต่ำ (Unskilled Labour) ให้สามารถทำงานได้ และมี Skill เพิ่มมากขึ้น

ปรับตัวไปพร้อมกับเรื่องคน คือมาเป็น “เถ้าแก่ยุคใหม่” ที่ต้องรู้จัก “กำหนดเป้าหมาย” ในการทำธุรกิจให้ชัดเจนขึ้น เลิกเสียทีทำงานแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ต้องรู้จักตั้งเป้าหมาย เช่น ผลิตของให้มากขึ้น จากเดิมทำได้ 100 ชิ้นต่อวัน ก็กำหนดใหม่เป็น 150 ชิ้นต่อวัน โดยเปลี่ยนจากการให้โอทีพนักงาน มาเป็นให้รางวัลเมื่อทำได้ตามเป้าหมาย วิธีนี้ก็เพื่อแก้ปัญหาทำงานเกินเวลาก็จ่ายโอที ทั้งที่ผลผลิตอาจไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่หมากรบใหม่จะเน้นที่ “ผลงาน” ทำให้เมื่อต้นทุนด้านแรงงานเพิ่มสูงขึ้น ผลผลิตก็จะเพิ่มมาครอบคลุมต้นทุนที่เกิดขึ้นได้นั่นเอง

นายจ้างต้องสื่อสารให้ชัดเจน ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้ลูกจ้างเข้าใจถึงแนวทางแก้ปัญหาที่ “วิน-วิน” ทั้งคู่

“ต้องชี้ให้เขาเห็นว่า ธุรกิจอยู่ได้ เขาอยู่ได้ เพราะบางครั้งลูกจ้างก็คุยด้วยความรู้สึก นายจ้างจึงต้องสื่อสาร และชี้แจงเพื่อป้องกัน ความเข้าใจผิด”

จากการทำงานแบบเดิมๆ เน้นแรงคนเป็นหลัก ก็ได้เวลานำเครื่องจักรเข้ามาใช้ และพัฒนาคนขึ้นมาควบคุมเครื่องจักร ตลอดจนใช้คนที่มีความสามารถที่หลากหลายขึ้น ทำงานได้หลายอย่างในตัวคนเดียว (Multi- skill)

“นายจ้างต้องมองไปข้างหน้า นี่เป็นโอกาสในการคัดเลือกคนที่มีฝีมือและประสิทธิภาพจริงๆ ไว้กับองค์กร ได้เวลากลับมาทบทวนตัวเอง ปรับตัว ดูเรื่องคน และระบบ อย่างจริงๆ จังๆ และปรับเปลี่ยนวิธีในการจ่ายเงิน เป็นจ่ายตามทักษะที่เพิ่มขึ้น”

ไม่แต่นายจ้าง ทว่าวินาทีนี้ “ลูกจ้าง” ก็ถึงเวลาต้องปรับตัวด้วย จะมาทำงานแบบ “ชิล ชิล” เช้าชามเย็นชามเหมือนเดิมไม่ได้อีกแล้ว เพราะถ้าไม่พร้อม ไม่ “แน่จริง” ก็จะถูกเถ้าแก่ “โหวตออก” ได้ง่ายๆ

“ลูกจ้างต้องเพิ่มทักษะตัวเอง และพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด เช่น นายจ้างมอบหมายงานอะไรให้ทำ ก็ต้องเต็มใจที่จะเรียนรู้ และไม่ปฏิเสธงาน พร้อมที่จะเรียนรู้งานใหม่ๆ ตลอดเวลา เพราะธุรกิจเอสเอ็มอีเปลี่ยนแปลงบ่อย ทั้งเปลี่ยนตัวเอง ผลิตภัณฑ์ และตลาด ซึ่งถ้าลูกจ้างขยันเรียนรู้งาน สร้างตัวเองให้มีทักษะที่หลากหลายก็จะเป็นที่ต้องการของนายจ้าง”

เธอว่า ไม่จำเป็นต้องรอให้องค์กรมาพัฒนาตัวเรา แต่พนักงานทุกคนต้องมีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาตัวเอง ต้องเป็นคนที่พร้อมปรับตัวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงได้ และยอมรับการเปลี่ยนแปลง เพื่อความอยู่รอด และโอกาสก้าวหน้า

“เราต้องพร้อมเปลี่ยนแปลงและยอมรับการเปลี่ยนแปลง เช่น โครงสร้างองค์กรเดิมเคยมีผู้ช่วย แต่ต่อไปจะไม่มีแล้ว ก็ต้องสามารถทำงานเองได้ครบวงจร ต้องปรับตัวไปพร้อมกับองค์กรยุคใหม่ ไม่ว่าองค์กรจะเปลี่ยนไปทางไหน ก็สามารถปรับตัวตามได้”

นี่คือวิถีลูกจ้างยุคดิจิทัล ที่ต้องสลัดตัวเอง มาเป็นผู้ไม่หยุดนิ่ง ปรับปรุงตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่แค่ทำงานไปวันๆ แต่ต้องรู้วิธีปรับปรุงกระบวนการทำงาน คิดและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ นายจ้างย่อมมองหาบุคคลประเภทนี้ และเป็นกลุ่มที่อยากเก็บเอาไว้มากที่สุด ไม่ว่าองค์กรจะอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายแค่ไหนก็ตาม

สำหรับอดีตลูกจ้าง ที่ต้องโบกมือลากิจการ เพราะพิษค่าแรง 300 บาท ก็อย่าเพิ่งถอดใจดับอนาตคตตัวเอง เพราะนี่อาจเป็นโอกาสให้คุณได้ “แจ้งเกิด!” บนถนนผู้ประกอบการก็ได้

“สำหรับใครที่พอมีเงินทุน อยากมาทำกิจการเล็กๆ ของตัวเอง ก็ให้คำนึงถึงธุรกิจที่จะทำ ว่าการแข่งขันสูงไหม อย่าง มองไปทางไหนก็เจอแต่ร้านกาแฟ ถ้าเราจะเปิดร้านกาแฟอีก เราจะสู้เขาได้ไหม แต่ถ้าสามารถทำให้แตกต่างจากเขาได้ ก็จะอยู่ได้ รวมถึงต้องมองตลาดให้เป็น ดูความต้องการของตลาด และเรียนรู้วิธีประกอบกิจการ อย่าง การคำนวนต้นทุน บัญชี การเงิน และต้องรู้จักบริหารคนให้เป็น เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาให้ดี ก่อนมาเป็นเจ้าของกิจการ”

เธอบอกว่า ปัจจุบันเป็นตลาดของธุรกิจที่มีการแบ่งกลุ่มเซกเมนท์ที่ชัดเจน เลยเห็นโอกาสเติบโตของกลุ่มสินค้าประเภทแฮนด์เมด งานดีไซน์ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีเหล่าสาวกของตัวเองชัดเจน ดังนั้นต้องรู้จักกลุ่มลูกค้า และหาเซกเมนท์ของตัวเองให้เจอ ก็จะมีโอกาสอีกมากในการทำธุรกิจนับจากนี้

มองข้ามช็อตไปข้างหน้า ได้เวลาเอสเอ็มอี ปรับองค์กรสู่อนาคต “ดร.จิราพร” บอกว่า ธุรกิจยุคหน้า ต้องพัฒนาตัวเองทั้งกระบวนการผลิต เครื่องจักร และคน ต้องมีระบบการบริหารจัดการที่ดีขึ้น มีมาตรฐานการผลิตที่ดี และมีการตั้งเป้าหมายมากขึ้น ไม่ใช่บริหาร “ตามใจฉัน” เหมือนที่ผ่านๆ มา แต่ต้องนำระบบบริหารจัดการ “มืออาชีพ” เข้ามาใช้

เวลาเดียวกันคือ ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการอย่างต่อเนื่อง เพราะโลกเปลี่ยนแปลงทุกวัน เอสเอ็มอีจึงต้องปรับตัว อย่าหยุดนิ่ง ต้องวิเคราะห์คู่แข่ง และมองธุรกิจให้เป็น..

เพื่อขึ้นแท่น Super SMEs ผู้ต้านทานทุกวิกฤติ

...................................................
Key to success
โอกาสในวิกฤติค่าแรง
๐ นายจ้างได้ปรับองค์กร คัดคนที่ดีอยู่กับบริษัท
๐ เพิ่มประสิทธิภาพทั้งในคนและผลผลิต
๐ เห็นช่องทางในตลาดใหม่ๆ ที่มาร์จิ้นดี แข่งขันได้
๐ ปรับระบบการทำงานให้เป็นมาตรฐานพร้อมแข่งขัน
๐ลูกจ้างได้พัฒนาตัวเอง เป็นที่ต้องการขององค์กร
๐ ตกงานก็ยังมีโอกาสแจ้งเกิด! ในเวทีเถ้าแก่ใหม่