'อีเวนท์ดนตรี'ทะลักสวนกระแสเศรษฐกิจ

'อีเวนท์ดนตรี'ทะลักสวนกระแสเศรษฐกิจ

(รายงาน) "อีเวนท์ดนตรี" ทะลักสวนกระแสเศรษฐกิจ

สถานการณ์ธุรกิจบันเทิงไตรมาสสุดท้ายปี 2557 แตกต่างจากไตรมาสเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว ทั้งความหนาแน่นของจำนวนกิจกรรม การเกิดขึ้นของผู้ประกอบการหน้าใหม่ สวนทางกับสภาพเศรษฐกิจที่หดตัวลง

ผู้สันทัดกรณีมองว่า ด้านหนึ่งมาจากปัจจัยการเมืองที่มีเสถียรภาพมากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งมาจากลักษณะเฉพาะของธุรกิจโชว์บิซ ที่ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว บ่อยครั้งที่โชว์ประสบความสำเร็จ ยอดขายบัตร “โซลด์เอาท์” ทั้งที่มีปัจจัยลบมากมาย รวมทั้งพลังดึงดูดของศิลปิน ล้วนเป็นเสน่ห์ให้มีผู้ประกอบการสนใจเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมนี้อย่างไม่ขาดสาย

นุช พีรพัฒนาพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ จำกัด ผู้ให้บริการระบบ Ticketing ของกิจกรรมโชว์บิซและคอนเสิร์ตในประเทศไทย ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุด เปิดเผยถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมปีนี้ว่า ตลาดทั้งปีค่อนข้างชะลอตัว เพิ่งจะมาคึกคักในช่วงไตรมาสหลังๆ เท่านั้น โดยหดตัวลงราว 20-25 %หากเปรียบเทียบกับมูลค่าตลาดรวมเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งมีอยู่ราว 2 พันล้านบาท โดยปีที่แล้ว ตลาดคอนเสิร์ตและโชว์บิซขายดีอย่างต่อเนื่อง แต่มาชะงักงันในช่วงปลายปีที่การเมืองไร้เสถียรภาพ

ด้วยจำนวนกิจกรรมโชว์บิซและคอนเสิร์ตที่ผุดขึ้นมากในเวลานี้ ซึ่งมีความหลากหลายด้านรูปแบบ สไตล์ รวมถึงสถานที่จัดแสดง ทั้งอินดอร์และเอาท์ดอร์ ในกรุงเทพและต่างจังหวัด นุช อธิบายว่า ส่วนหนึ่งเป็นงานที่จัดขึ้นช่วงเทศกาลปลายปี และบางส่วนเป็นงานที่เลื่อนจัดมาจากครั้งก่อนๆ

รูปแบบคอนเสิร์ตเปลี่ยน

“โดยส่วนตัวเห็นว่า เวลานี้กำลังมีรูปแบบการจัดคอนเสิร์ตใหม่ๆ ที่น่าสนใจ ดังกรณีของ ‘บอดี้สแลม’ ที่เตรียมภาคโปรดักชั่นสมบูรณ์เท่าเทียมกันในทุกๆ พื้นที่ กระจายความสุขอย่างเท่าเทียม ไม่ต้องมาชมถึงกรุงเทพฯ เป็นโมเดลที่น่าศึกษา ทั้งยังพบว่า กระแสเพลงแบบ EDM (Electronic Dance Music) กำลังมาแรง โดยหลายๆ งาน จะเป็นลักษณะการอิมพอร์ตแบรนด์เข้ามาเลย เหมือนซื้อแมกกาซีนหัวนอกมาทำตลาด เช่น เทศกาล 808 หรือ อาร์เคเดีย ที่เด่นดังในเทศกาลดนตรีกลาสตันเบอรีมาแล้ว” นุช กล่าวเพิ่มเติม

เมื่อพูดถึง ‘อาร์เคเดีย’ (Arcadia) ยอด สุขวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มีโมชั่น จำกัด ผู้จัดโชว์ ‘อาร์เคเดีย’ มหกรรมที่รวมเหล่าดีเจ โครงสร้างสถาปัตยกรรมแมงมุมยักษ์ รวมทั้งโชว์ Lord of Lightning นำเสนอภาพกระแสไฟฟ้า 4 ล้านโวลต์ไหลผ่านตัวนักแสดง อิมพอร์ตตรงจากอังกฤษ เปิดเผย ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ว่า นี่คือครั้งแรกที่โปรดักชั่นนี้จะได้แสดงภายนอกประเทศอังกฤษ การเยือนไทยน่าจะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวในละแวกภูมิภาคนี้อีกด้วย

“ความจริงแล้ว ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับงานแสดง 1 วัน ในการถอดชิ้นส่วนขนาดใหญ่ที่เหล่านักประดิษฐ์ได้ ‘รีไซเคิล’ มาจากส่วนประกอบเครื่องบินและเครน แล้วนำใส่เรือเดินสมุทรใช้เวลาเดินทาง 1 เดือน เพื่อนำมาประกอบขึ้นใหม่ ในพื้นที่แสดงอีก 2 สัปดาห์ จากนั้นต้องถอดชิ้นส่วนและส่งกลับทางเรือ โดยใช้เวลาอีก 1 เดือน แต่ในที่สุด ก็จัดขึ้นมาได้ด้วยใจรัก”

ยอด อธิบายเพิ่มเติมว่า กว่าจะจัดงานนี้ขึ้นมาได้ ไม่ได้เริ่มจากเจรจาธุรกิจ แต่มาจากการคุยเรื่องดนตรีมากกว่า เริ่มต้นตนได้ส่งทีมสังเกตการณ์ในเทศกาลดนตรีกลาสตันเบอรีเมื่อปีก่อน กระทั่งมีเป้าหมายเรื่องงานตรงกัน ทั้งอาร์เคเดีย ที่อังกฤษ และทางมีโมชั่น ในการนำเสนอความสุขสู่ผู้ฟัง เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่เหมือนที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในอังกฤษ

นักดนตรีระดับโลกเยือนไทย

“เดิม อาร์เคเดีย เคยกำหนดจะจัดขึ้นเดือนมีนาคมปีนี้ แต่ด้วยสถานการณ์ ณ เวลานั้น ทำให้เราต้องเลื่อนงานออกไปจนกว่าจะพร้อม ซึ่งทางอังกฤษเข้าใจเป็นอย่างดี ถึงตอนนี้เราพร้อมและคาดหวังว่าจะมีผู้ชมราว 2 หมื่นคน ที่ไม่ใช่สำหรับนักท่องราตรีฟังเพลงในคลับเท่านั้น แต่โชว์นี้ยังเหมาะสำหรับการมาเป็นครอบครัวด้วยเช่นกัน”

ด้าน บริษัท บีอุส จำกัด โดย จักรพันธุ์ สุวรรณิก ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทฯ ผู้จัดคอนเสิร์ต เซอร์จิโอ เมนเดส ถือว่า คอนเสิร์ตนี้เป็นเรื่อง ‘ต้องทำ’ เพราะไม่บ่อยครั้งนักที่นักดนตรีระดับพระกาฬเช่นนี้จะเยือนไทย ด้วยวัยที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ของศิลปิน แม้จะเสี่ยงในเชิงธุรกิจอยู่บ้าง แต่การอยู่ในธุรกิจนี้ ด้านหนึ่งต้องมีใจรักด้วยเช่นเดียวกัน

“งานหลักของเรา ยังเป็นคอนเทนท์โปรไวเดอร์ เราเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์สื่อบันเทิง พวกละครซีรีส์ โดยเฉพาะเกาหลี เคยจัดกิจกรรมแฟนมีตติ้ง กับดาราเกาหลีหลายครั้ง แต่คอนเสิร์ตเฉพาะกลุ่มอย่างแจ๊สจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งของธุรกิจเรา ที่ผ่านมาเคยจัดคอนเสิร์ตศิลปินระดับตำนาน เฮอร์บี แฮนค็อก มาแล้ว” จักรพันธุ์ กล่าว

ผู้จัดงานตลาดเอาท์ดอร์ เน้นความเป็นเทศกาลดนตรีแบบรวมศิลปิน อย่าง ญาณกร อภิราชกมล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ครีเอท อินเทลลิเจนซ์ จำกัด ปัจจุบันกำลังมีงาน “ซีซัน ออฟ เลิฟ ซอง 5” ณ สวนผึ้ง ราชบุรี ด้วยผู้ชมราว 1.5 หมื่นคน เห็นว่า ด้วยสถานการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอนก่อนหน้านี้ หลายงานต้องยกเลิก หรือเลื่อนออกไป กระทั่งทุกอย่างสงบ จึงส่งผลให้ธุรกิจโชว์ปลายปีนี้ล้นทะลักอย่างที่เห็น

คอนเสิร์ต "เอาท์เดอร์" ยังแรง

“การจัดงานเอาท์ดอร์ ทั้งงานเล็กงานใหญ่ ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ผุดขึ้นเกือบ 100% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่กำลังซื้อลดลงไป 20% ส่วนเศรษฐกิจตอนนี้ ทำให้สปอนเซอร์ระมัดระวังใช้จ่ายเงินงบประมาณ ผนวกกับกิจกรรมคอนเสิร์ตคืนความสุข ที่มีมากมายค่อนข้างซ้ำซากในเรื่องศิลปินที่มาแสดง ผมเชื่อว่าอย่างน้อยต้องมีคนบาดเจ็บล้มตายกันบ้าง อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่า นี่เป็นสถานการณ์ที่ศิลปินได้ประโยชน์ เพราะมีงานจ้างเยอะ ส่วนคนชมเองก็มีโอกาสเลือกชมตามใจชอบ”

ญาณกร วิเคราะห์ว่า ผู้จัดงานหน้าใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกปีเป็นเรื่องปกติ แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะอยู่รอด และฝ่าด่านยากๆ ของธุรกิจนี้ไปได้ โดยส่วนตัว ทางบริษัทเน้นปักหมุดในพื้นที่ที่ถนัด และมีความเข้มแข็งจะไม่ไปลงแข่งขันในพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ถนัด

ขณะที่มุมมอง นุช ญาณกร มองว่า “นอกจากงานเอาท์ดอร์แล้ว ตอนนี้กำลังศึกษาดูตัวแปรใหม่ๆ หลังจากกระแสเกาหลีไปแล้ว เช่น การมาถึงของกระแส EDM ที่มีความสดใหม่และน่าสนใจในการทำตลาดอย่างมาก”

ทางด้าน รักษิต รักการดี ผู้อำนวยการฝ่ายคอนเสิร์ตและกิจกรรมพิเศษ บริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) อธิบายว่า ธุรกิจคอนเสิร์ตและโชว์บิสสิเนส มีลักษณะเฉพาะในตัวเอง แน่นอนว่าหากสภาพการเมืองนิ่ง ย่อมทำให้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น แต่บางครั้งปัจจัยต่างๆ ที่ดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกัน ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสียทีเดียว

“ช่วงที่การเมืองขัดแย้งกันมากๆ ก็ยังมีโชว์และคอนเสิร์ตที่ประสบความสำเร็จเกินคาดหลายงานด้วยกัน ดังนั้น คอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรีที่เห็นจัดกันมากๆ ช่วงปลายปี ไม่น่าเพราะการเมืองนิ่งอย่างเดียว แต่น่าจะเป็นเรื่องของช่วงเวลาหรือฤดูกาลมากกว่า”

บีอีซีเน้น "โลคอล คอนเสิร์ต"

สำหรับทิศทางการจัดคอนเสิร์ตของ บีอีซี-เทโร ในปีนี้และปีหน้า คือการให้ความสนใจทำ “โลคอล คอนเสิร์ต” หรือ คอนเสิร์ตของศิลปินภายในประเทศมากขึ้น โดยถือเป็นการวางแผนเชิงกลยุทธ์ขององค์กร เพื่อนำ “วัตถุดิบ” ที่ทางบริษัทฯ มีอยู่แล้ว เช่น ศิลปินในความดูแลของค่ายเพลง โซนี- , เบเกอรี, เลิฟอิส ฯ มาสร้างสรรค์งานแสดงมากขึ้น

บทสรุปสุดท้าย ในมุมมองของ นุช พีรพัฒนาพงศ์ วิเคราะห์ถึงภาพรวมตลาดว่า แม้จะมีกิจกรรมมากมายในช่วงปลายปี แต่โดยขนาดของตลาด วอลุ่มยังหดตัวลงกว่าปีก่อน บางทีหากคอนเสิร์ต 40 ปีของ “เสก โลโซ” ที่กำลังอยู่ในกระแสความสนใจว่า “เลื่อน-ไม่เลื่อน” ได้จัดจริงๆ นั่นอาจจะทำให้ยอดรวมของอุตสาหกรรมดีขึ้น ไม่มากก็น้อย

“คำนวณง่ายๆ บัตรราคาเฉลี่ยใบละ 2 พัน จำนวน 2.5 หมื่นที่นั่ง ของราชมังคลาฯ เท่ากับได้ยอดเพิ่มอีก 50 ล้านบาททีเดียวนะ” นุช กล่าว