สุขเกินคิด "คาราวานมิตรภาพ"

สุขเกินคิด "คาราวานมิตรภาพ"

ความสวยงามไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบเสมอไป

เหมือนกับเส้นทางสายนี้ที่แม้จะมีความลาดชัน ขรุขระ แต่มันก็ช่างงดงาม ตรึงตรา ประทับใจ

.......................

ทันทีที่รถกลางเก่ากลางใหม่ทะยานขึ้นมาถึงยอดเขานั้นได้ นักเดินทางเกือบ 200 ชีวิตก็พากันกรีดร้องดีใจ พร้อมกับปรบมือให้กับความมุ่งมั่นของสมาชิก "คัน" สุดท้ายอย่างยินดี

นี่ไม่ใช่ภาพลุ้นระทึกจากการแข่งขันใดๆ แต่เป็นมิตรภาพที่เกิดขึ้นจากการเดินทางไกลของเหล่าบรรดานักท่องเที่ยวที่ผูกหัวใจให้กับการเดินทางบนถนนสายเดียวกัน

การเดินทางท่องเที่ยวในปัจจุบันมีหลายรูปแบบ "คาราวาน" เป็นหนึ่งในนั้น และกำลังได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ เพราะจุดเด่นของการเดินทางรูปแบบนี้นั่นก็คือความสามัคคีและมิตรภาพ

เดือนก่อนฉันมีโอกาสร่วมเดินทางไปกับ "คาราวานมหัศจรรย์สีเขียว เที่ยวเส้นทาง 3 แม่" (แม่สอด-แม่สะเรียง-แม่ฮ่องสอน) ที่จัดขึ้นโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานตาก และสำนักงานแม่ฮ่องสอน โดยมีคณะคาราวานเข้าร่วมจำนวน 50 คัน กับสมาชิกราว 200 คน

ถามว่าอะไรทำให้ฉันตกปากรับคำเข้าร่วมกิจกรรม "นั่งมาราธอน" ครั้งนี้ได้ คำตอบคงอยู่ที่ความสงสัย ว่าอะไรทำให้ "พวกเขา - คณะคาราวาน" หลงใหลการเดินทางรูปแบบนี้

นั่นสิ อะไร?

..................

แดดอ่อนยามเช้าสวยสดงดงามแค่ไหน คนตื่นสายไม่มีทางได้รับรู้ เช่นเดียวกับความสุขจากการเดินทาง จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสองเท้าของเรานั้นก้าวออกไปสัมผัสแผ่นพื้นที่แตกต่าง และเก็บเกี่ยวประสบการณ์เข้ามาไว้ในบันทึกแห่งความทรงจำส่วนตัว

แน่นอนว่า ถ้าเราตื่นเช้าและยอมก้าวเท้าออกไป ทั้งความสุขและความสดใสจะเกิดขึ้นได้จริงๆ

แม้จะไม่ใช่ครั้งแรกที่ร่วมเดินทางแบบคาราวาน แต่ทุกๆ การเดินทางทำให้ฉันตื่นเต้นได้เสมอ สำหรับครั้งนี้เรามีจุดเริ่มต้นอยู่ที่กรุงเทพมหานคร โดยคาราวานทุกคันจะขับรถตามกันไปเรื่อยๆ เป็นขบวน ในระยะเริ่มแรกของการเดินทางเราใช้ทางหลวงหมายเลข 1 หรือถนนพหลโยธิน มุ่งหน้าสู่ภาคเหนือ จนถึงจังหวัดตากจึงแวะสักการะสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเพื่อเป็นการเอาฤกษ์เอาชัยที่ "ศาลสมเด็จพระเจ้าตาก"

ศาลสมเด็จพระเจ้าตาก ตั้งอยู่บนถนนจรดวิถีถ่องตัดกับถนนมหาดไทยบำรุง ใกล้ศาลากลางจังหวัด เดิมทีศาลนี้อยู่บนดอยวัดเขาแก้วฝั่งตรงข้ามกับตัวเมือง ต่อมาปี 2490 ชาวเมืองเห็นว่าศาลนั้นไม่สมพระเกียรติจึงช่วยกันสร้างศาลขึ้นใหม่ พร้อมกับให้กรมศิลปากรหล่อพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชขนาดใหญ่กว่าพระองค์จริงเล็กน้อยในพระราชอิริยาบถที่กำลังประทับอยู่บนราชอาสน์ มีพระแสงดาบพาดอยู่ที่พระเพลา ที่ฐานพระบรมรูปมีคำจารึกว่า พระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี ทรงพระราชสมภพเมื่อ 2277 สวรรคต 2325 "รวม 48 พรรษา"

รอบๆ ศาลเราพบว่ามีตุ๊กตาปูนปั้นรูปช้าง ม้า และไก่มากมาย เหล่านี้บ่งบอกได้ถึงความเชื่อถือศรัทธาที่ชาวเมืองตากและประชาชนทั่วไปมีต่อมหาราชผู้ยิ่งใหญ่แห่งแผ่นดินพระองค์นี้

ขอพรให้เดินทางปลอดภัยเรียบร้อยแล้วคณะคาราวาน 200 ชีวิตก็เดินทางต่อไปยังอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 12 ผ่าน "ตลาดดอยมูเซอ" ที่มีผักผลไม้จำหน่ายในราคาถูก แต่เราไม่ได้แวะเพราะเส้นทางที่จะไปอีกแสนยาวไกล ไหนจะชัน ไหนจะโค้ง แต่หลับตาลงเพียงครู่เดียวเราก็มาถึง แม่สอด เขตแดนไทยที่มีสโลแกนให้จดจำได้ง่ายๆ ว่า "สุดประจิมที่ริมเมย"

อำเภอเล็กๆ แห่งนี้เป็นเมืองที่มีรายได้จากการค้าสูงมาก เพราะตั้งอยู่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า โดยมีแค่แม่น้ำเมยเท่านั้นที่กั้นขวางไว้ ราวปี 2540 มีการเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-พม่า ทำให้การเดินทางไปมาค้าขายระหว่างไทยกับพม่าทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งเมืองที่อยู่ตรงข้ามกับแม่สอดก็คือ "เมียวดี" เมืองพุทธที่น่ารัก และเต็มไปด้วยความศรัทธา นักท่องเที่ยวสามารถข้ามไปเมืองเมียวดีได้ เพียงแค่ครึ่งวันก็น่าจะเดินทางท่องเที่ยวได้ครบทุกจุด

สำหรับแม่สอด เป็นเมืองหลากอารมณ์ของแท้ เพราะแม้จะยืนอยู่บนแผ่นดินไทยแต่ก็มีสาวน้อยประแป้งทานาคามาขายของให้ มีมุสลิมขายโรตี มีชาวจีนเปิดร้านอาหารจีนเต็มไปหมด เรียกว่า ครบทุกรสเลยจริงๆ แต่นอกจากของกินแล้วแม่สอดยังมีศาสนสถานที่ควรค่าแก่การเดินทางไปสักการะมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ศาลเจ้าพ่อพะวอ มงคลสถานศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแม่สอด วัดแม่ซอดน่าด่าน หรือวัดเงี้ยวหลวง (วัดหลวง) ซึ่งโดดเด่นเรื่องประเพณี "แล้อุปั๊ดตะก่า" หรือแห่ข้าวพระพุทธ เป็นประเพณีของชาวไทยใหญ่ที่สืบทอดกันมากว่า 100 ปี นอกจากนี้ยังมี วัดไทยวัฒนาราม หรือวัดแม่ตาวเงี้ยว ที่มีพระพุทธมหามุนี ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่จำลองมาจากพระพุทธมหามุนีอันศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวเมืองมัณฑะเลย์ สหภาพเมียนมาร์ ประดิษฐานอยู่ด้วย

คณะคาราวานต่างสนุกสนานกับการจับจ่ายใช้สอย บ้างก็ซื้อขนมมาฝากกันและกัน "กระบองจ่อ" เป็นอีกหนึ่งเมนูอาหารที่ได้รับความสนใจมาก เป็นอาหารว่างของชาวพม่าทำมาจากฟักทอง มะละกอ และน้ำเต้า ชุบแป้งทอดกินกับน้ำจิ้ม เด็กๆ ที่มากับรถคาราวานหลายคันเคี้ยวกันกรุบกรอบดูน่าสนุก

สูดรับอากาศบริสุทธิ์ของเมืองแม่สอด จังหวัดตาก กันอย่างเต็มที่แล้วคณะคาราวาน "3 แม่" ก็พร้อมใจเดินทางต่อโดยใช้ทางหลวงหมายเลข 105 (แม่สอด-แม่สะเรียง) การเดินทางไกลโดยมีรถร่วมขบวนหลายคันแบบนี้จำเป็นต้องมีเครื่องมือสื่อสารที่ติดไว้ประจำรถแต่ละคัน และเครื่องมือสื่อสารนี้เองที่ทำให้คนที่ไม่รู้จักกันกลายเป็นเพื่อนร่วมทางที่พูดคุยกันได้อย่างสบายใจ

เส้นทางสายนี้ค่อนข้างสูงชัน แต่การเดินทางก็ค่อนข้างสบาย เพราะเป็นถนนขนาดใหญ่ แบ่งช่องจราจรเป็น 4 เลน ก่อนจะขยับแคบเหลือ 2 เลนในบางช่วง แต่ก็ยังถือว่าสะดวกมาก เพราะรถราไม่เยอะเกินไปนัก นอกจากนี้ยังมีภาพความงดงามระหว่างทางให้ได้ชม ซึ่งถนนเส้นนี้จะนำพาเราเดินทางจากแม่สอดผ่านอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก มุ่งสู่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่เราแวะพักรถที่ หมวดการทางท่าสองยาง ซึ่งเป็นจุดชมวิวแม่น้ำเมยที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง ส่วน น้ำตกทีมอโบ ที่อยู่ริมทางก็สร้างความชื่นฉ่ำให้กับคณะคาราวานของเราได้ไม่น้อย

ฝนโปรยมาเล็กน้อยเมื่อรถคันแรกออกสตาร์ท เราเดินทางกลับเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 105 อีกครั้ง แต่ยิ่งเดินทางไกลออกไปก็ดูเหมือนว่าผืนป่าจะสูงใหญ่จนแลดูคล้ายกับ "ป่าดึกดำบรรพ์" ความอุดมสมบูรณ์ที่ใครๆ ตามหานั้นอาจจะมากองอยู่รวมกัน ณ แผ่นดินนี้เอง

แม่สะเรียง ต้อนรับเราด้วยความมืดมิดของราตรีกาล แต่กระนั้นก็ยังมีแสงสว่างเล็กๆ ที่ส่องออกมาจาก วัดศรีบุญเรือง ให้ได้ใจชื้น เราเดินเข้าไปไหว้พระในพระอุโบสถที่เป็นศิลปะแบบไทยใหญ่ นั่งมองพระพุทธรูปองค์ประธานแล้วรู้สึกสุขใจเล็กๆ

วัดศรีบุญเรืองตั้งอยู่ใกล้กับ วัดจองสูง ที่มีอายุเกือบ 200 ปี วัดนี้มีพระเจดีย์ทรงเครื่องแบบมอญ 3 องค์ แต่ขอแนะนำให้มาชื่นชมในเวลากลางวันจะเหมาะสมกว่า เพราะกลางคืนที่เงียบสงัด มีเพียงแค่สายลมพัดพลิ้วเบาๆ แบบนี้ ชวนให้มโนถึงสิ่งที่ไม่มีตัวตนได้ดีจริงๆ

เช้าวันใหม่เราออกเดินทางจาก "ประตูสู่แม่ฮ่องสอน" ทางทิศใต้ ตรงขึ้นไปประกอบกิจกรรมเพื่อสังคมกันที่ บ้านดง อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ทัศนียภาพของนาขั้นบันไดที่สวยงามของบ้านดงทำให้คนที่อ่อนล้าจากการเดินทางออกอาการตาลุก ที่นี่ประเทศไทย ไม่ใช่แผ่นดินอื่นไกลเลยจริงๆ ภูเขาที่สลับซับซ้อนซ่อนความงดงามไว้ได้อย่างมิดชิดจริงๆ

คณะคาราวานของเราแวะไปพักรถกันที่ โรงเรียนศิษย์เก่าพยาบาลศิริราชบ้านดง พร้อมกับมอบอุปกรณ์กีฬา และทุนการศึกษาให้กับเด็กๆ ในโรงเรียน สำหรับบ้านดงแห่งนี้เป็นหมู่บ้านของพี่น้องชนเผ่าละว้าที่อาศัยอยู่อย่างเรียบง่าย ความน่ารักของชุมชนคือยังคงรักษาวัฒนธรรมของตัวเองไว้อย่างเหนียวแหน่น สังเกตได้จากการแต่งกาย ตั้งแต่ผู้ใหญ่ไปจนถึงเด็กเล็ก พวกเขาจะสวมใส่เสื้อผ้าของชนเผ่าเป็นหลัก นอกจากนี้ชาวบ้านดงยังประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งผลิตผักปลอดสารพิษรสอร่อยให้นักท่องเที่ยวรับประทาน ที่นี่จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง

กว่าจะถึง แม่ฮ่องสอน ทิวทัศน์อันตระการตาจากสองข้างทางก็ดึงความสนใจจากคณะคาราวานจนทุกคนบ่นว่า "เมมโมรี่การ์ดเต็ม" กันไปทิวแถว แต่พอขับรถจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนขึ้นมายัง วัดพระธาตุดอยกองมู เท่านั้นแหละ เสียง "แชะ-แชะ-แชะ" ก็กลับมาดังพร้อมกันอีกครั้ง

วัดพระธาตุดอยกองมู เป็นวัดศักดิ์สิทธิ์์คู่่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอนมาช้านาน ตั้งอยู่บนดอยกองมู ทางทิศตะวันตกของตัวเมืองแม่ฮ่องสอน จุดเด่นของวัดพระธาตุดอยกองมูอยู่ที่พระธาตุเจดีย์ 2 องค์ พระเจดีย์องค์ใหญ่สร้างโดย "จองต่องสู่" เมื่อปี 2403 เป็นที่บรรจุพระธาตุของพระโมคคัลลานะเถระ ซึ่งนำมาจากประเทศพม่า ส่วนพระธาตุเจดีย์องค์เล็กสร้างเมื่อปี 2417 โดย "พระยาสิงหนาทราชา" เจ้าเมืองแม่ฮ่องสอนคนแรก

จากวัดพระธาตุดอยกองมูเราสามารถมองเห็นภูมิประเทศและสภาพตัวเมืองแม่ฮ่องสอนได้อย่างชัดเจน หนองจองคำ ตั้งเด่นอยู่กลางเมือง โดยมี วัดจองคำ และวัดจองกลาง ขนานขนาบอยู่ใกล้ๆ แต่เรายังชื่นชมวัดทั้ง 2 แห่งไม่จุใจ เมื่อเดินทางลงมาถึงพื้นราบของเมืองแม่ฮ่องสอนเราจึงพึ่งสองเท้าให้ก้าวเดินเข้าไปที่วัดกลางเมืองเพื่อชื่นชมความงดงามของสถาปัตยกรรมโบราณนั้นอีกครั้ง

แม้การพัฒนาจะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ พื้นที่ แม่ฮ่องสอนเองก็หนีไม่พ้น แต่สิ่งที่น่าสนใจคือแม่ฮ่องสอนยังไม่กระโดดไปไกลนัก เราจึงยังคงเห็นภาพน่ารักๆ ของชาวแม่ฮ่องสอนที่เป็นไทยใหญ่นั่งทำอาหารพื้นเมืองอยู่ในครัวบ้าน บนถนนหนทางยังมีพระเดินหนให้ได้ใส่บาตรกันทุกเช้า มีการแบ่งปันของกินของใช้กันแบบไม่ต้องใช้สตางค์ นี่เองที่เขาเรียกว่า "พิพิธภัณฑ์มีชีวิต"

เราพบว่ามีคณะคาราวานหลายครอบครัวพาลูกๆ หลานๆ มารอตักบาตรบริเวณริมทาง เป็นภาพที่ดูคึกคักมาก แต่อย่างไรก็คงไม่เท่าที่บริเวณ สะพานไม้ซูตองเป้ สะพานไม้แห่งศรัทธาที่เชื่อมระหว่าง สวนธรรมภูสมะ ข้ามแม่น้ำแม่สะงาผ่านทุ่งนาไปยังหมู่บ้านกุงไม้สัก ที่มีชาวแม่ฮ่องสอนสวมชุดพื้นเมืองมารอใส่บาตรพระกันมากมายเต็มสะพาน เพราะวันที่เราไปถึงนั้นเป็นวันพระใหญ่พอดี

ภาพสะพานที่สวยสดงดงามนี้เรียกความสนใจจากนักท่องโลกออนไลน์ได้ดีไม่น้อย และทุกๆ ปีก็จะมีนักท่องเที่ยวมายืนโพสต์ท่าถ่ายรูปกับสะพานแห่งศรัทธาชนิดที่เรียกว่า ไม่เคยว่างเว้น แต่ความสวยงามที่เห็นอยู่นั้นไม่ใช่ได้มาง่ายๆ แต่เกิดจากศรัทธาอันยิ่งใหญ่ของชาวบ้านกุงไม้สัก ร่วมกับพระปลัดจิตตพัฒน์ อัคคปัญโญ สร้างขึ้นเพื่อให้ภิกษุสามเณรใช้เป็นทางเดินบิณฑบาต รวมถึงชาวบ้านก็สัญจรไปมาได้สะดวกขึ้น โดยสะพานมีความยาว 600 เมตร สร้างขึ้นจากไม้เก่าที่ชาวบ้านร่วมกันบริจาค ปูพื้นด้วยไม้ไผ่กว้าง 2 เมตร ซึ่งสะพานซูตองเป้ เป็นภาษาไทยใหญ่ หมายถึง สะพานบุญแห่งความสำเร็จนั่นเอง

มาถึงแม่ฮ่องสอนแล้วก็ขอเลยไปสูดอากาศยามเช้าที่สดชื่นที่ โครงการพระราชดำริปางตอง 2 หรือปางอุ๋ง กันสักนิด จะว่าไปนอกจากอากาสสดใส มีต้นสนใหญ่ขึ้นอย่างสวยงามริมอ่างน้ำแล้ว "หงส์คู่จูจุ๊บ" ก็ดูจะเหมือนจะเป็นแม่เหล็กสำคัญที่ทำให้ใครต่อใครพากันมาชื่นชมพฤติกรรมธรรมชาติของสัตว์น่ารักชนิดนี้กันอย่างครึกโครม แน่นอนว่า ถึงวันนี้เจ้าหงส์คู่นี้ก็ยังแสดงความรักที่มีต่อกันอย่างไม่อายต่อสายตามนุษย์ นี่แหละคือที่สุดของความโรแมนติก และทำให้ที่นี่เป็นภาพฝันจนได้รับการขนานนามว่า "สวิตเซอร์แลนด์เมืองไทย"

บ้านรักไทย เป็นจุดหมายสุดท้าย และเราก็ไปฝากท้องยามบ่ายกันที่นี่ หลังดื่มด่ำกับการชิมชา แกล้มด้วยขาหมูหมูหมั่นโถวแล้ว คณะคาราวานก็กระจายตัวกันไปซื้อของฝากเพื่อนำกลับไปให้คนที่ไม่ได้มาชื่นใจ บ้างก็ซื้อมาให้รถที่ร่วมเดินทางมาด้วย บ้างก็ถ่ายภาพสวยๆ ร่วมกัน

เสียงหัวเราะที่ดังลั่นไปทั่วคุ้งน้ำของคนที่ไม่รู้จักกันอาจทำให้นักเดินทางกลุ่มอื่นๆ แปลกใจ แต่สำหรับคนที่ร่วมเดินทางมาในคาราวานแล้ว เราเข้าใจและซาบซึ้งในมิตรภาพที่เกิดขึ้นนั้นอย่างแท้จริง

เพราะการเดินทางช่วยเปลี่ยนโลกและสร้างเพื่อนใหม่ได้ แล้วจะมาลังเลอยู่ทำไม ออกไปทำความรู้จักกับโลกใบใหม่ด้วยกัน

..........

การเดินทาง

ก่อนเดินทางบนเส้นทางสายแม่สอด - แม่สะเรียง - แม่ฮ่องสอน ควรเช็คสภาพรถให้สมบูรณ์พร้อมทุกครั้ง เพราะเส้นทางนี้จะลัดเลาะผ่านภูเขา มีทั้งเนินสูงชัน และโค้งแคบแบบหักศอก ในบางช่วงของการเดินทางอาจมีถนนที่กำลังพัฒนาจึงมีความขรุขระอยู่บ้าง แต่ถ้าเทียบกับความสุขระหว่างที่จะได้รับถือว่าคุ้มแสนคุ้ม

จากกรุงเทพฯ แนะให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 วิ่งผ่านอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี นครสวรรค์ กำแพงเพชร จากนั้นก่อนถึงจังหวัดตากไม่มากจะมีทางแยกเลี้ยวซ้ายไปแม่สอด ให้เลี้ยวซ้ายใช้ทางหลวงหมายเลข 12 กระทั่งถึงแม่สอด เที่ยวในเมืองให้ทั่วแล้วใช้เส้นทางหมายเลข 105 มุ่งหน้าสู่แม่สะเรียงและแม่ฮ่องสอน เป็นเส้นเดิมเส้นเดียวแต่เที่ยวได้แบบครบถ้วน

สอบถามข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวและการเดินทางเพิ่มเติมได้ที่ ททท.สำนักงานตาก โทร. 0 5551 4341-3 หรือ ททท.สำนักงานแม่ฮ่องสอน โทร. 0 5361 2982-3