จักรวาลไทย...อันไกลโพ้น

จักรวาลไทย...อันไกลโพ้น

ท่ามกลางความมืดมิดของจักรวาล นอกจากดวงอาทิตย์และดาวฤกษ์ หากคนไทยสนใจใคร่รู้เรื่องดาราศาสตร์และจักรวาล

...อาจมีแสงสว่างทางปัญญาเฉิดฉายด้วยก็เป็นได้

"รักคุณเท่าฟ้า" ไม่ใช่เป็นแค่สโลแกนของสายการบินหนึ่งหรือชื่อละครเรื่องหนึ่งเท่านั้น แต่ยังให้ความหมายถึงความรักที่ยิ่งใหญ่มหาศาลด้วย คำว่า 'ฟ้า' จึงตีความได้ว่า 'ใหญ่' สมดังที่ 'ฟ้า' เป็น

แต่ด้วยความกว้างใหญ่เหลือคณานับนี้หรือเปล่าที่ทำให้ความสนใจของคนไทยซึ่งมีต่อท้องฟ้า ดาราศาสตร์ และจักรวาล ไปไม่ถึงไหนสักที ทั้งที่ฟ้าก็อยู่บนหัวเรา จักรวาลก็ครอบเราอยู่ ทั้งที่เราต่างเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล

ไกลคือใกล้

ทั้งที่ดาราศาสตร์เป็นศาสตร์เก่าแก่ที่สุดศาสตร์หนึ่งของโลก มิหนำซ้ำในบ้านเราเรื่องดวงดาว ฟากฟ้า และอะไรต่อมิอะไรเกี่ยวกับจักรวาลทั้งทางตรงและอ้อมก็แทรกซึมเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตมาช้านาน อาทิ การดูฤกษ์งามยามดี, ความเชื่อเรื่องผีพุ่งไต้, การกราบไหว้พระราหู, การพยากรณ์ดวงชะตา (ที่มักต่อว่า 'ฟ้าลิขิต') ฯลฯ แต่ถ้าสังเกตให้ดีว่าเหล่านี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งเร้นลับเหนือธรรมชาติแทบทั้งสิ้น เมื่อเอ่ยถึงท้องฟ้าและจักรวาลจะมีสักกี่คนที่นึกไปถึงเรื่องวิทยาศาตร์อันจับต้องได้ ทั้งที่ถ้าจับต้องแล้วจะมีคุณอนันต์

รักษิต รักการดีผู้อำนวยการฝ่ายคอนเสิร์ตและกิจกรรมพิเศษ บมจ.บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ แสดงความคิดเห็นอย่างห่วงใยว่า

"คนไทยกับอวกาศดูห่างกันนะ ผมว่าคนไทยอาจจะมองท้องฟ้าเห็นเป็นสวรรค์ เห็นเป็นอะไรที่อยู่ไกลมาก เห็นดวงจันทร์ยังคิดถึงกระต่าย"

นั่นคือสิ่งที่รักษิตพูดหลังจากได้ชมนิทรรศการเกี่ยวกับอวกาศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกถึงสองครั้งติดต่อกัน แน่นอนว่าภาพที่เขาเห็นคือความแปลกตายิ่งเมื่อนำมาทับซ้อนกับภาพสังคมไทย

"จริงๆ แล้วโลกเราไม่ได้เคลื่อนอยู่แค่ประเทศไทย ทั่วโลกมีการเคลื่อนไหวหลายอย่าง สิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรา เช่น iPhone จริงๆ เปรียบเหมือนยานอวกาศเล็กๆ ลำหนึ่งเลยนะ มันคือเทคโนโลยีไฮเทคขนาดนั้น"

เมื่อยกตัวอย่างแบบนี้ ทำให้ผู้อำนวยการฝ่ายคอนเสิร์ตฯ คนนี้กลับมาตั้งคำถามอีกว่า ที่ว่าจักรวาลเป็นเรื่องไกลตัวน่าจะไกลจากความเข้าใจมากกว่า ส่วนกายภาพนั้นเราทุกคนต่างใกล้ชิดเทคโนโลยีอวกาศอย่างไม่รู้ตัว...หรือเปล่า?

"ผมว่าจริงๆ มันไม่ได้ไกลตัวเราหรอก ทุกอย่างที่เราใช้ทุกวันนี้มันพัฒนามาจากยานอวกาศ อย่างแล็ปท็อปที่เราใช้ทุกวันนี้ก็พัฒนามาจากของใช้ในอวกาศ"

แล้วเขาก็ค้นพบว่าระยะห่างระหว่างคนไทยกับความรู้เกี่ยวกับอวกาศคือ 'ความไม่รู้' ไม่ว่าระยะห่างนั้นจะมากจนเรียกว่าไกล หรือน้อยนิดพอจะเรียกว่าใกล้ ก็ถูกเติมให้เต็มได้ด้วยความรู้ที่ถูกต้อง ซึ่งหาเสพได้แค่ในบางสื่อและบางรายวิชาเท่านั้น

"เราอาจไม่มีข้อมูลให้เขามากเพียงพอ สื่อที่ป้อนเขากลายเป็นสื่อที่ตัวเนื้อหาไม่มีเพียงพอให้เด็กอ่าน เด็กไปเสิร์ชตามเว็บไซต์ก็ไปเจอภาษาอังกฤษบ้าง ภาษาญี่ปุ่นบ้าง เขาก็ไม่อ่านแล้ว เปิดทีวีดูก็ไม่ได้มีเรื่องพวกนี้ให้เขาได้เห็น หรือจะไปดูช่องสารคดีก็เป็นภาษาอังกฤษอีก ทำให้เขาจะรับข้อมูลมาต่อยอดความรู้ได้ยาก"

เมื่อเป็นเช่นนี้คนกลุ่มหนึ่งจึงไปค้นหาวิถีทางที่จะป้อนความรู้เรื่องดาราศาสตร์และอวกาศให้คนไทยได้เข้าใจมากขึ้น...

เหนือน่านฟ้าแดนปลาดิบ

หากนับชั่วโมงบินหรือระยะทางเป็นกิโลเมตร ประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นไม่ไกลจากกันมากนัก แต่ที่น่าประหลาดใจคือ คนไทยมี 'โอกาส' ได้เสพความรู้เรื่องอวกาศไม่ทัดเทียมประเทศอื่นๆ เลย บางคนอาจบอกว่าเราเองก็มีท้องฟ้าจำลอง มีศูนย์วิทยาศาสตร์ต่างๆ นานา แต่ถ้าถามเรื่องความพร้อม จะมีใครกล้าตอบไหมว่า "พร้อมที่สุด!"

อย่างที่ทราบกันดีว่าประเทศญี่ปุ่นและคนญี่ปุ่นขึ้นชื่อลือชาเรื่องดีงามมากมาย เช่น ระเบียบวินัย น้ำใจ ความมุ่งมั่นตั้งใจ และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เอกชัย ภัคดุรงค์ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานกิจการองค์กร บมจ.ไทยคม และทีมงานจึงบินไปถึงแดนปลาดิบเพื่อชมนิทรรศการอวกาศสุดยิ่งใหญ่'Space Expo 2014 The Great Challenge of NASA/JAXA'ณ เมืองชิบะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเขาบอกว่าเป็นประเทศแรกของเอเชียที่ได้รับเกียรติจัดนิทรรศการอวกาศของ NASA

ด้านรักษิต รักการดีก็ได้ชมนิทรรศการเดียวกัน เขาเห็นว่าคนญี่ปุ่นสนใจนิทรรศการนี้มากอย่างน่าชื่นชม เหตุผลหนึ่งคือของที่นำมาจัดแสดงคือสุดยอดของนวัตกรรมอวกาศทั้งในอดีตและปัจจุบัน ทั้งของ NASA เช่น กระเป๋าเดินทางของยูริ กาการิน, ส่วนหัวของจรวดจูปิเตอร์ที่เก็บกู้ได้จากทะเล, กระสวยอวกาศลำจริง, และของญี่ปุ่นเอง เช่น ชุดนักบินอวกาศที่นักบินอวกาศชาวญี่ปุ่นสวมปฏิบัติงานจริง เป็นต้น

"ถ้าสังเกต...เดินสองสามชั่วโมงจะเห็นว่าครอบครัวที่มาสิ่งที่เกิดขึ้นคือพ่อแม่พยายามจะเล่าให้ลูกฟัง จับเด็กมายืนแล้วพูดๆ ให้ฟัง นั่นคือวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นเนื่องจากตอนที่เขาเป็นเด็กเขาก็ถูกปลูกฝังมาแบบนั้นเหมือนกัน การที่ครอบครัวใส่ใจให้ลูกได้รับข้อมูลดีๆ รับประโยชน์เข้ามาในชีวิต นั่นคือสิ่งที่คนญี่ปุ่นมีจริงๆ

ซึ่งผมก็อยากเห็นในประเทศไทย ผมเชื่อว่าถ้าเรามีข้อมูลดีๆ พ่อแม่ก็จะพาลูกมาแบบนี้เหมือนกัน"

แต่ทั้งเอกชัยและรักษิตบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าน่าเสียดาย คือ ความเรียบง่ายจนเกินไปที่อาจถูกจริตคนญี่ปุ่น แต่สำหรับคนไทยหัวใจคึกครื้นกลับน่าเบื่อหน่าย

"นิทรรศการที่ญี่ปุ่นดูเป็นสไตล์ญี่ปุ่น คือ เรียกว่าเป็นข้อมูลความรู้ล้วนๆ" รักษิตบอก

ทั้งข้อดีและข้อด้อยที่พวกเขาได้เห็นในนิทรรศการที่ญี่ปุ่นคือโจทย์ใหญ่ที่จะทำให้อีกไม่นานนี้คนไทยจะได้พบกับความรู้เรื่องอวกาศอย่างที่ไม่เคยประสบพบเจอมาก่อน

ผู้อำนวยการฝ่ายคอนเสิร์ตและกิจกรรมพิเศษ บมจ.บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ คนเดิม กล่าวว่า

"ตอนที่เราเริ่มต้นแผนก Exhibition จุดประสงค์ของเราคืออยากให้เด็กไทยได้มีโอกาสเท่ากับเด็กต่างประเทศ เวลาที่เราเห็นเด็กญี่ปุ่น เด็กสิงคโปร์ เด็กฮ่องกง มีโอกาสรับข้อมูลมากกว่าเด็กไทย เราก็รู้สึกว่าทำไมเราไม่มีโอกาสแบบนี้บ้าง เราจึงคิดว่าน่าจะเป็นโอกาสดีที่จะพัฒนาเด็กรุ่นต่อๆ ไป ให้เขาได้เห็นงานคุณภาพระดับโลก ถามว่ายากไหม ยากครับ แต่ถ้าทุกคนคิดว่ายากแล้วเลิกหมด ก็จะไม่เกิดอะไร"

และโอกาสนั้นกำลังจะมาถึงในไม่ช้า...

'โอกาส' แห่ง 'อวกาศ'

"เราเลือก NASA เพราะเราเชื่อว่า NASA เป็นภาษาสากลสำหรับคนที่มีความฝัน เราเชื่อว่าเด็กๆ ทุกคนมีความฝัน เช่น อยากจะไปอวกาศ"

เมื่อ รักษิต รักการดี พูดถึงความฝันแบบนี้หลายคนอาจหลงลืมไปแล้วว่าอาจเคยมีความฝันคล้ายๆ กัน เวลามีผู้ใหญ่ถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร มีไม่น้อยเลยที่ตอนเป็นเด็กตอบว่าอยากเป็นนักบินอวกาศ

เอกชัย แห่งไทยคม เล่าว่าความสนใจต่อนิทรรศการอวกาศเริ่มต้นขึ้นจากการไปปล่อยดาวเทียมไทยคม 6 ที่รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา

"ที่นั่นมี NASA Space Center และมีนิทรรศการที่พอไปดูแล้วตื่นตาตื่นใจมาก พอเห็นนิทรรศการที่จะจัดขึ้นนี้ก็รู้สึกว่าน่าสนใจจริงๆ เพราะไม่เคยมีโอกาสที่ว่าเด็กไทยจะได้เห็นของที่เกี่ยวกับอวกาศจริงๆ มีชิ้นส่วนยานอวกาศ มีชุดนักบินอวกาศ มีของจำลองอะไรต่างๆ จึงเป็นโอกาสที่ไทยคมได้เอาเทคโนยีทางอวกาศของประเทศไทยมาโชว์ด้วย"

โอกาสที่เขาว่าคือนิทรรศการอวกาศระดับโลก'NASA - A Human Adventure'ซึ่งจะจัดขึ้นวันที่ 1 ธันวาคม 2557 ถึง 1 กุมภาพันธ์ 2558 ณ บางกอกคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ (Bangkok Convention Center) ชั้น 5 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว ภายใต้ความร่วมมือกันของ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา, บมจ.บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ และ บมจ.ไทยคม

รักษิตแห่งบีอีซี-เทโร บอกว่ากว่าที่คนไทยจะได้มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์ยิ่งใหญ่ครั้งนี้ก็เกือบพลาดไปแล้ว เพราะนอกจากประเทศไทยยังมีประเทศสิงคโปร์ที่เสนอตัวจัดนิทรรศการนี้ ด้วยค่าที่นิทรรศการนี้จะจัดแค่ที่ญี่ปุ่นและอีกเพียงประเทศเดียวในเอเชีย หากเราพลาดแล้วคือพลาดเลย ทว่าในที่สุดคนไทยก็คว้าโอกาสนี้ได้

"โอกาสดูมันมีน้อยนะ ชีวิตนี้มันอาจอยู่เมืองไทยแค่สองเดือนแล้วก็ไม่กลับมาอีกแล้วก็ได้ตลอดชีวิตคุณ ถ้าเกิดคุณเป็นคนที่เคยดูทีวีตอนเขาปล่อยยานอวกาศ เคยอ่านข่าวยานอวกาศ โอกาสนี้เป็นโอกาสที่คุณจะได้เห็นของจริง จริงๆ แล้วยานอวกาศเล็กมากเลยนะ นั่งแค่สองคนเอง ไม่ได้ใหญ่อย่างในจินตนาการ โอกาสนี้เป็นโอกาสที่คุณจะได้ใกล้ชิดกับสิ่งที่เรียกว่า NASA หรืออวกาศมากที่สุดในชีวิตแล้วก็ได้ ผมเองยังอยากพาลูกไปดู"

นอกจากเรื่องผีพุ่งไต้และความเชื่อต่างๆ นานาเกี่ยวกับฟากฟ้า ความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งเกี่ยวกับอวกาศของคนไทยคือดาวเทียมไทยคม ในฐานะตัวแทนจากไทยคม เอกชัย บอกว่านิทรรศการนี้จะตอกย้ำความเชื่อที่องค์กรมีมาตลอดว่า 'จินตนาการสำคัญกว่าความรู้' และจินตนาการจะเกิดได้ก็ต้องมี 'แรงบันดาลใจ' แน่นอนว่านิทรรศการดีๆ อาจสร้างแรงบันดาลใจได้ไม่มากก็น้อย

"งานครั้งนี้แค่เด็กบางคนได้มาเห็นก็น่าจะเกิดแรงบันดาลใจที่จะเข้ามาทำงานพัฒนาประเทศทางด้านวิทยาศาสตร์ ผมว่าก็คุ้มแล้วสำหรับคนจัดงาน"

จากบทเรียนที่ญี่ปุ่นสู่นิทรรศการจริงที่จะเกิดขึ้นบนแผ่นดินไทย ผู้จัดงานจึงระดมทุกสรรพกำลัง ด้วยหวังว่านี่จะเป็นนิทรรศการที่ดีที่สุดและเป็นประโยชน์อย่างน่าสนใจด้วย

"ในงานนี้เป็นงานที่ NASA เอาของต่างๆ เกี่ยวกับอวกาศมาโชว์ เป็นของจริง มีบางอย่างที่เป็นตัวจำลองบ้าง ของไทยคมเองก็มีของไปแสดงเหมือนกัน เรามีตั้งแต่ชิ้นส่วนของดาวเทียมชุดแรกของไทยที่ทำเผื่อไว้บางส่วน เราโชว์นวัตกรรมของไทยคมที่ทำมาตลอด 20 กว่าปี นอกจากนั้นมีสิ่งที่เราภาคภูมิใจมากคือเรามีหูฟังอันหนึ่ง ตอนที่สมเด็จพระเทพฯ เสด็จไปที่ประเทศเฟรนช์เกียน่า แล้วท่านใช้หูฟังนี้ตอนที่เรานับถอยหลังปล่อยดาวเทียม เรานำหูฟังนี้มาแสดงให้คนไทยได้เห็นประวัติศาสตร์ของดาวเทียมไทย และเราคงไม่ได้แค่นำของพวกนี้มาโชว์นิ่งๆ แน่นอน" เอกชัยบอก

ด้านศุภจี สุธรรมพันธุ์ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ไทยคม ย้ำถึงความสนุกตรงนี้ว่า

"ที่ญี่ปุ่นจะเน้นวางโชว์ แต่ของเราจะเน้นเป็น Interactive มากกว่า มีคนมาพูดคุยแนะนำมากกว่า และที่เราภูมิใจคือเราจัดให้มีทีมมัคคุเทศก์ซึ่งเป็นนักศึกษาและผู้พิการคอยให้ข้อมูลความรู้ในงานด้วย"

อีกเพียงสองเดือนกว่าๆ ที่นิทรรศการนี้จะเริ่มต้นให้คนไทยได้สัมผัส และนี่อาจเป็นสองเดือนกว่าๆ ที่นับถอยหลังสู่ความรู้-ความเชื่อเกี่ยวกับอวกาศอย่างที่ควรจะเป็น

...ถึงวันนั้นบนดวงจันทร์ก็อาจจะมีอะไรมากกว่ากระต่ายก็ได้