รักเราไม่เก่าที่นิวซีแลนด์

รักเราไม่เก่าที่นิวซีแลนด์

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกของการเดินทางของฉันไปยังเกาะใต้ของนิวซีแลนด์

เมื่อสมัยยังเป็นนักเดินทางหัดใหม่ จำได้ว่ามาเริ่มต้นฝึกลุยเดี่ยวก็ที่นิวซีแลนด์นี่ล่ะ เพราะเขาบอกว่าธรรมชาติสวย ปลอดภัย แม้ระบบคมนาคมจะไม่ได้ทันสมัยหรือกว้างขวางเท่าญี่ปุ่นหรือยุโรป แต่ระบบจัดการด้านการท่องเที่ยวของเขาดีทีเดียว ทำให้เราได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ความประทับใจจากที่นี่ไปมากมาย

สิบปีให้หลัง ได้มีโอกาสกลับมาอีกครั้ง มีหลายอย่างที่ต่างออกไป ไม่ว่าจะเป็นจุดหมายปลายทาง เพื่อนร่วมทาง การเดินทางและฤดูกาลที่แตกต่างออกไป เกาะใต้ในยามนี้กำลังอยู่ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ในขณะที่ซีกโลกด้านบนกำลังอยู่ในช่วงฤดูร้อนที่สดใส แต่ซีกโลกใต้กำลังถูกแต่งแต้มด้วยสีแดงและทองของใบไม้ที่เปลี่ยนสี

การเช่ารถขับเอง เป็นหนึ่งในการเดินทางยอดนิยม เพราะนอกเหนือจากถนนหนทางที่นี่จะดีมากแล้ว ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และยืดหยุ่นเรื่องการเดินทางได้มากทีเดียว แต่ข้อที่ต้องระวังคือ ถึงแม้ว่าเกาะใต้การจราจรจะไม่หนาแน่น แต่เรื่องกฎระเบียบเขาค่อนข้างเข้มงวด โดยเฉพาะเรื่องความเร็ว จะมีกล้องและตำรวจคอยจับตามองเราอยู่เป็นระยะ ดังนั้นใครที่เห็นว่าถนนโล่งแล้วซิ่งเต็มที่ ก็อาจจะเจอตำรวจแจกใบสั่งได้ง่ายๆ

ชมวาฬ ที่ไคคัวร่า

ปลายเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา เราเช่ารถขับจากสนามบินไครสต์เชิร์ช แต่ขอข้ามการสำรวจเมืองหลวงเพื่อมุ่งหน้าไปยัง เมืองไคคัวร่า หรือไคคูร่า (KaiKoura) ที่อยู่ขึ้นไปทางเหนือของเกาะเสียก่อน เมืองนี้เป็นเมืองชายทะเลที่สวยงามและดังเรื่องการชมวาฬและสัตว์น้ำนานาชนิด การเดินทางใช้เวลาเกือบ 4 ชั่วโมงผ่านทั้งทุ่งหญ้าสวยงาม เส้นทางคดเคี้ยวทั้งบนเขาและถนนเลาะริมทะเลที่ชวนให้เมารถง่ายๆ แต่เมื่อมาถึงแล้ว เรียกว่าคุ้มค่าน่าดูชม ไคคัวร่าปรากฎตัวต่อหน้าฉันครั้งแรก ด้วยภาพของเมืองเล็กแสนสงบที่มีเทือกเขาไคคัวร่า ซึ่งมีหิมะปกคลุมยอดเป็นฉากหลัง และทะเลสีครามเข้มอยู่เบื้องหน้า เห็นแบบนี้แล้ว ต้องบอกเลยว่า “มันคือรักแรกพบ”

แม้จะเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยม แต่ตัวเมืองไคคัวร่านั้นค่อนข้างเงียบจนเกือบเหงา เพราะกิจกรรมส่วนใหญ่ของนักท่องเที่ยว คือการออกไปท่องทะเล เพื่อชมวาฬหัวทุย (Sperm Whale) พระเอกยักษ์ใหญ่ประจำถิ่น แต่การจะไปต้องจองตั๋วกับทางบริษัท Whale Watch® Kaikoura (www.whalewatch.co.nz) เท่านั้น ซึ่งเป็นบริษัทเดียวที่รัฐบาลอนุญาตให้ทำทัวร์ประเภทนี้ เพื่อให้สามารถคุมทั้งเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยวและเรือไม่ให้มากจนอาจจะไปรบกวนความเป็นอยู่ของวาฬและสัตว์ทะเลอื่นๆ ได้

การชมวาฬที่นี่ นอกจากเรือแล้ว ก็ยังสามารถขึ้นเครื่องบินเล็กได้อีกทางหนึ่ง แต่คนนิยมน้อยกว่า เพราะการนั่งเรือจะได้ประสบการณ์ที่ใกล้ชิดมากกว่าในยามที่เจ้ายักษ์ใหญ่แห่งท้องทะเลสะบัดโบกครีบหางอันใหญ่โตเหนือผืนน้ำ หรือมีฝูงโลมาแหวกว่ายให้ชมอยู่ใกล้ๆ

เมื่อมาเยือนไคคัวร่า อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรพลาดจริงๆ คือการแทะเล็ม “เครย์ฟิช” (Crayfish)หรือกุ้งมังกร ราคาอาจจะสูงสักนิด แต่ขอแนะนำให้กันงบไว้สักหน่อย เพื่อลิ้มลองความอร่อยของเมนูเด็ดประจำถิ่น ซึ่งเมนูเขามีให้เลือกหลากหลายว่าจะไปทำซุป สลัด หรือจะเลือกชิมแบบครึ่งตัวหรือเต็มตัวก็ได้

หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจอิ่มท้องแล้ว เราก็พร้อมบ่ายหน้าไปยัง ซีล โคโลนี (Seal Colony) ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองออกไปเล็กน้อย โดยเจ้าของถิ่นแถวนี้คือ แมวน้ำและสิงโตทะเล ซึ่งมักจะขึ้นมาอาบแดดอยู่บนโขดหินและเราสามารถเข้าไปชมได้ในระยะค่อนข้างใกล้ แต่มีคำเตือนว่า อย่าเข้าใกล้หรือให้อาหารพวกมันอย่างเด็ดขาด เนื่องจากอาจถูกทำร้ายเอาได้ (แมวน้ำและสิงโตทะเลดุกว่าที่เห็นนะจ๊ะ)

เลี้ยงแกะ ชมดาว ที่เลคเทคาโป

เมื่อต้องจำใจโบกมือลารักแรก เราก็มุ่งหน้าไปตามหารักเก่าที่เมืองเลคเทคาโป ฉันเคยมาเยือนเมืองนี้มาแล้วหนหนึ่ง ตอนนั้นตกหลุมรักความสวยงามของทะเลสาบ ที่โดยรอบปกคลุมไปด้วยดอกลูปิน สีม่วงหลากเฉด สร้างสีสันที่สวยงามของฤดูร้อน แต่มาตอนนี้ ดอกลูปินร่วงโรยด้วยอากาศที่หนาวเย็นขึ้น และทะเลสาบกลับถูกโอบล้อมด้วยภูเขาสีน้ำตาลทอง แต่ผืนน้ำสีเทอร์ควอยซ์นั้นยังคงสะท้อนความงามของโบสถ์กู้ดเชพเพิร์ด (Good Sheppard) หลังน้อยอย่างไม่เปลี่ยนแปลง และแล้วฉันก็ตกหลุมรักเธออีกครั้ง

โบสถ์แห่งนี้ ถือเป็นสัญลักษณ์ของเลคเทคาโป แม้จะเป็นโบสถ์ที่มีขนาดเล็กที่สุดในนิวซีแลนด์ แต่ด้วยทำเลที่ตั้งซึ่งสร้างอยู่สุดปลายของแหลมที่ยื่นเข้าไปในทะเลสาบ ทำให้ความเรียบง่ายของโบสถ์กู้ดเชพเพิร์ดกลับดูสวยโดดเด่นขึ้นมา ในบริเวณใกล้เคียงกัน มีอนุสาวรีย์รูปสุนัขเลี้ยงแกะ ซึ่งทั้งโบสถ์และอนุสาวรีย์นี้เป็นการสร้างเพื่ออุทิศและยกย่องให้กับบรรดาสุนัขต้อนแกะทั้งหลาย ที่เคยทำคุณประโยชน์และเป็นเพื่อนที่แสนดีของชาวเลคเทคาโป ที่อดีตเคยมีอาชีพหลักคือการเลี้ยงแกะ

แม้จะไม่มีกิจกรรมให้เลือกทำมากมาย แต่สิ่งพิเศษที่เลคเทคาโปมีให้ คือ ความงามของท้องฟ้าในยามค่ำคืน ที่นี่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในจุดชมดาวทางซีกโลกใต้ที่ดีที่สุด และยังมีกฎหมายของเมืองที่ห้ามเปิดไฟขึ้นสู่ท้องฟ้าในยามกลางคืน เพื่อให้ท้องฟ้ามืดสนิทเหมาะสำหรับการชมดาว เราจึงตัดสินใจฝ่าลมหนาวและความมืดไปยังโบสถ์อีกครั้ง

โชคดีมากที่คืนนั้นเป็นเดือนมืดและปราศจากเมฆหมอก ยิ่งปลอดจากมลพิษทางแสงของเมืองด้วยแล้ว เลคเทคาโปก็ทำให้ฉันตกหลุมรักเธอมากขึ้น กับภาพดวงดาวทอประกายบนท้องฟ้าสีดำเข้ม แต่งแต้มด้วยทางช้างเผือก และดาวตกที่มาเป็นระยะ ราวกับว่าเราอยู่ในสรวงสวรรค์ของดวงดาวนับล้านที่ทำให้เราลืมความหนาวเหน็บ และเข้าใจเลยว่าทำไมที่นี่ (และบริเวณใกล้เคียง) จึงได้รับการเสนอชื่อให้เข้าเป็นมรดกโลกในฐานะ พื้นที่อนุรักษ์ชมแสงดาวเป็นแห่งแรกของโลก (Starlight Preservation Area)

แม้ยังโหยหาค่ำคืนแสนหวานกับเลคเทคาโป แต่เราก็จำต้องเอ่ยคำลา เพื่อเดินทางต่อไปยังควีนส์ทาวน์ อาจจะเป็นคำพูดเชยๆ หากจะต้องพูดซ้ำๆ ว่าฉันตกหลุมรักครั้งแล้วครั้งเล่าที่นิวซีแลนด์ แต่ควีนส์ทาวน์และเมืองพี่เมืองน้องอย่างแอโรว์ทาวน์ ก็ทำให้ฉันรู้สึกเช่นนั้นจริงๆ

แอโรว์ทาวน์ เมืองเล็กน่ารักที่อยู่ไม่ไกลจากควีนส์ทาวน์ ซึ่งเป็นจุดชมใบไม้เปลี่ยนสีที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง เสน่ห์ของแอโรว์ทาวน์ นอกจากขุนเขาหลากสีสันของฤดูใบไม้ร่วง เมืองนี้ยังเก็บรักษาบรรยากาศแบบยุคโบราณในช่วง 1860s หรือยุคตื่นทองเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นถนนสายเล็กและอาคารแบบโบราณ ของร้านช่างทำทอง สถานที่ราชการ หรือร้านค้า รวมถึงไปรษณีย์ หลังจากตากลมหนาวบนสะพานคาวารัวมาแล้ว การได้มาเดินจิบช็อคโกแลตอุ่นๆ ในบรรยากาศน่ารักของแอโรทาวน์ เรียกได้ว่าเป็นความฟินอย่างหนึ่งในวันนั้นของฉันเลยทีเดียว

กลับสู่เมืองหลวง

เวลาแห่งความสุขมักผ่านไปอย่างรวดเร็ว เรามาถึงช่วงสุดท้ายของการเดินทางที่ต้องกลับมาขึ้นเครื่องที่ไครสต์เชิร์ช นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงเก็บเมืองหลวงไว้เป็นที่สุดท้าย เพื่อจะได้ไม่ต้องรีบร้อนขับรถย้อนกลับมา ระหว่างทางกลับมายังเมืองหลวง เรายังได้จอดแวะพักเป็นระยะเพื่อชื่นชมเมืองเล็กเมืองน้อยรายทาง หลายแห่งที่ไม่อยู่ในแผนการเดินทาง (หรือแม้แต่ในแผนที่) หลงบ้าง บังเอิญบ้าง แต่นั่นก็คือเสน่ห์ของการขับรถเที่ยว กว่าจะถึงไครส์เชิร์ช ก็ทำให้เราได้สะสมความทรงจำที่สนุกสนานมากขึ้น

ไครสต์เชิร์ช กับฉัน เราเจอกันเมื่อสิบปีที่แล้ว ตอนนั้นเธอเป็นเหมือนหญิงสาวที่สวยเรียบๆ แต่มีเสน่ห์และสดใสในแบบของตัวเอง แต่การพบกันครั้งนี้ เธอกลับเปลี่ยนไปเป็นหญิงสาวที่โตขึ้นแต่แฝงเร้นด้วยความเศร้า อันเกิดจากรอยบาดแผลใหญ่เมื่อครั้งแผ่นดินไหวในปี 2011 ฉันมองเห็นความพยายามในการรักษาบาดแผลนั้น แม้ว่ามันยังคงไม่สมานตัวดีเท่าไหร่ แต่ชีวิตของเธอและผู้คนที่นี่ก็ยังเดินต่อไป

ใจกลางเมืองที่เคยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว ยังเต็มไปด้วยซากปรักหักพัง แต่ใกล้ๆ กัน ได้มีการนำตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่มาดัดแปลงให้กลายเป็นร้านค้า ร้านหนังสือ คาเฟ่ เป็นแหล่งชอปปิงเท่ๆ ทดแทนย่านเดิม พวกเราเลยช่วยกันกระจายรายได้ก่อนขึ้นเครื่องกันที่ย่านนี้ และได้ของที่ระลึกให้เราคิดถึงนิวซีแลนด์กันไปอีกนาน

สิ่งหนึ่งที่ฉันสัมผัสและรู้สึกประทับใจ คือ รัฐบาลและคนนิวซีแลนด์ให้ความสำคัญกับเรื่องการจัดการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนมาก ถ้าสังเกตให้ดี ระบบการให้บริการหรืออุปกรณ์ต่างๆ ของเขาจะทันสมัย ได้มาตรฐานความปลอดภัยสูง แต่ในขณะเดียวกันก็จะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การก่อสร้างต่างๆ จะค่อนข้างอิงอาศัยกับธรรมชาติและกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม

เพราะเขาเข้าใจดีว่าจุดขายของประเทศเขาคือ ธรรมชาติที่สวยงาม ดังนั้นจึงให้ความสำคัญกับการรักษาทรัพยากรเหล่านี้ ก็ได้แต่หวังว่าจะได้เห็นสิ่งเดียวกันกับเมืองไทยที่ฉันรักในไม่ช้าเช่นกัน

การเดินทาง

การเดินทางจากกรุงเทพไปยังไครสต์เชิร์ช ไม่ค่อยมีสายการบินให้บริการบินตรงมากนัก ส่วนมากจะต้องไปต่อเครื่องที่สนามบินซิดนีย์ ออสเตรเลีย หรือสนามบินออคแลนด์ ในเกาะเหนือ โดยสายการบินหลักที่ให้บริการ ได้แก่ การบินไทย สิงคโปร์ แอร์ไลนส์ แควนตัส เอมิเรต และเจ็ตสตาร์

การเดินทางภายในเกาะใต้ สะดวกที่สุดคือการเช่ารถขับ ซึ่งสามารถจองรถผ่านทางเว็บไซต์ได้ และสามารถรับรถได้จากที่สนามบิน หรือหากไม่สะดวกขับรถ ก็สามารถใช้บริการรถโดยสารประจำทาง ซึ่งมีทั้งระหว่างเมืองและภายในตัวเมืองใหญ่ๆ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.nzbus.co.nz และ www.intercity.co.nz

นอกจากนั้นยังมีบริการรถไฟ แต่ไม่เป็นที่นิยมใช้สำหรับการเดินทางมากนัก เพราะมีเส้นทางที่สั้นและใช้เวลานาน โดยมากจะนิยมใช้รถไฟชมทัศนียภาพมากกว่า รายละเอียดเส้นทาง www.railnewzealand.com

การขอวีซ่า คนไทยต้องยขอวีซ่าก่อนเดินทางเข้าประเทศนิวซีแลนด์ โดยต้องยื่นคำร้องและเอกสารผ่าน ศูนย์รับคำรองขอวีซ่าประเทศนิวซีแลนด์ ชั้น 19 อาคาร ITF ถ. สีลม สุรวงศ์ บางรัก กรุงเทพฯ โทร. 02 236 7138 www.ttsnzvisa.com