สุชาดา จักรพิสุทธิ์ "ทำความจริงให้ปรากฏ"

สุชาดา จักรพิสุทธิ์
"ทำความจริงให้ปรากฏ"

ไม่ใช่หน้าใหม่ของวงการ แต่เพราะปรากฎการณ์ตอมแมลงวันของ TCIJ ทำให้ชื่อของเธอกลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้ง

ในเส้นทางสายพิราบ ศิษย์เก่าวารสารศาสตร์ สาขาหนังสือพิมพ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตคนเดือนตุลา สุชาดา จักรพิสุทธิ์ คือบรรณาธิการฝีมือดีที่ผ่านงานด้านสื่อมาหลากหลาย ถ้ายังจำกันได้เธอคืออดีตบรรณาธิการของนิตยสารสารคดี ก่อนจะมาทำหนังสือเยาวชนคุณภาพ 'ไดโนสาร' และยังเคยผ่านการเป็นบรรณาธิการบริหารสำนักข่าวประชาธรรม สำนักข่าวทางเลือกที่นำเสนอประเด็นปัญหาที่สื่อกระแสหลักไม่เหลียวแล

แม้ว่าจะหายหน้าไปจากวงการระยะหนึ่ง แต่ด้วยความมุ่งมั่นและเชื่อมั่นในพลังของสื่อ สุชาดา ได้กลับมาลงแรงสร้างพื้นที่ให้กับข่าวสืบสวนสอบสวน (Investigative Reporting) อีกครั้งในนาม 'ศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง' หรือ TCIJ สำนักข่าวอิสระที่เปิดตัวตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2554 ทว่าโด่งดังแบบชั่วข้ามคืนเมื่อออกมาเผยแพร่ข้อมูลที่อ้างว่าเป็นบันทึกโดยผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานประชาสัมพันธ์ของบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับประเทศแห่งหนึ่ง ที่ดำเนินธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารครบวงจร โดยเนื้อหาเป็นเรื่องราวการสนับสนุนด้านการเงินกับสื่อในมิติต่างๆ จนร้อนถึงสมาคมวิชาชีพต้องดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้

-TCIJมีความเป็นมาอย่างไรคะ

TCIJ เป็นผลสืบเนื่องจากงานวิจัยเกี่ยวกับข่าวสืบสวนในช่วงปี 2551-52 คือในงานวิจัยนั้นเราค้นหาว่าอะไรคือปัญหาของสื่อที่นำเสนอข่าวสืบสวนน้อยลง จนกระทั่งไม่ทำเลย เพราะฉะนั้นโจทย์วิจัยคือ What is the problem แล้ว How to solve the problem ก็ได้คำตอบมาพอสมควร ลำดับได้ว่าปัญหาใหญ่มีอยู่ 5 ประการ แล้วก็ตามมาด้วยการศึกษาต่อ คือทดลองว่าแบบไหนน่าจะเป็นไปได้มากที่สุด ก็พบว่าเป็นการสร้างพื้นที่ใหม่ขึ้นมา ตอนแรกก็คาดหวังว่าพื้นที่ใหม่นี้จะเป็นพื้นที่ปล่อยของที่มีอิสระของนักข่าว คือเขาอาจจะมีข้อจำกัดภายในองค์กรตัวเอง ทำให้ทำไม่ได้ ก็ให้มาปล่อยของที่ TCIJ โดยมีระบบที่ซัพพอร์ทต่างๆ เช่น การหาข้อมูล การช่วยสืบค้นข้อมูล รวมถึงมีงบประมาณเล็กๆ น้อยๆ ค่าเดินทาง

หลังจากได้ทดลองทำในช่วงแรกๆ ของ TCIJ พบว่ามันไม่เวิร์ค ในที่สุดก็ต้องมีทีมข่าวของตัวเอง รวมถึงเริ่มพบว่า ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องข่าวสืบสวนของตัวเองแตกต่างจากความเข้าใจของในเรื่องข่าวสืบสวนของสื่อกระแสหลัก หรือสื่อทั่วๆ ไป เราก็ค่อยๆ ปรับ เปลี่ยนคน เปลี่ยนทีมงาน ในที่สุดปีที่สอง ปีที่สามก็เริ่มลงตัว ก็มาเน้นเรื่องศักยภาพของคนทำงาน

-ที่บอกว่าความเข้าใจของสื่อกระแสหลัก กับ TCIJ แตกต่างกันคือเรื่องอะไรบ้าง

หนึ่งเลยคือวิธีคิดประเด็นว่าอะไรจะเป็นข่าวสืบสวนได้หรือไม่ได้ สื่อกระแสหลักมักคิดว่ามันต้องมีตัวเหตุการณ์บางอย่างอุบัติขึ้น แล้วในตัวเหตุการณ์นั้นมันส่อเค้าว่ามีอะไรซุกซ่อนอยู่ หรือมีข้อมูลอื่นๆ ที่เดินต่อได้ แต่ความเข้าใจของเรา มันอาจจะไม่มีเอกสารหลุดมาก่อน ไม่มี hint เลยก็ได้ แต่เรารู้ได้ด้วยหลักเหตุผล การประกอบข้อมูลต่างๆ ที่อาจจะไม่เกี่ยวกับเรื่องนั้นโดยตรง เช่น เราก็ฟังมานานแล้วว่าเกษตรพันธะสัญญามันเอาเปรียบเกษตรกรที่เข้าร่วม มีเคสอะไรเยอะแยะไปหมด หรือว่าชาวบ้านบอกว่ามีคนมาแอบทิ้งขยะ ซึ่งอาจจะเป็นแค่ข่าวเล็กๆ ทุกข์ชาวบ้านอาจจะผ่านไปนานแล้ว ก็คือข่าวมันเย็นแล้ว ไม่ใช่ในกระแสแล้ว สิ่งเหล่านี้เราประกอบการคิดได้ แล้วเสนอประเด็นแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยได้ เช่น คุณก็รู้ว่าอีก 5 เดือนข้างหน้า สมมุติจะมีเรื่องบอลโลก แล้วคุณก็รู้ด้วยข้อมูลสะสมของคุณว่ามันมีการพนัน คุณก็เตรียมเจาะได้เลย ค้นหาเอาเอง เปิดประเด็นเอาเองได้ นี่คือความแตกต่าง

-นอกจากความแตกต่างในเรื่องมุมมองแล้ว คิดว่ามีเงื่อนไขอะไรอีกที่ทำให้สื่อกระแสหลักทำข่าวสืบสวนสอบสวนน้อยลง

ถ้าดูจากงานวิจัย วิเคราะห์สังเคราะห์ออกมา 5 ประเด็นคือ หนึ่ง คุณภาพคน อันนี้จะสืบเนื่องจากสิ่งที่สื่อเองเรียกว่า ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไป นั่นก็คือว่าสื่อเป็นธุรกิจ มีจำนวนมากขึ้น มีหลากหลายขึ้น แล้วคนที่เข้ามาประกอบอาชีพนักข่าวก็เปลี่ยนไป ไม่ได้มาจาก Journalistโดยตรง รวมทั้งคุณภาพการศึกษาของเราเองทั้งระบบตกต่ำลง ไม่ใช่เฉพาะนักศึกษาสาขาใดสาขาหนึ่ง มันตกต่ำลงหมดค่ะ มันก็ทำให้คุณภาพคนที่มาทำอาชีพนี้ลดลง

ในขณะเดียวกันองค์กรสื่อก็ไม่มีระบบสนับสนุนอะไรเลย งาน HR ขององค์กรสื่อ ก็เป็นแบบเดียวกับองค์กรธุรกิจ ไม่เน้นเรื่องคุณภาพของคน โดยเฉพาะคนที่จะเป็นตัวกลางในการนำเสนอข้อเท็จจริงต่อคนอื่น ก็ไปฝากการพัฒนาคุณภาพคนไว้กับองค์กรวิชาชีพ ทีนี้มันก็ตามมาด้วยว่าเรื่องภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไปทำให้ต้องแข่งขันกันสูงมาก ซึ่งสื่ออาจจะอ้างว่าไม่สามารถนั่งเทรนด์อะไร เสียเวลา มันต้องมา Learning by Doing ใครเข้ามาก็ลงสนามข่าวเลย ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนมากที่มีระบบพี่เลี้ยงโดยธรรมชาติ เช่น นักข่าวอาวุโสก็เอานักข่าวน้องใหม่ออกไปทำงานที่นั่นที่นี่ แต่พอเดี๋ยวนี้มันทำไม่ได้ด้วยเรื่องเวลา แล้วสื่อมันก็หมุนเร็วมาก คนที่ทำอาชีพนักข่าวหมุนเร็วมาก เข้าออกๆ

อันดับสองคือนโยบายขององค์กรสื่อเอง ถ้าสมมุติว่าคุณเจอนักข่าวที่เก่งๆ หลุดเข้ามาในองค์กร ถึงแม้คุณจะไม่ได้เทรนด์อะไรมากมาย มีปณิธานอยากทำข่าวสืบสวน แต่นโยบายองค์กรไม่เปิดให้ เพราะรู้ดีว่าข่าวสืบสวนมีความเสี่ยงในเรื่องใดบ้าง ตั้งแต่ว่าจะต้องให้เวลาซึ่งมันเสียกำลังคนถ้าจะไปเกาะติดเรื่องใดเรื่องหนึ่งนานเกินไป รวมทั้งต้องใช้เงิน ให้คุณเดินทางไปหาข้อมูล ที่สำคัญไปกว่านั้นคือองค์กรรู้ดีว่าแบกรับความเสี่ยงไม่ไหว เพราะข่าวสืบสวนนั้นมีบุคคลฉ้อฉลอยู่ในข่าวแน่นอน แล้วส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนที่มีอำนาจการเมือง หรืออำนาจเงิน ก็เสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้อง หรืออะไรก็แล้วแต่ ใช้อำนาจแทรกแซง หรือาจจะมีทางลับ ทางแจ้งอะไรก็แล้วแต่ องค์กรสื่อแบกรับไม่ได้ ไม่ไหว ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยมีตัวอย่างแล้ว ถูกฟ้องหมิ่นประมาทเป็นร้อยล้าน หลายร้อยล้าน กว่ากระบวนการยุติธรรมจะพิสูจน์ออกมาว่าเขาไม่ผิด เรื่องที่นำเสนอนั้นเป็นความจริง ก็เสียเวลา เสียเงิน เขาทำไม่ได้

ประการต่อมากก็คืออำนาจแทรกแซงที่มีอยู่จริงๆ ทั้งอำนาจแทรกแซงทางการเมือง อำนาจแทรกแซงจากทุนขนาดใหญ่ ไม่ต้องทุนใหญ่ก็ได้ ทุนที่เขามาอุปถัมภ์สื่ออย่างที่รู้กันว่า สื่ออยู่ได้ด้วยโฆษณา แล้วก็ต้องจัดกิจกรรม ทำอีเวนต์เพื่อหารายได้เพิ่มเติม ต้องสร้างบายโพรดักท์ ทำโน่นนี่นั่นเพื่อจะอยู่รอด แล้วสิ่งเหล่านี้คืออำนาจเชิงวัฒนธรรมที่มากดทับ ทำให้สื่อคิดว่าบ้านต้องเช่า ข้าวต้องซื้อ ก็ไม่อยากจะทำเรื่องที่ไปทุบหม้อข้าวตัวเอง แล้วเสี่ยงต่อการถูกฟ้อง

ปัญหาต่อมาอีก คือคนอ่าน หรือสังคมไทย ผู้บริโภคสื่อบ้านเราค่อนข้างจะ Passive คือเป็นเสียงเงียบ นักข่าวที่เคยทำข่าวสืบสวนก็บอกว่า บางทีเปิดประเด็นข่าวมาแล้วเนี่ยมันก็หายต๋อมไป เพราะคนอ่านข่าวไม่ได้เทคแอคชั่นอะไรกลับมาเลย สังคมไม่มีกระแส ข่าวเขาก็เดินต่อไม่ได้ ฉะนั้นเราจะเห็นว่าข่าวสืบสวนเป็นตัวอย่างที่ดีว่าต้องการกระแสสังคมเข้ามาช่วย อย่างข่าวอย่างเรื่องการทุจริตยาในกระทรวงสาธารณสุข กระแสมันก็ทำให้ข่าวเดินต่อได้เป็นปีจนไปถึงจุดสิ้นสุด แต่ถ้าเรามีคนอ่านข่าวทีนึง 3 บรรทัด หรืออ่านข่าวแล้วงั้นๆ ธุระไม่ใช่ สื่อก็ทำหน้าที่ต่อไม่ได้ อันนี้ก็ไม่ได้ว่าใคร

ประเด็นที่ห้า คือระบบสนับสนุนต่างๆ ไม่มี ตั้งแต่ว่าข้อมูลมันกระจัดกระจาย เข้าไม่ถึง จะหาข้อมูลประกอบเรื่องแต่ละทีมันลำบากยากเย็น แล้วข่าวสืบสวนมันก็มีข้อมูลจำนวนมาก เป็นข้อมูลยากๆ ด้วย เช่น ถ้าสมมุติเป็นเอกสารที่เกี่ยวกับประเด็นกฎหมาย นักข่าวเองอ่านไม่รู้เรื่อง องค์กรเองก็อาจจะไม่มีระบบสนับสนุน เช่น จ้างทนายความมาช่วยดูให้ ก็ไม่มี นอกจากนี้ระบบภายในสื่อทุกวันนี้มันก็ทำให้นักข่าวทำข่าวไม่ได้ด้วย เช่น วิธีการแบ่งสายงาน แต่ข่าวสืบสวนมันไม่ได้มีมิติเดียว ไม่ได้มีแหล่งข่าวแหล่งเดียว เช่น สมมุติคุณเป็นนักข่าวสายกระทรวงสาธารณสุข แต่คุณไปเจอเรื่องอะไรสักเรื่องที่น่าเจาะ แต่ข้อมูลมันไปคาบเกี่ยวกับข้อมูลในตลาดหลักทรัพย์ มันก็จะเป็นเรื่องของสายธุรกิจการเงินอะไรประมาณนั้น นักข่าวที่ไปเจอ hint อันนี้ เบาะแสอันนี้ ก็ต้องทิ้งมันไป

ระบบสนับสนุนอื่นๆ ก็เริ่มเพิ่มขึ้นมาบ้างแล้ว เช่น เรื่องของการพัฒนาศักยภาพจริงๆ จังๆ ภายในองค์กรสื่อเองอาจจะมีระบบ เช่น Leave without pay คือยอมให้นักข่าวไปเรียนต่อในสาขาที่เขาสนใจ แล้วยังกลับมาทำงานในองค์กรได้ หาทุนที่เป็น Intensiveให้ เป็นต้น หรือแม้แต่ระบบสนับสนุนแบบมีศูนย์ข้อมูลของตัวเอง มีห้องสมุดข่าว มีห้องสมุดข้อมูล ซึ่งจริงๆ องค์กรใหญ่ๆ ก็มีอยู่ แต่ไม่ค่อยฟังก์ชั่น ไม่ค่อยมีคุณภาพ แล้วมันก็วนไปวนมาในปัญหา 5 ข้อนี้ ไม่รู้อะไรเกิดก่อนอะไรแล้ว

-พอมาทำเป็นสำนักข่าวอิสระมีนักข่าวของตัวเองผลเป็นอย่างไร

ทีแรกก็หวังว่า ถ้าสื่อทั่วๆ ไปเห็นว่าน่าจะช่วยกันได้ก็อาจเอาไปขยายหรือเก็บประเด็นไปต่อยอด หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ดูเหมือนจะไม่ได้เกิดขึ้นเลย ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าคุณภาพข่าวเรายังไม่เข้าตาเขา หรือข่าวที่เราเปิดนั้นก็รู้ๆ กันอยู่ เขาเลือกที่จะไม่ทำ ด้วยเหตุผลอะไรก็ช่างเถอะ

-แต่กรณีล่าสุดที่ TCIJ ออกมาเปิดประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างสื่อกับซีพีเอฟก็ทำให้กลายเป็นประเด็นร้อนแบบชั่วข้ามคืน?

เอกสารนี้มาจากแหล่งข่าวซึ่งรู้จักกันส่งมาให้ แล้วก็นานมากแล้ว ข้อมูลมันมีจำนวนมากต้องใช้เวลาในการอ่านทุกๆ ไฟล์ ทุกๆ หน้า เพื่อที่จะค้นหาประเด็น แล้วก็จัดการกับเอกสารในแง่ที่จะตรวจสอบว่ามันจริงมั้ย มีอะไรที่จะบ่งชี้ว่าอันนี้เป็นของจริง รวมทั้งการปรึกษากับนักกฎหมาย นักวิชาการเพื่อหาความผิดปกติของเอกสาร กว่าจะมั่นใจว่าอันนี้เป็นเอกสารจริง บวกกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่เหมาะจะเปิดเรื่องนี้ในช่วงนั้น ก็รอมาตลอด ต้องขอย้ำอย่างนี้นะคะว่าเอกสารที่มาอยู่ในมือมันเป็นเอกสารของช่วงปี 2555-56 ก่อนหน้านั้นและหลังจากนั้นเราไม่ทราบ ไม่ใช่แบบที่สื่อบางฉบับที่ไปเขียนคลาดเคลื่อนว่าพี่ได้มาตั้งแต่ปี 55 ไม่ใช่นะคะ อันนี้คลาดเคลื่อน เป็นเอกสารของปี 55 แต่ได้มาปลายปี 56

-ตอนที่คิดว่าจะต้องเปิดเรื่องนี้ คาดไว้ไหมคะว่าได้รับความสนใจมากขนาดนี้

ก็คาดการณ์ในแง่ที่ว่ามันจะถูกแชร์ ถูกสื่อกระแสหลักนำไปใช้ เพราะว่าตัวละครในข่าวมันเกี่ยวกับเขาโดยตรง แต่ที่ผิดคาดก็คือว่า มันถูกกระจายเฉพาะมุมเรื่องของการจ่ายเงินให้สื่อ ทั้งๆ ที่มันมีเรื่องอื่นอยู่ในนั้นอีกเยอะ แต่ก็เป็นไปได้ว่ามันอาจจะกระทบกับสื่อโดยตรง แล้วสื่อก็คือผู้ชี้นำวาระสังคมอยู่แล้ว เมื่อมันเกี่ยวกับเขามันก็เลยฮอตขึ้นมา

-กรณีที่ปกปิดชื่อนักข่าวด้วยสีดำ อันนี้เกี่ยวข้องกับแง่มุมทางกฎหมายหรืออะไรคะ

จริงๆ เหตุผลใหญ่ๆ เลยนะคะ ก็คือว่าไม่ได้ต้องการให้เป็นปัญหาส่วนตัวของใคร จึงไม่ได้ต้องการเล่นงานนักข่าวเป็นคนๆ แต่ต้องการที่จะให้เอกสารทั้งหมดมันสะท้อนให้ทุกฝ่าย ก็คือ ทุน สื่อและผู้อ่านข่าว มองเห็นว่านี่เป็นปัญหาที่มันเกิดขึ้นมานานแล้ว ขอใช้คำว่ามันเป็นหาเชิงระบบ ทำไมสื่อต้องรับเงิน ทำไมเอกสารมันโชว์ความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยปกติอย่างมีนัยยะสำคัญ เช่น ถ้าคุณจะโต้แย้งว่าก็เขารับเงินเข้าสู่องค์กร ก็อยากจะถามว่า...จริงหรือ เพราะว่าคนจ่ายเงินก็เป็นบิ๊กคอมพานี ผู้รับเงินก็เป็นบิ๊กคอมพานี มันจะไม่มีไฟแนนเชียลคอนโทรลเลยเหรอ ทำไมไม่เป็นคอมพานีทูคอมพานี หรือถ้ามันจ่ายเงินโดยความเห็นชอบร่วมกันโดยจะจ่ายที่บุคคล บุคคลคนนั้นจะโปร่งใสต่อผู้ถือหุ้นต่อองค์กรตัวเองยังไง บุคคลนั้นจะโปร่งใสต่อผู้ร่วมงานและพนักงานบริษัททั้งหมดยังไง ก็เป็นเรื่องที่จะต้องไปสานต่อ ไปขยายผลกันเอง แต่ยืนยันว่าเราไม่ต้องการเล่นงานตัวบุคคล

-จริงๆ แล้วอยากให้สังคมหรือว่าสื่อเองมองมุมไหนเกี่ยวกับเรื่องนี้มากที่สุด

เราก็หวังกับ 3 ส่วน อันดับแรกคือ ทุน ไม่ใช่มีแต่บริษัทนี้เท่านั้นหรอกที่จ่ายเงินในลักษณะผิดปกติแบบนี้ มันมีอีกเยอะมาก ในขณะเดียวกันองค์กรที่เขาทำ Good Governance จริงๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศก็มีตัวอย่างเยอะแยะ เพราะฉะนั้นการลงทุนกับภาพลักษณ์เนี่ย ถ้าคุณทำธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา จะดีกว่านี้

สอง ในส่วนที่เกี่ยวกับสื่อ เราไม่รู้ว่าเพราะคุณรู้ไม่ทันเขา หรือเขามีกลยุทธ์อะไรที่มันซับซ้อน เหนือชั้น เนียน หรืออะไรก็แล้วแต่ หรือเพราะว่าคุณมีผลประโยชน์ทับซ้อน มันก็มีผลประโยชน์ที่จับต้องได้กับจับต้องไม่ได้ ความชอบพอเป็นส่วนตัว หรืออะไรก็แล้วแต่ มันก็คือเป็นผลประโยชน์ หรือว่าแม้แต่มีอำนาจแทรกแซงก็ต้องไปคิดกันค่ะว่า คุณได้เคยเปิดเผยในสิ่งที่คุณรู้ว่ามันไม่ชอบเกี่ยวกับเขาเพียงพอหรือยัง ตรงไปตรงมาหรือเปล่า หรือว่าปฏิบัติหน้าที่และไม่ปฏิบัติหน้าที่เพราะอะไร อันนี้คือส่วนที่อยากจะบอกกับสื่อ

และสาม ส่วนที่อยากจะบอกกับผู้บริโภคสื่อก็คือว่า มันต้องทำความเข้าใจใหม่แล้วค่ะ ไม่ใช่ว่าสิ่งที่ปรากฎอยู่ในสื่อทั้งหมดเท่ากับจริง ไม่ใช่ แล้วเราก็จะเสพสื่อแบบ Royalty กับสื่อเจ้าใดเจ้าหนึ่งอย่างเดียวไม่ได้แล้ว นอกจากนี้ก็อยากจะให้ผู้บริโภคสื่อเลิกที่จะเป็นผู้บริโภคที่เชื่องๆ เขาบอกอะไรก็เชื่อหมด บางทีสื่อก็เสนอข่าวความไม่เป็นธรรมต่อเกษตรกรนะคะ แต่ผู้บริโภคสื่อก็เงียบเฉย มันก็ทำให้ข่าวเดินต่อไม่ได้ แล้วเราก็ไม่เคยมองเห็นอะไรที่มันสลับซับซ้อนหรือรู้เท่าทันสื่อ

-หลังจากเปิดประเด็นไปแล้ว สัมพันธภาพระหว่าง TCIJ กับเพื่อนสื่ออื่นเป็นอย่างไรบ้าง

ก็ยังคบหากันดีอยู่กันนะคะ แต่ถามว่ามีมั้ยคนที่ระวังตัวหรือระแวงเรามากขึ้น ก็น่าจะมีอยู่นะ....

สารภาพว่าเราก็เครียดมากขึ้น เพราะว่ามีสายตาคนที่ตามดูเราอยู่ จากเมื่อก่อนที่ไม่ได้มีคนสนใจเรามากขนาดนี้ มันก็ทำให้เราต้องใช้ความพยายามมากขึ้น แล้วทีมงานเราเล็กมาก เรามีนักข่าว 3 คน เขาก็แบกรับความคาดหวัง แต่ในขณะเดียวกันเขาก็มีกำลังใจมากขึ้นด้วย เพราะรู้สึกว่าผลงานของเขามันไมได้สูญเปล่า

-แล้วในส่วนของเงินทุนในการทำงานได้มาจากไหน

ก็เป็นแหล่งทุนเดียวกับที่สื่อทั้งหลายได้มา สมาคมนักข่าวก็ได้เงินมาจาก สสส. คือเขาจะมีสำนักที่สนับสนุนสื่ออยู่แล้ว ไม่ได้เป็นความลับอะไร แต่ว่าเขาก็สนับสนุนเราในช่วงปีแรก แล้วก็มีแผนที่จะลดความสนับสนุนลงไปเรื่อยๆ จนถึงศูนย์ เพื่อให้เราพึ่งตัวเอง แล้วจริงๆ เราก็มีบิซิเนสโมเดลที่เหมาะสมอื่นๆ อยู่ เช่น การพิมพ์หนังสือ การทำโครงการฝึกอบรม จัดเสวนาโต๊ะกลม เป็นต้น มันก็เป็นโปรเจ็กค์เบสที่ใช้เงินแล้วหมดไป เหลือก็ต้องส่งคืนเขา มี Auditor ตรวจสอบ สิ่งที่เราได้ก็คือว่าคนทำงานของเราก็มีรายได้ หรือพูดง่ายๆ ว่ากินเงินเดือนจากโครงการเหล่านั้นได้ จบแล้วก็จบไป

-ในมุมมองของคนทำสื่อคิดว่าอะไรคือสิ่งที่อันตรายต่อคุณภาพและความน่าเชื่อถือของสื่อยุคนี้มากที่สุดคะ

ฟังแล้วอาจจะน่าเบื่อ แต่อยากบอกว่าระบบการศึกษาหรือความล้มเหลวของการศึกษาไทย คือต้นตอของปัญหาทั้งหมด คือต้นตอที่ทำให้คุณภาพของคนลดลง คนที่เข้าถึงทุกอาชีพนะคะ แล้วก็อาจจะก่อให้เกิดปัญหาไม่รู้เท่าทันอะไรเลย หรือรู้เท่าทันแต่ไม่มีต้นทุนในการที่จะยืนต้าน หรือแยกแยะว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ ขอเรียกว่าต้นทุนในการคิด วิเคราะห์ แยกแยะ ต้นทุนในการรู้เท่าทันมันต้องมาจากระบบการศึกษาใช่มั้ยคะ มันก็นำมาซึ่งการคิดว่า การคอรัปชั่นมันคือเรื่องทั่วๆ ไป แล้วก็เข้าใจคอรัปชั่นเท่าที่ตาดูหูฟังมา ไม่สามารถคิดไปไกลถึงสิ่งอื่นๆ ที่ซ่อนเงื่อนอยู่ มันก็มาจากเรื่องการศึกษาที่ทำให้เราด้อยคุณภาพโพลเอย งานวิจัยเอยก็ยืนยันว่าการศึกษาของเรามีปัญหา แล้วมันก็นำมาซึ่งปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย

-ทุกวันนี้มีแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นมากมาย พอจะเป็นความหวังให้มีการเสนอข่าวสืบสวนกันมากขึ้นไหม

ถ้าหมายถึงอินเทอร์เน็ตนะคะ มันต้นทุนต่ำ มีเนื้อที่ไม่จำกัด แล้วมันเรียลไทม์ นักวิชาการสื่อเองก็พูดมาแล้วว่ามันมีข้อดีที่จะทำให้คุณทำข่าวสืบสวนได้โดยปราศจากข้ออ้างว่ากระดาษมันมีเนื้อที่จำกัด เรียกว่าถ้าจะทำก็ทำได้ แต่มันขึ้นอยู่กับปณิธานของสื่อแต่ละคนแต่ละสำนัก แล้วก็กลับไป 5 ข้อที่พี่พูดแต่แรก

จริงๆ สื่อต่างประเทศเขาหันกลับมาแล้วนะคะ มันมีบทสัมภาษณ์บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่จำนวนมากที่บอกว่า อยากจะกลับมาทำข่าวสืบสวนสอบสวน แล้วเขาก็ทำ อันนี้อาจจะเป็นแนวทาง คือสื่อไทยทำอะไรได้ทั้งนั้นอ่ะ เสรีภาพก็เยอะนะ มากว่าสื่อในภูมิภาคนี้เยอะเลย เพราะฉะนั้นถ้าเขาเห็นว่าเป็นโอกาส หรือเป็นเทรนด์ ก็อาจจะหันกลับมาทำก็ได้

-คาดหวังอะไรกับการทำงานของ TCIJ คะ

เหตุการณ์ครั้งนี้ก็หวังว่าจะมีแรงจูงใจเล็กๆ ให้กับนักข่าวเป็นคนๆ ไป หรือพวกสื่อออนไลน์เกิดใหม่ที่ไม่ใช่ธุรกิจว่าข่าวสืบสวนมันทำได้และมันมีศิลปะ แล้วคุณก็จะไม่ได้ถูกคุกคามหรือต้องกลัวอะไรมากเกินไป จนกระทั่งเซนเซอร์ตัวเองด้วยความกลัว ก็หวังเล็กๆ แค่นั้นอ่ะค่ะ ส่วนอื่นก็คงต้องทำงานของเราไปเรื่อยๆ ไม่ได้หวังไปถึงองค์กรใหญ่ๆ แต่ถ้าผลการสอบสวนครั้งนี้ มันจบลงด้วยฉากที่เป็นจริง คือชี้ไปถึงปัญหาของระบบ มันก็อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น อันนี้ก็เป็นความหวังสูงสุดจากข่าวนี้นะคะ